"...ส่งผลให้ ทอท. ประสบปัญหาขาด ‘สภาพคล่อง’ จนต้องเสนอที่ประชุม ครม. ขออนุมัติกู้เงินเพิ่มเสริม ‘สภาพคล่อง’ เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี เป็นเงิน 20,700 ล้านบาท ภายใต้แผนการก่อหนี้ใหม่ ปีงบ 2565 ที่กระทรวงการคลัง เสนอ ครม.อนุมัติเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2564 ที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็น ‘เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไป...’
...............................
เป็นครั้งที่ 2 ในห้วงเวลาไม่ถึง 2 ปี
ที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. รัฐวิสาหกิจที่มี กระทรวงการคลัง ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 70% แต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กระทรวงคมนาคม ได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบิน ณ ท่าอากาศยาน ของ ทอท. ทั้ง 6 แห่ง ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ก่อนหน้านี้ บอร์ด ทอท. มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ‘รอบแรก’ ผ่านมติบอร์ด ทอท. รวม 5 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ก.พ.2563 และครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2563 (อ่านประกอบ : พิจารณาอย่างรอบคอบ! ทอท.แจงทุกมาตรการช่วยเหลือ ‘คิงเพาเวอร์-ร้านค้า-สายการบิน’)
ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พ.ย.2564 บอร์ด ทอท. มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบิน ‘รอบที่สอง’ โดยมีมติเห็นชอบมาตรการเพื่อพยุงสถานะทางธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการ อันส่งผลต่อความต่อเนื่องทางธุรกิจของ ทอท. สำหรับการเปิดประเทศ จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19
สาระหลักของมาตรการให้ความช่วยเหลือฯในครั้งนี้ ประกอบด้วย
1.การปรับลดค่าผลประโยชน์ตอบแทนอัตราร้อยละ และมีการกำหนดค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือนหรือรายปี ให้เรียกเก็บเฉพาะค่าผลประโยชน์ตอบแทนอัตราร้อยละ โดยยกเว้นการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือนหรือรายปี จากเดิมสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 เป็นสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566
2.ขยายระยะเวลาการอนุญาตประกอบกิจการให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. ออกไปอีก 1 ปี นับจากวันสิ้นสุดการให้สิทธิประกอบกิจการเดิม โดยไม่ต้องวางหลักประกันสัญญาเพิ่มเติม
“สายการบินและผู้ประกอบการมีความประสงค์ขอให้ ทอท.ขยายระยะเวลาของมาตรการช่วยเหลือ รวมถึงการขยายอายุสัญญาต่างๆ ออกไปอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่สายการบินและผู้ประกอบการยังไม่มีความมั่นใจในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินและยังมีรายจ่ายในการกลับมาเพื่อประกอบกิจการอีกจำนวนมาก
โดยตามการคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) พบว่า จำนวนผู้โดยสารทางอากาศรวมทั่วโลกในปี 2565 จะยังคงต่ำกว่าปี 2562 และจะยังคงไม่ฟื้นคืนเท่าระดับปกติจนถึงปี 2566
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการซึ่งเป็นห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของธุรกิจการบินและท่าอากาศยานให้ยังคงสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้
ที่ประชุมจึงมีมติอนุมัติมาตรการเพื่อพยุงสถานะทางธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการ ณ ท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบดำเนินงานของ ทอท.ทั้ง 6 แห่ง” ทอท.แจ้งตลาดทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2564 (อ่านประกอบ : ‘ทอท.’อุ้ม‘คิงเพาเวอร์-ร้านค้า’ยกเว้นจ่าย'ผลตอบแทนขั้นต่ำ'ถึงมี.ค.66-ขยายสัญญาอีก 1 ปี)
@ขยายอายุสัญญา ‘ดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์’ รวมแล้ว 2 ปี
แม้ว่ามาตรการช่วยเหลือฯของ ทอท.ดังกล่าว จะพุ่งเป้าหมายไปที่การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบิน ณ ท่าอากาศยาน ทั้ง 6 แห่งของ ทอท. ซึ่งมีจำนวนกว่า 1,000 สัญญา เพื่อรองรับการ ‘เปิดประเทศ’
แต่ทว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า มาตรการของ ทอท.ดังกล่าว เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับ ‘กลุ่มทุนรายใหญ่’ หรือไม่
โดยเฉพาะ ‘กลุ่มคิงเพาเวอร์’ ซึ่งปัจจุบันได้รับสิทธิในการประกอบกิจการฯในพื้นที่อาคารสนามบินของ ทอท. รวมทั้งสิ้น 4 สัญญา ประกอบด้วย
