“…ผลประโยชน์ตอบแทนฯที่ วงษ์สยามก่อสร้าง เสนอเข้ารัฐ สูงกว่า อีสท์วอเตอร์ เป็นเงินประมาณ 1,480 ล้านบาท และชนะประมูลไปในที่สุด ขณะที่ TOR ประมูลโครงการฯ กำหนดให้ผู้บริหารจัดการท่อฯ ต้องขายน้ำดิบตลอดอายุสัญญาในราคาไม่เกิน 10.98 บาท/หน่วย จากปัจจุบันที่ อีสท์วอเตอร์ ขายน้ำดิบให้ผู้ใช้ในราคา 13 บาท/หน่วย…”
..........................
เป็นอีกโครงการที่น่าจับตามอง
เมื่อ ‘คณะกรรมการที่ราชพัสดุ’ จะพิจารณาอนุมัติผลการประมูลคัดเลือก ‘เอกชน’ โครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ซึ่ง บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ได้รับคะแนนประเมินสูงสุด ในวันที่ 11 ก.พ.นี้ (อ่านประกอบ : ชง ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ อนุมัติผลประมูลบริหาร ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล. 11 ก.พ.นี้)
ที่สำคัญหาก คณะกรรมการที่ราชพัสดุ มีมติอนุมัติให้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล
จะส่งผลให้ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) หรือ ‘อีสท์วอเตอร์’ ที่มี การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 40.20% ต้องลดบทบาทในการบริหาร ‘ท่อส่งน้ำดิบ’ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หลังได้รับสิทธิ์ ‘เช่าท่อ’ จาก ‘กรมธนารักษ์’ มาตั้งแต่ปี 2537
@ที่มาก่อนเปิดประมูล ‘ท่อส่งน้ำดิบ’ สายหลัก ภาคตะวันออก
ย้อนกลับไปในปี 2535 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ กปภ. จัดตั้ง บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (บริษัท East Water หรือ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก) เพื่อเป็นองค์กรหลักในการรับผิดชอบการพัฒนาและดำเนินการดูแลท่อส่งน้ำดิบสายหลักในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก
ครม.ยังมอบหมายให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ประสานให้บริษัท East Water เช่าท่อส่งน้ำดิบและรับมอบทรัพย์สินจากหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย
1.โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย ซึ่งบริษัท East Water ได้รับมอบและทำสัญญาเช่าเป็นเวลา 30 ปี หรือตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2537 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566 โดยมูลค่าโครงการฯขณะรับมอบอยู่ที่ 772.09 ล้านบาท
2.โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ ซึ่งได้รับมอบจากกรมโยธาธิการและผังเมือง เมื่อปี 2540 ปัจจุบันโครงการยังอยู่ระหว่างทำสัญญาเช่า และกรมธนารักษ์มอบหมายให้บริษัท East Water บริการไปพรางก่อน โดยมูลค่าโครงการฯขณะรับมอบอยู่ที่ 2,205.05 ล้านบาท
3.โครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ซึ่งได้รับมอบจากกรมโยธาธิการและผังเมือง เมื่อปี 2541 ปัจจุบันโครงการยังอยู่ระหว่างทำสัญญาเช่า และกรมธนารักษ์มอบหมายให้บริษัท East Water บริการไปพรางก่อน โดยมูลค่าโครงการฯขณะรับมอบอยู่ที่ 254.87 ล้านบาท
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2564 คณะกรรมการที่ราชพัสดุ มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดให้เอกชนเช่า/บริหาร ระบบท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก โดยให้รวมโครงการท่อส่งน้ำดิบทั้ง 3 โครงการข้างต้น ไว้เป็นสัญญาเดียวกัน และเปิดประมูลคัดเลือกเอกชนเพื่อเช่า/บริหารท่อส่งน้ำดิบ ต่อไป
