“…เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ไม่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสี่ฎีกา ยกคำร้อง และไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสี่…”
................................
“รฟท. ได้เข้าไปสำรวจที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง และพบว่าที่ดินบริเวณส่วนกิโลเมตรที่ 4+540 ถึงกิโลเมตรที่ 8+000 มีชาวบ้านเข้ามาปลูกที่อยู่อาศัย และบางส่วนได้จัดทำเป็นสนามฟุตบอล และสนามแข่งรถ รวมทั้งมีหน่วยงานของรัฐได้มีการขอเอกสารสิทธิ์ เช่น โฉนดที่ดิน
โดยปัจจุบัน กรมที่ดิน มีการออกเอกสารสิทธิ์ให้กับประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ในที่ดินของ รฟท. บริเวณแยกเขากระโดงเต็มพื้นที่ เป็นจำนวน 4,150 ไร่ 47 ตารางวา จากที่ดินทั้งหมด 5,083 ไร่ 80 ตารางวา
จากนั้น รฟท. เข้าไปตรวจสอบเอกสารทางทะเบียน พร้อมคัดถ่ายจากสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ แต่ปรากฏว่า รฟท. คัดถ่ายเอกสารสิทธิ์มาได้เบื้องต้น 497 แปลง เท่านั้น จากเอกสารสิทธิ์ที่เป็นโฉนดที่ดินทั้งหมดที่มีประมาณ 850 แปลง ส่วนที่เหลือทั้งหมดยังอยู่ในความครอบครองของสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์”
นี่เป็นส่วนหนึ่งของคำบรรยายฟ้องของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ได้ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน และ อธิบดีกรมที่ดิน ต่อศาลปกครองกลาง โดยขอให้ศาลฯมีคำสั่งให้กรมที่ดินเพิกถอน ‘โฉนดที่ดิน’ ที่ออกทับที่ดินรถไฟฯ ‘เขากระโดง’ จ.บุรีรัมย์ (อ่านประกอบ : เปิดคำฟ้อง 'รฟท.'! ให้ 'กรมที่ดิน' เพิกถอนโฉนด 'เขากระโดง'-ชดใช้ 707 ล้าน)
แต่ทว่าการทวงคืนที่ดินรถไฟฯ ‘เขากระโดง’ ด้วยการที่ รฟท.ไปฟ้องร้องหน่วยงานรัฐด้วยกันเองต่อ ‘ศาลปกครอง’ นั้น ทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใด รฟท.จึงไม่ไปฟ้องศาลยุติธรรม เพื่อขอให้ศาลฯมีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดิน และแต่ละคดีจะใช้เวลาประมาณ 4 ปี จากนั้นก็สามารถบังคับคดีได้เลย
“เมื่อท่าน (ผู้ว่าฯรถไฟ) ไปฟ้องเพื่อยึดโฉนดมา หรือให้เพิกถอนขับไล่ ศาลยุติธรรมก็ให้ความยุติธรรม และการฟ้องครั้งหลังๆก็ใช้เวลา 4 ปี คือ ปี 2561-2564 แต่พอถึงเวลา ทำไมไปฟ้องศาลปกครอง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก” พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ตั้งคำถามถึง รฟท. ในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา
ทวี ยังระบุด้วยว่า เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2564 มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่สั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินเอกชน เนื้อที่รวม 10 ไร่ ซึ่งเป็นการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินรถไฟฯ 'เขากระโดง' และล่าสุด รฟท.ได้ขอหมายศาลและส่งให้กรมบังคับคดี เพื่อบังคับดดีกับเจ้าของโฉนดแล้ว
(พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติเมื่อวันที่ 17 ก.พ.2565)
@รฟท.ฟ้องขับไล่ชาวบ้าน 4 ราย-ขอศาลฯสั่งเพิกถอนโฉนด
