‘ผู้ว่าฯรฟท.’ แจงเหตุไม่ไล่ฟ้อง 'ศาลยุติธรรม' เพิกถอนโฉนดที่ดิน ‘เขากระโดง’ รายแปลง เพราะไม่อยาก ‘ระราน’ ประชาชน พร้อมระบุ ‘ศาลปกครอง’ รับฟ้องคดีขอให้สั่ง ‘กรมที่ดิน’ เพิกถอนโฉนด สะท้อน ‘รฟท.’ มาถูกทางแล้ว
......................................
สืบเนื่องจากกรณีที่นายสกลชัย ลิมป์สีสวรรค์ ทนายความอิสระ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) โดยขอให้ กมธ.ป.ป.ช.ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง กรณีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่สั่งการให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินรถไฟฯเขากระโดง จ.บุรีรัมย์
พร้อมทั้งขอให้ กมธ.ป.ป.ช.ตรวจสอบจริยธรรมของนักการเมืองที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากปัจจุบันปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีนักการเมืองและเครือญาติบุกรุกใช้ประโยชน์ที่ดินรถไฟฯเขากระโดง ทั้งๆมีคำพิพากษาศาลฎีกาว่า ที่ดินบริเวณแยกเขากระโดงดังกล่าวเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) (อ่านประกอบ : ยื่น‘กมธ.ป.ป.ช.’สอบจริยธรรม 2 รมต. ไม่เพิกถอนโฉนดเขากระโดง-ใช้ที่ดินหลวงเพื่อปย.ส่วนตน)
เมื่อวันที่ 12 เม.ย. นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ว่า ที่ผ่านมา รฟท.ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง โดยขอให้ศาลฯมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ออกทับที่ดินแยกเขาโดง จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่ 5,083 ไร่ ซึ่งศาลฎีกาเชื่อว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ โดยคดีนี้ปัจจุบันศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับฟ้องแล้ว
“ตอนนี้ศาลปกครองกลางรับฟ้องแล้ว เพราะเห็นว่าอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ซึ่งเป็นการยืนยันเบื้องต้นว่า สิ่งที่เราดำเนินการมา ถูกต้อง มาถูกทางแล้ว และเมื่อศาลปกครองรับฟ้องแล้ว ใครก็ตามที่เอาเรื่องนี้มาพูดต้องระวัง เพราะจะเป็นการทำให้ตัวเองมีอิทธิพลต่อการพิจารณาเรื่องที่อยู่ในอำนาจของศาลแล้ว ถามว่าละเว้นไหม ก็อยากจะถามว่าเราละเว้นตรงไหน ในเมื่อเรื่องไปถึงศาลแล้ว เพื่อมาบอกว่าที่ดินตรงนี้เป็นที่ดินของการรถไฟฯหรือไม่” นายนิรุฒ กล่าว
นายนิรุฒ คาดว่า การพิจารณาของศาลปกครองกลางก่อนจะตัดสินว่า ที่ดินบริเวณแยกเขากระโดงเป็นของการรถไฟฯ หรือไม่ นั้น น่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี เพราะศาลปกครองบอกว่าท่านจะใช้วิธีไต่สวน ซึ่งวิธีไต่สวนนี้ ศาลท่านจะเรียกพยานมาได้เลย และเมื่อมีคำตัดสินของศาลปกครองกลางแล้ว จะมีการยื่นฎีกาต่อศาลปกครองสูงสุดอีกหรือไม่นั้น เป็นเรื่องในอนาคต แต่เชื่อว่ากระบวนการพิจารณาคดีนี้ไม่น่าจะยาวมาก และไม่น่าจะกินเวลาถึง 5-10 ปีแน่นอน
นายนิรุฒ กล่าวว่า กรณีที่การถไฟฯเลือกใช้วิธีฟ้องศาลปกครองให้สั่งการให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกทับที่ดินรถไฟฯเขากระโดง แทนที่จะฟ้องร้องประชาชนโดยตรงนั้น เพราะการรถไฟฯ ไม่ต้องการสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน และแม้ว่าก่อนหน้านี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะเคยมีมติเกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ป.ป.ช. ไม่เคยสั่งให้การรถไฟฯไปฟ้องประชาชนเลย
