“…การดำเนินโครงการริเริ่มปฏิรูปธุรกิจ โดยเฉพาะโครงการลดค่าใช้จ่ายและโครงการเพิ่มรายได้ ซึ่งภายในปี 2565 บกท. มีเป้าหมายในการลดค่าใช้จ่ายให้ลดลง 53,000 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ บกท. เชื่อว่า จะกลับมามีกำไรมากขึ้นกว่าเดิมอีกหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คลี่คลายและสามารถดำเนินการบินได้อย่างปกติ…”
..............................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (อ่านประกอบ : 'การบินไทย' ลดกู้ 'เงินใหม่' เหลือ 2.5 หมื่นล้าน-'ครม.' รับทราบความคืบหน้าแผนฟื้นฟูฯ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปรายละเอียดคืบหน้าการดำเนินงานแก้ไขปัญหาของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการของ บมจ.การบินไทย หรือ บกท. ที่ได้มีการรายงานให้ ครม. รับทราบ ดังนี้
@ตั้งเป้าภายในปี 2565 ลดค่าใช้จ่าย 53,000 ล้านบาท/ปี
ความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ
เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2564 บกท.ได้มีหนังสือถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานความคืบหน้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ บกท. สรุปได้ว่า
แผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2564 ได้คำนึงถึงปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการฟื้นฟูกิจการ โดยเฉพาะในเรื่องความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดเพื่อชำระหนี้ โดยผู้ทำแผนได้เสนอแนวทางและขั้นตอนในการฟื้นฟูกิจการเพื่อเป็นการลดภาระหนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม อันจะทำให้ บกท. สามารถชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง
โดยการจัดหาแหล่งเงินทุน การปรับโครงสร้างหนี้ การปรับโครงสร้างทุน และการปรับโครงสร้างธุรกิจ รวมถึงการจำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า เข้าทำธุรกรรมหรือบริการเพื่อใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินรองหรือทรัพย์สินส่วนเกินหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจหลัก
โดยในคราวประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บกท. ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2564 ผู้บริหารแผน บกท. ได้มีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของ บกท. ที่สำคัญ ดังนี้
-การปรับฝูงบิน โดย บกท. ได้ดำเนินการลดจำนวนเครื่องบินโดยเฉพาะเครื่องบินเก่าที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่คุ้มทุน ซึ่งก่อนปี 2563 บกท. ได้มีการปลดระวางไปแล้ว จำนวน 13 ลำ ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการจำหน่าย และในปี 2564 บกท. วางแผนปลดระวางเพิ่มเติม จำนวน 45 ลำ แบ่งเป็นเครื่องบินรอจำหน่าย 24 ลำ และคืนให้ผู้เช่า 16 ลำ ส่งผลให้ บกท. จะเหลือเครื่องบินทั้งหมด 58 ลำ
-การปรับโครงสร้างธุรกิจของ บกท. โดยการปรับลดค่าใช้จ่ายบุคลากรลง จำนวน 23,100 ล้านบาทต่อปี เมื่อเทียบกับปี 2562 การปรับและบูรณาการกระบวนการทำงาน การปรับลดค่าเช่า/เช่าซื้ออากาศยาน การลดแบบเครื่องบินจาก 8 ประเภท เหลือ 4 ประเภท และการปรับปรุงข้อบังคับการทำงาน
-การปรับโครงสร้างและลดขนาดองค์กร โดย บกท. ได้ดำเนินการลดขนาดองค์กรตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนถึงระดับพนักงาน และปรับลดกระบวนการดำเนินงานและสายบังคับบัญชาลง โดยในปี 2562 บกท. มีจำนวนพนักงาน 29,500 คน เป็นผลให้มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 2,675 ล้านบาท
ทั้งนี้ การที่ บกท.ได้ดำเนินการปรับลดจำนวนพนักงานลงเหลือ 15,200 คน เป็นผลให้ในเดือน ส.ค.2564 บกท. มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเพียง 750 ล้านบาท ทั้งนี้ ปัจจุบัน บกท. อยู่ระหว่างดำเนินการปรับลดจำนวนพนักงานเพิ่มเติมให้เป็นไปตามเป้าหมาย
-การดำเนินโครงการริเริ่มปฏิรูปธุรกิจ โดยเฉพาะโครงการลดค่าใช้จ่ายและโครงการเพิ่มรายได้ ซึ่งภายในปี 2565บกท. มีเป้าหมายในการลดค่าใช้จ่ายให้ลดลง 53,000 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ บกท. เชื่อว่า จะกลับมามีกำไรมากขึ้นกว่าเดิมอีกหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คลี่คลายและสามารถดำเนินการบินได้อย่างปกติ
-การหารายได้จากช่องทางอื่น โดยการขนส่งสินค้า (Cargo) และการจำหน่ายสินค้าและอาหารอื่นที่นอกเหนือจากการจำหน่ายอาหารบนอากาศยาน