อย่างไรก็ดี เนื่องจากผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการฯ มีการคำนวณมูลค่าโครงการ ตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ปรากฏว่า โครงการมีมูลค่าไม่เกิน 5,000 ล้านบาท จึงไม่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
@ยกเลิกการประมูลท่อครั้งที่ 1 ก่อนปรับปรุง TOR ประมูลใหม่
ในอีก 1 เดือนถัดมา หรือวันที่ 16 ก.ค.2564 คณะกรรมการคัดเลือกฯ ออกประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก และเชิญชวนเอกชนที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขตามที่กรมธนารักษ์กำหนด จำนวน 5 ราย เข้าร่วมประชุมชี้แจงรายละเอียดโครงการฯ
จากนั้นวันที่ 9 ส.ค.2564 กรมธนารักษ์ เปิดให้เอกชนยื่นซองข้อเสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกฯ ผลปราฎว่ามีเอกชน 3 ราย เข้ายื่นซองข้อเสนอ โดยเอกชน 2 ใน 3 ราย ที่ยื่นซองข้อเสนอ ได้แก่ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (อีสท์วอเตอร์) และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด
แต่ทว่าหลังจากผ่านไป 3 สัปดาห์ คณะกรรมการคัดเลือกฯ ยังไม่มีการประกาศผลการคัดเลือก
กระทั่งต่อมาในวันที่ 26 ส.ค.2564 คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีหนังสือแจ้งผู้ยื่นซองข้อเสนอแจ้ง ‘ยกเลิก’ การประมูลโครงการฯ ตามประกาศเชิญชวนฯ เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2564 อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ปรับปรุงประกาศเชิญชวนฯฉบับเดิม และออกประกาศเชิญชวนฯเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 ก.ย.2564
@ประมูลครั้งที่ 2 ‘วงษ์สยามก่อสร้าง’ เสนอผลตอบแทนให้รัฐสูงสุด
สำหรับการเปิดประมูลโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำฯ ครั้งที่ 2 นั้น กรมธนารักษ์ มีหนังสือเชิญชวนเอกชน ‘รายเดิม’ ทั้ง 5 ราย เข้าร่วมประชุม จากนั้นได้มีการเปิดให้เอกชนยื่นซองข้อเสนอฯในวันที่ 28 ก.ย.2564 และประกาศผลการคัดเลือกในวันที่ 30 ก.ย.2564
ผลปรากฏว่า วงษ์สยามก่อสร้าง เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐสูงสุดที่ 25,693.22 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี รองลงมา คือ อีสท์วอเตอร์ เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐ 24,212.88 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี
ทั้งนี้ แม้ว่า วงษ์สยามก่อสร้าง จะเสนอค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญา (ชำระปีแรก) ที่ 1,450 ล้านบาท ต่ำกว่า อีสท์วอเตอร์ ที่เสนอค่าแรกเข้าฯ 1,550 ล้านบาท แต่ วงษ์สยามก่อสร้าง เสนอส่วนแบ่งรายได้รายปี (Revenue Sharing) จากการขายน้ำให้รัฐในสัดส่วน 27% สูงกว่า อีสท์วอเตอร์ ที่เสนอส่วนแบ่งรายได้ฯที่ 25%
ส่งผลให้ผลประโยชน์ตอบแทนฯที่ วงษ์สยามก่อสร้าง เสนอเข้ารัฐ สูงกว่า อีสท์วอเตอร์ เป็นเงินประมาณ 1,480 ล้านบาท และชนะประมูลไปในที่สุด ขณะที่ TOR ประมูลโครงการฯ กำหนดให้ผู้บริหารจัดการท่อฯ ต้องขายน้ำดิบตลอดอายุสัญญาในราคาไม่เกิน 10.98 บาท/หน่วย จากปัจจุบันที่ อีสท์วอเตอร์ ขายน้ำดิบให้ผู้ใช้ในราคา 13 บาท/หน่วย
@‘อีสท์วอเตอร์’ ฟ้องศาลปกครองขอยกเลิกประมูลครั้งที่ 2
ต่อมาในเดือน ต.ค.2564 อีสท์วอเตอร์ ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือก (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และกรมธนารักษ์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ต่อศาลปกครองกลาง
โดย อีสท์วอเตอร์ ผู้ฟ้องคดี ขอให้ศาลฯมีคำสั่งหรือคำพิพากษา เพิกถอนมติคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่แจ้งยกเลิกการประมูลตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 16 ก.ค.2564 และให้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนต่อไป