“เรื่องนี้ (ที่ดินเขากระโดง) มีการพูดคุยกันมาเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ไปถึง ป.ป.ช. ซึ่ง ป.ป.ช. ก็มีมติมาแล้ว แต่เป็นที่สังเกตว่า มติของ ป.ป.ช. ไม่เคยสั่งให้การรถไฟฯไปฟ้องประชาชน เพราะเมื่อ ป.ป.ช. เห็นว่าที่ดินแปลงนี้ไม่ชอบ ป.ป.ช.ก็สั่งให้กรมที่ดินไปเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ออกโดยมิชอบ ส่วนกรมที่ดินจะไปดำเนินการเพิกถอนหรือไม่นั้น ก็ต้องไปถามกรมที่ดินว่า มีเหตุผลกลใดอย่างไร
ส่วนการรถไฟฯเอง เราไม่ได้ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ หรือไปละเว้นอะไร เพราะในการดำเนินคดีในฐานะผู้บุกรุกนั้น การรถไฟฯจะทำได้ ก็ต่อเมื่อกรมที่ดินได้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์แล้ว ซึ่งถ้ากรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินของบุคคลเหล่านั้นแล้ว เขาจะตกอยู่ในฐานะผู้บุกรุก จากนั้นการรถไฟฯจึงจะเข้าไปดำเนินการที่จะทำให้ทุกฝ่าย Win-Win ดังนั้น การรถไฟฯจึงไม่มีหน้าที่ไประรานประชาชน เราอยู่คู่กับประชาชน เราไม่ได้อยู่ตรงข้ามกับประชาชน” นายนิรุฒ ระบุ
นายนิรุฒ ย้ำว่า “หลายท่านอาจจะบอกว่า จริงๆแล้วการรถไฟฯอาจจะฟ้อง (ศาลยุติธรรม) ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเขากระโดงได้ ซึ่งกฎหมายก็ให้ฟ้องได้ แต่อย่างที่ผมเรียน เราจะไม่ฟ้องคนที่ถือเอกสารของทางราชการ เพราะถ้าฟ้อง เราจะต้องฟ้องอีกกี่ราย หรือท่านกำลังบอกให้เราไปฟ้องประชาชน และที่เขากระโดงอย่างเดียวมีเกือบ 1,000 ครอบครัวที่อาศัยอยู่ ซึ่งการฟ้องคนเหล่านั้น นอกจากการรถไฟฯ จะต้องมีงบจ่ายค่าธรรมเนียมศาลแล้ว
ประชาชนเหล่านั้นจะเดือดร้อนขนาดไหน เขาจะต้องมาสู้คดี จ้างทนายมาสู้คดี เขาจะต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆในการต่อสู้คดี จะให้เราไประรานประชาชนอย่างนั้น คงไม่ได้ แต่ถ้าเราไปฟ้องศาลปกครอง ศาลปกครองจะเป็นตัวกลางในการชี้ว่า กรมที่ดินออกโฉนด ,น.ส.3 และ ส.ค.1 ถูกต้องหรือไม่ หรือว่าที่ดินตรงนี้เป็นของการรถไฟฯ ถ้าศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดตัดสินอย่างไร การรถไฟฯมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม”
นายนิรุฒ กล่าวถึงกรณีที่การรถไฟฯเรียกค่าเสียหายจากกรมที่ดินกว่า 700 ล้านบาท กรณีไม่สั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ออกทับที่ดินรถไฟฯเขากระโดงว่า “การที่เราเรียกค่าเสียหาย 700 ล้านบาทนั้น เป็นการทำให้ถูกต้อง ส่วนจะเรียกว่าภาษีประชาชนหรือไม่ ไม่ทราบ แต่เราไม่เอาเข้ากระเป๋าใครทั้งนั้น เราเอากลับมาที่รัฐ ซึ่งจะบอกว่ากระเป๋าซ้ายเข้ากระเป๋าขวาได้ แต่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง”
เมื่อถามว่า กรณีเมื่อปี 2555 กรมที่ดินได้มีหนังสือถึง รฟท. โดยอ้างความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุด ว่า ให้ รฟท.ดำเนินการฟ้องศาลยุติธรรม เพื่อขอให้ศาลสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดิน 2 แปลง ได้แก่ โฉนดที่ดินเลขที่ 3466 ของบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด และโฉนดที่ดินเลขที่ 8564 ของนางกรุณา ชิดชอบ ซึ่งเป็นการออกโฉนดทับที่ดินรถไฟฯเขากระโดง เพราะ รฟท.เป็นผู้เสียหายโดยตรง นายนิรุฒ ยืนยันว่า รฟท.จะไม่ฟ้องประชาชน
