“…สำนักงานอัยการสูงสุดให้ฟ้องใครครับ ถ้าฟ้องประชาชนก็ผิดหลักการที่ผมว่าไว้ แต่ถามว่าเราฟ้องไหม ไม่ใช่ว่าเราไม่ฟ้อง แต่ถ้าใครไปตีความว่าให้ฟ้องประชาชน ผมไม่ทำ ผมไม่ระรานประชาชน ไม่ว่าประชาชนคนนั้น จะมีฐานะเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าท่านเป็นนักการเมืองหรือท่านเป็นผู้มีเงินมากมาย หรือเป็นประชาชนผู้ต่ำต้อย เราไม่ฟ้อง…”
.................................
ผ่านมาแล้วเกือบ 1 ปี 2 เดือน
นับตั้งแต่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปรายไม่ไว้วางใจ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2564 โดยเปิดประเด็นกรณีการทวงคืนที่ดินรถไฟฯ ‘เขากระโดง’ จ.บุรีรัมย์ ขึ้นมาอีกครั้งในรอบ 10 ปี (อ่านประกอบ : มหากาพย์ที่ดิน ‘เขากระโดง’ โยง ‘ศักดิ์สยาม-ญาติ’ มีบ้านพักบน ‘ที่หลวง’)
แต่ทว่าการทวงคืนที่ดินรถไฟฯ ‘เขากระโดง’ ยังคงไม่บทสรุป
กระทั่ง พ.ต.อ.ทวี ได้กล่าวในการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติ เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2565 และตั้งคำถามกรณี การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยื่นฟ้อง ‘กรมที่ดิน’ ต่อ ‘ศาลปกครอง’ โดยขอให้ศาลฯมีคำสั่งให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินรถไฟฯ ‘เขากระโดง’ แทนที่จะยื่นฟ้อง ‘ศาลยุติธรรม’ ขอให้ศาลฯสั่งเพิกถอนโฉนดเป็น ‘รายแปลง’ (อ่านประกอบ : เปิดคำฟ้อง 'รฟท.'! ให้ 'กรมที่ดิน' เพิกถอนโฉนด 'เขากระโดง'-ชดใช้ 707 ล้าน)
“ที่ดินดังกล่าว (เขากระโดง) ท่านรัฐมนตรีศักดิ์สยาม ก็รับว่าเป็นที่ที่ตัวเองอยู่ เป็นที่ที่ญาติพี่น้องอยู่ และเป็นที่สนามฟุตบอลช้างอารีนา ของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ซึ่งผู้ว่าฯรถไฟไม่กล้าฟ้องเจ้านาย” พ.ต.อ.ทวี ระบุ (อ่านประกอบ : คดีที่ 3! ศาลฎีกาย้ำ'เขากระโดง'ที่ดินรถไฟฯ 'ทวี'ข้องใจฟ้องชาวบ้าน ไม่แตะ'ชิดชอบ'?)
ต่อมาวันที่ 7 เม.ย.2565 สกลชัย ลิมป์สีสวรรค์ ทนายความอิสระ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.)
