เปิดผลสอบข้อเท็จจริง ‘กมธ.ป.ป.ช.’ พบ ‘บิ๊ก ทอท.’ กีดกัน ‘การบินไทย’ ทำธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยาน ‘ดอนเมือง’ สุ่มเสี่ยงกระทบความมั่นคงด้านการบิน-ใช้อำนาจเหนือตลาดไม่เป็นธรรม ระบุ ‘ทอท.-ฟอร์ท’ ร่วมทุนศูนย์ซ่อมฯ ส่อขัด พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ แพร่ข่าวดันราคาหุ้น
...............................
สืบเนื่องจากกรณีที่ นาวาอากาศโท สุพจน์ สีสด อดีตผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายซ่อมบำรุงอากาศยาน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตรวจสอบกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กรณีไม่อนุญาตให้สายการบินอื่น นำอากาศยานเข้ามาในโรงเก็บอากาศยานดอนเมือง ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจ นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในช่วงต้นเดือน ก.พ.2565 ที่ผ่านมา กมธ.ป.ป.ช. ได้สรุปรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว โดยพบว่ามีข้อเท็จจริงที่บ่งชี้ได้ว่า กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. มีการกระทำที่อาจสร้างความเดือดร้อนให้สายการบินในประเทศ ซึ่งอาจจะลุกลามกลายเป็นปัญหาด้านความมั่นคงทางด้านการบิน และการพัฒนาการบินพลเรือนโดยไม่สมควร มีปัญหาการขัดแย้งทางผลประโยชน์ในธุรกิจซ่อมบำรุง ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง และมีการพยายามใช้อำนาจเหนือตลาด เป็นต้น ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ประเด็นปัญหาความมั่นคงด้านการบินและการพัฒนาการบินพลเรือนของประเทศ และปัญหาการขัดแย้งทางผลประโยชน์ในธุรกิจซ่อมบำรุง ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง
ผลการพิจารณาข้อเท็จจริงพบเหตุให้เชื่อได้ว่า กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. มีลักษณะการกระทำที่ไม่ตระหนัก หรือละเลยหลักการในรักษาความมั่นคงทางด้านการบินและการพัฒนาการบินพลเรือนของประเทศ และมองข้ามปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง
โดยมีข้อเท็จจริงบ่งชี้ให้เชื่อได้ว่า ศูนย์ปฏิบัติการซ่อมบำรุงอากาศยานดอนเมือง ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นหน่วยซ่อมที่ได้มาตรฐานสากลระดับฐานปฏิบัติการรายเดียวในประเทศ แต่ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. มีความพยายามสั่งห้ามการให้บริการลูกค้า หรือพยายามเข้าแทรกแซง ด้วยการอ้างการร่วมทุนก่อนได้รับอนุญาตให้บริการลูกค้า หรือพยายามขึ้นราคาค่าเช่า 7 เท่า โดยตั้งยอดหนี้สูง 4,341 ล้านบาท จนทำให้การดำเนินกิจการต่อเนื่องเป็นไปด้วยความยากลำบาก
ทั้งนี้ หากศูนย์ปฏิบัติการซ่อมบำรุงอากาศยานดอนเมือง ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ต้องยุติการการดำเนินกิจการหรือดำเนินกิจการต่อไปด้วยความยากลำบาก ก็จะเป็นปัญหากับความมั่นคงด้านการบินพลเรือนของประเทศไทย และเศรษฐกิจการบินพลเรือนของประเทศจะได้รับความเสียหาย สายการบินในประเทศจะได้รับความเดือดร้อนต้องนำอากาศยานไปซ่อมต่างประเทศ และสูญเสียรายได้จากการบริการแก่สายการบินจากต่างประเทศ เข้าข่ายส่อจะฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2563
โดยในประเด็นปัญหาความมั่นคงด้านการบินและการพัฒนาการบินพลเรือนของประเทศ และปัญหาการขัดแย้งทางผลประโยชน์ดังกล่าว คณะกรรมาธิการฯ จะส่งเรื่องต่อให้ รมว.คมนาคม และสำนักงานการบินพลเรือน (กพท.) เข้าไปแก้ไขปัญหาและรายการผลสัมฤทธิ์การแก้ไขปัญหาต่อไป
ประเด็นที่ 2 ประเด็นปัญหาการใช้อำนาจเหนือตลาด
