“…หากเทียบกับผลการประมูลครั้งที่ 1 ที่ อีสท์วอเตอร์ เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐ ระหว่าง 3,770.58-6,689.17 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ที่เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐ ระหว่าง 6,122.28-6,331.35 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี จะพบว่าผลการประมูลโครงการครั้งที่ 2 นั้น ภาครัฐได้ผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าตัว…”
................................
สืบเนื่องจากกรณีที่ คณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่มี สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เป็นประธาน จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาทบทวนมติ เรื่อง การพิจารณาให้ความเห็นชอบการดำเนินการผลการคัดเลือกเอกชน ร่างสัญญาและเงื่อนไขสำคัญของสัญญา กรณีโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ในวันที่ 14 มี.ค.นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จิรายุทธ รุ่งทองศรี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) หรือ อีสท์วอเตอร์ ได้ทำหนังสือที่ EW 100/057/22 ลงวันที่ 10 มี.ค.2565 ถึงประธานและกรรมการที่ราชพัสดุ 12 ราย
โดยได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการที่ราชพัสดุ กรณีการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการในโครงการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ซึ่งมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
ตามที่ กรมธนารักษ์และคณะกรรมการคัดเลือกเอกซนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ได้ร่วมกันนำโครงการท่อส่งน้ำดอกกราย ,โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ไปดำเนินการคัดเลือกเอกชน ตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 16 ก.ค.2564 (การคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1)
และวันที่ 26 ส.ค.2564 คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีหนังสือแจ้งมติให้ยกเลิกการคัดเลือกเอกซน พร้อมจัดให้มีการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ ตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำดิบสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 10 ก.ย.2564 (การคัดเลือกเอกซนครั้งที่ 2)
ต่อมา วันที่ 23 ก.ย.2564 บริษัทฯ จึงได้ยื่นฟ้องกรมธนารักษ์และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ให้ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1 และการดำเนินการคัดเลือกเอกชน ครั้งที่ 2 พร้อมขอให้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1 ต่อไปจนเสร็จสิ้น นั้น
บริษัทฯ ได้รับทราบข้อมูลจากรายงานข่าวที่เผยแพร่ทั่วไปเกี่ยวกับขั้นตอนล่าสุดของการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 2 ว่า คณะกรรมการที่ราชพัสดุได้มีมติเสียงข้างมาก (6 ต่อ 4) ให้ชะลอการดำเนินโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก เพื่อรอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในคดีที่บริษัทฯ ฟ้องเสียก่อน
บริษัทฯ ขอเรียนว่า การที่คณะกรรมการที่ราชพัสดุมีมติให้ชะลอการดำเนินการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 2 เพื่อรอฟังผลคำพิพากษาศาลปกครองกลาง นั้น เป็นการดำเนินการและใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมาย มีเหตุผลและความเป็นธรรม
ทั้งนี้ เพื่อให้คณะกรรมการที่ราชพัสดุมีข้อมูลใช้ประกอบการพิจารณาอย่างครบถ้วน บริษัทฯ จึงใคร่ขอกราบเรียนข้อเท็จจริงและเหตุผล ตามลำดับต่อไปนี้
@‘อีสท์วอเตอร์’ ชี้ยกเลิกประมูลครั้งที่ 1 ไม่ชอบด้วยกม.