โดยขอให้ กมธ.ป.ป.ช.ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง กรณีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่สั่งการให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินรถไฟฯเขากระโดง
พร้อมทั้งขอให้ตรวจสอบจริยธรรมนักการเมืองที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากปัจจุบันปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีนักการเมืองและเครือญาติบุกรุกใช้ประโยชน์ที่ดินรถไฟฯเขากระโดง ทั้งๆมีคำพิพากษาศาลฎีกาว่า ที่ดินเขากระโดงเป็นของ รฟท. (อ่านประกอบ : ยื่น‘กมธ.ป.ป.ช.’สอบจริยธรรม 2 รมต. ไม่เพิกถอนโฉนดเขากระโดง-ใช้ที่ดินหลวงเพื่อปย.ส่วนตน)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดแถลงชี้แจงกรณีข้อพิพาทที่ดินรถไฟฯ ‘เขากระโดง’ รวมทั้งมีการชี้แจงเหตุผลที่ทำให้ รฟท. เลือกวิธีฟ้อง ‘ศาลปกครอง’ เพื่อขอให้ศาลฯมีคำสั่งให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ออกทับที่ดินรถไฟฯเขากระโดง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
@ยันมติ ‘ป.ป.ช.’ ไม่เคยสั่ง ‘รฟท.’ ฟ้องประชาชนใน ‘เขากระโดง’
นิรุฒ กล่าวว่า ที่เขากระโดง มีเขตที่ดินที่เราเชื่อว่าเป็นของการรถไฟฯ โดยเป็นที่ดินที่ได้มาด้วยพระบรมราชโองการ และมีการบันทึกไว้ในเอกสารประวัติศาสตร์ แต่สาเหตุที่ยังไม่ได้ออกเป็นโฉนดนั้น เนื่องจากในอดีตเราไม่คิดว่าจะต้องออกโฉนด เพราะมีพระบรมราชโองการ ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายฉบับหนึ่ง รองรับสิทธิตามกฎหมายของการรถไฟฯอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี ต่อมามีการยื่นเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบโฉนดที่ดิน 2 แปลงในพื้นที่เขากระโดง ว่า เป็นออกโฉนดที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่ง ป.ป.ช. มีมติว่า มีมติว่าการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีมติให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดดังกล่าว แต่ไม่ให้การรถไฟฯฟ้องประชาชนแต่อย่างใด
“เรื่องนี้ มีการพูดคุยกันมาเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ไป ป.ป.ช. ซึ่ง ป.ป.ช. ก็มีมติ แต่เป็นที่สังเกตว่า มติของ ป.ป.ช. ไม่เคยสั่งให้การรถไฟฯไปฟ้องประชาชน และเมื่อ ป.ป.ช. เห็นว่าที่ดินแปลงนี้ไม่ชอบ ก็สั่งให้กรมที่ดินไปเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ออกโดยมิชอบ ส่วนจะเพิกถอนหรือไม่ อย่างไร นั้น ก็ต้องไปถามกรมที่ดินว่า มีเหตุผลกลใดอย่างไร” นิรุฒ กล่าว
