"...จึงน่าเชื่อว่าพฤติกรรมดังกล่าวของคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในช่วงปี 2547-2548 มีเจตนาที่จะทำให้การศึกษามูลค่าการลงทุนทั้ง 2 โครงการมีมูลค่าไม่เกิน 1,000 ล้านบาท เพื่อหลีกเสี่ยงไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535…”
....................
นับเป็นคำพิพากษาล่าสุด
กรณีสัมปทานโครงการอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) และสัมปทานการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ภายในสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินภูมิภาค ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และเอกชนคู่สัญญา คือ กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ ผู้รับสัมปทาน
เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 4101-4102/2563 และปรากฎข้อเท็จจริง 5 ประเด็น เกี่ยวกับได้มาซึ่งสัมปทานดังกล่าว ในช่วงปี 2547-2548 และการบริหารสัญญาสัมปทานระหว่างปี 2548-2563 ที่อาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (อ่านประกอบ : เปิด 5 ข้อเท็จจริง! จากคำพิพากษาศาลฎีกาฯ กรณีดิวตี้ฟรี 'คิงเพาเวอร์-ทอท.')
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่า เมื่อวันที่ 17 ต.ค.2561 ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีคำวินิจฉัยกรณี ทอท.มีมติเมื่อปี 2552 และ2553 ขยายสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีและการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ให้กับกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ 2 ครั้ง รวม 4 ปี หรือจากเดิมที่สิ้นสุดเดือน ก.ย.2559 เป็นสิ้นสุดเดือน ก.ย.2563
ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยว่า การที่ ทอท. ขยายอายุสัมปทานให้กับกลุ่มคิงเพาเวอร์นั้น เป็นการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามขั้นตอน พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535
เข้าข่ายเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต ซึ่งมาตรา 36 (3) แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 ซึ่งบัญญัติให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) พิจารณา
ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช. ให้พิจารณาดำเนินการอีกครั้ง
แม้ว่าก่อนหน้านั้น คือ ในเดือน ต.ค.2554 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติ 5 ต่อ 4 เสียง ว่า สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรมว.คมนาคม ,บอร์ด ทอท. และคณะทำงานพิจารณาต่ออายุสัมปทานฯ ‘ไม่มีความผิด’ ในการต่อสัมปทานดิวตี้ฟรีและการจัดการพื้นเชิงพาณิชย์ เพราะถือว่าไม่เป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายร่วมทุน และไม่เป็นการกีดกันคู่ค้ารายอื่น
แต่ผ่านมาแล้วเกือบ 2 ปี 6 เดือน ป.ป.ช.ยังไม่มีมติใดๆออกมา
กระทั่งล่าสุด ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สปท. เตรียมยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. เอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งสัมปทานดิวตี้ฟรีโดยมิชอบ (อ่านประกอบ : ขยายผล! ‘ชาญชัย’ ยื่น ‘นายกฯ-ป.ป.ช.’ สอบจนท.รัฐ เอื้อประมูล ‘ดิวตี้ฟรี’-บริหารสัญญามิชอบ)