1.ข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่า การยกเลิกการจัดการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1 และการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 2 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
1.1 เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2564 บริษัทฯ ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1746/2564 มีสาระสำคัญว่า
(ก) คำสั่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ตามหนังสือลงวันที่ 26 ส.ค. 2564 แจ้งยกเลิกการจัดการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ (ข) การคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 2 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายใช้สนับสนุนคำฟ้องเป็นลำดับ ดังนี้
(1) ข้อเสนอบริษัทฯ และเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น ๆ ในการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1 ได้ถูกเปิดซองเอกสารข้อเสนอ และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีการพิจารณาให้คะแนนประเมินข้อเสนอจนเสร็จสิ้นแล้ว
โดยบริษัทฯ น่าจะเป็นผู้ได้รับคะแนนประเมินคัดเลือกสูงสุด การที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีคำสั่งให้ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1 จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้บริษัทฯ เสียหาย
(2) ข้ออ้างคณะกรรมการคัดเลือกฯ ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1 เพื่อแก้ไขความไม่ชัดเจนของประกาศเชิญชวนและเอกสารคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1 ไม่เป็นความจริง เพราะประกาศเชิญชวนและเอกสารคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1 มีความชัดเจนอยู่แล้ว กล่าวคือ
-ในชั้นจัดทำร่างประกาศเชิญชวนและเอกสารคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1 นั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ตรวจพิจารณาร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญา ที่เสนอโดยกรมธนารักษ์จนเกิดความครบถ้วนและแน่ใจแล้ว จึงได้ดำเนินการจัดทำหนังสือแจ้งเชิญชวนไปยังเอกชนต่างๆ
-ภายหลังคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ออกประกาศเชิญชวนและจัดส่งเอกสารคัดเลือกเอกชน ครั้งที่ 1 ให้แก่เอกชนแล้ว คณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ ได้เปิดโอกาสให้เอกชนรับฟังการชี้แจงรายละเอียดและตอบคำถามเกี่ยวกับโครงการฯ เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2564
รวมทั้งเปิดโอกาสให้เอกชนจัดทำหนังสือส่งคำถามเพิ่มเติม ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีประเด็นความไม่ชัดเจนของประกาศเชิญชวนและเอกสารคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1 เกิดขึ้น โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ กับกรมธนารักษ์ ต่างได้ยืนยันด้วยว่า สามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1 จนเสร็จสิ้นได้
-หลังเสร็จสิ้นการรับฟังการชี้แจงรายละเอียดและตอบคำถามเกี่ยวกับโครงการฯ เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2564 แล้ว คณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ ไม่มีการปรับแก้ไขเพิ่มเติมประกาศเชิญชวนและเอกสารคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1 และได้ดำเนินการเปิดรับซองเอกสารข้อเสนอจากเอกชนในวันที่ 9 ส.ค.2564 อันเป็นพฤติการณ์ที่ยืนยันให้เห็นว่า ประกาศเชิญชวนและเอกสารคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1 ไม่ได้มีปัญหาความไม่ชัดเจน ดังที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ กล่าวอ้าง
(3) การออกประกาศเชิญชวนและเอกสารคัดเลือกเอกชน ครั้งที่ 2 มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับเหตุผลสั่งยกเลิกการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1 เพราะประกาศเชิญชวนและเอกสารคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 2 มีเนื้อหาเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการสำคัญอื่นๆ ให้แตกต่างไปจากประกาศเชิญชวนและเอกสารคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1 ในข้อสาระสำคัญหลายประการ
จึงไม่ใช่การแก้ไขเพิ่มเติมให้เกิดความชัดเจน ดังที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ กล่าวอ้าง และการแก้ไขเพิ่มเติมตามประกาศเชิญชวน และเอกสารคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 2 ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทางราชการ
(4) การที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ออกคำสั่งยกเลิกการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1 เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะไม่มีการเปิดโอกาสให้เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอทุกราย รวมถึงบริษัทฯมีโอกาสได้โต้แย้งก่อน จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อนออกคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 30 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
(5) ประการสำคัญ ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 2 คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีพฤติการณ์ดำเนินการด้วยความเร่งรีบ จนทำให้การดำเนินการไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และส่อให้เห็นถึงการกระทำที่ไม่สุจริตอีกด้วย กล่าวคือ
-บริษัทฯ ได้รับหนังสือเชิญชวนและเอกสารคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 2 จากคณะกรรมการคัดเลือกฯ เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2564 โดยมีกำหนดวันเปิดรับซองเอกสารข้อเสนอในวันที่ 28 ก.ย.2564 จึงเป็นที่ชัดแจ้งว่าบริษัทฯ ได้รับแจ้งการเชิญชวนโดยมีระยะเวลาห่างจากวันเปิดรับซองเอกสารข้อเสนอแค่เพียง 14 วันเท่านั้น
จึงเป็นการไม่ชอบด้วยระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการคัดเลือกเอกชนเพื่อจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุที่มีราคาเกินห้าร้อยล้านบาท พ.ศ.2564 ส่วนที่ 1 ข้อ 31 วรรคสอง ที่กำหนดให้ต้องมีการแจ้งเชิญชวนไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนวันเปิดรับซองเอกสารข้อเสนอ
(6) การกระทำของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ ที่ร่วมกันสั่งยกเลิกการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1 เป็นการกระทำละเมิดและทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย โดยขณะนี้ คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง และคณะกรรมการคัดเลือกฯ กับกรมธนารักษ์ ยังมิได้ยื่นคำให้การต่อศาล
(จิรายุทธ รุ่งทองศรี)
@พฤติการณ์ ‘บอร์ดคัดเลือก-ธนารักษ์’ มีข้อพิรุธผิดปกติ
1.2 พฤติการณ์และข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ปรากฎจากการดำเนินคดีในศาลปกครองกลางของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ ส่อให้เห็นถึงปัญหา และข้อพิรุธผิดปกติ ในการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 2 กล่าวคือ
(1) คณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ มีพฤติการณ์จงใจประวิงคดีให้เกิดความล่าช้า
เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2564 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับคำฟ้องของบริษัทฯ ไว้พิจารณา และศาลมีคำสั่งให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ ยื่นคำให้การต่อศาลภายในวันที่ 3 พ.ย.2564 แต่ปรากฏว่า จนถึงปัจจุบันผ่านมานานกว่า 4 เดือนเศษแล้ว คณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ก็ยังไม่ได้ยื่นคำให้การต่อศาลปกครองกลาง
โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การต่อศาลหลายครั้ง ครั้งแรก ครบกำหนดยื่นคำให้การต่อศาลวันที่ 3 พ.ย.2564 ขอขยายไปจนถึงวันที่ 3 ธ.ค.2564 ครั้งที่สอง ขอขยายไปจนถึงวันที่ 2 ม.ค.2565 ครั้งที่สาม ขอขยายไปจนถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 และครั้งที่สี่ ขอขยายไปจนถึงวันที่ 3 มี.ค.2565
บริษัทฯ ได้ติดตามความคืบหน้าคดีกับเจ้าหน้าที่ศาล เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2565 และพบว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ ก็ยังไม่ยื่นคำให้การ แต่ได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การต่อศาลอีกครั้ง ซึ่งเป็นครั้งที่ห้า จนถึงวันที่ 2 เม.ย.2565
จากพฤติการณ์ข้างต้น บริษัทฯ จึงเห็นว่า การที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ ยังไม่ยื่นคำให้การพร้อมพยานหลักฐานต่อศาล เป็นพฤติการณ์ที่มีลักษณะเป็นการจงใจประวิงการพิจารณาของศาลให้เกิดความล่าช้า
โดยใช้วิธีการขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การต่อศาลไปเรื่อยๆ จนกว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ จะเร่งรัดเข้าทำสัญญากับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ให้แล้วเสร็จก่อนแล้วนำมาใช้เป็นข้ออ้างกับศาลว่า มีการทำสัญญากับ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด แล้ว
หากต่อมาศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย บริษัทฯ ก็มีสิทธิเพียงเรียกค่าเสียหายจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้เท่านั้น แต่ไม่สามารถเพิกถอนคำสั่งยกเลิกการคัดเลือกเอกชน ครั้งที่ 1 และการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 2 ได้แล้ว นั่นเอง