นิรุฒ กล่าวต่อว่า ในดำเนินคดีกับผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟฯ นั้น การรถไฟฯจะทำได้ ก็ต่อเมื่อกรมที่ดินได้ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์แล้วเท่านั้น การรถไฟฯถึงจะไปดำเนินการต่างๆได้ เช่น การให้ผู้บุกรุกออกจากที่ดินของการรถไฟฯ หรือการให้ผู้บุกรุกเช่าพื้นที่และจ่ายผลตอบแทนให้การรถไฟฯ เป็นต้น
“ถ้ากรมที่ดินเพิกถอน (เอกสารสิทธิ์ที่ดิน) บุคคลเหล่านั้น จะตกอยู่ในฐานะผู้บุกรุก จากนั้นการรถไฟฯจึงจะเข้าไปดำเนินการ ตั้งแต่การพูดคุยกับเขา และเข้าไปดำเนินการที่ทุกฝ่าย Win-Win เพราะการรถไฟฯไม่มีหน้าที่ไประรานประชาชน เราอยู่คู่กับประชาชน เราไม่ได้อยู่ตรงข้ามกับประชาชน” นิรุฒ กล่าว
(นิรุฒ มณีพันธ์)
@คำพิพากษาศาลฎีกามีผล ‘ผูกพัน’ เฉพาะที่ดินที่มีการฟ้องเท่านั้น
นิรุฒ กล่าวถึงที่มาที่ไปที่ทำให้ การรถไฟฯ ต้องไปฟ้องต่อศาลปกครอง และขอให้ศาลฯมีคำสั่งให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ออกทับที่ดินรถไฟฯเขากระโดง ว่า เดิมทีมีผู้มาฟ้องการรถไฟฯ โดยบอกว่า ที่ดิน 10 ไร่ บริเวณแยกเขากระโดง ที่ผู้ฟ้องกำลังครอบครองอยู่นั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของเขา แต่รถไฟฯเห็นว่าที่ดินตรงนี้เป็นของการรถไฟฯ
เมื่อมีการต่อสู้คดีกัน ปรากฏว่าศาลฎีกาให้การรถไฟฯชนะ ซึ่งในกระบวนการพิสูจน์ของศาลฯนั้น การรถไฟฯได้นำแผนที่และเอกสารต่างๆเข้าสู่การพิจารณาของศาลฯ ก่อนที่ศาลฯจะตัดสินว่าที่ดินพิพาท 10 กว่าไร่ เป็นที่ดินของการรถไฟฯ เพราะศาลฯเชื่อว่า ที่ดินบริเวณเขากระโดง เนื้อที่ 5,083 ไร่นั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคำพิพากษาของศาลฯมีผลผูกพันเฉพาะคดี ดังนั้น แม้ว่าศาลฎีกาจะเชื่อว่าที่ดินเขากระโดง เนื้อที่ 5,083 ไร่ เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ แต่การบังคับคดีจะทำได้เฉพาะที่ดินที่ตามคำพิพากษาเท่านั้น
“คำพิพากษาของศาลฯจะผูกพันเฉพาะคดี และที่บอกว่าคำพิพากษาของศาลผูกพันเฉพาะคดีนั้น เพราะคนที่ต่อสู้คดีอาจต่อสู้คดีไม่เก่งก็ได้ ทำให้เขาแพ้การรถไฟฯ เพราะฉะนั้น ศาลฯจึงตัดสินว่า ที่ดิน 10 กว่าไร่ ที่เขาอ้างว่า เป็นของเขานั้น ความจริงแล้วไม่ใช่ของเขา แต่เป็นของการรถไฟฯ
และแม้ว่าศาลฎีกาจะเขียนในคำพิจารณา ซึ่งไม่ใช่คำพิพากษา ว่า ศาลฯเชื่อว่าที่ดินตามแผนที่ที่การรถไฟฯนำสืบ ซึ่งมีจำนวนที่ดิน 5,083 ไร่นั้น เป็นของการรถไฟฯ แต่ในการบังคับคดีนั้น จะทำได้เฉพาะที่ดินที่ศาลฯตัดสิน ว่า ที่ดินนั้นเป็นของการรถไฟฯเท่านั้น