พร้อมทั้งขอให้เพิกถอนประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 10 ก.ย.2564 และขอให้ศาลฯมีคำสั่ง ‘คุ้มครองชั่วคราว’ ให้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ งดเว้นการกระทำใดๆ ตามกระบวนการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ลงวันที่ 10 ก.ย.2564
กระทั่งวันที่ 12 พ.ย.2564 ศาลปกครองมีคำสั่ง ‘ยกคำขอ’ ทุเลาการบังคับตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 10 ก.ย.2564 เนื่องจากมิใช่กรณีที่ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลังแก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด
“การออกประกาศเชิญชวนฯ ฉบับลงวันที่ 10 กันยายน 2564 ซึ่งเป็นมูลเหตุข้อพิพาทในคดีนี้ มีผลเพียงทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องยื่นซองข้อเสนอใหม่อีกครั้งเท่านั้น มิได้เป็นการตัดสิทธิผู้ฟ้องคดีในการเข้ายื่นซองข้อเสนอแต่อย่างใด อีกทั้ง หากภายหลังศาลเห็นว่า กระบวนการในการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับใหม่ ไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย
ผู้ฟ้องคดีก็สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายตามกฎหมายในภายหลังได้ กรณีจึงมิทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยาแก้ไขในภายหลังแก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด กรณีจึงยังไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา” คำสั่งศาลปกครองกลาง ระบุ
@‘อีสท์วอเตอร์’ ชี้ไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างน้อย 4 ประเด็น
อย่างไรก็ดี จากคำสั่งของศาลปกครองฯ เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2564 อีสท์วอเตอร์ กล่าวอ้างว่า การยกเลิกการเปิดประมูลโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ‘ครั้งที่ 1’ และต่อมามีการประมูล ‘ครั้งที่ 2’ อาจมีการใช้ดุลพินิจที่มิชอบ และไม่เป็นธรรมกับ อีสท์วอเตอร์ อย่างน้อย 4 ประเด็น ได้แก่
ประเด็นแรก การแจ้งยกเลิกประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 16 ก.ค.2564 คณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่เปิดโอกาสให้เอกชนทุกรายโต้แย้งก่อน รวมทั้งไม่มีการแจ้งเหตุผลในการยกเลิกการคัดเลือกฯ
ประเด็นที่สอง การประมูลครั้งที่ 2 คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีการแก้ไขสาระสำคัญ TOR โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมการประมูลให้ ‘ด้อยลง’ เมื่อเทียบกับการเปิดประมูลครั้งที่ 1
เช่น การตัดข้อกำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้ยื่นข้อเสนอต้องไม่เป็นผู้ถูกหน่วยงานของรัฐบอกเลิกสัญญา ,การปรับลดทุนจดทะเบียนของผู้เข้าร่วมประมูลจากไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท เป็นไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท , การปรับลดหลักฐานหนังสือรับรองวงเงินสินเชื่อจากไม่น้อยกว่า 800 ล้านบาท เป็นไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท
การปรับปรุงเนื้อหาคุณสมบัติทางด้านเทคนิค ประสบการณ์ และผลงานของผู้ยื่นข้อเสนอ อาทิ ‘กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเป็นนิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจสาธารณูปโภคเกี่ยวกับการจัดการน้ำ’ จากเดิมที่กำหนดว่า ‘ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเป็นนิติบุคคลผู้ที่มีอาชีพและประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจและ/หรือบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำ’