@‘อีสท์วอเตอร์’ ยันได้คะแนนสูงสุดในการประมูล ครั้งที่ 1
(2) ข้อเท็จจริงที่ได้จากการยื่นคำคัดค้านในชั้นพิจารณาของคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาในชั้นศาลปกครองกลางพิจารณามีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา นั้น เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2564 คณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ ได้ยื่นคำคัดด้านเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาต่อศาลปกครองกลาง (คำคัดค้านของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์)
ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้จากคำคัดค้านของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ดังกล่าว มีข้อเท็จจริงสำคัญบางประการ ที่สอดคล้องกับคำฟ้องของบริษัทฯ ดังนี้
(2.1) ตามคำคัดค้านของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ ได้อ้างถึงสำเนาเอกสารสรุปรายงานการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2564 ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาให้คะแนนผู้ยื่นข้อเสนอเอกชนทั้ง 3 ราย พบว่า ในการจัดการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1 เมื่อรวมคะแนนของที่ 2 และซองที่ 3 แล้ว ผู้ได้คะแนนสูงสุดคือ บริษัทฯ (ไม่ใช่ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด)
จากข้อเท็จจริงข้างต้นนี้ ทำให้เห็นได้ว่า การให้ข่าวของอธิบดีกรมธนารักษ์ เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2565 กับสำนักข่าวอิศราว่า “ ...กรมธนารักษ์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในการเปิดประมูลโครงการฯ ครั้งที่ 1 นั้น บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ได้รับคะแนนประเมินสูงสุด ...” มีความคลาดเคลื่อนและผิดไปจากความเป็นจริงอย่างชัดแจ้ง
จนทำให้บริษัทฯ เกิดข้อกังวลว่า กรมธนารักษ์จะพยายามให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการที่ราชพัสดุในการประชุมที่ผ่านมา และที่จะมีการประชุมครั้งต่อไป เพื่อขอความเห็นชอบทำสัญญากับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด โดยไม่ถูกต้องด้วย หรือไม่
ที่มา : คำสั่งศาลปกครอง ในคดีหมายเลขดำที่ 1746/2564 เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2564 ,สำนักข่าวอิศรา)
@ชี้ ‘ธนารักษ์’ ส่ง ‘ประกาศเชิญชวน’ ผิดระเบียบ ‘ก.คลัง’
(2.2) ข้อเท็จจริงจากคำคัดค้านของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ เกี่ยวกับการจัดส่งหนังสือเชิญชวน พร้อมนำส่งประกาศเชิญชวนเอกชนสำหรับการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 2 มีความชัดเจนว่า การจัดส่งหนังสือเชิญชวนและนำส่งประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 2 ให้แก่บริษัทฯ นั้น
ไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการคัดเลือกเอกชนเพื่อจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุที่มีราคาเกินห้าร้อยล้านบาท พ.ศ.2564 ข้อ 31 ที่กำหนดว่า
“หนังสือเชิญชวนเอกชนตามวรรคหนึ่ง ต้องประกอบไปด้วยประกาศเชิญชวนร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญา โดยต้องแจ้งเชิญชวนไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันเปิดรับซองเอกสารข้อเสนอ”
กล่าวคือ คณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ได้ยอมรับข้อเท็จจริงไว้แล้วว่า บริษัทฯ ได้รับหนังสือเชิญชวนและประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 2 จากคณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์โดยวิธีการส่งทางไปรษณีย์ในวันที่ 13 ก.ย.2564
โดยผลของการนับระยะเวลาตามกฎหมาย การส่งหนังสือเชิญชวนของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ จะมีผลเป็นการ “แจ้ง” ก็ต่อเมื่อบริษัทฯได้รับหนังสือเชิญชวน ไม่ใช่วันที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ระบุไว้ในหนังสือหนังสือเชิญชวน
ประกอบกับตามมาตรา 64 วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 บัญญัติไม่ให้นับวันแรกที่ได้รับหนังสือเป็นวันแรกแห่งการเริ่มต้นนับระยะเวลารวมเข้าไปด้วย
ดังนั้น การนับระยะเวลาการแจ้งเชิญชวนไม่น้อยกว่า 15 วัน จึงต้องเริ่มต้นนับระยะเวลาในวันที่ 14 ก.ย.2564 ซึ่งเป็นวันถัดไป จากวันที่บริษัทฯ ได้รับหนังสือเชิญชวน เป็นวันแรก ดังนั้น การแจ้งเชิญชวนและนำส่งประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 2 ของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ ให้แก่บริษัทฯ จึงไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้และไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดแจ้ง