“ถามว่าสำนักงานอัยการสูงสุดให้ฟ้องใครครับ แต่ถ้าไปฟ้องประชาชน ก็ผิดหลักการที่ผมว่าไว้ และเรื่องนี้เราเองก็ฟ้อง ไม่ใช่ไม่ฟ้อง แต่ไม่ได้ไปฟ้องประชาชน ถ้าใครไปตีความว่า ให้ฟ้องประชาชน ผมขอนำเรียนว่า ผมไม่ทำ ผมจะไม่ไประรานประชาชน ไม่ว่าประชาชนคนนั้น จะมีฐานะเป็นอย่างไร ไม่ว่าท่านจะเป็นนักการเมือง หรือท่านเป็นผู้มีเงินมากมาย หรือเป็นประชาชนผู้ต่ำต้อย เราไม่ฟ้อง” นายนิรุฒ ระบุ
ส่วนกรณีที่เมื่อปี 2561 รฟท.ฟ้องร้องขับไล่ประชาชน 4 ราย ต่อศาลแพ่งจังหวัดบุรีรัมย์ โดยขอให้ศาลฯสั่งให้จำเลยทั้ง 4 ราย ออกจากดินรถไฟฯเขากระโดงนั้น นายนิรุฒ กล่าวว่า กรณีดังกล่าว เป็นเรื่องที่จำเลยรายหนึ่งไปขอเช่าที่ดินในพื้นที่เขากระโดง โดยที่ผู้ให้เช่าอ้างว่าเป็นที่ดินที่ตนเองมีกรรมสิทธิ์อยู่ แต่การรถไฟฯบอกว่า ไม่ใช่ โดยที่ดินดังกล่าวเป็นของการรถไฟฯ การรถไฟฯจึงต้องไปต่อสู้ในคดีนี้
“ถามว่าเราไประรานตั้งแต่แรกหรือไม่ ก็ตอบว่า ไม่ และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดก่อนผมจะมา ซึ่งหลักการของผมวันนี้ คือ เราไม่ฟ้องประชาชน” นายนิรุฒ กล่าว
เมื่อถามว่าการแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ดินเขากระโดงของการรถไฟฯ คือ การรอคำสั่งของศาลปกครองใช่หรือไม่ นายนิรุฒ กล่าวว่า ถูกต้อง โดยการรถไฟฯจะรอคำพิพากษาของศาลปกครอง หากมีคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นอย่างไร การรถไฟฯพร้อมปฏิบัติตาม และหากสุดท้ายศาลปกครองสูงสุดบอกว่าที่ดินเขากระโดงเป็นของการรถไฟฯ การรถไฟฯก็จะไปดำเนินการเหมือนที่ดินอื่นๆของการรถไฟฯ คือ อาจจะเข้าไปพูดคุยเรื่องการให้เช่าอยู่ เป็นต้น
“ความเจริญของจังหวัดบุรีรัมย์ ส่วนหนึ่งก็มาจากที่ดินเหล่านั้น จากผู้คนที่อยู่ในนั้น และเมื่อถึงตอนนั้น เราต้องดูว่า ทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศนี้ ไม่ใช่ยืนหลักว่า จะต้องไปรบราฆ่าฟันกัน อันนั้นไม่ใช่” นายนิรุฒ ระบุ
อ่านประกอบ :
ยื่น‘กมธ.ป.ป.ช.’สอบจริยธรรม 2 รมต. ไม่เพิกถอนโฉนดเขากระโดง-ใช้ที่ดินหลวงเพื่อปย.ส่วนตน
ร้อง 'ธปท.-ก.ล.ต.' ตรวจสอบ 'แบงก์' รับจำนอง 'โฉนด' ออกทับที่ดินรถไฟเขากระโดง
คดีที่ 3! ศาลฎีกาย้ำ'เขากระโดง'ที่ดินรถไฟฯ 'ทวี'ข้องใจฟ้องชาวบ้าน ไม่แตะ'ชิดชอบ'?
เปิดคำฟ้อง 'รฟท.'! ให้ 'กรมที่ดิน' เพิกถอนโฉนด 'เขากระโดง'-ชดใช้ 707 ล้าน
โชว์แผนที่ 3 ฉบับ! ที่ดินรถไฟ ‘เขากระโดง’ ก่อน ‘กรมที่ดิน’ ตั้ง ‘กก.ตรวจสอบแนวเขตฯ’
(คลิป) ความในใจคนนามสกุล ‘ชิดชอบ’ ปมรุกที่ดินรถไฟ ‘เขากระโดง’
ถูกโยงทุกครั้งที่มี‘ตำแหน่ง’! ปมรุกที่ดินรถไฟ‘เขากระโดง’ ความในใจคนนามสกุล‘ชิดชอบ’
'นิพนธ์'เผยกรมที่ดิน-รฟท.ตั้ง กก.สอบแนวเขต 5,083 ไร่ แก้ปมแผนที่ทับซ้อน'เขากระโดง'
‘รฟท.’ จ่อยื่นฟ้อง ‘ศาลปกครอง’ สั่ง ‘กรมที่ดิน’ เพิกถอนโฉนดที่ดินแยก ‘เขากระโดง’
‘กรมที่ดิน’ชี้ช่อง ‘รฟท.’ ยื่นหลักฐาน ‘ส.ค.1’ ออกโฉนดที่ดินรถไฟ‘เขากระโดง’ 5 พันไร่
'รฟท.'ยื่นโนติส'กรมที่ดิน'ฉบับที่ 2! ยันต้องเพิกถอนโฉนดเขากระโดง 5 พันไร่-ขู่ฟ้องศาล
เปิดหนังสือ‘เลขาฯคปต.’ ยื่น‘ป.ป.ช.’ไต่สวน‘ผู้ว่าฯรฟท.’ ผิด ม.157 กรณีที่ดินเขากระโดง
มหากาพย์ชิงกรรมสิทธิ์ที่ดิน 'เขากระโดง' ใครบ้างต้องรับผิดชอบ?