ซึ่งกรมบังคับคดีก็ดำเนินการให้เขาออกจากที่ดินไป หรือไปดำเนินการอย่างไรก็แล้วแต่ ซึ่งกรณีนี้ เขาตกเป็นผู้บุกรุกแล้ว ก็ต้องมีการบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป แต่ถามว่าจะเอาคำพิพากษานี้ ไปให้กรมบังคับคดีไปบังคับคดีกับที่ดินทั้ง 5,083 ไร่ ได้หรือไม่ ตามกฎหมายทำไม่ได้” นิรุฒ กล่าว
@‘กรมที่ดิน’ ยันออกโฉนดถูกต้อง-ต้นเหตุ ‘รฟท.’ ฟ้องศาลปกครอง
นิรุฒ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี เมื่อมีการยืนยันจากศาลฎีกา ซึ่งศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่า โดยเชื่อว่าที่ดิน 5,000 กว่าไร่ ที่แยกเขากระโดง เป็นที่ดินของการรถไฟฯ การรถไฟฯจึงนำคำวินิจฉัยดังกล่าวไปถามกรมที่ดิน ว่า กรมที่ดินจะดำเนินการตามที่ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยอย่างไร เพราะการรถไฟฯไปพบว่ามีประชาชนถือเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ออกโดยกรมที่ดินกว่า 900 ราย
“เราขอให้กรมที่ดินใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายที่ดิน โดยให้กรมที่ดินช่วยวินิจฉัยสอบสวนว่า การออกโฉนดเหล่านั้นถูกต้องหรือไม่ ซึ่งกรมที่ดินมีหน้าที่ต้องตอบว่า การออกโฉนดถูกต้องหรือไม่ แต่ต่อมากรมที่ดินได้บอกว่า โฉนดที่ดินที่เขาออกให้ประชาชนเกือบ 1,000 ราย นั้น เป็นโฉนดที่เขาออกโดยถูกต้อง
เมื่อเขา (กรมที่ดิน) ยืนยันอย่างนั้น ในขณะที่การรถไฟฯบอกว่า เป็นที่ดินของเรา จึงต้องให้คนกลางตัดสิน จึงเป็นที่มาที่การรถไฟฯนำเสนอต่อศาลปกครองกลาง ให้เป็นคนกลางวินิจฉัยว่า ตกลงแล้วที่ดินตรงนี้เป็นของใคร ซึ่งการรถไฟฯมีหลักฐานเป็นแผนที่ และเชื่อตามคำวินิจฉัยของศาลฎีกาที่เชื่อว่าที่ดิน 5,000 กว่าไร่ เป็นของรถไฟฯ” นิรุฒกล่าว
@ไม่ฟ้องเพิกถอนโฉนด ‘เขากระโดง’ รายแปลง หวั่นประชาชนเดือดร้อน
นิรุฒ กล่าวว่า อีกเหตุผลที่ทำให้การรถไฟฯใช้วิธียื่นฟ้องกรมที่ดินต่อ ‘ศาลปกครองกลาง’ เพื่อขอให้ศาลฯ มีคำสั่งให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ออกทับที่ดินรถไฟฯเขากระโดง แทนที่จะไปยื่นฟ้องประชาชนต่อ ‘ศาลยุติธรรม’ เพื่อขอให้ศาลฯสั่งเพิกถอนโฉนดเป็นรายแปลงหรือรายบุคคลนั้น เพราะการรถไฟฯไม่อยากให้ประชาชนเดือดร้อน
“เราคิดว่า เราควรจะเดินไปอย่างนี้ เพราะคิดได้ว่า เราจะไม่ไประรานคนที่ถือโฉนดของกรมที่ดิน ถ้าเราไประรานคนที่ถือโฉนดของกรมที่ดินแล้ว จะหมายความว่า กรมที่ดินออกโฉนดมาโดยมิชอบอย่างนั้นหรือ เราไม่เคารพตราครุฑที่อยู่ในโฉนดเหล่านั้นหรือ จึงเป็นที่มาของการนำเรื่องไปสู่กระบวนการของศาลปกครองกลาง