1.3 บริษัทฯ เห็นว่า การที่กรมธนารักษ์มีความพยายามจัดทำข้อมูล เพื่อเสนอไปยังคณะกรรมการที่ราชพัสดุตามที่ปรากฎในข่าว เพื่อโน้มน้าวให้คณะกรรมการที่ราชพัสดุลงมติใหม่อีกครั้ง เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีเหตุผลรับฟังได้ ดังนี้
(ก) การที่คณะกรรมการที่ราชพัสดุมีมติให้ชะลอการดำเนินโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกไว้ก่อน เพื่อรอผลคดีของศาลปกครองกลาง นั้น เป็นกรณีที่คณะกรรมการที่ราชพัสดุได้มีโอกาสพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1 และปัญหาการจัดให้มีการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 2 ข้างต้นแล้ว จึงได้มีมติให้ชะลอการดำเนินโครงการไว้ดังกล่าว
(ข) ข้ออ้างของกรมธนารักษ์ ที่ประสงค์จะชี้แจงต่อคณะกรรมที่ราชพัสดุเพิ่มเติม ซึ่งปรากฎตามข่าว ในประเด็นที่รัฐต้องการเดินหน้าโครงการต่อ เพื่อให้รัฐไม่เสียประโยชน์ และเพื่อรัฐจะได้รับเงินจาก บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ในทันทีเป็นเงินประมาณ 1,500 ล้านบาท นั้น เห็นได้ว่า ไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาการตรวจสอบความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการดำเนินโครงการฯ แต่อย่างใด
ดังนั้น การที่กรมธนารักษ์กำลังจัดเตรียมข้อมูลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง จึงแสดงให้เห็นได้ว่า กรมธนารักษ์จงใจกระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรมและหลักนิติรัฐ และหลักการตรวจสอบถ่วงดุลเรื่องความชอบของกฎหมายในการดำเนินโครงการฯ เลยแม้แต่น้อย
@หนุนมติ ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ ชะลอการอนุมัติโครงการ
2.บริษัทฯ เห็นพ้องด้วยกับมติของคณะกรรมการที่ราชพัสดุเสียงข้างมากที่ให้ชะลอการดำเนินโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก เพื่อรอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาออกมาเสียก่อน
บริษัทฯ เห็นว่า ในการดำเนินโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก นั้น ปัจจุบันมีบริษัทฯ เป็นคู่สัญญากับกรมธนารักษ์ ในโครงการท่อส่งน้ำดอกกราย โดยสัญญามีกำหนดระยะเวลา 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2537 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566
และในส่วนโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) กรมธนารักษ์ได้ส่งมอบทรัพย์สินให้บริษัทฯ บริหารตามมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 30 ตุลาคม 2540 และวันที่ 9 ต.ค.2541 ตามลำดับ
บริษัทฯ จึงมีทั้งสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องบริหารโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ได้ต่อไปจนถึงวันที่ 29 ต.ค.2570 และวันที่ 8 ต.ค. 2571
ดังนั้น ในการคัดเลือกให้เอกชนบริหารระบบท่อส่งน้ำดิบสายหลักในภาคตะวันออก จึงยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ที่กรมธนารักษ์จะต้องเข้าทำสัญญาบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด
ประกอบกับ บริษัทฯ เชื่อว่าการพิจารณาของศาลปกครองจนถึงที่สุด จะใช้เวลาในการพิจารณาคดีโดยเร็ว แต่สาเหตุที่ปัจจุบันศาลปกครองกลางยังไม่มีคำพิพากษา มีเหตุมาจากคณะกรรมการคัดเลือกฯ และกรมธนารักษ์ ยังไม่ยื่นคำให้การต่อศาลปกครอง แต่ขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การออกไปเรื่อย ๆ ดังที่ได้กราบเรียนไว้แล้วข้างต้น
@‘อีสท์วอเตอร์’ ระบุหากทบทวนมติบอร์ดอาจทำให้รัฐเสียหาย
3.หากคณะกรรมการที่ราชพัสดุพิจารณาทบทวนมติที่ประชุมเสียงข้างมาก ที่ให้ชะลอการดำเนินโครงการบริหาร และดำเนินกิจการระบบท่อสงน้ำสายหลักในภาคตะวันออกไปก่อนจนมีการเข้าทำสัญญาบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ต่อไป อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
เมื่อปรากฏเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการแจ้งยกเลิกการจัดการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1 และการจัดการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 2 ตามที่บริษัทฯ ได้กราบเรียนเป็นลำดับข้างต้นแล้ว
หากคณะกรรมการที่ราชพัสดุได้ประชุมครั้งใหม่ตามที่ปรากฎในรายงานข่าว แล้วมีมติใหม่ให้ความเห็นชอบแก่กรมธนารักษ์ ในการเข้าทำสัญญากับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด แต่ต่อมา ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการแจ้งยกเลิกการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1 และการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 2 ตามคำฟ้องของบริษัทฯ แล้ว