1.การให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมี บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด เป็นคู่สัญญา (สัญญาเดิมอายุสัญญา 10 ปี 6 เดือน ระหว่างวันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2574 ซึ่ง บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ตกลงจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ปีแรก 15,419 ล้านบาท)
2.การให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ โดยมี บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด เป็นคู่สัญญา (สัญญาเดิม อายุสัญญา 10 ปี 6 เดือน ระหว่างวันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2574 ซึ่งบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ตกลงจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ปีแรก 2,331 ล้านบาท)
3.การให้สิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมี บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด เป็นคู่สัญญา (สัญญาเดิม อายุสัญญา 10 ปี 6 เดือน ระหว่างวันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2574 ซึ่ง บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ตกลงจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ปีแรก 5,798 ล้านบาท)
4.การให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) โดยมี บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด เป็นคู่สัญญา (สัญญาเดิม อายุสัญญา 10 ปี 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 31 มีนาคม 2576 ซึ่งบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ตกลงจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ปีแรก 1,500 ล้านบาท)
ทั้งนี้ เนื่องจากภายใต้มาตรการช่วยเหลือฯใน ‘รอบแรก’ นั้น
‘กลุ่มคิงเพาเวอร์’ ได้รับยกเว้นการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ (Minimum Guarantee) และเปลี่ยนไปใช้วิธีเรียกเก็บผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร (Sharing per Head) ไปถึงวันที่ 30 มี.ค.2565 สำหรับสัญญา 3 ฉบับ ได้แก่
ฉบับแรก การให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ,ฉบับที่สอง การให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ และฉบับที่สาม การให้สิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ขณะเดียวกัน ทอท.ยังขยายขยายระยะเวลาสิ้นสุดของการประกอบกิจการของสัญญาฯทั้ง 3 ฉบับ ที่ออกไปอีก 1 ปี หรือจากเดิมที่สิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2574 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2575 (อ่านประกอบ : ‘ดิวตี้ฟรี’แสนล้าน สมบัติใคร บอร์ด ทอท.อ้างมติครม.-ลัดขั้นตอนอุ้ม ‘คิงเพาเวอร์’?)
ส่วนมาตรการช่วยเหลือฯใน ‘รอบสอง’ นั้น
‘กลุ่มคิงเพาเวอร์’ จะได้รับสิทธิยกเว้นการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือนหรือรายปี และให้เรียกเก็บเฉพาะค่าผลประโยชน์ตอบแทนอัตราร้อยละ หรือ Sharing per Head จากเดิมสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 เป็นสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 สำหรับสัญญาทั้ง 4 ฉบับที่มีอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ สัญญาทั้ง 4 ฉบับ ที่ ‘กลุ่มคิงเพาเวอร์’ มีอยู่นั้น ยังได้รับการขยายอายุสัญญาออกไปอีก 1 ปี นับจากจากวันสิ้นสุดการให้สิทธิประกอบกิจการเดิม
นั่นเท่ากับว่า
1.สัญญาการให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะได้รับการขยายอายุสัญญาไปเป็นสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2576
2.สัญญาการให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ จะได้รับการขยายอายุสัญญาไปเป็นสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2576
3.สัญญาการให้สิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะได้รับการขยายอายุสัญญาไปเป็นสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2576
4.สัญญาการให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) จะได้รับการขยายอายุสัญญาไปเป็นสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2577
@ทำผิดขั้นตอนไม่เสนอครม.-เอื้อกลุ่มทุน ‘กลุ่มคิงเพาเวอร์’ หรือไม่
“มติบอร์ด ทอท. ที่เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการฯในสนามบิน ทอท. ดังกล่าว เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางกลุ่มหรือไม่” ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ให้ความเห็นกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
