‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง ไฟเขียว ‘วงษ์สยามก่อสร้าง’ ชนะประมูลโครงการ ‘ท่อส่งน้ำ’ EEC 2.5 หมื่นล้าน ‘อธิบดีกรมธนารักษ์’ ยืนยัน ‘ค่าน้ำ’ ไม่เกิน 10.98 บาท/หน่วย ตลอดอายุสัญญา 30 ปี
..................................
เมื่อวันที่ 14 มี.ค. แหล่งข่าวจากกรรมการที่ราชพัสดุ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ในการประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่มีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธาน ที่ประชุมได้พิจารณาผลการคัดเลือกเอกชน ร่างสัญญาและเงื่อนไขสำคัญของสัญญา กรณีโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก และมีมติเสียงข้างมากเห็นชอบให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก
“ในการประชุมวันนี้ มีกรรมการเข้าร่วมประชุม 9 ราย จากทั้งหมด 12 ราย ซึ่งกรรมการ 6 เสียง เห็นชอบอนุมัติให้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกและให้ลงนามสัญญาจ้างกับบริษัทฯต่อไป ส่วนกรรมการ 2 เสียง คือ กรรมการที่มาจากกระทรวงมหาดไทย และกรมโยธาธิการและผังเมือง เห็นว่าให้ชะลอการอนุมัติออกไปก่อนเพื่อรอคำพิพากษาของศาลปกครอง และมีกรรมการ 1 เสียง คือ กรรมการจากกรมที่ดินงดออกเสียง” แหล่งข่าวกล่าว
นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า ที่ประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ มีมติ 6 ต่อ 3 เสียง เห็นชอบให้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินการโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก โดยไม่ต้องรอคำพิพากษาของศาลปกครองก่อน และให้กรมธนารักษ์ลงนามสัญญากับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ต่อไป
อย่างไรก็ดี ในการประชุมดังกล่าวมีกรรมการ 2 เสียง คือ กรรมการที่มาจากกระทรวงมหาดไทย และกรมโยธาธิการและผังเมือง เห็นว่าควรชะลอการอนุมัติผลการประมูล เพื่อรอคำพิพากษาของศาลปกครองกลางก่อน และมีกรรมการ 1 เสียง คือ กรรมการจากกรมที่ดิน งดออกเสียง
“เหตุผลที่กรรมการ 6 เสียง เห็นชอบให้เดินหน้าโครงการฯ เพราะได้ฟังข้อมูลเพิ่มเติมจากฝ่ายเลขานุการฯ และต้องยอมรับว่า ในคราวที่แล้ว เราไม่ได้เตรียมข้อมูลเชิงลึกในรายละเอียดว่า หากชะลอโครงการออกไปจะทำให้รัฐเสียหายอย่างไร ตัวเลขต่างๆเป็นอย่างไร และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไรบ้าง แต่คราวนี้เราให้ข้อมูลชัดเจนมาก จนกระทั่งกรรมการทุกคนเคลียร์ในประเด็นต่างๆ” นายประภาศ กล่าว
นายประภาศ กล่าวว่า หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ มีมติเห็นชอบให้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก แล้ว กรมธนารักษ์จะให้เวลา บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) หรือ อีสท์วอเตอร์ ดำเนินการจัดทำรายการทรัพย์สินที่จะส่งมอบคืนกรมธนารักษ์ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน เนื่องจากกรมธนารักษ์จะต้องนำรายการทรัพย์สินที่ส่งมอบดังกล่าวไปอยู่ในภาคผนวกของสัญญา