ย่อมจะก่อให้เกิดปัญหาความชอบด้วยกฎหมายของสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างกรมธนารักษ์ กับ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ต่อไปด้วย
เพราะสัญญาดังกล่าวเป็นผลมาจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอาจทำให้เกิดข้อสงสัยต่อสาธารณชนทั่วไปต่อไปอีกว่า การดำเนินการของกรมธนารักษ์นี้ จะทำให้รัฐต้องจ่าย ‘ค่าโง่’ อันเป็นการเพิ่มภาระทางงบประมาณของประเทศต่อไปด้วย หรือไม่
ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ คณะกรรมการที่ราชพัสดุสามารถป้องกันได้ โดยลงมติยืนยันตามติเดิมให้ชะลอการดำเนินโครงการ เพื่อรอผลการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง เพื่อให้ได้ข้อยุติทางกฎหมายที่ชัดเจนก่อน
ทั้งนี้ ในระหว่างรอการพิจารณาของศาลปกครองดังกล่าว รัฐและประชาชนก็ไม่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง หรือทำให้รัฐหรือประชาชนเสียประโยชน์ด้วย เพราะการให้บริการสาธารณะเกี่ยวกับการดำเนินโครงการท่อส่งน้ำดิบฯ ยังสามารถดำเนินการโดยบริษัทฯ ต่อไปได้ตามสิทธิและหน้าที่ของบริษัทฯ และกรมธนารักษ์ ก็ยังได้รับค่าตอบแทนรายปีจากบริษัทฯ ตามที่ได้มีการตกลงกันไว้แล้ว
@เปิดมติ ‘บอร์ดคัดเลือกฯ’ ยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา พบว่า ในการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหาร ระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2564 ที่มี ยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ (ขณะนั้น) เป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ ‘ยกเลิก’ การประมูลโครงการบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ครั้งที่ 1 นั้น สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้
ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณาเกี่ยวกับ ‘ความถูกต้องและเหมาะสม’ ในการให้คะแนนตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการคัดเลือกฯกำหนด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการ กรณีการเปิดประมูลโครงการบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก (การคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1)
โดย ฝ่ายเลขานุการ (กรมธนารักษ์) ได้รายงานสรุปผลประโยชน์ตอบแทนที่ภาครัฐจะได้รับจาก ‘เอกชน’ ในการเปิดประมูลโครงการบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ครั้งที่ 1 ให้ที่ประชุมรับทราบ โดยคำนวณเป็น 2 กรณี
กรณีแรก เป็นการสรุปผลประโยชน์ตอบแทนที่ภาครัฐจะได้รับตลอด 30 ปี โดยคำนวณจากปริมาณและราคาน้ำตามผลศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลปรากฏว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐสูงสุดที่ 6,331.35 ล้านบาท ขณะที่ อีสท์วอเตอร์ เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐ 3,770.58 ล้านบาท
กรณีที่สอง เป็นการสรุปผลประโยชน์ตอบแทนที่ภาครัฐจะได้รับตลอด 30 ปี โดยคำนวณจากปริมาณและราคาน้ำของผู้ยื่นข้อเสนอ ผลปรากฏว่า อีสท์วอเตอร์ เป็นผู้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐสูงสุดที่ 6,689.17 ล้านบาท ขณะที่ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้รัฐที่ 6,122.28 ล้านบาท
(ที่มา : รายงานการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหาร ระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2564)
หลังฝ่ายเลขานุการสรุปรายงานจบ อธิบดีกรมธนารักษ์ (ยุทธนา หยิมการุณ) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกฯ ให้ความเห็นว่า กรณีที่ อีสท์วอเตอร์ ยื่นข้อเสนอว่า สามารถขายน้ำได้ 350 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อปี ซึ่งเป็นผลให้ อีสท์วอเตอร์ เป็นผู้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนฯสูงสุดในการคำนวนกรณี 2 นั้น เชื่อว่า ‘ไม่น่าเป็นไปได้’
เนื่องจากก่อนหน้านี้ ได้มีหนังสือหารือไปยังการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เพื่อสอบถามศักยภาพระบบท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก ซึ่ง กปภ.แจ้งว่า โครงการท่อส่งน้ำทั้ง 3 โครงการ ส่งน้ำได้ 230 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่าในปีแรก ปริมาณการส่งน้ำในปีแรกจะอยู่ที่ 150 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น
ขณะที่ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด (โอภาษ วโรภาษ) ให้ความเห็นสรุปได้ว่า กรณีที่ฝ่ายเลขานุการเสนอให้ที่ประชุมเลือกว่า จะให้เอกชนรายใดเป็นผู้ชนะการประมูล โดยให้ที่ประชุมพิจารณาเลือกระหว่าง ‘การใช้เกณฑ์ปริมาณน้ำตามผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์’ กับ 'เกณฑ์ปริมาณน้ำตามที่ผู้ยื่นข้อเสนอเสนอมา’ นั้น