ย้อนไปเมื่อปี 2561 รฟท. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลย 4 ราย ต่อศาลแพ่งจังหวัดบุรีรัมย์ โดย รฟท.ขอให้ศาลฯมีคำสั่งขับไล่ และให้จำเลยทั้ง 4 ชดใช้เงินค่าขาดประโยชน์ให้ รฟท. เนื่องจากจำเลยทั้ง 4 ใช้ประโยชน์บนที่ดินรถไฟฯบริเวณแยกเขากระโดง อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ พร้อมทั้งขอให้ศาลฯมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน 3 แปลง เนื้อที่ 10 ไร่เศษ ได้แก่
1.โฉนดที่ดินเลขที่ 5272 เนื้อที่ 1 ไร่ 85 4/10 ตารางวา ต.เสม็ด อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ที่มี วิรัตน์ วงศ์พิพัฒน์ชัย (จำเลยที่ 1) เป็นเจ้าของ
2.โฉนดที่ดินเลขที่ 2971 เนื้อที่ 9 ไร่ 33 1/10 ตารางวา ต.เสม็ด อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ที่มี สุนทร รักพาณิชย์ (จำเลยที่ 2) เป็นเจ้าของ
3.หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 206 เนื้อที่ 2 งาน 13 ตารางวา ต.เสม็ด อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ที่มี ปทุม สินชัยศรี (มารดาของกฤติพล สินชัยศรี จำเลยที่ 3) เป็นเจ้าของ
ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 4 สู้คดีว่า รฟท.รู้ว่าจำเลยทั้ง 4 ครอบครองที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลงอยู่แล้ว แต่ไม่เคยอ้างสิทธิใด ถือเสมือนเป็นการให้ความยินยอมในการเข้าครอบครองที่ดินพิพาท จึงไม่ก่อให้เกิดการละเมิด และจำเลยทั้ง 4 ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยสุจริต อีกทั้งที่ดินของจำเลยที่ 2 ถึง 4 มีการครอบครองติดต่อกันมาไม่น้อยกว่า 70-80 ปี
@ศาลชั้นต้นชี้ที่ดิน ‘เขากระโดง’ เป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท.
ต่อมาศาลจังหวัดบุรีรัมย์ (ศาลชั้นต้น) มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ พ66/2561 คดีหมายเลขแดงที่ พ1373/2562 ลงวันที่ 6 ส.ค.2562 สรุปความได้ว่า ที่ดินตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานีตอนแยกไปที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375-650 ได้แก่
1.ช่วงกิโลเมตรที่ 0+000 ถึงกิโลเมตรที่ 3+000 มีความกว้างจากกึ่งกลางทางรถไฟออกไปข้างละ 15 เมตร
2.ช่วงถัดจากกิโลเมตรที่ 3+000 ถึงกิโลเมตรที่ 4+540 มีความกว้างจากกึ่งกลางทางรถไฟออกไปข้างละ 15 เมตร
3.ช่วงถัดจากกิโลเมตรที่ 4+540 ถึงกิโลเมตรที่ 8+000 มีความกว้างจากกึ่งกลางทางรถไฟออกไปข้างละ 1,000เมตร
เป็นที่ดินที่เป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.ฏ.กำหนดเขตร์สร้างกรมรถไฟทางหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย.2462
และเป็น ‘ที่ดินรถไฟ’ ตามพ.ร.บ.จัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ.2464 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมรถไฟฯ และได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 6 (1) และ (2) ห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นต่อสิทธิของแผ่นดินเหนือที่ดินรถไฟฯ และห้ามไม่ให้เอกชนหรือบริษัทใดๆ หวงห้ามหรือถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินรถไฟฯ
(ที่มา : รฟท.)