ส่วนที่หลายท่านอาจจะบอกว่า จริงๆแล้วการรถไฟฯอาจจะฟ้อง (ศาลยุติธรรม) ได้เลย กฎหมายก็ให้ฟ้องได้ แต่อย่างที่ผมเรียน เราไม่ฟ้องคนที่ถือเอกสารของทางราชการ และถ้าฟ้อง เราจะต้องฟ้องอีกกี่ราย ท่านกำลังบอกให้เราไปฟ้องประชาชน ซึ่งที่เขากระโดงอย่างเดียวมีเกือบ 1,000 ครอบครัว
การฟ้องคนเหล่านั้น นอกจากการรถไฟฯจะต้องมีงบจ่ายค่าธรรมเนียมศาลแล้ว ประชาชนเหล่านั้นจะเดือดร้อนขนาดไหน เขาจะต้องมาสู้คดี จ้างทนายมาสู้คดี เขาจะต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆในการต่อสู้คดี เราจะไประรานประชาชนอย่างนั้น ไม่ได้
แต่ถ้าเราไปฟ้องศาลปกครอง ซึ่งไม่ต้องมีค่าธรรมเนียม และศาลปกครองเป็นตัวกลางในการชี้ว่า กรมที่ดินออก โฉนด ออก น.ส. 3 ออก ส.ค.1 ถูกต้องหรือไม่ หรือที่ดินตรงนี้เป็นของการรถไฟฯ เมื่อศาลปกครองกลาง หรือในที่สุดจะเป็นศาลปกครองสูงสุด มีคำตัดสินอย่างไร การรถไฟฯมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม” นิรุฒ กล่าว
นิรุฒ ย้ำว่า "สิ่งที่การรถไฟฯได้ดำเนินการมานั้น เป็นการดำเนินการตามกฎหมาย ตามระเบียบของการรถไฟฯ แต่ที่สูงกว่านั้น และละเอียดอ่อนกว่านั้น คือ หลักธรรมาธิบาล เราต้องเดินหน้าอย่างมีธรรมาภิบาล และอย่างที่ผมเรียน เราจะไประรานชาวบ้านเขาหรือ ซึ่งอันนี้ก็คือ จริยธรรมที่ท่านถาม และอันนี้ยังเป็นเรื่องจริยธรรมและเมตตาธรรมด้วย
เมื่อเราเลือกทางที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน และทางนั้นเป็นทางก็เป็นทางที่ถูกต้องตามกฎหมาย แล้วทำไมเราจะต้องไปเลือกทางที่ต้องไปสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน และขอยืนยันว่า การรถไฟฯเราดำเนินการต่างๆอย่างถูกต้อง มีธรรมาภิบาล มีจริยธรรม และมีเมตตาธรรมด้วย”
@ยันไม่ละเว้นปฏิบัติหน้าที่-ขอระวังวิจารณ์หลังเรื่องไปถึงศาลแล้ว
นิรุฒ กล่าวต่อว่า หลังจากการรถไฟฯได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองแล้ว ขณะนี้ตอนนี้ศาลปกครองกลางรับฟ้องแล้ว ซึ่งการที่ศาลปกครองรับฟ้องนั้น สะท้อนให้เห็นว่า เรื่องนี้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง และเป็นการยืนยันในเบื้องต้นว่า สิ่งที่การรถไฟฯดำเนินการมาจนถึงศาลปกครองนั้น ถูกต้อง มาถูกทางแล้ว
“ถ้าศาลปกครองรับฟ้อง ใครก็ตามที่เอาเรื่องนี้ยกขึ้นมาพูดต้องระวัง เพราะเราจะไปทำให้ตัวเองให้มีอิทธิพลต่อการพิจารณาเรื่องที่อยู่ในอำนาจของศาลแล้ว และเมื่อเราได้ดำเนินการเรื่องนี้ไปถึงศาลแล้ว ขอถามว่าเราละเว้นตรงไหน โดยจะเป็นคนบอกว่าที่ดินตรงนี้เป็นที่ดินของการรถไฟฯหรือไม่” นิรุฒ กล่าว