สำนักข่าวอิศรา จึงขอสรุปสาระสำคัญของคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีการขยายสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี และการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ระหว่างทอท.และกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
@ที่มาการขยายอายุสัมปทานดิวตี้ฟรี
เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2552 ที่ประชุมบอร์ดทอท.ครั้งที่ 4/2552 มีมติอนุมัติมาตรการช่วยเหลือสายการบินและผู้ประกอบการ ‘ทุกสัญญา’ ที่สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ทั้งนี้ บอร์ดทอท.อนุมัติขยายอายุสัญญาสัมปทานของกลุ่มคิงเพาเวอร์ 2 ปี จากเดิมที่ครบกำหนดในวันที่ 27 ก.ย.2559 เป็นครบกำหนดในวันที่ 27 ก.ย.2561
ต่อมาวันที่ 2 มิ.ย.2553 ที่ประชุมบอร์ดทอท.ครั้งที่ 6/2553 มีมติอนุมัติมาตรการช่วยเหลือสายการบินและผู้ประกอบการอีกครั้ง โดยในส่วนของสัมปทานของกลุ่มคิงเพาเวอร์นั้น บอร์ดทอท. มีมติอนุมัติขยายอายุสัญญาสัมปทานอีก 2 ปี จากเดิมที่ครบกำหนดในวันที่ 27 ก.ย.2561 เป็นครบกำหนดในวันที่ 27 ก.ย.2563
ทั้งนี้ การดำเนินการของบอร์ดทอท.ดังกล่าว เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2552 ซึ่งครม.อนุมัติในหลักการมาตรการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูวิกฤตการท่องเที่ยว ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ และมติครม.เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2552 ที่เห็นควรให้เร่งรัดการดำเนินการตามมติครม.เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2552
@ผู้ตรวจการฯชี้ต่ออายุสัมปทานเลี่ยงกม.ร่วมทุนฯ
สำหรับกรณี ‘โครงการร้านค้าดิวตี้ฟรี’ และ ‘โครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์’ ที่มีการต่ออายุสัญญาออกไป โดย ทอท. ว่าจ้างสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์สินเอเชีย จำกัด ทำการศึกษามูลค่าการลงทุนทั้ง 2 โครงการ
แล้วสรุปว่ามีมูลค่าลงทุนไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ทำให้การขยายอายุสัญญาไม่ต้องดำเนินการตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมทุนฯ ปี 2535 นั้น
ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ทำการศึกษาข้อมูลและความเป็นไปของมูลค่าการลงทุนทั้ง 2 โครงการ โดยใช้พื้นที่ใช้สอยจริงจากผลสำรวจของ ทอท. ตั้งแต่ปี 2549-2556 พบว่า
1.โครงการดิวตี้ฟรี ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยเฉลี่ย 11,250.28 ตารางเมตรนั้น มูลค่าลงทุนรวมจะอยู่ที่ 1,570.22 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินลงทุนส่วนของรัฐ 911.34 ล้านบาท ,ค่าเช่าที่ดิน 2.36 แสนบาท ,ค่าตกแตกร้าน 325 ล้านบาท ,ค่าลงทุนระบบคอมพิวเตอร์ 50 ล้านบาท และค่าลงทุนซื้อสินค้าชุดแรกเพื่อนำมาจำหน่ายในปีในปีแรก 3,403.69 ล้านบาท
2.โครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยเฉลี่ย 22,496.96 ตารางเมตรนั้น มูลค่าลงทุนรวมจะอยู่ที่ 2,367.99 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินลงทุนส่วนของรัฐ 1,822.07 ล้านบาท ,ค่าตกแตกร้าน 324.96 ล้านบาท ,ค่าลงทุนระบบคอมพิวเตอร์ 60 ล้านบาท และค่าลงทุนซื้อสินค้าชุดแรกเพื่อนำมาจำหน่ายในปีในปีแรก 160.95 ล้านบาท