จากการพิจารณาข้อเท็จจริงแล้วชี้ให้เห็นว่า กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มีการสั่งไม่อนุญาต หรือแทรกแซงการให้บริการลูกค้าของศูนย์ปฏิบัติการซ่อมบำรุงอากาศยานดอนเมือง ของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และมีเหตุที่ทำให้เข้าใจได้ว่า อาจมีการพยายามอาศัยอำนาจเหนือตลาดที่ตนเองมีอยู่อย่างไม่เป็นธรรม ดังนี้
1.ในประเด็นขอขึ้นราคาค่าเช่าพื้นที่ 7 เท่า อาจเข้าข่ายลักษณะการกระทำต้องห้าม ‘การกำหนดราคาค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม’
2.ในประเด็นสั่งห้ามผู้เช่าให้บริการลูกค้า หรือห้ามนำอากาศยานลูกค้าเข้าจอดในโรงเก็บอากาศยานของผู้เช่า
3.ในประเด็นปฏิเสธแผนการบินของสายการบินต่างๆ หากพบว่าจะบินมาเพื่อเข้ารับบริการซ่อมบำรุงอากาศยานจากผู้เช่าที่ยังไม่เป็นหุ้นส่วน อาจเข้าข่ายลักษณะการกระทำต้องห้าม ‘แทรกแชงการประกอบธุรกิจของผู้อื่นโดยไม่จำเป็น’
โดยทั้ง 3 ประเด็นเข้าข่ายส่อจะฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 และประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการพิจารณาการกระทำต้องห้ามของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด พ.ศ.2561 โดยในประเด็นปัญหาการใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรมนี้ คณะกรรมาธิการฯจะส่งต่อให้ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาและรายงานผลสัมฤทธิ์การแก้ปัญหาต่อไป
ประเด็นที่ 3 ประเด็นปัญหาการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
ผลการพิจารณาข้อเท็จจริงบ่งชี้ว่า จากสัญญาเช่าพื้นที่เพื่อการประกอบกิจการซ่อมบำรุงอากาศยานของผู้เช่า (บมจ.การบินไทย) กับ ทอท. นั้น ไม่พบเงื่อนไขที่ชี้ชัดได้ว่า การพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะทำให้ผู้เช่าจะเสียสิทธิในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์การเช่า จึงทำให้เชื่อได้ว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไม่มีความจำเป็นต้องขออนุญาตร่วมลงทุนกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อให้ได้สิทธิบริการซ่อมบำรุงอากาศยานแก่ลูกค้า
ดังนั้น การที่ ทอท. ยกเหตุละเมิดวัตถุประสงค์การเช่าแล้วบังคับให้ร่วมลงทุนก่อน จึงจะได้รับการอนุญาตให้ดำเนินการบริการซ่อมบำรุงอากาศยานแก่ลูกค้า จึงเชื่อได้ว่า ไม่ใช่เหตุผลที่ถูกต้อง
ผลการพิจารณาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมยังพบว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ FORTH ได้ลงนามสัญญาร่วมทุนจัดตั้งบริษัทจำกัดเพื่อประกอบกิจการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2563 โดย ทอท.ได้เงื่อนไขขอเป็นหุ้นส่วนถือหุ้นร้อยละ 25 แต่ขอชำระแค่ร้อยละ 15 อีกร้อยละ 10 ขอให้กลุ่มบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ชำระแทน หรือขอ ‘หุ้นลม’
แต่กรณีการร่วมทุนดังกล่าว บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ยังไม่ได้ดำเนินการเสนอเป็นโครงการร่วมลงทุน หรือได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่อย่างใด ขณะที่ ทอท. ไม่ใช่ภาครัฐ ที่มีหน้าที่ในการประกอบกิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน ไม่มีใบอนุญาตหน่วยซ่อม ไม่ใช่หน่วยงานดำเนินกิจการขนส่งทางอากาศ แต่เป็นหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ดำเนินกิจการท่าอากาศยาน มีเพียงใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ ใบรับรองผู้จัดการสนามบินสารารณะ และใบอนุญาตจัดตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกในการเดินอากาศ เท่านั้น
