“…อีกทั้งในระหว่างการแถลงข้อเท็จจริงกับคณะกรรมาธิการฯ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) แถลงอ้างว่า ทอท. ได้รับ ‘หุ้นลม’ จาก บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และยอมรับว่ามีพนักงาน 2 ราย เป็นกรรมการบริษัท ฟอร์ท เอ็มอาร์โอ เซอร์วิส จำกัด…”
..................................
สืบเนื่องจากกรณีที่ คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร จัดทำรายงานการสอบหาข้อเท็จจริง เรื่อง ‘ขอให้ตรวจสอบกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ไม่อนุญาตให้สายการบินอื่น นำอากาศยานเข้ามาในโรงเก็บอากาศยานดอนเมือง ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) ทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจ'
โดยรายงานการสอบหาข้อเท็จจริงฯฉบับดังกล่าว สรุปว่า มีข้อเท็จจริงที่บ่งชี้ได้ว่า กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. มีการกระทำที่อาจสร้างความเดือดร้อนให้สายการบินในประเทศ ซึ่งอาจจะลุกลามกลายเป็นปัญหาด้านความมั่นคงทางด้านการบิน และการพัฒนาการบินพลเรือนโดยไม่สมควร
มีปัญหาการขัดแย้งทางผลประโยชน์ในธุรกิจซ่อมบำรุง ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง มีการพยายามใช้อำนาจเหนือตลาด การพยายามใช้อำนาจหน้าที่ในการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และพยายามหาโอกาสเอาเปรียบผู้อื่นในการซื้อขายหลักทรัพย์ นั้น (อ่านประกอบ : เปิดผลสอบ‘กมธ.ป.ป.ช.’พบ‘บิ๊ก ทอท.’กีดกัน‘การบินไทย’ทำศูนย์ซ่อมฯดอนเมือง-แพร่ข่าวดันหุ้น)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปที่มาของการตรวจสอบ กระบวนการสอบหาข้อเท็จจริง รายงานการสอบหาข้อเท็จจริงฯ และข้อเสนอแนะของ กมธ.ป.ป.ช. ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
@พบข้อร้องเรียนมีมูล 5 ประเด็น ก่อนตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่ม
ความเป็นมา
ในคราวประชุม กมธ.ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2564 ที่ประชุมได้มีมติบรรจุเรื่องร้องเรียนของนาวาอากาศโท สุพจน์ สีสด กรณีกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. มีลักษณะการกระทำเข้าข่ายขัดแย้งทางผลประโยชน์ในกิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน จนอาจเป็นเหตุให้กระทบ ต่อความมั่นคงทางด้านการบินของประเทศไทย
โดย กมธ.ป.ป.ช. มีมติมอบหมายให้ นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ เป็นผู้รับผิดชอบในการศึกษาและพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงเพื่อเสนอต่อคณะกรรมาธิการฯ โดยผลการพิจารณาข้อเท็จจริงเบื้องต้นพบว่า กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ได้ดำเนินการจริงตามที่ผู้ร้องได้ร้องเรียน ดังนี้
1.ขึ้นราคาค่าเช่าพื้นที่และอาคารประมาณ 7 เท่า กับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
2.ให้ข้อมูลในสื่อสาธารณะเพื่อทำให้เข้าใจว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ลักลอบทำการซ่อมอากาศยานโดยยังไม่ได้ดำเนินการร่วมลงทุนอย่างถูกต้อง
3.แจ้งไม่อนุญาตให้สายการบินอื่นเข้ารับบริการช่อมบำรุงอากาศยาน จากศูนย์ปฏิบัติการซ่อมบำรุงอากาศยานดอนเมือง ของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาขน)
4.แจ้งศูนย์ปฏิบัติการซ่อมบำรุงอากาศยานดอนเมือง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไม่อนุญาตให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยานของผู้อื่น
5.ขอเป็นหุ้นส่วนในกิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง กับบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก่อนให้เช่าพื้นที่เพื่อประกอบกิจการ และขอละเว้นชำระค่าหุ้นบางส่วนหรือขอ ‘หุ้นลม’
@ตั้ง 5 ประเด็นสอบข้อเท็จจริง-เชิญผู้เกี่ยวข้องให้ข้อมูล
จากนั้นคณะกรรมาธิการฯได้พิจารณาเพื่อประเมินผลกระทบ หรือสภาพปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้น พร้อมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถกำหนดเป็นประเด็นในการพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงได้ ได้ดังนี้
1.ปัญหาความมั่นคงทางด้านการบินและการพัฒนาการบินพลเรือนของประเทศ จะพิจารณาโดยอาศัยบทบัญญัติ ข้อกำหนดและกฎระเบียบขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ), พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 และพ.ร.บ.การเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562
2.ปัญหาการขัดแย้งทางผลประโยชน์ในธุรกิจช่อมบำรุงอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ จะพิจารณาโดยอาศัยบทบัญญัติ ข้อกำหนดและกฎระเบียบขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอชีเอโอ), พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ.2497 ,พ.ร.บ.การเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562, พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560, พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