เมื่อถามว่า การพิจารณาของศาลปกครองจะใช้เวลาเร็วหรือไม่ นิรุฒ กล่าวว่า เรื่องนี้จะเห็นได้ว่าศาลฯรับฟ้องได้เร็ว ส่วนการพิจารณาของศาลปกครองอาจจะต้องใช้เวลา แต่เมื่อศาลปกครองบอกว่า ท่านใช้วิธีไต่สวน คือ ไม่รอการสืบพยาน ท่านเรียกเองเลย ซึ่งจะทำให้กระบวนการพิจารณาดำเนินการได้เร็ว ผมคิดว่าประมาณ 1-2 ปี น่าจะเสร็จสิ้นในระดับศาลปกครองกลาง
ส่วนจะมีการฎีกาต่อศาลปกครองสูงสุดหรือไม่นั้น ตนเห็นว่าเป็นเรื่องในอนาคต และหากมีการยื่นฎีกาต่อศาลปกครองสูงสุด ก็เชื่อว่ากระบวนการพิจารณาน่าจะไม่ยาวนานมาก และคงไม่ได้กินเวลายาวนานไป 5-10 ปี
นิรุฒ ย้ำว่า "การรถไฟฯจะดำเนินการตามขั้นตอนของศาลปกครอง ศาลปกครองสูงสุด และจะเคารพคำพิพากษาของศาลไม่ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร แต่วันนี้ การรถไฟฯยืนยันว่า เราจะไม่ไประรานชาวบ้าน เพราะบางคนซื้อที่ดินต่อ มาเป็นทอดที่ 3 ทอดที่ 4 แล้ว และเงินที่เขาจ่ายไปนั้น เป็นการจ่ายบนโฉนดที่มีตราครุฑ แล้วจะให้เราไประรานคนเหล่านี้หรือ"
@ฟ้องกรมที่ดินเรียกค่าเสียหาย 700 ล้าน เป็นการ ‘ทำให้ถูกต้อง’
เมื่อถามว่า การรถไฟฯเคยประชุมหารือกับกรมที่ดินเกี่ยวกับการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกทับที่ดินรถไฟฯเขากระโดง ก่อนจะมีการฟ้องศาลปกครองหรือไม่ นิรุฒ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการรถไฟฯไม่เคยหารือกับกรมที่ดิน และไม่มีการนัดกัน เพราะการรถไฟฯก็เหมือนกับเจ้าของที่ดินทั่วๆไป
คือ เมื่อพบว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์ที่กระทบต่อสิทธิ์ของการรถไฟฯ กรมที่ดิน ในฐานะผู้ที่มีอำนาจตามกฎหมายมีหน้าที่จะต้องไปตรวจสอบว่าออกโฉนดถูกต้องหรือไม่ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป 60 วันแล้ว กรมที่ดินไม่ได้ดำเนินการอะไร การรถไฟฯจึงจำเป็นต้องนำเรื่องเข้าสู่ศาลปกครอง
“กรมที่ดินอาจจะบอกว่าเขากำลังดำเนินการอยู่ก็ได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่กรมที่ดินจะต้องไปคุยกับศาล แต่นี่คือ วิธีการดำเนินการที่ถูกต้อง แล้วผลที่ออกมาจะใสสะอาดมากกว่า และไม่มีขั้นตอนไหนเลยที่กรมที่ดินหรือการรถไฟฯไปนั่งสุมหัวกัน หรือฮั้วกัน โดยการรถไฟฯ ยืนบนหลักของเราว่า เราเชื่อว่าเราเป็นเจ้าของที่ดิน” นิรุฒ ระบุ
ส่วนกรณีที่การรถไฟฯฟ้องเรียกค่าเสียจากกรมที่ดิน 700 ล้านบาท นั้น นิรุฒ กล่าวว่า “ที่เราเรียก 700 ล้านบาท นั้น เป็นการทำให้ถูกต้อง ส่วนจะเรียกว่าภาษีประชาชนหรือไม่ ไม่ทราบ แต่เราไม่เอาเข้ากระเป๋าใครทั้งนั้น เราเอากลับมาที่รัฐ ซึ่งจะบอกว่ากระเป๋าซ้ายเข้ากระเป๋าขวาได้ แต่นี่เป็นการทำสิ่งที่ถูกต้อง”