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นข้อบ่งชี้ได้ว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มีการกระทำเพื่อพยายามจำกัดการดำเนินกิจการของผู้เช่ารายเดิม และไปร่วมลงทุนกับผู้เช่ารายใหม่ ทั้งที่ยังไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ในการกำกับดูแลโครงการร่วมลงทุนในกิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง
“กรณีที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาขน) แถลงตรงกับ บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เรื่อง ‘หุ้นลม’ จึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่า กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เข้าข่ายละเลยหลักการการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และหลักการการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ เข้าข่ายส่อฝ่าฝืนบทบัญญัติของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562” รายงานผลการตรวจสอบฯระบุ
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ จะส่งต่อให้คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาและรายงานผลสัมฤทธิ์การแก้ปัญหา
ประเด็นที่ 4 ประเด็นปัญหาการซื้อขายหลักทรัพย์
ผลการพิจารณาข้อเท็จจริงบ่งชี้ให้เชื่อได้ว่า กรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กระทำการให้ข่าวแก่สื่อสาธารณะเพื่อให้เข้าใจว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ลักลอบดำเนินกิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน และติดค้างยอดหนี้ค่าเช่าพื้นที่โดยผูกโยงการพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กับการขออนุญาตดำเนินกิจการ ในช่วงเวลาเดียวกับ ราคาหุ้นของบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ขยับราคาขี้นจากประมาณ 6 บาทเป็นประมาณ 20 บาท
ประกอบกับการแถลงกล่าวอ้างว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นหุ้นส่วนกับ บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในกิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน จึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่ากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) อาจใช้ข้อมูลภายในเอาเปรียบต่อบุคคลภายนอก โดยอาศัยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคา และพยายามบอกกล่าวข้อความเท็จ พยายามเผยแพร่ข่าวเป็นความเท็จให้เลื่องลือ จนอาจทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าหลักทรัพย์จะมีราคาสูงขึ้นหรือลดลง เข้าข่ายทำการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างไม่เป็นธรรม เข้าข่ายส่อฝ่าฝืนบทบัญญัติของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
โดยในประเด็นปัญหาการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรมนี้ คณะกรรมาธิการฯจะส่งต่อให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาและรายงานผลสัมฤทธิ์ต่อไป
นอกจากนี้ ในรายงานผลการตรวจสอบฯฉบับดังกล่าว คณะกรรมาธิการฯ มีข้อเสนอแนะด้านนโยบาย และด้านปฏิบัติ ให้ทุกภาคส่วน ได้แก่ หน่วยงานกำกับดูแล ผู้ประกอบกิจการด้านการบิน ทั้งรัฐวิสาหกิจและเอกชน บูรณาการการทำงานร่วมกันในการรักษามาตรฐานทั้งคุณภาพและความปลอดภัย เสริมสร้างความมั่นคงด้านการบินพลเรือนของประเทศ โดยเฉพาะบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ควรพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งข้นกับนานาประเทศ