3.ปัญหาในการใช้อำนาจเหนือตลาด จะพิจารณโดยอาศัยบทบัญญัติของ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560
4.ปัญหาการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน จะพิจารณาโดยอาศัยบทบัญญัติของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
5.ปัญหาการซื้อขายหลักทรัพย์ จะพิจารณาโดยอาศัยบทบัญญัติของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯได้พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง โดยเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็น พร้อมเอกสารประกอบการพิจารณา ได้แก่ นาวาอากาศโท สุพจน์ สีสด ผู้ร้อง อดีตผู้บริหารศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานดอนเมือง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) , สุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)
ปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ,สมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า, รื่นฤดี สุวรรณมงคล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
เรืออากาศโท สมหวัง อรัมสัจจากูล ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการซ่อมบำรุงอากาศยานดอนเมือง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ,นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และจรด จุลสุกขี ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
คณะกรรมาธิการฯยังแสวงหาข้อเท็จจริงจากสื่อสาธารณะเพื่อให้ทราบข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และรายละเอียดอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ก่อนจะมีการสรุปผลการสอบข้อเท็จจริงทั้ง 5 ประเด็น ดังนี้
@ชี้ศูนย์ซ่อมฯ‘การบินไทย’ยุติบทบาท กระทบความมั่นคงการบิน
1.ผลการพิจารณาประเด็นปัญหาความมั่นคงทางด้านการบินและการพัฒนาการบินพลเรือนของประเทศ
เหตุผลการตรา พ.ร.บ.การเดินอากาศยาน (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562 สรุปได้ว่า กระบวนการทางนิติบัญญัติของประเทศไทยตระหนักถึงความจำเป็นในการรักษาความมั่นคงทางด้านการบิน และการพัฒนาการบินพลเรือนของประเทศ จึงตรา พ.ร.บ.เพื่อยกระดับการบินพลเรือนของประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ
โดยปรับปรุงและเพิ่มเติมบทบัญญัติให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุม กำกับดูแล ส่งเสริมและพัฒนาด้านความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัยการอำนวยความสะดวก และเศรษฐกิจการบินพลเรือนของประเทศ รวมทั้งสอดคล้องตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ)
จากการพิจารณาผลสอบข้อเท็จจริงบ่งชี้ว่า ศูนย์ปฏิบัติการซ่อมบำรุงอากาศยานดอนเมืองของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประกอบการรายเดียวที่ได้ลงทุนและพัฒนากิจการ จนได้รับใบอนุญาตการเป็นหน่วยซ่อมระดับฐานปฏิบัติการ ทั้งจากหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศ กพท. และองค์การการบินพลเรือนของนานาชาติ
หากศูนย์ปฏิบัติการซ่อมบำรุงอากาศยานดอนเมือง ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำเป็นต้องยุติบทบาทในการให้บริการการซ่อมบำรุงอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง จะไม่มีหน่วยซ่อมในประเทศไทยสามารถทดแทนได้ และสายการบินต้องนำอากาศยานไปรับบริการจากหน่วยซ่อมอากาศยานฯที่ได้รับใบอนุญาตในต่างประเทศ
ก็จะเป็นปัญหากับความมั่นคงด้านการบินพลเรือนของประเทศไทย เศรษฐกิจการบินพลเรือนของประเทศจะได้รับความเสียหาย และเชื่อได้ว่าสายการบินในประเทศจะได้รับความเดือดร้อน โดยจะต้องนำอากาศยานไปซ่อมต่างประเทศ และสูญเสียรายได้จากการให้บริการสายการบินจากต่างประเทศ
จากการพิจารณาผลสอบข้อเท็จจริง บ่งชี้ให้เชื่อได้ว่า หาก บริษัท ท่าอากาศยาน ไทย จำกัด (มหาชน) พยายามสั่งห้ามการให้บริการลูกค้าของศูนย์ปฏิบัติการซ่อมบำรุงอากาศยานดอนเมือง ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือหากพยายามเข้าแทรกแซง จนทำให้ดำเนินกิจการต่อไปด้วยความยากลำบาก
รวมถึงหากหน่วยงานกำกับดูแลไม่ดูแลคุ้มครองให้ความเป็นธรรมกับศูนย์ปฏิบัติการซ่อมบำรุงอากาศยานดอนเมืองของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือหากทุกภาคส่วนไม่ตระหนักถึงการยกระดับการบินพลเรือนของประเทศไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทันสมัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อาจเข้าใจได้ว่ากำลังท้าทายกับมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) ส่งผลให้ประเทศอาจเกิดปัญหาในการรับการตรวจสอบตามโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล และโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลการรักษาความปลอดภัยสากล หรืออาจเกิดการเหตุการณ์ ‘ติดธงแดง’ ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้ว
@‘ทอท.’ขึ้นค่าเช่า 7 เท่า อาจไม่สอดคล้องกับภาระค่าใช้จ่ายจริง