จะพบว่าทั้ง 2 กรณี มีความ ‘แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ’ ส่งผลให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ยื่นข้อเสนอ และอาจส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อผลการพิจารณาที่ดำเนินการไปแล้ว
ดังนั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะต้องแสดงให้เห็นว่า การพิจารณาในประเด็นดังกล่าว กระทำไปโดยสุจริต ยุติธรรม และรักษาผลประโยชน์ของรัฐ
(ยุทธนา หยิมการุณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมธนารักษ์)
@บอร์ดคัดเลือกฯเสียงแตก-กก. 4 ราย เสนอยกเลิกผลประมูล
จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาการคำนวณผลประโยชน์ตอบแทน ซองที่ 3 (ข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนและข้อเสนอราคาจำหน่ายน้ำดิบต่อหน่วย) ในส่วนของผลตอบแทนที่แข่งขันกัน ได้แก่ ค่าแรกเข้าและส่วนแบ่งรายได้ ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีความเห็นไม่สอดคล้องกัน โดยมีความเห็นเป็น 3 แนวทาง คือ
แนวทางแรก ประธานคณะกรรมการคัดเลือกฯ (ยุทธนา หยิมการุณ) เห็นว่า ควรกำหนดเกณฑ์โดยรวมคะแนนค่าแรกเข้าและส่วนแบ่งรายได้เข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของกรมบัญชีกลาง ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค 0405.2/36086 ลงวันที่ 23 ส.ค.2564 และส่วนแบ่งรายได้ให้ใช้เกณฑ์ปริมาณน้ำและราคาตามผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการคิดผลตอบแทน
แนวทางที่สอง ผู้ทรงคุณวุฒิ (สุวิทย์ สรรพวิทยศิริ) เห็นว่า ในส่วนค่าแรกเข้า ค่าตอบแทนรายปี และส่วนแบ่งรายได้ ควรยึดตามที่ผู้ยื่นข้อเสนอ เสนอมาเป็นหลัก และในเอกสารคัดเลือกเอกชนก็ไม่ได้มีการระบุจำนวนและปริมาณน้ำไว้ เมื่อผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด คือ บริษัท East Water จึงเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก
แนวทางที่สาม คณะกรรมการคัดเลือก 4 ราย ได้แก่ วรนุช ภู่อิ่ม (ผู้แทนกระทรวงการคลัง) , โอภาษ วโรภาษ (ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด) , ชาญวิทย์ นาคบุรี (ผู้ทรงคุณวุฒิ) และ ศุกร์ศิริ บุญญเศรษฐ์ (รองอธิบดีกรมธนารักษ์ด้านที่ราชพัสดุ กรรมการและเลขานุการฯ) เห็นควรให้ยกเลิกการคัดเลือกฯ โดยให้เหตุผลใน 3 ประเด็น ได้แก่
1.การคัดเลือกครั้งนี้ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาและการให้คะแนนอย่างชัดเจน ซึ่งไม่ได้มุ่งเน้นเพียงผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุด
2.หลังจากที่ได้ทำการเปิดซองข้อเสนอฯ ซองที่ 2 และซองที่ 3 ของผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 รายแล้ว พบว่าไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างเหมาะสม และเป็นธรรมต่อผู้ยื่นข้อเสนอฯ และกรมธนารักษ์ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอ เป็นผลประโยชน์ตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรม
3.ตามเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน ข้อ 8 ข้อสงวนสิทธิ ในการไม่พิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอรายใดเลย หรือจะไม่คัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุดก็ได้ รวมทั้งมีอำนาจพิจารณายกเลิกการคัดเลือก หากมีเหตุ ซึ่งเชื่อได้ว่าผลประโยชน์ตอบแทนที่เสนอมานั้น ยังไม่เหมาะสม
@ 4 กก.แจงเหตุยกเลิกประมูลครั้งที่ 1 เพราะมีข้อเท็จจริงใหม่
คณะกรรมการคัดเลือก 4 ราย ยังให้เหตุผลว่า ในการพิจารณาซองที่ 3 แม้จะปรากฏว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ได้คะแนนมากกว่า บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก แต่เมื่อรวมคะแนน ซองที่ 2 และซองที่ 3 บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก ได้คะแนนมากกว่าบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด
แต่เมื่อมีข้อเท็จจริงใหม่เกี่ยวกับปริมาณน้ำและศักยภาพของท่อน้ำ ที่ประธานฯนำเข้าสู่การประชุมว่า ได้ประสานขอทราบข้อมูลจาก กปภ. ซึ่งระบุว่าท่อส่งน้ำมีความสามารถในการรองรับน้ำจำกัด ตามคุณลักษณะเฉพาะของแต่ละท่อ และอาจไม่มีศักยภาพเพียงพอตามที่บริษัทเสนอ ทำให้การคำนวณผลประโยชน์ของรัฐ 'มีความแตกต่างกัน'
ดังนั้น เพื่อประโยชน์ของรัฐ จึงเห็นควรพิจารณาเรื่องนี้ใหม่ทั้งหมด โดยทบทวน TOR ให้ชัดเจนว่า กรณีดังกล่าวเป็นการบริหารท่อส่งน้ำเฉพาะท่อของรัฐ หรือรวมกับทรัพย์สินของเอกชน และให้กำหนดเงื่อนไขการคำนวณค่าตอบแทนให้ชัดเจนว่า ส่วนแบ่งรายได้ที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะคำนวณจากฐานข้อมูลใด