ขณะที่ในระหว่างปี 2462-2465 ที่ดินดังกล่าวไม่มีคนจับจองเป็นเจ้าของครอบครอง เพราะหากมีคนจับจองเป็นเจ้าของอยู่ก่อน ข้าหลวงพิเศษและกรมรถไฟแผ่นดินย่อมดำเนินการจัดซื้อที่ดินอย่างแน่นอน เช่นที่มีการจัดซื้อที่ดินจากเจ้าของที่ดิน 18 ราย ในช่วง 4 กิโลเมตรแรก ส่วนที่ดินช่วง 4 กิโลเมตรหลัง พ.ร.ฎ.ห้ามมิให้ผู้ใดจับจองที่ดินเป็นเจ้าของ
ต่อมามีการจัดตั้ง รฟท. ตาม พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 และให้โอนทรัพย์สินและหนี้สินของกรมรถไฟแผ่นดินให้ รฟท. ทำให้ รฟท. เป็นเจ้าของที่ดินบริเวณตอนแยกไปที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375-650 หรือเขตที่ดินตั้งแต่ส่วนแยกจากสถานีบุรีรัมย์ไปจนถึงเขากระโดง ระยะทาง 8 กม. เนื้อที่รวมประมาณ 5,000 ไร่
ดังนั้น เมื่อที่ดินทั้ง 3 แปลง ตั้งอยู่ในเขตที่ดินของ รฟท. ศาลฯจึงพิพากษาให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินทั้ง 3 แปลง ได้แก่ โฉนดที่ดินเลขที่ 5272 ,โฉนดที่ดินเลขที่ 2971 และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 206 และสั่งให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และขนย้ายทรัพย์สินออกที่ดินพิพาท รวมถึงจ่ายชดใช้ค่าเช่าเดือนละ 23,706 บาท นับตั้งแต่วันฟ้อง
@‘ศาลอุทธรณ์’ ย้ำ ‘เขากระโดง’ เป็น ‘ที่ดินรถไฟ’
ต่อมาจำเลยทั้ง 4 ยื่นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 111/2563 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563 ลงวันที่ 22 เม.ย.2563
โดยศาลอุทธรณ์ฯ วินิจฉัยว่า ที่ดินตามแผนที่แสดงแนวเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานีตอนแยกไปที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375-650 (เอกสารหมาย จ.7) ที่มีความยาว 8 กิโลเมตร และมีความกว้างตามที่ระบุไว้ในแผนที่ นั้น
เป็นที่ดินที่ข้าหลวงพิเศษ ซึ่งได้รับแต่งตั้งตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างกรมรถไฟทางหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย.2462 ได้สำรวจและวางแนวการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดง โดยจัดซื้อที่ดินที่มีเจ้าของ 18 ราย และเข้ายึดถือครอบครองที่ดินในช่วง 4 กิโลเมตรหลัง ซึ่งเป็นบริเวณที่ไม่มีเจ้าของ
แม้ว่าต่อมาจะมีการยกเลิก พ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างกรมรถไฟทางหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ฉบับลงวันที่ 8 พ.ย.2462 และลงวันที่ 7 พ.ย.2464 แต่ไม่ใช่การยกเลิกการหวงห้ามทั้งหมด แต่เป็นการยกเลิกการสงวนหวงห้ามที่ดิน ซึ่งเป็นของเอกชนในส่วนนอกเขตที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ.จัดซื้อเท่านั้น
และเมื่อกรมรถไฟแผ่นดินเข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดงและบ้านตะโก ทั้งยังใช้วัสดุสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานีด้วย
ย่อมถือได้ว่าที่ดินตามแผนที่แสดงแนวเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดินสายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานีตอนแยกไปที่ย่อยศิลา ต.เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375-650 (เอกสารหมาย จ.7) เป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างกรมรถไฟทางหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ฉบับลงวันที่ 8 พ.ย.2462
อันเป็นที่ดินที่จัดหาเพื่อใช้ประโยชน์ในการสร้างทางรถไฟโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่ในความหมายของคำว่า ‘ที่ดินรถไฟ’ ตาม พ.ร.บ.จัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ.2464 ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมรถไฟแผ่นดิน