2.ผลการพิจารณาประเด็นปัญหาการขัดแย้งทางผลประโยชน์ในธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง
จากการพิจารณาผลสอบข้อเท็จจริงบ่งชี้ว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เช่าพื้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อดำเนินกิจการซ่อมบำรุงอากาศยานตามภารกิจรับผิดชอบ ได้ลงทุนพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการช่อมบำรุงอากาศยานดอนเมือง เพื่อทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านการบินพลเรือน ลดการสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศ และสามารถดึงเงินตราจากลูกค้าภายนอกเข้าสู่ประเทศ
ผลการพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการขอขึ้นอัตราค่าเช่าพื้นที่เพื่อประกอบกิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน สามารถจำแนกประเด็นข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
(1) เข้าใจได้ว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ยกข้ออ้างจากสิทธิการได้เป็นเจ้าของอาคารและสิ่งปลูกสร้าง เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าในปี พ.ศ.2555
(2) คู่กรณีอยู่ระหว่างกระบวนการการเจรจาต่อรองและการขยายสัญญา
(3) การถ่ายโอนความเป็นเจ้าของบรรดาอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวก ในที่ดินจำนวน 9 แปลง และสิ่งปลูกสร้างจำนวน 52 หลัง ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง จาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อาจยังไม่สิ้นสุดกระบวนการ
(4) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังคงจ่ายค่าเช่าในอัตรา 37 บาทต่อตารางเมตร เรื่อยมาเป็นเวลากว่า 11 ปี ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2552 จนกระทั่งบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาซน) ยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2563 ทำให้เข้าสู่สภาวะการพักชำระหนี้ จากนั้นศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2564
(5) ในปี พ.ศ.2563 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ตั้งยอดหนี้ประมาณ 4,341 ล้านบาท ยื่นขอเป็นเจ้าหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งอาจเป็นการควบรวมอัตราค่าเช่าใหม่ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2555 และการเจรจาต่อรองในเรื่องอัตราค่าเช่ายังไม่ได้ข้อยุติ และยังไม่มีการแก้ไข หรือยังไม่การขยายสัญญา
(6) จากการพิจารณาผลสอบข้อเท็จจริงบ่งชี้ว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) อาจไม่ได้มีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นถึง 7 เท่าอย่างที่กล่าวอ้าง เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายทั้งค่าก่อสร้าง ค่าบริการสาธารณูปโภค และค่าบำรุงรักษาอาคารสิ่งปลูกสร้าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แถลงยืนยันเป็นผู้รับภาระจ่ายเองทั้งหมดตั้งแต่เริ่มเปิดกิจการจนกระทั่งปัจจุบัน
ขณะที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ก็แถลงยอมรับ แม้กระทั่งภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ผู้ได้สิทธิเป็นเจ้าของควรรับผิดชอบ แต่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยืนยันว่า เป็นผู้รับผิดชอบชำระเองทั้งหมดมาตั้งแต่เริ่มเปิดกิจการจนกระทั่งปัจจุบัน
(7) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ยังไม่แสดงเอกสารการอนุญาตให้ขึ้นราคาในอัตราดังกล่าวจากหน่วยงานกำกับดูแล ทั้งก่อนตั้งยอดหนี้ในอัตราดังกล่าว และระหว่างการเจรจาต่อรอง
(8) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ไม่อนุญาต ทั้งผู้เช่าและลูกค้าของผู้เช่า เข้าดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์การเช่า ด้วยการยกข้ออ้างการผิดสัญญาเช่าและการพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจากการพิจารณาผลสอบข้อเท็จจริงบ่งชี้ว่า อาจเกิดจากการเข้าใจถ้อยคำในวัตถุประสงค์การเช่าคลาดเคลื่อน
(9) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังไม่แสดงหลักฐานการร้องขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานกำกับดูแล ให้สมควรแก่ความเสียหาย และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นทั้งต่อตนเอง และต่อความมั่นคงทางด้านการบินพลเรือน เชื่อได้ว่าเป็นเพียงการเข้าเจรจาต่อรองระหว่างคู่กรณี
(10) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังไม่แสดงหลักฐานการขอความคุ้มครองตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.การเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562
โดยในเรื่องนี้อาจเข้าข่ายการได้รับความคุ้มครองจาก มาตรา 15/7 (11) ที่บัญญัติให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการกำกับดูแลการบินพลเรือนของประเทศไทยในเรื่อง การประกอบกิจการการบินพลเรือนมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการ การคุ้มครองผู้ใช้บริการและอัตราค่าใช้บริการ การป้องกันการผูกขาดและมาตรการยุติข้อขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ
ในประเด็นปัญหา บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ขอขึ้นราคาค่าเช่าพื้นที่ และไม่อนุญาต ทั้งผู้เช่าและลูกค้าของผู้เช่า เข้าดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์การเช่า นั้น
ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องยังไม่กระทบความปลอดภัยและการออกใบอนุญาต จึงยังไม่ได้รับทราบรายละเอียดปัญหา แม้ว่าบทบัญญัติของพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562 มาตรา 15/7 (11) ซึ่งครอบคลุมเรื่อง มาตรฐานและคุณภาพการให้บริการ การคุ้มครองผู้ใช้บริการและอัตราค่าบริการ การป้องกันการผูกขาด และมาตรการการยุติข้อขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ
ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ให้ความคิดเห็นว่า บทบัญญัตินี้ใช้ในกรณีคุ้มครองผู้โดยสาร ไม่คุ้มครองผู้เช่าพื้นที่ท่าอากาศยาน แต่คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าอาจคุ้มครองไปถึงผู้เช่าพื้นที่ท่าอากาศยานได้ด้วย
ในประเด็นการขอเป็นหุ้นส่วน ก่อนการพิจารณาทำสัญญาเช่าพื้นที่ เพื่อประกอบกิจการซ่อมบำรุงอากาศยานประเภทเครื่องบินไอพ่นส่วนบุคคล นั้น
ผู้แทนบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการฯ ตรงกับกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับจัดสรรหุ้นของบริษัท ฟอร์ท เอ็มอาร์โอ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ทั้งหมดจำนวนร้อยละ 25 โดยหุ้นร้อยละ 10 เป็นภาระของบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องเป็นผู้ชำระค่าหุ้นแทน
หรือโดยสรุป บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ชำระค่าหุ้นเพียงร้อยละ 15 จากร้อยละ 25 หรือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับหุ้นลมร้อยละ 10 และทำสัญญาร่วมทุนสำเร็จแล้ว ซึ่งทั้งหมดเป็นเงื่อนไขที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เสนอให้ดำเนินการ ก่อนการอนุญาตเช่าพื้นที่เพื่อประกอบกิจการ
@ส่ง‘รมว.คมนาคม-กพท.’สางปัญหามั่นคงฯ-ขัดแย้งผลประโยชน์
ข้อเสนอแนะ
ประเด็นปัญหาความมั่นคงทางด้านการบินและการพัฒนาการบินพลเรือนของประเทศ และประเด็นปัญหาการขัดแย้งทางผลประโยชน์ในธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง นั้น
จากข้อเท็จจริงฯ มีเหตุให้เชื่อได้ว่ากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มีลักษณะการกระทำที่ไม่ตระหนัก หรือละเลยหลักการในการรักษาความมั่นคงทางด้านการบินและการพัฒนาการบินพลเรือนของประเทศ และสร้างปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง
อาศัยบทบัญญัติในมาตรา 15 และ 15/7 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562 คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาแล้วเห็นควรส่งต่อให้ รมว.กระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานกรรมการคณะกรรมการบินพลเรือน และสำนักงานบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแล รับไปดำเนินการตามหน้าที่เพื่อยุติปัญหาให้ทันต่อเหตุการณ์ ถูกต้อง และครบถ้วนตามกฎหมาย
โดยกำกับดูแลให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงการรักษาความมั่นคงทางด้านการบินและการพัฒนาการบินพลเรือนของประเทศ ยุติข้อขัดแย้งทางผลประโยชน์ และอำนวยการให้การดำเนินกิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน ณ ท่าอากาศดอนเมือง เป็นไปได้อย่างราบรื่นต่อเนื่องตราบเท่าที่ผู้เช่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอกชนรายใด ยังมิได้กระทำการอันเป็นการละเมิดกฎหมายและสัญญาเช่าที่มีผลบังคับ
ทั้งนี้ ขอให้รายงานผลการดำเนินการมายังคณะกรรมาธิการ ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าว
@ข้อเท็จจริงบ่งชี้‘ทอท.’ใช้อำนาจเหนือตลาด-เข้าข่ายผิดกฎหมาย
3.ผลการพิจารณาประเด็นปัญหาการใช้อำนาจเหนือตลาด
การพิจารณาข้อเท็จจริงบ่งชี้ว่าบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ตีความวัตถุประสงค์การเช่าพื้นที่ให้คลาดเคลื่อนในภายหลัง ตามถ้อยคำที่ปรากฎในสัญญาเช่าที่มีผลบังคับ ระบุไว้ว่า ‘เพื่อใช้ในการซ่อมบำรุงอากาศยานและดำเนินกิจการฝ่ายช่างของผู้เช่า’ พิจารณาแล้วคำว่า ‘ของผู้เช่า’ เจตนาขยายความ ‘ฝ่ายช่าง’ ไม่ใช่ขยายความ ‘ อากาศยาน’
การพิจารณาข้อเท็จจริงบ่งชี้ว่า เจตนาของคู่สัญญาตามที่ตกลงกันไว้ในวัตถุประสงค์การเช่า ตั้งแต่เริ่มเปิดกิจการ คือ ผู้เช่าต้องการเช่าเพื่อดำเนินการกิจการซ่อมอากาศยานทั้งของตนเองและของลูกค้า
ดังที่ปรากฎในวรรคแรก ‘ซ่อมบำรุงอากาศยาน’ พิจารณาแล้วเห็นว่า ครอบคลุมอากาศยานได้ทุกประเภททุกชนิดและทุกเจ้าของ เช่น อากาศยานที่ใช้วิธีเช่ามาดำเนินการ หรืออากาศยานของลูกค้า หรือของทางราชการเป็นต้น