-สำหรับตารางการบินสำหรับฤดูหนาว 2564-2565 บกท. คาดการณ์ว่าประเทศต่างๆ จะมีความพร้อมในการเปิดประเทศมากขึ้น และได้มีแผนเครือข่ายเส้นทางบินสู่เมืองสำคัญในแต่ละภูมิภาคโดยใช้เส้นทางบินตรงของ บกท. เป็นเสมือนศูนย์กลางการเชื่อมต่อและรับส่งผู้โดยสารเพื่อขยายโอกาสในการหารายได้
โดยอาศัยความร่วมมือกับสายการบินพันธมิตรเชื่อมต่อเที่ยวบินและเมืองรองในภูมิภาคนั้นๆ รวมถึงทวีปอเมริกา โดยคำนึงถึงโอกาสและข้อจำกัดของประเทศต่างๆ หากในอนาคตสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ดีขึ้น บกท. อาจมีการปรับเปลี่ยนแผนการบินให้สอดคล้องและเหมาะสมต่อไป
@เผยความคืบหน้าขาย‘สินทรัพย์รอง-อสังหาฯ-เครื่องบิน’
การจำหน่ายทรัพย์สินรอง
-ทรัพย์สินรองที่ดำเนินการจำหน่ายแล้วเสร็จ ได้แก่ การขายหุ้นบริษัทย่อยการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารศูนย์ฝึกอบรมหลักสี่ และการขายที่ดินและอาคารในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดภูเก็ตและสำนักงานหลานหลวง
-ทรัพย์สินรองที่อยู่ระหว่างดำเนินการขาย ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ในประเทศและในต่างประเทศ, อากาศยานที่ บกท. ไม่ประสงค์จะใช้งาน โดยมีอากาศยานที่อยู่ระหว่างการทำสัญญากับผู้ซื้อจำนวน 11 ลำ ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจำหน่าย จ่าย โอนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก่อนส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อ
-ผลการดำเนินงานเดือนม.ค.-มิ.ย.2564 (6 เดือน) บกท. มีกำไรสุทธิประมาณ 11,121 ล้านบาท แต่ยังมีขาดทุนจากการดำเนินงานประมาณ 14,335 ล้านบาท โดยมีรายได้แบบรับครั้งเดียว (One-Time Revenue) ประมาณ 25,899ล้านบาท ซึ่งมาจากการปรับโครงสร้างหนี้และปรับปรุงสัญญาเช่า/เช่าซื้อเครื่องบิน
-การปรับโครงสร้างหนี้ตามกรอบแผนฟื้นฟูกิจการ โดย บกท. ได้ดำเนินการขยายเวลาการชำระหนี้ การพักชำระหนี้และดอกเบี้ย การปรับลดหนี้ในส่วนภาระดอกเบี้ย การเจรจาปรับลดภาระผูกพันตามสัญญา และการเพิ่มทางเลือกในการชำระหนี้ เช่น การใช้บัตรกำนัลแทนเงินสด
-การจัดหาแหล่งเงินทุน บกท. ได้เร่งดำเนินการจัดหาแหล่งเงินทุนในรูปแบบของสินเชื่อใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อนำมาใช้ในการรักษาสภาพคล่องในปีงบประมาณ 2564-2565
(ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บกท. (กลาง) แถลงผลการดำเนินงานประจำปี 2564 ของ บกท. เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2565)
@ขอ‘ทอท.’อนุญาตให้‘กบท.’ใช้พื้นที่ซ่อมเครื่อง-ทำครัวการบิน
การขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2564 บกท. ได้รายงานการขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ซึ่งมี 7 หัวข้อหลัก รวม12 ประเด็น สรุปได้ดังนี้
การขออนุญาตประกอบกิจการบริการซ่อมบำรุงอากาศยานและบริการภาคพื้นดินที่ บกท. ได้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) และท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.)ครอบคลุมตลอดระยะเวลาตามแผนพื้นฟูกิจการ ซึ่งประกอบด้วย 2 ประเด็น
ประเด็นที่ 1 การประกอบกิจการบริการซ่อมบำรุงอากาศยาน
1.ขอให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เร่งรัดดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 (พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562) เพื่อให้ บกท. ในฐานะบริษัทเอกชนสามารถเข้ายื่นประมูลได้เร็วที่สุด
2.ในช่วงระหว่างรอการดำเนินการตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ขอให้ ทอท. พิจารณาอนุญาตให้ บกท. สามารถดำเนินการดังต่อไปนี้ไปพลางก่อน
2.1 ซ่อมบำรุงอากาศยานแบบ A320 ซึ่ง บกท. ได้เช่าอากาศยานดังกล่าวมา และให้บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด เช่าเพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติการบินเชิงพาณิชย์
2.2 ซ่อมบำรุงอากาศยานให้สายการบินอื่นๆ
2.3 ขอให้ ทอท. ให้สิทธิ บกท. สามารถประกอบกิจการบริการซ่อมบำรุงอากาศยานลูกค้าต่อไปเป็นการชั่วคราวในช่วงพื้นฟูกิจการ ในระหว่างที่ บกท. ดำเนินการขออนุญาตประกอบกิจการบริการซ่อมบำรุงอากาศยานลูกค้า ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศยานอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ทอท. หรือกรมท่าอากาศยาน
ประเด็นที่ 2 การประกอบกิจการบริการภาคพื้น ครัวการบิน บริการ คลังสินค้าและไปรษณียภัณฑ์ ณ ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.)