สำนักข่าวอิศรางานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา นายเชิดพันธ์ โชติคุณ ประธานเจ้าหน้าที่สายช่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ตามที่ บริษัท การบินไทยฯ ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร ปรับปรุงกระบวนการ รวมถึงบริหารจัดการพนักงานให้เหมาะสมกับปริมาณงาน และสถานะของบริษัทฯ ตามแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันในตลาดธุรกิจการบิน โดยฝ่ายซ่อมใหญ่เครื่องยนต์อากาศยานได้ปรับลดจำนวนพนักงานลงจาก ประมาณ 200 คน เหลือ 33 คน เพื่อให้สอดคล้องกับขนาดฝูงบิน และสถานะทางการเงินของบริษัท
ทั้งนี้ พนักงานทุกคนมีความมุ่งมั่นและมีแนวความคิดที่จะช่วยเหลือบริษัทฯ ในช่วงวิกฤติ จึงเป็นที่มาของหนึ่งในโครงการที่เกิดจากการระดมความคิดของพนักงาน (Initiative) เพื่อสร้างรายได้ และเพิ่มมูลค่าให้แก่ทรัพย์สินของบริษัทฯ
"สายช่าง บริษัท การบินไทย โดยฝ่ายซ่อมใหญ่เครื่องยนต์อากาศยาน ได้ริเริ่มโครงการ Initiative “Engine Re-birth” โดยการนำชิ้นส่วนเครื่องยนต์ GE CF6-80C2B1F ของเครื่องบินแบบโบอิ้ง 747-400 ที่ปลดระวางแล้ว แต่ยังคงมีชิ้นส่วนอะไหล่ ที่อยู่ในสภาพใช้งานได้ (Serviceable Condition) มาประกอบเป็นเครื่องยนต์ที่สมบูรณ์พร้อมใช้งาน เพื่อนำไปจำหน่ายเป็นการสร้างรายได้ให้บริษัทฯ" นายเชิดพันธ์ระบุ
นายเชิดพันธ์ ระบุว่า เป็นเวลากว่า 2 เดือนที่ทีมงานสายช่าง บริษัท การบินไทย ได้ใช้ศักยภาพ ความชำนาญ และความคิดสร้างสรรค์ ในการรวบรวมอะไหล่ และชิ้นส่วนต่างๆ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 5.5 ล้านบาท มาทำการประกอบตามมาตรฐานของบริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์ และทดสอบสมรรถนะจนได้เครื่องยนต์ GE CF6-80C2B1F แบบสมบูรณ์ที่พร้อมใช้งาน (Serviceable Engine)
โดยได้รับใบรับรองการซ่อมตามมาตรฐานของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) รวมถึงองค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (FAA) เนื่องด้วยในอุตสาหกรรมการบินเครื่องยนต์รุ่นดังกล่าวเป็นที่นิยมและมีความต้องการสูง บริษัทฯ จึงสามารถจำหน่ายเครื่องยนต์ที่ประกอบได้ในราคาที่สูงกว่า 100 ล้านบาท กล่าวคือ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึงประมาณ 20 เท่า จึงนับเป็นอีกหนึ่งในความภาคภูมิใจของ สายช่าง บริษัท การบินไทย
อ่านประกอบ :
เปิด 7 ประเด็นเรียกร้อง! 'การบินไทย' ขอรัฐอุ้ม คงสิทธิเส้นทางบิน-หนุนธุรกิจ MRO
'ทอท.' ยกข้อสัญญาไม่อนุญาต ‘การบินไทย’ นำเครื่องบินลูกค้าเข้า ‘ศูนย์ซ่อมฯดอนเมือง’
ลดค่าใช้จ่าย! ‘การบินไทย’ เร่งคืนพื้นที่ ‘ศูนย์ซ่อมฯดอนเมือง’ บางส่วน ให้ 'ทอท.'
ปิดฉาก ‘ศูนย์ซ่อมฯอู่ตะเภา’ ผุด MRO ใหม่ 8.3 พันล. ‘ทัพเรือ’ สร้าง ‘การบินไทย’ เช่า
ปิดศูนย์ซ่อมฯอู่ตะเภา! ‘การบินไทย’ คืนพื้นที่ ‘สกพอ.’-โยก 300 พนง.กลับดอนเมือง
‘การบินไทย’ นัดถก ‘ทอท.’ต่อสัญญาเช่าศูนย์ซ่อมฯดอนเมือง-จับตา ‘เวียตเจ็ท’ยึดอู่ตะเภา
โค้งสุดท้าย! แผนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ ‘รื้อฝูงบิน-ลดพนง.-หาทุนใหม่’ ชงรัฐขอสิทธิพิเศษ
การบินไทย'ขอสิทธิพิเศษ! ให้ ‘ทอ.-ตช.’ เปิดทางเข้าซ่อม ‘เครื่องบิน-ฮ.’-ทอท.ลดค่าเช่า
ร่อนจม.หาพันธมิตร! ‘การบินไทย’ เปิดร่วมทุนศูนย์ซ่อมฯ-มี ‘ไทยเบฟฯ-คิงพาวเวอร์’ ด้วย
ชงเข้าแผนฟื้นฟูฯ! 'การบินไทย' ดันศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา-ตั้ง ‘บ.ร่วมทุนฯ’ ถือหุ้น 51%
ผลประโยชน์ทับซ้อน? ทอท. ตั้ง ‘ศูนย์ซ่อมฯเครื่องบิน’ แข่ง 'การบินไทย'