ในวรรคที่สองเป็นการตกลงเช่าเพื่อ ‘การดำเนินกิจการฝ่ายช่างของผู้เช่า’ พิจารณาแล้ว เห็นว่าครอบคลุมกิจการในการทำธุรกิจของฝ่ายช่างของผู้เช่าที่ไม่ใช่การช่อมอากาศยานโดยตรง มีขอบเขตครอบคลุมหลากหลายธุรกิจของฝ่ายช่าง ขึ้นกับลูกค้าจะยินดีจ้างหรือเป็นไปตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป
เช่น ฝ่ายช่างอาจมีกิจการบริการทดสอบบางชิ้นส่วนให้ลูกค้า บริการถอดประกอบให้ลูกค้า บริการการบรรจุสำหรับการขนส่งให้ลูกค้าหรือการให้บริการฝึกอบรมช่างอากาศยาน เป็นต้น
จากการพิจารณาข้อเท็จจริงชี้ให้เห็นว่า เป็นไปไม่ได้ที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จะไม่รู้เห็นการให้บริการผู้อื่นทั้งการซ่อมอากาศยานและกิจการฝ่ายช่างของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มากว่า 40 ปี อันเป็นการกระทำตามวัตถุประสงค์การเช่าทุกประการ ซึ่งเป็นกิจการที่ต้องลงทุนมหาศาลและบิดบังไม่ได้ตามบทบัญญัติต่างๆ ในมาตรฐานการบินพลเรือน
ในกรณีผู้ประสงค์เช่าพื้นที่รายใหม่ เพื่อประกอบกิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน อย่าง บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ข้อเท็จจริงก็บ่งชี้ว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เสนอเงื่อนไข ขอเป็นหุ้นส่วนร่วมลงทุนประกอบกิจการซ่อมบำรุงอากาศยานกับ บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก่อตั้ง บริษัท ฟอร์ท เอ็มอาร์โอ เซอร์วิส จำกัด ก่อนพิจารณาทำสัญญาเช่า
จากผลการพิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าวทั้งหมด จึงเป็นเหตุให้เข้าใจได้ว่า อาจมีการพยายามให้ผู้เช่าลงทุนก่อน แล้วหาเหตุยึดเอามาเป็นประโยชน์ของตน หรือขอเป็นหุ้นส่วน มีเหตุชี้ไปได้ว่า กำลังจะใช้อำนาจเหนือตลาดที่ตนเองมีอยู่
อย่างไรก็ตาม ความเดือดร้อนจากลักษณะการกระทำของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ไม่เพียงส่งผลเสียหายให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เท่านั้น
แต่สายการบินอื่น กองทัพอากาศ กองบินตำรวจหน่วยงานดูแลเครื่องบินราชพาหนะ ลูกค้าของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ผู้ประสงค์เช่าพื้นที่รายใหม่ ก็จำเป็นต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น หรือรับความเสี่ยงด้านความปลอดภัย และความเสี่ยงในการบริการขนส่งทางอากาศที่ไม่ต่อเนื่อง มีความไม่มั่นใจที่จะได้รับอนุญาตจาก บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
เป็นการขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจการบินพลเรือนในประเทศ ทุกฝ่ายเสียโอกาสทางธุรกิจ มีเพียงแต่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือผู้ประกอบการซ่อมบำรุงในต่างประเทศ ที่ได้ประโยชน์จากการใช้อำนาจเหนือตลาดแบบนี้
จากการที่คณะกรรมาธิการได้พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง โดยการเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้อง มาแถลงข้อเท็จจริงและแสดงความคิดเห็น ทำให้เชื่อได้ว่าบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ ร้อยละ 86 และยอดขายประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาทต่อปี
และอาจมิได้เป็นรัฐวิสาหกิจที่กำลังดำเนินการตามกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรี ที่มีความจำเป็นเพื่อประโยซน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ ผลประโยชน์ส่วนรวม หรือจัดให้มีสาธารณูปโภค ตามบทบัญญัติในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560
เพราะฉะนั้นบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จึงมีคุณสมบัติครบในการเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด และอาจเข้าข่ายลักษณะการกระทำต้องห้าม ดังนี้
(1) ในประเด็นขอขึ้นราคาค่าเช่าพื้นที่ 7 เท่า อาจเข้าข่ายลักษณะการกระทำต้องห้าม ‘การกำหนดราคาค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม’ ตามมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 และประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการพิจารณาการกระทำต้องห้ามของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด พ.ศ.2561หมวด 2 การกระทำที่เป็นความผิด ข้อ 5 การกำหนดหรือรักษาระดับราคาซื้อหรือราคาขายสินค้าหรือค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรม
(2) ในประเด็น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สั่งห้ามผู้เช่าให้บริการลูกค้าและห้ามนำอากาศยานลูกค้าเข้าจอดในโรงเก็บอากาศยานของผู้เช่า และขอเป็นหุ้นส่วนก่อนพิจารณาให้เช่าพื้นที่อาจเข้าข่ายลักษณะการกระทำต้องห้าม ‘กำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม ไปจำกัดโอกาสการทำกิจการ’ ตามมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560
และประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการพิจารณาการกระทำต้องห้ามของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด พ.ศ.2561 หมวด 2 การกระทำที่เป็นความผิด ข้อ 6 การกำหนดเงื่อนไขในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมให้ผู้ประกอบธุรกิจอื่นซึ่งเป็นคู่ค้าต้องจำกัดการให้บริการ และ จำกัดโอกาสในการให้บริการ