1.ขอให้ ทอท. พิจารณาต่ออายุสัญญาที่ครบกำหนดและ/หรือใกล้ครบกำหนดออกไปให้ครอบคลุมถึงเวลาที่จะเข้าร่วม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 เพื่อให้ บกท. มีรายได้เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการ
2.ขอให้ ทอท. เร่งดำเนินการตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 เพื่อให้ บกท. ในฐานะบริษัทเอกชนเข้าร่วมประมูล
@ร้อง ‘ต่อสัญญา’ เช่าพื้นที่สนามบินที่อยู่ในกำกับของรัฐ
การขอรับการสนับสนุน การต่อสัญญาเช่าพื้นที่ ณ ท่าอากาศยานที่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐครอบคลุมตลอดระยะเวลาตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งประกอบด้วย 2 ประเด็น
ประเด็นที่ 1 การต่อสัญญาเช่าพื้นที่เพื่อการประกอบกิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.)
1.ให้ ทอท. ต่อสัญญาเช่าพื้นที่ในท่าอากาศยานที่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐครอบคลุมตลอดระยะเวลาตามแผนพื้นฟูกิจการของ บกท.
2.ให้ ทอท. ใช้แนวทางในการชำระหนี้สำหรับยอดหนี้ค่าเช่าพื้นที่ ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 14 ก.ย.2563 เช่นเดียวกันกับยอดหนี้ก่อนวันที่ 14 ก.ย.2563 ซึ่ง ทอท. ได้ยื่นเรื่องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวมทั้งขอให้ ทอท. พิจารณายกเว้นเบี้ยปรับจากการค้างชำระค่าเช่าพื้นที่ที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 14 ก.ย.2563
3.ให้ ทอท. จัดเก็บอัตราค่าเช่าพื้นที่ให้กับ บกท. ในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อเอื้อให้ต้นทุนของธุรกิจการซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair Operation : MRO) ภายในประเทศ สามารถแข่งขันกับธุรกิจ MRO ของต่างประเทศได้อย่างมีศักยภาพ
ประเด็นที่ 2 การต่อสัญญาเช่าพื้นที่เพื่อการประกอบกิจการบริการภาคพื้น ครัวการบิน บริการคลังสินค้าและไปรษณียภัณฑ์
1.ขอให้ ทอท. พิจารณาต่ออายุสัญญาเช่าที่ครบกำหนดและ/หรือ ใกล้ครบกำหนดออกไปให้ครอบคลุมถึงเวลาที่จะเข้าร่วม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 เพื่อให้ บกท. มีรายได้ที่เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการ ได้แก่
1.1 สัญญาเช่าพื้นที่เพื่อประกอบกิจการภาคพื้นและคลังสินค้าที่หมดอายุแล้ว โดยขอให้ ทอท. พิจารณาต่ออายุสัญญาไปถึงปี 2568 และทบทวนการปรับอัตราค่าเช่าในท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย
1.2 สัญญาเช่าพื้นที่เพื่อประกอบกิจการห้องรับรอง โดยขอให้ ทอท. พิจารณาต่ออายุสัญญาไปถึงปี 2568
1.3 สัญญาเช่าพื้นที่เพื่อประกอบกิจการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มประเภทร้านอาหารทั่วไป ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.)