เมื่อถามว่า การดำเนินการใดๆกรณีที่ดินเขากระโดง การรถไฟฯจะต้องรอคำสั่งของศาลปกครองใช่หรือไม่ นิรุฒ กล่าวว่า ถูกต้อง ต้องรอคำพิพากษาของศาลปกครอง หากคำพิพากษาที่สุดเป็นอย่างไร การรถไฟฯพร้อมปฏิบัติตาม ถ้าศาลฯบอกว่าที่ดินเป็นของการรถไฟฯ ก็จะมีการดำเนินการเหมือนที่ดินทั่วๆไปของการรถไฟฯ เช่น การพูดคุยเรื่องการเช่า
“ความเจริญของจังหวัดบุรีรัมย์ ส่วนหนึ่งก็มาจากที่ดินเหล่านั้น จากผู้คนที่อยู่ในนั้น ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นเราต้องดูว่า ทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศนี้ ไม่ใช่ยืนหลักว่า จะต้องไปรบราฆ่าฟันกัน อันนั้นไม่ใช่” นิรุฒ กล่าว
เมื่อถามว่า หากศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินว่า การออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่เขากระโดงไม่ถูกต้อง ผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ที่ดิน สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกรมที่ดินได้หรือไม่ นิรุฒ ให้ความเห็นว่า “เป็นสิทธิตามกฎหมายของประชาชน ส่วนจะฟ้องได้หรือไม่ได้ ต้องดูเป็นรายๆไป
เช่น ถ้าชาวบ้านคนที่มาฟ้องกับกรมที่ดิน ปรากฏว่าเป็นการไปซูเอี๋ยกับกรมที่ดิน อันนั้นคงฟ้องไม่ได้ แต่ถ้าเป็นชาวบ้านที่ไปซื้อที่ดินมาทอดที่ 3 ทอดที่ 4 โดยไม่รู้เรื่องอะไร และเป็นการไปซื้อที่ดินตามโฉนดที่กรมที่ดินออก เขาอาจจะฟ้องได้ แต่คงต้องดูเป็นรายๆ และเราไม่อาจไปก้าวล่วงได้ เพราะเป็นเรื่องของชาวบ้าน”
@ชี้ ‘รฟท.’ ฟ้องขับไล่ประชาชน เพราะมีการอ้างสิทธิ์บนที่ดินรถไฟฯ
เมื่อถามว่า เมื่อปี 2555 กรมที่ดินมีหนังสือถึงการรถไฟฯ อ้างความเห็นสำนักงานอัยการสูงสุด ว่า ให้การรถไฟฯ ฟ้องศาลฯ เพื่อให้ศาลสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 ของบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) และโฉนดที่ดินเลขที่ 8564 ของ กรุณา ชิดชอบ ที่ออกทับที่ดินรถไฟเขากระโดง แต่การรถไฟฯไม่ดำเนินการ นั้น นิรุฒ ย้ำว่า รฟท. จะไม่ฟ้องประชาชน
“สำนักงานอัยการสูงสุดให้ฟ้องใครครับ ถ้าฟ้องประชาชนก็ผิดหลักการที่ผมว่าไว้ แต่ถามว่าเราฟ้องไหม ไม่ใช่ว่าเราไม่ฟ้อง แต่ถ้าใครไปตีความว่าให้ฟ้องประชาชน ผมไม่ทำ ผมไม่ระรานประชาชน ไม่ว่าประชาชนคนนั้น จะมีฐานะเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่าท่านเป็นนักการเมืองหรือท่านเป็นผู้มีเงินมากมาย หรือเป็นประชาชนผู้ต่ำต้อย เราไม่ฟ้อง” นิรุฒ ระบุ