(3) ในประเด็น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ปฏิเสธแผนการบินของสายการบินต่างๆ หากพบว่าจะบินมาเพื่อเข้ารับบริการจากผู้เช่า อาจเข้าข่ายลักษณะการกระทำต้องห้าม ‘แทรกแซงการประกอบธุรกิจของผู้อื่นโดยไม่จำเป็น’ ตามมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560
และประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการพิจารณาการกระทำต้องห้ามของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด พ.ศ. 2561 หมวด 2 การกระทำที่เป็นความผิด ข้อ 8 การแทรกแซงการประกอบธุรกิจของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันควร
@ส่งเรื่องให้‘บอร์ดแข่งขันการค้า’ตรวจสอบการใช้อำนาจเหนือตลาด
ข้อเสนอแนะ
มีเหตุให้เชื่อได้ว่า กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มีลักษณะการกระทำเข้าข่ายใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรม ในการกำหนดราคาค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม กำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมไปจำกัดโอกาสการทำกิจการ และแทรกแซงการประกอบธุรกิจของผู้อื่นโดยไม่จำเป็น
ส่งผลทำให้ทุกฝ่ายเสียโอกาสทางธุรกิจ มีเพียงแต่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือผู้ประกอบการซ่อมบำรุงในต่างประเทศที่ได้ประโยชน์จากการใช้อำนาจเหนือตลาดนี้
อาศัยบทบัญญัติในมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 คณะกรรมาธิการฯพิจารณาแล้วเห็นควรส่งต่อให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ซึ่งคือหน่วยงานกำกับดูแล รับไปดำเนินการตามหน้าที่เพื่อยุติปัญหาให้ทันต่อเหตุการณ์ถูกต้อง และครบถ้วนตามกฎหมาย
โดยพิจารณาดำเนินการเพื่อยุติพฤติกรรมส่อจะฝ่าฝืนมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 และประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเรื่อง แนวทางปฏิบัติในการพิจารณาการกระทำต้องห้ามของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด พ.ศ.2561 ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในธุรกิจการบิน ณ พื้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง
ทั้งนี้ ขอให้รายงานผลการดำเนินการมายังคณะกรรมาธิการ ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าว
@‘ทอท.’ร่วมทุน‘ฟอร์ท’ ทำศูนย์ซ่อมฯ ส่อขัด พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ
4.ผลการพิจารณาปัญหาการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
ผลการพิจารณาข้อเท็จจริงบ่งชี้ให้เชื่อว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีทั้งศักยภาพสั่งสม มีใบอนุญาตหน่วยซ่อมจากนานาประเทศ และมีสัญญาเช่าพื้นที่ที่มีผลบังคับให้สิทธิแก่ผู้เช่าในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์การเช่า และไม่พบเงื่อนไขที่ชี้ชัดได้ว่า การพ้นสภาพกรเป็นรัฐวิสาหกิจของผู้เช่า จะทำให้ผู้เช่าจะเสียสิทธิในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์การเช่า
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จึงมีสิทธิโดยชอบธรรมในการดำเนินกิจการซ่อมบำรุงอากาศยานทั้งของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ของสายการบินอื่นของลูกค้า ของกองทัพอากาศ ของกองบินตำรวจ และเครื่องบินราชพาหนะ ณ ท่าอากาศยาน ดอนเมือง โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตร่วมลงทุนกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 แต่อย่างใด
ผลการพิจารณาข้อเท็จจริงบ่งชี้ให้เชื่อว่า การอ้างเหตุการณ์พ้นสภาพรัฐวิสาหกิจและการอ้างการละเมิดวัตถุประสงค์การเช่า เพื่อการไม่อนุญาต จึงไม่ใช่เหตุผลที่ถูกต้อง
หากพิจารณาในประเด็นตามบทบัญญัติในมาตรา 6 (2) แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 กำหนดให้การดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.นี้ ต้องเป็นไปเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ของการร่วมลงทุนในประเด็นความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน
ทำให้เข้าใจได้ว่า หาก บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ประสงค์เป็นหุ้นส่วนในกิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ทอท. ยินดีจะจัดสรรความเสี่ยงและผลประโยชน์ตอบแทน กับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอกชนรายใดก็ตาม
โดย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จะต้องดำเนินการเสนอโครงการร่วมลงทุน เพื่อขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี แล้วประกาศเชิญชวน รับฟังความเห็นจากเอกชน และคัดเลือกเอกชน ตามบทบัญญัติในหมวด 4 ส่วนที่ 2และ 3 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