2.ขอให้กรมท่าอากาศยานพิจารณาต่ออายุสัญญาเช่าให้แก่ บกท. เพื่อให้บริการภาคพื้นต่อไป รวมถึงพิจารณาการคำนวณค่าเช่าพื้นที่ตามแนวราบตามจำนวนพื้นที่ปลูกสร้าง โดยไม่คิดตามพื้นที่ใช้ประโยชน์
@จี้‘กองบินตำรวจ-กองทัพอากาศ’จ่ายหนี้ค่าซ่อมฯอากาศยาน
การขอให้ธนาคารเจ้าหนี้คืนเงินกองทุนบำเหน็จของพนักงาน และให้ธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.กรุงไทยฯ) ยุติการโต้แย้งและคืนเงินให้ บกท. เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขี้ขาด
โดยหากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชี้ขาด ขอให้ธนาคารออมสินและให้ธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ บมจ. กรุงไทยฯ ยุติเรื่องโดยไม่ยื่นคัดค้านคำสั่งชี้ขาดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาล
การขอรับการสนับสนุนด้านการจัดสรรงบประมาณแก่หน่วยงานรัฐ ในการชำระหนี้ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการบำรุงอากาศยาน ของกองบินตำรวจและกองทัพอากาศ
โดยขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองทัพอากาศ เร่งรัดการดำเนินการเพื่อชำระหนี้ให้กับ บกท. โดยเร็ว
@ขอ‘ทอท.-กองทัพเรือ’ยกเว้นค่าบริการจอดเครื่องบิน
การขอพิจารณาสนับสนุน กระบวนการขออนุญาต โอน (จำหน่าย) อากาศยาน เพื่อให้ บกท. สามารถ ดำเนินการตามข้อกำหนดของแผนฟื้นฟูกิจการ และมีกระแสเงินสดเพียงพอต่อการประกอบธุรกิจระหว่างการหาเงินทุนหรือสินเชื่อใหม่ ซึ่งประกอบด้วย 3 ประเด็น
ประเด็นที่ 1 อากาศยานที่ บกท. ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่า (Onerous Contract)
ขอขอความอนุเคราะห์จาก ทอท. และกองทัพเรือพิจารณา ดังนี้
1.ยกเว้นหรือปรับลดค่าบริการการจอดเครื่องบินที่ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาสยานอู่ตะเภา สำหรับอากาสยานที่ไม่ได้อยู่ในแผนทำการบินของ บกท. ต่อเนื่องไปจนกว่าจะส่งมอบอากาศยานดังกล่าวให้กับผู้ให้เช่า
2.สนับสนุนพื้นที่การจอดเก็บอากาศยานดังกล่าวไว้ ที่ท่าอากาศยานที่จอดอยู่ในปัจจุบันจนกว่าจะส่งมอบให้กับผู้ให้เช่า
ประเด็นที่ 2 อากาศยานที่ไม่อยู่ในแผนการใช้งานของ บกท.
1.ขอความอนุเคราะห์กระทรวงคมนาคมพิจารณาอนุญาต ให้ บกท. โอนอากาศยาน ซึ่งได้ปลดประจำการแล้วและไม่ได้อยู่ในแผนธุรกิจและแผนการบินของ บกท.
2.ขอความอนุเคราะห์จาก ทอท. และกองทัพเรือพิจารณา ดังนี้
2.1 ยกเว้นหรือปรับลดค่าบริการการจอดเครื่องบินที่ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา สำหรับอากาศยานที่ไม่ได้อยู่ในแผนทำการบินของ บกท. ต่อเนื่องไปจนกว่าจะส่งมอบอากาศยานดังกล่าวให้กับผู้ซื้อ
2.2 สนับสนุนพื้นที่การจอดเก็บอากาสยานดังกล่าวไว้ที่ท่าอากาศยานที่จอดอยู่ในปัจจุบันจนกว่าจะส่งมอบให้กับผู้ซื้อ
ประเด็นที่ 3 อากาศยานที่ บกท. มีแผนดำเนินการขายและเช่ากลับ
โดยขอความอนุเคราะห์กระทรวงคมนาคมพิจารณาอนุญาตให้ บกท. โอนอากาศยานจำนวน 4 ลำ ให้กับผู้ซื้อและอนุญาตให้ บกท. เช่าอากาศยานดังกล่าวกลับมาใช้งานต่อไปโดยเร็ว
@ขอรัฐสนับสนุน‘คงสิทธิ’เส้นทางการบิน-Time Slot
การขอรับการสนับสนุนในการคงสิทธิเส้นทาง และเวลาเข้า-ออกของเที่ยวบิน (Time Slot) ตามที่ได้รับการจัดสรรในปัจจุบันครอบคลุมตลอดระยะเวลาตามแผนฟื้นฟูกิจการของ กบท. ซึ่งประกอบด้วย 2 ประเด็น
