“…ตามคำฟ้อง บริษัทฯ ได้ขอให้ศาลเพิกถอนมติหรือคำสั่งยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ และเพิกถอนประกาศพร้อมหนังสือเชิญชวนฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการกระทำที่อาจเป็นเหตุให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย โดยอาจมีผลกระทบต่อรายได้และผลการดำเนินงานของบริษัทฯ หากบริษัทฯ ไม่ได้รับสิทธิ์ในการบริหารจัดการโครงการดังกล่าว…”
.........................
“การที่คณะกรรมการที่ราชพัสดุไม่ได้ทักท้วงความถูกต้องแห่งสัญญา แต่เสียงข้างมากมีมติว่า “ให้รอฟังผลคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง” นอกจากเป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามหน้าที่ อันพึงต้องกระทำของคณะกรรมการที่ราชพัสดุแล้ว
ยังเป็นการประวิงเวลาในการปฏิบัติตามพันธะของรัฐที่มีต่อเอกชนผู้ชนะประมูลให้เนิ่นนานออกไปโดยไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด
จึงมีข้อครหาว่าเป็นการเอื้อประโยชน์และให้ประโยชน์แก่ผู้แพ้ประมูล ในอันที่จะครอบครองใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของแผ่นดินต่อไปอย่างไม่มีประมาณ ด้วยค่าตอบแทนเดิมที่กำหนดเมื่อ 30 ปีที่ล่วงมา และถือเป็นการใช้ทรัพย์สินของแผ่นดินโดยไม่คำนึงถึงการก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่หน่วยงานของรัฐ”
นี่เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือที่ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เรื่อง ขอให้ทบทวนมติคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ลงวันที่ 22 ก.พ.2565 ส่งถึง อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการที่ราชพัสดุ
โดย วงษ์สยามก่อสร้าง เรียกร้องให้มีการนัดประชุม ‘คณะกรรมการที่ราชพัสดุ’ เพื่อพิจารณาทบทวนมติคณะกรรมการที่ราชพัสดุ กรณีการ ‘อนุมัติ’ ผลการประมูลคัดเลือกเอกชนใน ‘โครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก’ (อ่านประกอบ : จี้‘ธนารักษ์’นัด‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ ถกทบทวนอนุมัติผลประมูล‘ท่อส่งน้ำ’ EEC 2.5 หมื่นล.)
@‘อีสท์วอเตอร์’ ยันสู้คดี ‘ท่อน้ำดิบ’ EEC ถึงชั้นศาลปค.สูงสุด
โครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ซึ่งประกอบด้วย โครงการท่อส่งน้ำดอกกลาย ,โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) นับเป็นโครงการท่อส่งน้ำดิบที่เป็น ‘เส้นเลือดใหญ่’ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ปัจจุบันมี บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) หรือ ‘อีสท์วอเตอร์’ ที่มี การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 40.20% เป็นผู้บริหารและดำเนินการกิจการ ‘ท่อส่งน้ำดิบ’ ทั้ง 3 โครงการ
ทั้งนี้ จากข้อมูลกรมธนารักษ์ที่ได้ชี้แจงต่อศาลปกครอง ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2540-2563 หรือในช่วง 23 ปีที่ผ่านมา อีสท์วอเตอร์ จ่ายส่วนแบ่งรายได้โครงการท่อส่งน้ำดอกกลาย ให้กรมธนารักษ์ รวม 236.21 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 10.27 ล้านบาท
จ่ายส่วนแบ่งรายได้โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ รวม 184.85 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 8.03 ล้านบาท และจ่ายค่าตอบแทนในโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) รวม 105.62 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 4.59 ล้านบาท
หรือเท่ากับว่าตลอด 23 ปี อีสท์วอเตอร์ จ่ายส่วนแบ่งรายได้เข้ารัฐ คือ กรมธนารักษ์ รวมแล้ว 526.60 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 21.94 ล้านบาทเท่านั้น
ขณะที่ในช่วงปี 2562-2564 อีสท์วอเตอร์ มีรายได้จากการขายน้ำดิบผ่านท่อส่งน้ำของทั้ง 3 โครงการ คิดเป็น 30% ของรายได้น้ำดิบทั้งหมดของบริษัท หรือคิดเป็นรายได้ประมาณปีละ 700-900 ล้านบาท (ปี 2562 อีสท์วอเตอร์ มีรายได้น้ำดิบรวม 2,844.70 ล้านบาท , ปี 2563 มีรายได้น้ำดิบรวม 2,473.75 ล้านบาท และปี 2564 มีรายได้น้ำดิบรวม 2,941.71 ล้านบาท
(ที่มา : กรมธนารักษ์)