และได้รับความคุ้มครอง คือ ห้ามไม่ให้ยกกำหนดอายุความขึ้นต่อสู้สิทธิของแผ่นดินเหนือที่ดินรถไฟฯ และห้ามไม่ให้เอกชนหรือบริษัทใดๆ หวงห้ามหรือถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินรถไฟฯ
ดังนั้น แม้ว่าจำเลยทั้ง 4 จะได้รับโอนที่ดินพิพาท มาโดยชอบจากบุคคลอื่นโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แต่ไม่อาจใช้ยันโจทก์ (รฟท.) ได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า รฟท.เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จึง 'มีสิทธิ' เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินพิพาททั้ง 3 แปลง และ 'มีสิทธิ' ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง พร้อมขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดิน รฟท. ได้
ส่วนกรณี รฟท. เรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียเดือนละ 23,706 บาท ‘นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปนั้น’ ศาลฯพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย เดือนละ 23,706 บาท นับตั้งแต่วันมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง พร้อมขนย้ายทรัพย์สินฯ ออกจากที่ดินพิพาท
@ศาลฯไม่รับฎีกา- ‘รฟท.’ ยื่นคำร้องขอบังคับคดี
อย่างไรก็ตาม ต่อมาจำเลยทั้ง 4 ยื่นฎีกา แต่ปรากฏว่า ศาลฎีกามีคำสั่งที่ ครพ.2205/2564 ลงวันที่ 22 เม.ย.2564 ไม่รับฎีกา โดยให้เหตุผลว่า ไม่เป็นปัญหาที่เกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงแล้ว ไม่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3
“ศาลฎีกาแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ไม่เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 เพราะไม่เป็นปัญหาที่เกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ไม่เป็นกรณีที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายที่สำคัญ ซึ่งยังไม่มีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกามาก่อน และเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ไม่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3
จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสี่ฎีกา ยกคำร้อง และไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสี่ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่จำเลยทั้งสี่ ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ” คำสั่งศาลฎีกาที่ ครพ.2205/2564 ลงวันที่ 22 เม.ย.2564 ระบุ
จากนั้น รฟท. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ โดยขอให้ศาลฯมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยเฉพาะจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาทนั้น ให้ทำการรื้อสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินฯออกจากที่ดินพิพาท หากไม่ปฏิบัติตามให้เจ้าพนักงานบังคับจัดการอายัดทรัพย์สินไว้
(ที่มา : เอกสารของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2565)
@ฟ้องเพิกถอนโฉนดชาวบ้าน-แต่ไม่แตะ‘ญาตินักการเมือง’
อย่างไรก็ดี ในขณะที่ รฟท.ฟ้องขับไล่และขอให้ศาลฯสั่งเพิกถอน ‘เอกสารสิทธิ์ที่ดิน’ ที่ออกทับที่ดินรถไฟ ‘เขากระโดง’ ของชาวบ้าน 4 ราย ซึ่งอยู่อาศัยในพื้นที่บริเวณแยกเขากระโดง กระทั่งคดีถึงที่สุดเมื่อปี 2564 ตามคำสั่งศาลฎีกาที่ ครพ.2205/2564 ลงวันที่ 22 เม.ย.2564
อีกทั้งในช่วงปี 2560-61 ศาลฎีกามีคำพิพากษาใน 2 คดี คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842-876/2560 ลงวันที่ 16 ก.พ.2560 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 ลงวันที่ 22 พ.ย.2561 ซึ่งมีการวินิจฉัยว่า ที่ดินบริเวณแยก 'เขากระโดง' เป็นที่ดินของ รฟท.
แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ที่ดินที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่รถไฟ ‘เขากระโดง’ หลายแปลง ซึ่งถือครองโดยเครือญาตินักการเมือง เช่น โฉนดที่ดินเลขที่ 3466 ซึ่งเดิมถือกรรมสิทธิ์โดย ชัย ชิดชอบ ต่อมาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) และโฉนดที่ดินเลขที่ 8564 ซึ่งถือกรรมสิทธิ์โดย กรุณา ชิดชอบ นั้น
รฟท.ไม่ได้ดำเนินการฟ้องศาลฯ เพื่อขอให้ ‘ขับไล่’ หรือ ‘เพิกถอน’ โฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง แต่อย่างใด
แม้ว่า กรมที่ดิน เคยมีหนังสือที่ มท 0516.2 (3)/27826 เรื่อง ขอทราบความคืบหน้าการเพิกถอนโฉนดที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ลงวันที่ 2 ต.ค.2555 แจ้งให้ รฟท.ดำเนินการฟ้องหรือร้องต่อศาล โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เพื่อให้เป็นไปตามมติ ป.ป.ช. เมื่อปี 2554 (อ่านประกอบ : เก็บเรื่อง 9 ปี! 3 ผู้ว่าฯรฟท.ไม่สั่งฟ้องศาลถอนโฉนดที่ดิน 'เขากระโดง' โยง 'ชิดชอบ')
(ที่มา : เอกสารของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2565)
“ที่ดินดังกล่าว (เขากระโดง) ท่านรัฐมนตรีศักดิ์สยาม ก็รับว่าเป็นที่ที่ตัวเองอยู่ เป็นที่ที่ญาติพี่น้องอยู่ และเป็นที่สนามฟุตบอลช้างอารีนา ของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ซึ่งผู้ว่าฯรถไฟไม่กล้าฟ้องเจ้านาย” พ.ต.อ.ทวี ระบุในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา
ทั้งหมดนี้เป็นความคืบหน้าล่าสุดของการทวงคืนที่ดินรถไฟ ‘เขากระโดง’ และนับเป็นคดีที่ 3 แล้ว ที่ศาลฎีกาชี้ชัดว่า ที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง เนื้อที่รวมกว่า 5,000 ไร่ เป็นที่ดินของ รฟท. และเป็นที่ดิน ‘หวงห้าม’ ที่ห้ามไม่ให้เอกชนเข้าครอบครอง หรือถือครองกรรมสิทธิ์ใดๆทั้งสิ้น
อ่านประกอบ :
เปิดคำฟ้อง 'รฟท.'! ให้ 'กรมที่ดิน' เพิกถอนโฉนด 'เขากระโดง'-ชดใช้ 707 ล้าน
โชว์แผนที่ 3 ฉบับ! ที่ดินรถไฟ ‘เขากระโดง’ ก่อน ‘กรมที่ดิน’ ตั้ง ‘กก.ตรวจสอบแนวเขตฯ’
(คลิป) ความในใจคนนามสกุล ‘ชิดชอบ’ ปมรุกที่ดินรถไฟ ‘เขากระโดง’
ถูกโยงทุกครั้งที่มี‘ตำแหน่ง’! ปมรุกที่ดินรถไฟ‘เขากระโดง’ ความในใจคนนามสกุล‘ชิดชอบ’
'นิพนธ์'เผยกรมที่ดิน-รฟท.ตั้ง กก.สอบแนวเขต 5,083 ไร่ แก้ปมแผนที่ทับซ้อน'เขากระโดง'
‘รฟท.’ จ่อยื่นฟ้อง ‘ศาลปกครอง’ สั่ง ‘กรมที่ดิน’ เพิกถอนโฉนดที่ดินแยก ‘เขากระโดง’
‘กรมที่ดิน’ชี้ช่อง ‘รฟท.’ ยื่นหลักฐาน ‘ส.ค.1’ ออกโฉนดที่ดินรถไฟ‘เขากระโดง’ 5 พันไร่
'รฟท.'ยื่นโนติส'กรมที่ดิน'ฉบับที่ 2! ยันต้องเพิกถอนโฉนดเขากระโดง 5 พันไร่-ขู่ฟ้องศาล
เปิดหนังสือ‘เลขาฯคปต.’ ยื่น‘ป.ป.ช.’ไต่สวน‘ผู้ว่าฯรฟท.’ ผิด ม.157 กรณีที่ดินเขากระโดง
มหากาพย์ชิงกรรมสิทธิ์ที่ดิน 'เขากระโดง' ใครบ้างต้องรับผิดชอบ?