“เราเองได้เตรียมการล่วงนี้ในส่วนนี้ไว้แล้ว โดยได้ร่วมกับตัวแทนอีสท์วอเตอร์ทำเรื่องนี้อย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งรายการทรัพย์สินที่ อีสท์วอเตอร์ ต้องส่งมอบนั้น จะมีทั้งทรัพย์สินที่มีสัญญาเช่า (โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย) และไม่มีสัญญาเช่า (โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2)) ส่วนการส่งมอบท่อส่งน้ำนั้น โครงการที่มีสัญญาจะส่งมอบในปีหน้า ส่วนที่ไม่มีสัญญาจะต้องส่งมอบทันที” นายประภาศ กล่าว
ส่วนกรณีที่ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตว่า การเปิดประมูลโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก มีพิรุธ และอาจมีการเอื้อเอกชนบางรายหรือไม่ นั้น นายประภาศ ยืนยันว่า เรื่องนี้ สามารถชี้แจงได้ทั้งหมด เพราะการดำเนินการต่างๆมีขั้นตอนที่ชัดเจน เช่น การยกเลิกการประมูลครั้งแรกเป็นเพราะอะไร เป็นต้น เพียงแต่การนำเสนอข่าวต่างๆที่ผ่านมา เป็นเพียงการให้ความเห็น
“เรื่องนี้ก็เคารพกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายไหน แต่ท้ายที่สุดเราต้องมาดูในข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายว่าถูก หรือไม่ถูก ซึ่งจริงๆเรื่องนี้ก็มีการฟ้องคดีกันในศาลอยู่แล้ว ศาลก็ต้องวินิจฉัยกันต่อไป” นายประภาศ กล่าว
สำหรับกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในปีแรก บริษัทที่ชนะประมูลโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกจะต้องจ่ายค่าแรกเข้าให้ภาครัฐ 1,450 ล้านบาท แต่พบข้อมูลว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 1,247 ล้านบาท เท่านั้น นายประภาศ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการคัดเลือกฯได้เห็นชอบผลการคัดเลือกมาแล้ว ส่วนศักยภาพในการจ่ายค่าแรกเข้านั้น ก็ต้องดูกันต่อไป
“จะเอาแต่เพียงมูลค่าทรัพย์สินของบริษัทมาเป็นตัวตั้ง ก็ไม่น่าจะใช่ ถ้าเขาเอาเงินตัวนี้มาให้เราได้ ก็จบ และต่อไปข้างหน้า ก็ต้องมาดูว่าเขามีความสามารถในการจ่ายหรือไม่ คือ ตอนนี้จะไปประเมินว่า เขาไม่มีความสามารถ ก็จะไม่เป็นธรรมกับเขา เพราะบางครั้งที่บอกว่าคนที่มีทรัพย์สินเยอะ แล้วบอกว่าทำได้ บางทีก็ไม่แน่ เพราะถ้าบริหารผิดพลาดแล้วทรัพย์สินหายไป หรือรายได้หายไป ก็ทำไม่ได้เหมือนกัน” นายประภาศ ระบุ
นายประภาศ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ยืนยันกับสังคมมาตลอดว่า การพิจารณาของคณะกรรมการที่ราชพัสดุ จะยึดถือ 3 ข้อ และทั้ง 3 ข้อ ได้มีการดำเนินการครบถ้วนแล้ว คือ
1.การดำเนินการถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมาขอยืนยันว่า การดำเนินการถูกต้อง ทั้งก่อนและหลังจากที่ตนเข้ามารับตำแหน่งอธิบดีกรมธนารักษ์ แต่ไม่ได้ตัดสิทธิ์ของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งสามารถไปฟ้องร้องได้
2.ผลประโยชน์ของรัฐ ตรงนี้ก็เห็นชัดเจนว่า ตลอดเวลาที่ อีสท์วอเตอร์ ได้รับสิทธิในการบริหารโครงการท่อส่งน้ำทั้ง 3 โครงการมาตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน อีสท์วอเตอร์ จ่ายค่าเช่าให้ภาครัฐเพียง 550 ล้านบาท เท่านั้น แต่หากกรมธนารักษ์ลงนามกับเอกชนรายใหม่ในวันนี้ ภาครัฐจะได้เงินทันทีกว่า 1,500 ล้านบาท และตลอดระยะเวลาโครงการ ภาครัฐจะได้รับส่วนแบ่งรายได้อีก 2.5 หมื่นล้านบาท รวมแล้วเป็นเงินที่ภาครัฐจะได้รับ 2.7 หมื่นล้านบาท