อย่างไรก็ตาม นิรุฒ กล่าวถึงกรณีที่การรถไฟฯฟ้องร้องขับไล่ประชาชน 4 ราย ที่บุกรุกที่ดินรถไฟฯเขากระโดงต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อปี 2561 ว่า กรณีดังกล่าวเป็นกรณีการขอเช่าที่ดิน แต่มีผู้อ้างว่าที่ดินที่ให้เช่านั้นเป็นของเขา การรถไฟฯจึงต้องต่อสู้ และยืนยันว่าการรถไฟฯ จะไม่ไปฟ้องประชาชนก่อน
“ถ้าถามว่าเราไประรานเขาตั้งแต่แรกหรือไม่ ก็ตอบว่า ไม่ และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดก่อนผมจะมา ซึ่งหลักการของผมวันนี้ คือ เราไม่ฟ้องประชาชน” นิรุต กล่าว
ส่วนกรณีที่การรถไฟฯฟ้องขับไล่ พล.ท.บรรเทา ใยเกตุ ซึ่งถือครองเอกสารสิทธิ์ที่ดินในที่ดินของการรถไฟฯที่ จ.อุบลราชธานี นั้น การรถไฟฯขอชี้แจงว่า เป็นการโต้แย้งสิทธิ์ เพราะเมื่อผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ที่ดิน อ้างว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของเขา แต่การรถไฟฯเชื่อว่าเป็นของการรถไฟฯ การรถไฟฯจึงต้องโต้แย้งสิทธิ์ไป และถ้าจะไม่ให้เราทำอะไรเลย ก็คงจะไม่ได้
“สิ่งที่ตรวจสอบกันมาแล้ว ผมไม่สามารถก้าวล่วงได้ แต่ในยุคผม ผมไม่ฟ้องประชาชน” นิรุต กล่าวทิ้งท้าย
อ่านประกอบ :
ไม่อยากระรานประชาชน! ‘ผู้ว่าฯรฟท.’ แจงเหตุเมินไล่ฟ้องเพิกถอนโฉนด ‘เขากระโดง’ รายแปลง
ยื่น‘กมธ.ป.ป.ช.’สอบจริยธรรม 2 รมต. ไม่เพิกถอนโฉนดเขากระโดง-ใช้ที่ดินหลวงเพื่อปย.ส่วนตน
ร้อง 'ธปท.-ก.ล.ต.' ตรวจสอบ 'แบงก์' รับจำนอง 'โฉนด' ออกทับที่ดินรถไฟเขากระโดง
คดีที่ 3! ศาลฎีกาย้ำ'เขากระโดง'ที่ดินรถไฟฯ 'ทวี'ข้องใจฟ้องชาวบ้าน ไม่แตะ'ชิดชอบ'?
เปิดคำฟ้อง 'รฟท.'! ให้ 'กรมที่ดิน' เพิกถอนโฉนด 'เขากระโดง'-ชดใช้ 707 ล้าน
โชว์แผนที่ 3 ฉบับ! ที่ดินรถไฟ ‘เขากระโดง’ ก่อน ‘กรมที่ดิน’ ตั้ง ‘กก.ตรวจสอบแนวเขตฯ’
(คลิป) ความในใจคนนามสกุล ‘ชิดชอบ’ ปมรุกที่ดินรถไฟ ‘เขากระโดง’
ถูกโยงทุกครั้งที่มี‘ตำแหน่ง’! ปมรุกที่ดินรถไฟ‘เขากระโดง’ ความในใจคนนามสกุล‘ชิดชอบ’
'นิพนธ์'เผยกรมที่ดิน-รฟท.ตั้ง กก.สอบแนวเขต 5,083 ไร่ แก้ปมแผนที่ทับซ้อน'เขากระโดง'
‘รฟท.’ จ่อยื่นฟ้อง ‘ศาลปกครอง’ สั่ง ‘กรมที่ดิน’ เพิกถอนโฉนดที่ดินแยก ‘เขากระโดง’
‘กรมที่ดิน’ชี้ช่อง ‘รฟท.’ ยื่นหลักฐาน ‘ส.ค.1’ ออกโฉนดที่ดินรถไฟ‘เขากระโดง’ 5 พันไร่
'รฟท.'ยื่นโนติส'กรมที่ดิน'ฉบับที่ 2! ยันต้องเพิกถอนโฉนดเขากระโดง 5 พันไร่-ขู่ฟ้องศาล
เปิดหนังสือ‘เลขาฯคปต.’ ยื่น‘ป.ป.ช.’ไต่สวน‘ผู้ว่าฯรฟท.’ ผิด ม.157 กรณีที่ดินเขากระโดง
มหากาพย์ชิงกรรมสิทธิ์ที่ดิน 'เขากระโดง' ใครบ้างต้องรับผิดชอบ?