ชาญชัย ยังระบุว่า การที่ ทอท.เคยอ้างว่า มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการฯที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าจำนวนกว่า 1,000 สัญญา นั้น แต่หากไปตรวจสอบข้อเท็จจริงจะพบว่าผู้ที่ได้ประโยชน์โดยตรง คือ กลุ่มคิงเพาเวอร์ เพราะร้านค้าส่วนใหญ่จะทำสัญญา ‘เช่าช่วง’ พื้นที่สัมปทานของกลุ่มคิงเพาเวอร์
(ชาญชัย อิสระเสนารักษ์)
ชาญชัย ตั้งคำถามว่า กรณีบอร์ด ทอท. มีเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการฯ ‘รอบสอง’ โดยไม่มีการเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เห็นชอบก่อน รวมถึงกรณีที่จะมีการแก้ไขสัญญาโดยขยายอายุสัญญาให้เอกชนอีก 1 ปี นั้น เป็นการทำผิดกฎหมายหรือไม่ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560
“ถ้าจะมีการแก้ไขสัญญาไม่ว่ากรณีใดๆ จะต้องให้อัยการตรวจสอบก่อน และตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ถ้าจะมีการแก้สัญญาอะไร จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการฯมาประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อน แต่เมื่อไม่ทำอะไรเลย อย่างนี้ถือว่าเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อรัฐและผู้ถือหุ้น” ชาญชัย ระบุ
ชาญชัย เสนอว่า ในการเยียวยาเอกชนนั้น ทอท.จะต้องไม่ทำให้รัฐเสียประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว เช่น ทอท.อาจใช้วิธีให้เอกชน 'เลื่อน' เวลาการจ่ายผลตอบแทนออกไปก่อน เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติและเอกชนกลับมามีกำไร ก็ให้เอกชนทยอยแบ่งจ่ายผลประโยชน์ที่ค้างอยู่เข้ารัฐ จะแบ่งจ่ายกี่ปีก็ว่ากันไป
ก่อนหน้านี้ ชาญชัย ได้ยื่นฟ้อง ประสงค์ พูนธเนศ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะอดีตประธานกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กับพวก ต่อ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
โดยกล่าวหาว่า ประสงค์และพวก เป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ,เป็นกรรมการหรือผู้บริหารไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริตจนเป็นเหตุให้บริษัทเสียหาย
กรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานพื้นที่ร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) และพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบิน ทอท. รวม 5 ฉบับ ซึ่งสร้างความเสียหายกว่า 4.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งศาลฯประทับรับฟ้องคดีนี้แล้วและนัดไต่สวนฯนัดแรกในวันที่ 14 ม.ค.2565 (อ่านประกอบ : ศาลคดีทุจริตฯนัดไต่สวนฯคดี ‘อดีตปธ.บอร์ด ทอท.-พวก’ แก้สัญญาดิวตี้ฟรี นัดแรก 14 ม.ค.65)
(ที่มา : ชาญชัย อิสระเสนารักษ์)
@เปิดแผนบริหารหนี้ฯ ‘ทอท.’ ขอกู้ 2.07 หมื่นล.เพิ่มสภาพคล่อง
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มนับตั้งแต่ปลายปี 2562 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ประกอบกับการประกาศใช้มาตรการ ‘ล็อกดาวน์’ ของรัฐบาลในช่วง 2 เวลา (ครั้งแรก เม.ย.2563-ก.ย.2563 และครั้งที่ 2 ก.ค.2564-พ.ย.2564) ส่งผลกระทบต่อรายได้และฐานะการเงินของ ทอท. อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยปีงบ 2563 (1 ต.ค.62-30 ก.ย.63) ทอท.มีกำไรสุทธิลดลงเหลือ 4,320.68 ล้านบาท เทียบกับปีงบ 2562 (1 ต.ค.61-30 ก.ย.62) ที่ ทอท.มีกำไรสุทธิ 25,026.37 ล้านบาท ขณะที่ล่าสุดในปีงบ 2564 (1 ต.ค.63-30 ก.ย.64) ทอท.มีผลขาดทุนสุทธิ 16,322.01 ล้านบาท
ที่สำคัญผลกระทบจากโควิด-19 และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบินต่างๆ โดยเฉพาะการยกเว้นการเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ (Minimum Guarantee) และเปลี่ยนไปใช้วิธีเรียกเก็บผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร สำหรับสัมปทานร้านค้าดิวตี้ฟรีและสัมปทานพื้นที่เชิงพาณิชย์ นั้น
ส่งผลให้ ทอท. ประสบปัญหาขาด ‘สภาพคล่อง’
จนต้องเสนอที่ประชุม ครม. ขออนุมัติกู้เงินเพิ่มเสริม ‘สภาพคล่อง’ เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี เป็นเงิน 20,700 ล้านบาท ภายใต้แผนการก่อหนี้ใหม่ ปีงบ 2565 ที่กระทรวงการคลัง เสนอ ครม.อนุมัติเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2564 ที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็น ‘เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไป...’