ดังนั้น หากในท้ายที่สุด คณะกรรมการที่ราชพัสดุ มีมติเห็นชอบ ‘ผลการคัดเลือกเอกชน ร่างสัญญาและเงื่อนไขสำคัญของสัญญา กรณีโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก’ ซึ่ง วงษ์สยามก่อสร้าง เป็นบริษัทฯที่เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้รัฐ ‘สูงสุด’ เป็นจำนวนเงินรวม 25,693.22 ล้านบาท ตลอดสัญญา 30 ปี แล้ว
ย่อมส่งผลกระทบต่อ 'รายได้' และ 'กำไร' ของ อีสท์วอเตอร์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เนื่องจาก อีสท์วอเตอร์ จะต้องส่งมอบท่อส่งน้ำดิบในโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ให้กับ วงษ์สยามก่อสร้าง หลังจากมีการลงนามสัญญา และส่งมอบท่อส่งน้ำในโครงการท่อส่งน้ำดอกกลายให้แก่เอกชนรายใหม่ เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าในวันที่ 31 ธ.ค.2566
อย่างไรก็ดี อีสท์วอเตอร์ ยังคงคาดหวังว่า การที่บริษัทฯ ยื่นฟ้องศาลปกครอง โดยขอให้ศาลฯมีคำสั่งหรือมีคำพิพากษาให้เพิกถอนประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 10 ก.ย.2564 รวมทั้งขอให้งดเว้นการกระทำใดๆ ตามกระบวนการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ลงวันที่ 10 ก.ย.2564
พร้อมทั้งขอให้ศาลฯสั่งเพิกถอนมติคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่แจ้งยกเลิกการประมูลตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 16 ก.ค.2564 และให้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนต่อไป นั้น (อ่านประกอบ : ศึกชิง‘ท่อส่งน้ำ’อีอีซี 2.5 หมื่นล. ‘วงษ์สยาม-อีสท์วอเตอร์’ ก่อนบอร์ดที่ราชพัสดุชี้ขาด)
หากศาลปกครองมีคำชี้ขาดใน 'ทางบวก' จะทำให้ อีสท์วอเตอร์ มี 'โอกาส' กลับมาเป็นผู้บริหารและดำเนินกิจการ 'ระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก' ได้อีกครั้ง
“ตามคำฟ้อง บริษัทฯ ได้ขอให้ศาลเพิกถอนมติหรือคำสั่งยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ และเพิกถอนประกาศพร้อมหนังสือเชิญชวนฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการกระทำที่อาจเป็นเหตุให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย โดยอาจมีผลกระทบต่อรายได้และผลการดำเนินงานของบริษัทฯ หากบริษัทฯ ไม่ได้รับสิทธิ์ในการบริหารจัดการโครงการดังกล่าว
ในปัจจุบัน คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนและเมื่อศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาแล้ว คดียังอาจเข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยศาลปกครองสูงสุดต่อไป” หนังสือ อีสท์วอเตอร์ ลงนามโดย จิรายุ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ EASTW แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2564
(ที่มา : EASTW ,ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)
@หาก EASTW ต่อสัญญาท่อส่งน้ำไม่ได้ ส่งผลกระทบรายได้
ขณะที่ บล.ฟิลลิป (PhillipCapital) ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับบริษัท EASTW ฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ม.ค.2565 โดยระบุว่า แม้แนวโน้มยอดขายน้ำดิบ น้ำประปา และน้ำอุตสาหกรรม ยังมีแนวโน้มเติบโตตามการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาคตะวันออก จากการเป็นเขตพัฒนาพิเศษ (EEC) ของรัฐบาล
แต่ความเสี่ยงข้างหน้า คือ กรณีแพ้ประมูลในการต่อสัญญาท่อส่งน้ำดิบหลัก 3 เส้น คือ โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย ,โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหลหนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ที่สัญญาจะหมด 31 ธ.ค.2566 ซึ่งท่อส่งน้ำทั้ง 3 เส้น มีรายได้ คิดเป็นราว 30% ของรายได้น้ำดิบ
“ปัจจุบัน ทาง EASTW อยู่ระหว่างฟ้องร้องกับศาลปกครองกลางขอให้เพิกถอนมติหรือคำสั่งยกเลิกการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารท่อส่งน้ำของคณะกรรมการคัดเลือกและเพิกถอนประกาศ พร้อมหนังสือเชิญชวนฉบับใหม่วันที่ 23 ก.ย. 2564 ซึ่งหากแพ้คดีจะส่งผลต่อรายได้และกำไรของ EASTW ในอนาคต รวมถึงต้องมีการลงทุนท่อส่งน้ำเพิ่ม เพื่อทดแทนเส้นท่อส่งน้ำเดิม ซึ่งจะทำให้มีภาระหนี้้เพิ่มขึ้น” บทวิเคราะห์ของ บล.ฟิลลิป ระบุ
(ที่มา : EASTW ,ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)
@เปิดงบ ‘อีสท์วอเตอร์’ ปี 64 มีกำไรสุทธิ 1.07 พันล้าน