แต่จากผลการพิจารณาข้อเท็จจริงเชื่อว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ก็ยังไม่ได้ดำเนินการเสนอโครงการร่วมลงได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่อย่างใด แค่ทำหนังสือหารือผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ในกรณีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขอประกอบกิจการให้บริการช่อมบำรุงอากาศยานแก่สายการบินอื่น เมื่อ 21 ธ.ค.2564 ก่อนการมาร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการฯ เพียงหนึ่งวัน
และโดยที่บทบัญญัติในมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุ่นระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ได้กำหนดแจกแจงกิจการให้หน่วยงานเจ้าของโครงการที่จะจัดทำโครงการร่วมลงทุนในกิจการนั้น ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.นี้ ไม่ใช้บังคับให้เอกชนที่มีกิจการตามกำหนด ต้องเป็นฝ่ายริเริ่มขออนุญาตร่วมลงทุนกับรัฐ หรือจาก บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) แต่อย่างใด
อีกทั้งในระหว่างการแถลงข้อเท็จจริงกับคณะกรรมาธิการฯ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) แถลงอ้างว่า ทอท. ได้รับ ‘หุ้นลม’ จาก บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
และยอมรับว่ามีพนักงาน 2 ราย เป็นกรรมการบริษัท ฟอร์ท เอ็มอาร์โอ เซอร์วิส จำกัด และได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนจัดตั้งบริษัทจำกัดเพื่อประกอบกิจการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง กับบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ไปแล้วเมื่อวันที่ 15 ต.ค.2563
เป็นเหตุให้เชื่อได้ว่า บริษัท ฟอร์ท เอ็มอาร์โอ เซอร์วิส จำกัด ไม่หลีกเลี่ยงการเป็นหุ้นส่วนกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อประสงค์ทำสัญญาเช่าพื้นที่เพื่อประกอบกิจการให้ได้ตามเป้าหมาย
เมื่อพิจารณาประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินการท่าอากาศยานและการขนส่งทางอากาศ พ.ศ.2562 ระบุชัดเจนว่า กิจการซ่อมบำรุงอากาศยานเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการขนส่งทางอากาศ
แต่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ดำเนินกิจการท่าอากาศยาน มีเพียงใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ ใบรับรองผู้จัดการสนามบินสาธารณะ และใบอนุญาตจัดตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ เท่านั้น
ดังนั้น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จึงไม่ใช่หน่วยงานรัฐที่มีสิทธิและหน้าที่ในการประกอบกิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน เพราะไม่มีใบอนุญาตหน่วยซ่อม และไม่ใช่หน่วยงานดำเนินกิจการขนส่งทางอากาศ
จึงชี้ได้ว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ยังไม่มีอำนาจหรือหน้าที่เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ และไม่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลโครงการร่วมลงทุนในกิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ตามบทบัญญัติในหมวด 4 ส่วนที่ 4 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
ดังนั้น ตามที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวอ้างอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ในการแถลงกับคณะกรรมาธิการและเคยเผยแพร่ในสื่อสาธารณะ
ผลการพิจารณาสอบข้อเท็จจริงบ่งชี้ได้ว่า เป็นการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนให้เข้าใจผิดได้ว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายการร่วมลงทุน และทำให้เข้าใจผิดว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กระทำการผิดกฎหมายและสัญญาเช่า
@แนะ‘สคร.’ตรวจสอบจริยธรรม กรณี‘ทอท.’ได้‘หุ้นลม’จากเอกชน
ข้อเสนอแนะ
ผลการพิจารณาข้อเท็จจริงฯ มีเหตุให้เชื่อได้ว่า กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) พยายามกล่าวอ้างบทบัญญัติของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ให้คลาดเคลื่อน ประสงค์จำกัดโอกาสของผู้ประกอบธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานในพื้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง
และประสงค์เป็นหุ้นส่วน แต่ไม่ชำระค่าหุ้นให้ครบจำนวนสัดส่วนการถือหุ้นหรือขอ ‘หุ้นลม’ เข้าข่ายละเลยหลักการการร่วมลงทุนระหว่างรัฐเอกชนและหลักการการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ
อาศัยบทบัญญัติของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และบทบัญญัติในมาตรา 33 แห่งพ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2562
คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาแล้วเห็นควรส่งต่อให้คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร) ซึ่งคือหน่วยงานกำกับดูแล รับไปดำเนินการตามหน้าที่ เพื่อยุติปัญหาให้ทันต่อเหตุการณ์ ถูกต้อง และครบถ้วนตามกฎหมาย