“อย่างนี้เท่ากับว่า ทอท.ยอมเจ๊งแทนเอกชนใช่หรือไม่” ชาญชัย ตั้งข้อสังเกต พร้อมทั้งระบุว่า “ตอนที่ ทอท.อนุมัติมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบิน ซึ่งรวมถึงกลุ่มคิงเพาเวอร์นั้น ทอท.ไม่ได้เสนอให้ ครม. อนุมัติก่อน แต่ที มาขอกู้เงินเพื่อนำไปเพิ่มเสริมสภาพคล่อง 2 หมื่นล้านบาท กลับทำเรื่องมาขอครม.อนุมัติก่อน”
(ที่มา : แผนก่อหนี้ใหม่ ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบ 2565 ที่ ครม.อนุมัติเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2564)
@ชี้เยียวยา ‘ดิวตี้ฟรี’ เป็นเรื่อง 'ทอท.' ไม่เกี่ยวทุนสนับสนุนพรรค
ขณะที่ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในฐานะกำกับดูแล ทอท. กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา โดยยืนยันว่า ตนเองไม่ได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรี เพื่อดูผลประโยชน์ร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ให้กับใคร และเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้สนามบินไม่มีผู้โดยสาร ทอท.ก็ต้องมีมาตรการเยียวยากันไป
“เรื่องร้านค้าปลอดภาษี มีการประมูลกันมาก่อนที่ผมจะมาเป็น รมต. แล้วคนชนะประมูล ถ้าภาษามวยก็ต้องบอกว่าชนะขาดรอย และผมเองไม่มีหน้าที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงอะไร ขณะที่ ทอท.เขาเป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัดมหาชน เขาจะทำอะไรต้องมีหลักในเรื่องการอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เขาไม่สามารถจะไปบิดอะไรได้ เมื่อ (เอกชน) ชนะแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตาม TOR ที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ
และผมว่าวันนี้ไม่รู้ว่าเป็นสุขลาภหรือทุกข์ลาภ เจอโควิดเข้าไป ผมไปตรวจสอบสนามบิน ปิดหมดเลย อันนี้ก็ว่ากันไป มาตรการเยียวยาก็ว่ากันไป
มันไม่เกี่ยวกับว่าเป็นกลุ่มทุนที่สนับสนุนพรรคหรือไม่ หรือไม่สนับสนุนพรรค เพราะผมเชื่อว่าในเรื่องของการทำพรรคการเมือง เราต้องเข้มแข็งด้วยนโยบาย” ศักดิ์สยาม กล่าว เมื่อถูกถามว่า การเข้ามาเป็นรมว.คมนาคม เพื่อดูแลผลประโยชน์ร้านค้าปลอดภาษีใน ทอท. ซึ่งเป็นของกลุ่มทุนที่มีความสัมพันธ์ในแง่เป็นผู้สนับสนุนพรรคภูมิใจไทยหรือไม่
(ศักดิ์สยาม ชิดชอบ)
เหล่านี้มาเป็นมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ และสายการบิน ซึ่งรวมถึง ‘กลุ่มคิงเพาเวอร์’ ที่ได้รับสัมปทานร้านค้าดิวตี้ฟรีและสัมปทานการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ ของ ทอท. รอบล่าสุด ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า 'ทอท.' ดำเนินการตามขั้นตอนระเบียบกฎหมายหรือไม่
อีกทั้งยังมีการตั้งคำถามว่าเป็นการ ‘เอื้อประโยชน์’ ให้เอกชนบางกลุ่มหรือไม่?