แต่ข้อเท็จจริงพบว่า การคำนวณพื้นที่ใช้สอยทั้ง 2 โครงการ ตัวเลขพื้นที่ใช้สอยที่นำมาคำนวณ คือ 5,000 ตารางเมตร และ 20,000 ตารางเมตร แต่พบว่ามีการใช้พื้นที่เฉลี่ยจริง 11,250.28 ตารางเมตร และ 22,496.96 ตารางเมตร ตามลำดับ และมีการคำนวณมูลค่าการลงทุนสำหรับสินค้าเพียง 1 เดือน เป็นต้น
ผู้ตรวจการแผ่นดินสรุปว่า “หากเห็นว่ามูลค่าการลงทุนของโครงการมีวงเงินหรือทรัพย์สินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท การทำสัญญาเกี่ยวกับโครงการนั้น ก็จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป โดยคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและความเสียที่อาจเกิดขึ้นด้วย
แต่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ก็ยังคงบริหารสัญญาทั้งสองต่อไป โดยยืนยันตามผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาว่า มูลค่าการลงทุนไม่เกินกว่า 1,000 ล้านบาท พร้อมกับทำการขยายอายุสัญญาต่อไป
จึงน่าเชื่อว่าพฤติกรรมดังกล่าวของคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในช่วงปี 2547-2548 มีเจตนาที่จะทำให้การศึกษามูลค่าการลงทุนทั้ง 2 โครงการมีมูลค่าไม่เกิน 1,000 ล้านบาท เพื่อหลีกเสี่ยงไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535…”
เหล่านี้เป็นคำวินิจฉัยของ ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ กรณีการขยายอายุสัมปทานดิวตี้ฟรีและบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในสนามบินของ ทอท. ก่อนที่ต่อมาจะปรากฎข้อเท็จจริงในคำพิพากษาศาลฎีกาฯว่า โครงการมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ขณะที่เอกชนคู่สัญญาก็ยอมรับว่าโครงการมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท
จึงต้องติดตามว่า ป.ป.ช.จะมีมติออกมาอย่างไร!
อ่านประกอบ :
ขยายผล! ‘ชาญชัย’ ยื่น ‘นายกฯ-ป.ป.ช.’ สอบจนท.รัฐ เอื้อประมูล ‘ดิวตี้ฟรี’-บริหารสัญญามิชอบ
เปิด 5 ข้อเท็จจริง! จากคำพิพากษาศาลฎีกาฯ กรณีดิวตี้ฟรี 'คิงเพาเวอร์-ทอท.'
ศาลฎีกายกฟ้อง! ‘ชาญชัย’ หมิ่นประมาท ‘คิง เพาเวอร์’ ชี้ 'สุจริต-ติชมด้วยความเป็นธรรม'
ฟ้องศาลทุจริตฯ!ทอท.แก้สัมปทาน ‘ดิวตี้ฟรี-พื้นที่พาณิชย์’ มิชอบ-เสียหาย 3.2 หมื่นล.
ทอท.แจง ‘อิศรา’! สัมปทาน ‘ดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์’ ไม่เข่าข่ายพ.ร.บ.วินัยการเงินฯ
ชำแหละปมใช้พ.ร.บ.วินัยการเงินฯ ‘สองมาตรฐาน’? แก้สัญญาดิวตี้ฟรี-เขย่าต่อสัมปทานสายสีเขียว
‘ดิวตี้ฟรี’แสนล้าน สมบัติใคร บอร์ด ทอท.อ้างมติครม.-ลัดขั้นตอนอุ้ม ‘คิงเพาเวอร์’?
เปิดสัญญา‘เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์’ สุวรรณภูมิ จ่ายขั้นต่ำ5.7พันล./ปี ก่อน ทอท.อุ้ม ‘คิงเพาเวอร์’
เปิดสัญญา ‘ดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ’ ก่อนบอร์ด ทอท.มีมติเยียวยา ‘คิงเพาเวอร์’
ยกเหตุสร้างอาคารล่าช้า! บอร์ดทอท.เลื่อนนับหนึ่งอายุสัญญา ‘ดิวตี้ฟรี’ สุวรรณภูมิ’ เป็นเม.ย.65
ไขปมโต๊ะจีน ‘พปชร’ หนุน ‘คิงเพาเวอร์’ กวาดสัมปทานดิวตี้ฟรี 6 สนามบินจริงหรือ ?
ให้ผลตอบแทนรวมปีแรก2.3 หมื่นล! ทอท. แจ้ง ตลท. 'คิงเพาเวอร์' กวาดเรียบ 3 ส.'ดิวตี้ฟรี-พาณิชย์'
'ชาญชัย'อ่วมคุก16เดือน! ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคดีหมิ่นคิงเพาเวอร์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/