สำหรับงบการเงินของ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) หรือ ‘อีสท์วอเตอร์’ ซึ่งรายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ล่าสุด พบว่า ในปี 2564 บริษัท มีรายได้รวมในปี 2564 (สิ้นสุด ณ 31 ธ.ค.2564) 4,630.50 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้น้ำดิบ 2,941.71 ล้านบาท ,รายได้น้ำประปา 1,430.06 ล้านบาท
รายได้น้ำอุตสาหกรรม 17.90 ล้านบาท ,รายได้ค่าเช่าและค่าบริการ 131.17 ล้านบาท และรายได้ค่าก่อสร้างภายใต้สัญญาสัมปทาน 109.67 ล้านบาท
ขณะที่บริษัทฯมีต้นทุนขายและบริการ 2,694.57 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 523.15 ล้านบาท ,ต้นทุนทางการเงิน 172.95 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 263.03 ล้านบาท ทำให้ในปี 2564 บริษัทฯมีกำไรสุทธิ 1,073.04 ล้านบาท
ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธ.ค.2564 บริษัทฯมีสินทรัพย์รวม 23,688.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 835.10 ล้านบาท หรือ 3.65% มีหนี้สินรวม 12,261.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 477.33 ล้านบาท โดยเป็นเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน 7,392.00 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้น 11,266.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 365.26 ล้านบาท หรือ 3.35%
(ที่มา : EASTW ,ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)
@ส่องงบ ‘วงษ์สยามก่อสร้าง’ ล่าสุดปี 63 กำไร 46.9 ล้าน
ขณะที่งบการเงินของ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด นั้น ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ล่าสุดปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,356.09 ล้านบาท ,มีรายจ่ายรวม 1,292.46 ล้านบาท ,มีรายจ่ายดอกเบี้ย 7.9 แสนบาท เป็นต้น และบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 46.90 ล้านบาท
ณ วันที่ 31 ธ.ค.2563 บริษัทฯฯ แจ้งว่ามีทุนจดทะเบียน 630 ล้านบาท ,มีสินทรัพย์รวม 1,614.82 ล้านบาท , มีหนี้สินรวม 367.77 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้น 1,247.04 ล้านบาท
ข้อมูลจากเว็บไซด์ของ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ระบุว่า บริษัทฯ ก่อตั้งเมื่อปี 2519 โดยดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และรับเหมาระบบประปาทั้งในเอกชนและภาครัฐ เช่น กองทัพบก ,การประปานครหลวง (กปน.) ,การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ,กรมชลประทาน และบมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปี 2535 บริษัทฯ ได้ลงนามสัญญากับ กปภ. ในโครงการดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงระบบประปาในพื้นที่แหลมฉบัง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ วงษ์สยามก่อสร้าง ในการร่วมดำเนินธุรกิจกับ กปภ. ปัจจุบันบริษัทฯมีคุณสมบัติในการรับจ้างงานก่อสร้างของ กปภ. 'ชั้นที่ 1' ซึ่งสามารถเข้าร่วมประมูลงาน กปภ.ได้ทุกโครงการ และที่ล่าสุดบริษัทฯระบุว่า ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 670 ล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต
จากนี้ไปจึงต้องติดตามว่า ศึกประมูล ‘ท่อส่งน้ำดิบสายหลัก’ ในพื้นที่ EEC ซึ่งมีการเสนอผลประโยชน์ตอบแทนเข้ารัฐ คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ตลอดช่วงอายุสัญญา 30 ปีของสัญญานั้น ใครจะได้โครงการนี้ไปครอบครอง!
อ่านประกอบ :
จี้‘ธนารักษ์’นัด‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ ถกทบทวนอนุมัติผลประมูล‘ท่อส่งน้ำ’ EEC 2.5 หมื่นล.
ถกผลประมูลใหม่! 2 กก.'บอร์ดที่ราชพัสดุฯ’ ขอข้อมูลเพิ่ม 'ท่อส่งน้ำ' อีอีซี 2.5 หมื่นล.
สะพัด! กก.‘ที่ราชพัสดุ’ 4 ราย กลับลำรับรองผลประมูล ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล้าน
มติ 6 ต่อ 4! ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ ชะลออนุมัติผลประมูล ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล้าน
ศึกชิง‘ท่อส่งน้ำ’อีอีซี 2.5 หมื่นล. ‘วงษ์สยาม-อีสท์วอเตอร์’ ก่อนบอร์ดที่ราชพัสดุชี้ขาด
ชง ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ อนุมัติผลประมูลบริหาร ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล. 11 ก.พ.นี้