ประเด็นที่สาม ในการออกประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 10 ก.ย.2564 คณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่ได้เปิดให้ผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายได้มีโอกาสซักถามเหตุผล และไม่เปิดโอกาสให้ได้รับการอธิบายหลักเกณฑ์ใหม่ เหมือนที่ดำเนินการในการประกาศเชิญชวนครั้งแรก
ประเด็นที่สี่ คณะกรรมการคัดเลือกฯ ส่งประกาศเชิญชวนฉบับใหม่ทางไปรษณีย์ตอบรับ โดย อีสท์วอเตอร์ ได้รับประกาศเชิญชวนฯ ในวันที่ 13 ก.ย.2564 แต่มีกำหนดให้ยื่นซองข้อเสนอในวันที่ 28 ก.ย.2564 ทำให้มีระยะเวลาเตรียมตัวน้อยมาก และไม่สอดคล้องกับประกาศกระทรวงการคลังฯ ที่ต้องแจ้งประกาศเชิญชวนฯ 15 วัน ก่อนวันเปิดรับซอง
@คณะกรรมการคัดเลือกฯ แจงเหตุแก้ TOR ประมูล
ทั้งนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ชี้แจงในประเด็นต่างๆ ดังนี้
กรณีการยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ ครั้งที่ 1 และคณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ ไม่ได้มีการชี้แจงรายละเอียดประกาศเชิญชวนฯ ครั้งที่ 2 เหมือนกับประกาศเชิญชวนฯครั้งแรก นั้น
คณะกรรมการคัดเลือกฯ ชี้แจงว่า เป็นไปตามเอกสารสำหรับการคัดเลือกโครงการฯ ที่ระบุว่า ให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ สามารถสงวนสิทธิที่จะยกเลิกประกาศเชิญชวนฯได้ และไม่มีระเบียบหรือกฎหมายใดที่กำหนดให้ต้องมีการจัดประชุมชี้แจงรายละเอียดของการคัดเลือกหรือให้เอกชนซักถาม
กรณีการออกประกาศเชิญชวนฯ ฉบับใหม่ ที่มีการแก้ไขเนื้อหาของประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดิม นั้น
คณะกรรมการคัดเลือกฯ ชี้แจงว่า การตัดข้อกำหนดเรื่องผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องไม่เป็นผู้ถูกหน่วยงานของรัฐบอกเลิกสัญญา นั้น เนื่องจากเห็นว่า ไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ชัดแจ้งได้ในขณะดำเนินการพิจารณาคัดเลือก และมีข้อกำหนดคุณสมบัติอื่นๆของผู้ยื่นข้อเสนอ ที่เป็นการรักษาผลประโยชน์ของทางราชการเพียงพอแล้ว
ส่วนการลดทุนจดทะเบียนและหลักฐานวงเงินสินเชื่อฯ เป็นไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท นั้น เพื่อให้ถูกต้องตามประกาศของคณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการงานก่อสร้างที่มีสิทธิ์เป็นผู้ยื่นข้อเสนอต่อหน่วยงานรัฐ ลงวันที่ 17 พ.ย.2560 ในสาขางานก่อสร้างชลประทาน
ขณะที่การปรับปรุงเนื้อหาคุณสมบัติทางด้านเทคนิค ประสบการณ์ และผลงานของผู้ยื่นข้อเสนอ เช่น ‘กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเป็นนิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจสาธารณูปโภคเกี่ยวกับการจัดการน้ำ’ นั้น เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภค และไม่ได้ทำให้เอกชนผู้สนใจยื่นข้อเสนอรายใดไม่ผ่านคุณสมบัติ
กรณีที่ อีสท์วอเตอร์ ได้รับประกาศเชิญชวนฯ ฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2564 ซึ่งไม่สอดคล้องกับประกาศกระทรวงการคลังฯที่ต้องแจ้งประกาศเชิญชวนฯ 15 วัน ก่อนวันเปิดรับซองในวันที่ 28 ก.ย.2564 นั้น
คณะกรรมการคัดเลือกฯ ชี้แจงว่า การที่ อีสท์วอเตอร์ ได้รับประกาศเชิญชวนฯ ฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2564 เมื่อนับเวลาไปถึงวันที่ 28 ก.ย.2564 ถือว่าครบกำหนด 15 วัน ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการคัดเลือกเอกชนเพื่อจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุทีมีราคาเกินห้าร้อยล้านบาท พ.ศ.2564 ข้อ 31 แล้ว
(ประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์)
@‘กรมธนารักษ์’ เผย ‘วงษ์สยามก่อสร้าง’ ชนะประมูลรอบแรก
ขณะที่กรมธนารักษ์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในการเปิดประมูลโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ครั้งที่ 1 นั้น บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ได้รับคะแนนประเมินสูงสุด และยืนยันว่า กรมฯดำเนินการตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาผลประโยชน์สุงสุดทางราชการ และความเป็นธรรมกับผู้ยื่นข้อเสนอทุกราย
ส่วนสาเหตุที่ต้องยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ ลงวันที่ 16 ก.ค.2564 (ประมูลครั้งที่ 1) นั้น กรมธนารักษ์ ชี้แจงว่า หลังจากมีการออกประกาศเชิญชวนฯ เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2564 แล้ว คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีการประชุม 3 ครั้ง แล้วพบว่า
“ในการพิจารณาหลักเกณฑ์ และวิธีการพิจารณาให้คะแนนผลตอบแทนที่ผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละรายเสนอมา และการคำนวณผลประโยชน์ตอบแทน ซองที่ 3 ปรากฎข้อเท็จจริง ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญต่อการพิจารณา จนทำให้การพิจารณาไม่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย”
ดังนั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ จึงจำเป็นต้องแก้ไขหลักเกณฑ์การพิจารณาประกาศเชิญชวนฯ และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนฯ เพื่อให้สามารถตรวจสอบผลประโยชน์ที่กรมธนารักษ์จะได้รับจากผู้ยื่นข้อเสนอได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
แต่เนื่องจากขณะที่ตรวจสอบพบ ได้ล่วงเลยเวลาที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมเอกสารประกอบการยื่นข้อเสนอตามข้อ 8.4 ของเอกสารการคัดเลือกเอกชน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิ์ยกเลิกประกาศเชิญชวนฯ และยังคงเปิดโอกาสให้ผู้ยื่นข้อเสนอรายเดิมมีโอกาสยื่นข้อเสนอได้
กรมธนารักษ์ ระบุด้วยว่า แม้ว่าประกาศเชิญชวนฯฉบับใหม่ (ฉบับลงวันที่ 10 ก.ย.) จะมีการแก้ไขคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมการคัดเลือก แต่ผู้เข้าร่วมคัดเลือกทั้ง 5 ราย ต่างก็มีคุณสมบัติที่จะเข้าร่วมการคัดเลือกในโครงการนี้อยู่แล้ว ขณะที่การปรับปรุงเกณฑ์ฯ ก็เพื่อให้มีความเหมาะสมกับโครงการและให้ทุกบริษัทสามารถแข่งขันกันอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม
เหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงในการเปิดประมูลโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ของ กรมธนารักษ์ รวมทั้งข้อโต้แย้ง-คำชี้แจงของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และต้องติดตามว่าในการประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุในวันที่ 11 ก.พ.นี้ ที่ประชุมจะมีมติออกมาเป็นอย่างไร
แต่แน่นอน หากในท้ายที่สุดแล้ว คณะกรรมการที่ราชพัสดุ อนุมัติให้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลแล้ว ย่อมจะมีผลกระทบต่ออนาคตของ ‘อีสท์วอเตอร์’ ซึ่งแทบจะผูกขาดการบริหารจัดการ ‘ท่อส่งน้ำดิบ’ ในพื้นที่ภาคตะวันออก มาเกือบ 30 ปี อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อ่านประกอบ :
ชง ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ อนุมัติผลประมูลบริหาร ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล. 11 ก.พ.นี้