3.การคุ้มครองผู้ใช้น้ำ โดยสัญญาโครงการจะระบุไว้ชัดเจนเลยว่า ค่าน้ำโดยเฉลี่ยตลอดอายุสัญญา 30 ปี จะต้องไม่เกิน 10.98 บาท/หน่วย จากปัจจุบันที่ผู้ใช้น้ำต้องจ่ายค่าน้ำในอัตราเฉลี่ย 12-13 บาท/หน่วย ซึ่งการบริหารสัญญาจะมีคณะกรรมการฯขึ้นมาดูแลว่า ค่าน้ำของภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรมจะเป็นอย่างไร และไม่เกิดการลักลั่นกันมากเกินไประหว่างค่าน้ำในภาคครัวเรือนและค่าน้ำในภาคอุตสาหกรรม
“อัตราค่าน้ำจะอยู่ในราคาเฉลี่ยไม่เกิน 10.98 บาท/หน่วย แต่เพียงจะมีการเฉลี่ยว่าค่าน้ำของภาคครัวเรือนจะเป็นเท่าไหร่ และค่าน้ำของภาคอุตสาหกรรมจะเป็นเท่าไหร่ โดยจะไม่มีการลักลั่นกันมากเกินไป เพราะถ้าภาระค่าน้ำส่วนใหญ่ไปตกอยู่กับภาคอุตสาหกรรม เขาก็จะมีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ถ้าภาระค่าน้ำไปตกอยู่กับภาคประชาชน ก็จะไม่เป็นธรรมกับประชาชน ซึ่งเราจะมีคณะกรรมการฯมากำกับเรื่องนี้” นายประภาศ กล่าว
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า สำหรับการเปิดประมูลโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ครั้งที่สอง ซึ่งกรมธนารักษ์เปิดให้เอกชนยื่นซองเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2564 ผลปรากฏว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐสูงสุด เป็นเงิน 25,693.22 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี รองลงมา คือ อีสท์วอเตอร์ ซึ่งเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐ 24,212.88 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่มีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธาน มีมติ 6 ต่อ 4 ให้ชะลอการพิจารณาอนุมัติผลการคัดเลือกเอกชนในโครงการบริหารท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก ซึ่ง บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐสูงสุด เนื่องจากเสียงส่วนใหญ่บอกว่าให้รอคำพิพากษาศาลปกครองกลางก่อน และต่อมาในวันที่ 14 มี.ค.2565 ที่ประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ จะมีมติ 6 ต่อ 3 เสียง อนุมัติให้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ดังกล่าว
อ่านประกอบ :
ข้อเท็จจริง'EASTW-ธนารักษ์' ศึกประมูลท่อส่งน้ำ 2.5 หมื่นล. ก่อนบอร์ดที่ราชพัสดุรื้อมติ?
รมช.คลัง นัดถก บอร์ดที่ราชพัสดุ 14 มี.ค. ชี้ขาดประมูลท่อส่งน้ำ EEC 2.5 หมื่นล.
‘วงษ์สยามก่อสร้าง’ ร้อง ‘รมช.คลัง’ ขอความเป็นธรรม ประมูลท่อส่งน้ำ EEC 2.5 หมื่นล้าน
‘อีสท์วอเตอร์’สะเทือน หากแพ้คดี‘ท่อส่งน้ำ’ 2.5 หมื่นล.-พบแบ่งรายได้รัฐเฉลี่ยปีละ 21 ล.
จี้‘ธนารักษ์’นัด‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ ถกทบทวนอนุมัติผลประมูล‘ท่อส่งน้ำ’ EEC 2.5 หมื่นล.
ถกผลประมูลใหม่! 2 กก.'บอร์ดที่ราชพัสดุฯ’ ขอข้อมูลเพิ่ม 'ท่อส่งน้ำ' อีอีซี 2.5 หมื่นล.
สะพัด! กก.‘ที่ราชพัสดุ’ 4 ราย กลับลำรับรองผลประมูล ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล้าน
มติ 6 ต่อ 4! ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ ชะลออนุมัติผลประมูล ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล้าน
ศึกชิง‘ท่อส่งน้ำ’อีอีซี 2.5 หมื่นล. ‘วงษ์สยาม-อีสท์วอเตอร์’ ก่อนบอร์ดที่ราชพัสดุชี้ขาด
ชง ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ อนุมัติผลประมูลบริหาร ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล. 11 ก.พ.นี้