อ่านประกอบ :
ทอท.’อุ้ม‘คิงเพาเวอร์-ร้านค้า’ยกเว้นจ่าย'ผลตอบแทนขั้นต่ำ'ถึงมี.ค.66-ขยายสัญญาอีก 1 ปี
ศาลคดีทุจริตฯนัดไต่สวนฯคดี ‘อดีตปธ.บอร์ด ทอท.-พวก’ แก้สัญญาดิวตี้ฟรี นัดแรก 14 ม.ค.65
เก็บเรื่องไว้ 2 ปี! ทอท.ไม่แจ้งผลสอบ ‘จนท.’ เอื้อดิวตี้ฟรี 'คิงพาวเวอร์'-'คลัง'ลอยตัว
ศาลอาญาคดีทุจริตฯ รับฟ้องคดี 'บอร์ด ทอท.' แก้สัมปทานดิวตี้ฟรีมิชอบ-นัดไต่สวนฯ 4 ต.ค.
เหตุพ้นรัฐวิสาหกิจ! ครม.ยกเลิกสิทธิ ‘การบินไทย’ ประกอบกิจการ 'ดิวตี้ฟรี' ดอนเมือง
ยื่นหนังสือทวงนายกฯ! ลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐร่วมทุจริต ‘ดิวตี้ฟรี-บริหารพื้นที่พาณิชย์’
บรรยายไม่ชัด-ชี้ช่องหลักฐานไม่พอ! 'ศาลคดีทุจริตฯ’สั่งแก้ฟ้องคดีสัมปทาน‘คิงเพาเวอร์’
เลี่ยงกม.ร่วมทุนฯ! ย้อนคำวินิจฉัย ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ปมขยายสัมปทาน ‘คิงเพาเวอร์’
ขยายผล! ‘ชาญชัย’ ยื่น ‘นายกฯ-ป.ป.ช.’ สอบจนท.รัฐ เอื้อประมูล ‘ดิวตี้ฟรี’-บริหารสัญญามิชอบ
เปิด 5 ข้อเท็จจริง! จากคำพิพากษาศาลฎีกาฯ กรณีดิวตี้ฟรี 'คิงเพาเวอร์-ทอท.'
ศาลฎีกายกฟ้อง! ‘ชาญชัย’ หมิ่นประมาท ‘คิง เพาเวอร์’ ชี้ 'สุจริต-ติชมด้วยความเป็นธรรม'
ฟ้องศาลทุจริตฯ!ทอท.แก้สัมปทาน ‘ดิวตี้ฟรี-พื้นที่พาณิชย์’ มิชอบ-เสียหาย 3.2 หมื่นล.
ทอท.แจง ‘อิศรา’! สัมปทาน ‘ดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์’ ไม่เข่าข่ายพ.ร.บ.วินัยการเงินฯ
ชำแหละปมใช้พ.ร.บ.วินัยการเงินฯ ‘สองมาตรฐาน’? แก้สัญญาดิวตี้ฟรี-เขย่าต่อสัมปทานสายสีเขียว
‘ดิวตี้ฟรี’แสนล้าน สมบัติใคร บอร์ด ทอท.อ้างมติครม.-ลัดขั้นตอนอุ้ม ‘คิงเพาเวอร์’?
เปิดสัญญา‘เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์’ สุวรรณภูมิ จ่ายขั้นต่ำ5.7พันล./ปี ก่อน ทอท.อุ้ม ‘คิงเพาเวอร์’
เปิดสัญญา ‘ดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ’ ก่อนบอร์ด ทอท.มีมติเยียวยา ‘คิงเพาเวอร์’
ยกเหตุสร้างอาคารล่าช้า! บอร์ดทอท.เลื่อนนับหนึ่งอายุสัญญา ‘ดิวตี้ฟรี’ สุวรรณภูมิ’ เป็นเม.ย.65
ไขปมโต๊ะจีน ‘พปชร’ หนุน ‘คิงเพาเวอร์’ กวาดสัมปทานดิวตี้ฟรี 6 สนามบินจริงหรือ ?
ให้ผลตอบแทนรวมปีแรก2.3 หมื่นล! ทอท. แจ้ง ตลท. 'คิงเพาเวอร์' กวาดเรียบ 3 ส.'ดิวตี้ฟรี-พาณิชย์'
'ชาญชัย'อ่วมคุก16เดือน! ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคดีหมิ่นคิงเพาเวอร์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/