ประเด็นที่ 1 การขอคงสิทธิการบินในเส้นทางบินที่ได้รับอนุญาตจัดสรรจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) โดยขอให้ กพท. อนุญาตให้สายการบินหยุดทำการบินเป็นการชั่วคราว รวมทั้งคงสิทธิในทุกเส้นทางที่สายการบินได้รับการจัดสรรในปี 2562 ตามที่สายการบินเสนอขอ
ประเด็นที่ 2 การคงสิทธิเวลาเข้า-ออกของเที่ยวบิน (Time Slot) โดย ขอให้ กพท. พิจารณามาตรการด้านการจัดสรรเวลาเข้า - ออกของเที่ยวบิน (Time Slot) ณ ท่าอากาศยานในประเทศไทยให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19
การขอรับการสนับสนุนด้านการเงินตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยขอความอนุเคราะห์กระทรวงการคลังพิจารณาแนวทางตามที่ บกท. ได้นำเสนอ
อย่างไรก็ดี ล่าสุด บกท. ระบุว่า บกท. จะเร่งรัดจัดหาแหล่งเงินทุนในรูปแบบสินเชื่อ Syndicated Loan จากสถาบันการเงินต่างๆ ในวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะใช้ 5 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะลงนามสัญญาสินเชื่อใหม่ได้ภายในเดือน มี.ค. 2565 นี้
รวมทั้งจะมีการจัดทำร่างแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ โดยปรับปรุงสาระสำคัญ เรื่อง โครงสร้างสินเชื่อใหม่ ‘ที่ไม่ก่อภาระต่อภาครัฐ’ ในการสนับสนุน และการปรับโครงสร้างทุน ซึ่งจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกได้เร็วขึ้น โดย บกท. จะยื่นการแก้ไขแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายในเดือน มี.ค.นี้
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ครม. มีมติรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหา กบท. และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับ บกท. เร่งพิจารณาประเด็นการขอรับการสนับสนุนการดำเนินการและฟื้นฟูกิจการของ บกท. ภายใต้กฎหมายและขอบเขตอำนาจของแต่ละหน่วยงาน ตลอดจนกฎ ระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้อง
เหล่านี้เป็นความคืบหน้าล่าสุดของการฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บกท. และยังต้องติดตามต่อไปว่า ข้อเรียกร้องทั้ง 7 ประเด็นของ กบท. ที่ร้องขอให้หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะ ทอท. ให้การสนับสนุน จะได้รับการตอบสนองหรือไม่ อย่างไร!
อ่านประกอบ :
'การบินไทย' ลดกู้ 'เงินใหม่' เหลือ 2.5 หมื่นล้าน-'ครม.' รับทราบความคืบหน้าแผนฟื้นฟูฯ
ไม่ผิดนัด!‘การบินไทย’ แจ้งคืนหนี้'เงินต้น-ดบ.' 1.29 พันล้าน-โละทรัพย์สินอีก 4 รายการ
‘บิ๊กตู่’สั่ง‘คมนาคม’ถกอุ้ม ‘การบินไทย’-‘ศักดิ์สยาม’ชี้ไม่เป็น‘รสก.’ ขอเงินรัฐไม่ได้
'ปิยสวัสดิ์’ หวังรัฐแปลงหนี้ฯ-ซื้อหุ้นเพิ่มทุน‘การบินไทย’-เผย 9 เดือน กำไร 5.1 หมื่นล.
‘บิ๊กตู่’ยัน‘การบินไทย’เป็น'สายการบินแห่งชาติ'ตลอดไป-ชี้แผนฟื้นฟูฯคืบหน้าในเกณฑ์ดี
‘การบินไทย’เจรจาแบงก์ขอสินเชื่อใหม่ 2.5 หมื่นล้าน-ลั่นไม่กลับเป็น‘รัฐวิสาหกิจ’แล้ว
'ทอท.' ยกข้อสัญญาไม่อนุญาต ‘การบินไทย’ นำเครื่องบินลูกค้าเข้า ‘ศูนย์ซ่อมฯดอนเมือง’
ลดค่าใช้จ่าย! ‘การบินไทย’ เร่งคืนพื้นที่ ‘ศูนย์ซ่อมฯดอนเมือง’ บางส่วน ให้ 'ทอท.'
ปิดฉาก ‘ศูนย์ซ่อมฯอู่ตะเภา’ ผุด MRO ใหม่ 8.3 พันล. ‘ทัพเรือ’ สร้าง ‘การบินไทย’ เช่า