แต่เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกเพิ่งตรวจสอบพบว่า มีความจำเป็นที่จะต้องทำการปรับปรุงแก้ไขเกณฑ์การพิจารณาเอกสารประกาศเชิญชวนฯ และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนฯ ซึ่งตรวจพบในภายหลัง ซึ่งล่วงเลยระยะเวลาที่สามารถทำการแก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมเอกสารประกอบการยื่นข้อเสนอการคัดเลือกฯแล้ว
หากคณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวในขณะนี้ ก็จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ยื่นข้อเสนอทุกราย และทำให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างหมาะสมและเป็นธรรม รวมทั้งไม่สามารถรักษาประโยชน์ของทางราชการ โดยเฉพาะกรมธนารักษ์
จึงเป็นความจำเป็นที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะต้องใช้สิทธิยกเลิกประกาศเชิญชวนโดยไม่พิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอรายใดเลย เพื่อให้สามารถดำเนินการปรับปรุงเอกสารประกาศเชิญชวนฯและเอกสารการคัดเลือกเอกชนฯ ให้ครบถ้วนเหมาะสมและเป็นธรรม โดยยังคงเปิดโอกาสให้ผู้ยื่นข้อเสนอมีโอกาสในการยื่นข้อเสนอต่อไป
จากนั้นที่ประชุมโดยมติเสียงข้างมาก 4 เสียง ประกอบด้วย วรนุช ภู่อิ่ม (ผู้แทนกระทรวงการคลัง) ,โอภาษ วโรภาษ (ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด) ,ชาญวิทย์ นาคบุรี (ผู้ทรงคุณวุฒิ) และศุกร์ศิริ บุญญเศรษฐ์ รองอธิบดีด้านที่ราชพัสดุ เห็นควรให้ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกในครั้งนี้
และให้นำความเห็นของคณะกรรมการคัดเลือกไปดำเนินการให้ครบถ้วนเพื่อประโยชน์ของรัฐ และมีข้อเสนอแนะให้กรมธนารักษ์ไปศึกษาศักยภาพของท่อส่งน้ำให้ชัดเจนก่อนดำเนินการต่อไป
@ผลประมูลครั้งที่ 2 รัฐได้ผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่ม 4 เท่า
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากคณะกรรมการคัดเลือก 'ยกเลิก' ผลการประมูลโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ครั้งที่ 1 และเปิดประมูลโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก เป็นครั้งที่ 2 โดยเปิดให้เอกชนยื่นซองเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2564
ผลปรากฏว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐสูงสุด เป็นเงิน 25,693.22 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี รองลงมา คือ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ อีสท์วอเตอร์ ซึ่งเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐ 24,212.88 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี
ที่สำคัญหากเทียบกับผลการประมูลครั้งที่ 1 ที่ อีสท์วอเตอร์ เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐ ระหว่าง 3,770.58-6,689.17 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ที่เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ภาครัฐ ระหว่าง 6,122.28-6,331.35 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 30 ปี จะพบว่าผลการประมูลโครงการครั้งที่ 2 นั้น ภาครัฐได้ผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า เมื่อเทียบกับผลการประมูลครั้งที่ 1
เหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประมูลโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ของฝั่ง ‘อีสท์วอเตอร์’ และ ‘กรมธนารักษ์’
จากนี้ไปคงต้องติดตามว่า ในการประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุในวันที่ 14 มี.ค.นี้ กรรมการที่ราชพัสดุทั้ง 12 เสียง จะมีมติเป็นเช่นใด และจะทบทวนผลการคัดเลือกหรือไม่?
(ที่มา : รายงานการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหาร ระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2564)
อ่านประกอบ :
รมช.คลัง นัดถก บอร์ดที่ราชพัสดุ 14 มี.ค. ชี้ขาดประมูลท่อส่งน้ำ EEC 2.5 หมื่นล.
‘วงษ์สยามก่อสร้าง’ ร้อง ‘รมช.คลัง’ ขอความเป็นธรรม ประมูลท่อส่งน้ำ EEC 2.5 หมื่นล้าน
‘อีสท์วอเตอร์’สะเทือน หากแพ้คดี‘ท่อส่งน้ำ’ 2.5 หมื่นล.-พบแบ่งรายได้รัฐเฉลี่ยปีละ 21 ล.
จี้‘ธนารักษ์’นัด‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ ถกทบทวนอนุมัติผลประมูล‘ท่อส่งน้ำ’ EEC 2.5 หมื่นล.
ถกผลประมูลใหม่! 2 กก.'บอร์ดที่ราชพัสดุฯ’ ขอข้อมูลเพิ่ม 'ท่อส่งน้ำ' อีอีซี 2.5 หมื่นล.
สะพัด! กก.‘ที่ราชพัสดุ’ 4 ราย กลับลำรับรองผลประมูล ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล้าน
มติ 6 ต่อ 4! ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ ชะลออนุมัติผลประมูล ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล้าน
ศึกชิง‘ท่อส่งน้ำ’อีอีซี 2.5 หมื่นล. ‘วงษ์สยาม-อีสท์วอเตอร์’ ก่อนบอร์ดที่ราชพัสดุชี้ขาด
ชง ‘บอร์ดที่ราชพัสดุ’ อนุมัติผลประมูลบริหาร ‘ท่อส่งน้ำ’ อีอีซี 2.5 หมื่นล. 11 ก.พ.นี้