และเข้าดำเนินการกับ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อยุติปัญหาเกี่ยวกับการกล่าวอ้างอำนาจหน้าที่ในการเป็นหน่วยงาน เจ้าของโครงการ หรือการเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายในโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในกิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน และติดตามตรวจสอบจริยธรรมกรณีการได้ ‘หุ้นลม’ จากเอกชน
ทั้งนี้ ขอให้รายงานผลการดำเนินการมายังคณะกรรมาธิการ ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าว
@การกระทำ‘บิ๊ก ทอท.’เข้าข่ายใช้ข้อมูลภายในเอาเปรียบบุคคลภายนอก
5.ผลการพิจารณาประเด็นปัญหาการซื้อขายหลักทรัพย์
ผลการพิจารณาข้อเท็จจริงบ่งชี้ให้เชื่อได้ว่า กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มีลักษณะการกระทำเหล่านี้ ในช่วงเวลาเดียวกับที่พยานเอกสารจากสื่อสาธารณะเผยแพร่ราคาหุ้นของบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ขยับราคาขึ้นจากประมาณ 6 บาท เป็นประมาณ 20 บาท
(1) ให้ข่าวแก่สื่อสาธารณะให้เข้าใจว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ลักลอบดำเนินกิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน ติดค้างยอดหนี้ค่าเช่าพื้นที่
(2) ผูกโยงการพันสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กับการขอต้องอนุญาตดำเนินกิจการ โดยกล่าวอ้างอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562
(3) แถลงกล่าวอ้างว่าได้เป็นหุ้นส่วนและได้รับ ‘หุ้นลม’ จาก บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
จึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่า ลักษณะการกระทำของ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เข้าข่ายใช้ข้อมูลภายใน เอาเปรียบต่อบุคคลภายนอก โดยอาศัยใช้ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ของหุ้นส่วน
และพยายามบอกกล่าวข้อความเท็จ เผยแพร่ข่าวเป็นความเท็จให้เลื่องลือ จนอาจทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าหลักทรัพย์จะมีราคาสูงขึ้นหรือลดลง เข้าข่ายประสงค์จะทำการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างไม่เป็นธรรม เข้าข่ายส่อจะฝ่าฝืนพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
ข้อเสนอแนะ
จากข้อเท็จจริงฯและผลการพิจารณาข้อเห็จจริงฯ มีเหตุให้เชื่อได้ว่า กรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาจใช้ข้อมูลภายในเอาเปรียบต่อบุคคลภายนอกโดยอาศัยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคา และพยายามบอกกล่าวข้อความเท็จ เผยแพร่ข่าวเป็นความเท็จให้เลื่องลือ จนอาจทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าหลักทรัพย์จะมีราคาสูงขึ้นหรือลดลง เข้าข่ายประสงค์จะทำการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างไม่เป็นธรรม
อาศัยบทบัญญัติในหมวด 8 ส่วนที่ 1 มาตรา 238 239 240 241 พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาแล้วเห็นควรส่งต่อให้ คณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งคือหน่วยงานกำกับดูแล รับไปพิจารณาดำเนินการเข้าตรวจสอบการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ของ บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในช่วงเวลา เดือน มิ.ย.2564 ถึง ต.ค.2564
ทั้งนี้ ขอให้รายงานผลการดำเนินการมายังคณะกรรมาธิการ ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับรายงานเรื่องดังกล่าว
เหล่านี้เป็นรายงานการสอบข้อเท็จจริงใน 5 ประเด็น ที่ กมธ.ป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบและพบความไม่ปกติ กรณี ทอท. ไม่อนุญาตให้สายการบินเข้ามาใช้บริการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จึงต้องติดตามว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการดำเนินการในเรื่องเหล่านี้อย่างไร!
อ่านประกอบ :
เปิดผลสอบ‘กมธ.ป.ป.ช.’พบ‘บิ๊ก ทอท.’กีดกัน‘การบินไทย’ทำศูนย์ซ่อมฯดอนเมือง-แพร่ข่าวดันหุ้น
เปิด 7 ประเด็นเรียกร้อง! 'การบินไทย' ขอรัฐอุ้ม คงสิทธิเส้นทางบิน-หนุนธุรกิจ MRO
'ทอท.' ยกข้อสัญญาไม่อนุญาต ‘การบินไทย’ นำเครื่องบินลูกค้าเข้า ‘ศูนย์ซ่อมฯดอนเมือง’
ลดค่าใช้จ่าย! ‘การบินไทย’ เร่งคืนพื้นที่ ‘ศูนย์ซ่อมฯดอนเมือง’ บางส่วน ให้ 'ทอท.'
ปิดฉาก ‘ศูนย์ซ่อมฯอู่ตะเภา’ ผุด MRO ใหม่ 8.3 พันล. ‘ทัพเรือ’ สร้าง ‘การบินไทย’ เช่า
ปิดศูนย์ซ่อมฯอู่ตะเภา! ‘การบินไทย’ คืนพื้นที่ ‘สกพอ.’-โยก 300 พนง.กลับดอนเมือง
‘การบินไทย’ นัดถก ‘ทอท.’ต่อสัญญาเช่าศูนย์ซ่อมฯดอนเมือง-จับตา ‘เวียตเจ็ท’ยึดอู่ตะเภา
โค้งสุดท้าย! แผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ ‘รื้อฝูงบิน-ลดพนง.-หาทุนใหม่’ ชงรัฐขอสิทธิพิเศษ
การบินไทย'ขอสิทธิพิเศษ! ให้ ‘ทอ.-ตช.’ เปิดทางเข้าซ่อม ‘เครื่องบิน-ฮ.’-ทอท.ลดค่าเช่า
ร่อนจม.หาพันธมิตร! ‘การบินไทย’ เปิดร่วมทุนศูนย์ซ่อมฯ-มี ‘ไทยเบฟฯ-คิงพาวเวอร์’ ด้วย
ชงเข้าแผนฟื้นฟูฯ! 'การบินไทย' ดันศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา-ตั้ง ‘บ.ร่วมทุนฯ’ ถือหุ้น 51%
ผลประโยชน์ทับซ้อน? ทอท. ตั้ง ‘ศูนย์ซ่อมฯเครื่องบิน’ แข่ง 'การบินไทย'