“….โดยเฉพาะในส่วนของการช่วยเหลือช่วยเหลือผู้ประกอบการกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) และบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ทสภ. นั้น ทอท.และกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมฯ เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ตามคำสั่ง ทอท. ที่ 1306/2563 ลงวันที่ 9 ก.ค.2563…”
แม้ว่าคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่มี ประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานฯ จะมีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ และสายการบิน ณ ท่าอากาศยาน ของ ทอท. ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งการปรับลดค่าประโยชน์ตอบแทน และลดค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นต้น รอเพียงการแก้ไขเอกสารสัญญาที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
โดยเฉพาะในกรณีการให้ความช่วยเหลือ กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.), ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.), ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) และบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ทสภ. นั้น
บอร์ดทอท. มีมติเมื่อวันที่ 29 ก.ค.2563 อนุมัติให้เลื่อนเวลาการเข้าปรับปรุงตกแต่งพื้นที่ของกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ออกไปอีก 1 ปี พร้อมทั้งขยายระยะเวลาสิ้นสุดของการประกอบกิจการออกไปอีก 1 ปี จากวันที่ 31 มี.ค.2574 เป็นวันที่ 31 มี.ค.2575 จากสัญญาในปัจจุบันที่เริ่มต้นสัญญาตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2574
พร้อมกันนั้น ทอท.ได้ปรับวิธีการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2565 โดยใช้ผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร (Sharing per Head) แต่ยังเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละเหมือนเดิม (อ่านประกอบ : พิจารณาอย่างรอบคอบ! ทอท.แจงทุกมาตรการช่วยเหลือ ‘คิงเพาเวอร์-ร้านค้า-สายการบิน’)
“แนวทางให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการดังกล่าวข้างต้น หากเป็นผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการหรือถูกกำกับดูแลตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ให้ ทอท. พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ทั้งนี้ แนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการดังกล่าว อ้างอิงแนวทางจากช่วยเหลือสายการบินและผู้ประกอบการ 2553 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการมืองภายในประเทศ ซึ่งทอท.ได้ดำเนินการตามมติ ครม.เมื่อ 21 เม.ย.2552 ที่อนุมัติหลักการมาตรการเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูวิกฤตการท่องเที่ยวตามที่กระทวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอ
และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552 ที่เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวซ้องเร่งรัดการดำเนินการต่างๆ ตามมาตรการดังกล่าว ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2552” เอกสารรายงานการประชุมบอร์ด ทอท. เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2563 ระบุ
(ที่มา : เอกสารรายงานการประชุมบอร์ด ทอท. เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2563)
แต่ก็มีประเด็นคำถามว่า การช่วยเหลือผู้ประกอบการ ณ ท่าอากาศยาน ของ ทอท. ดังกล่าวนั้น เป็นไปตามหลักการเดิมที่เคยปฏิบัติมาในอดีตหรือไม่ หรือเป็นการช่วยเหลือ ‘เกินเหตุ’ หรือไม่ เพราะนั่นอาจทำให้ ทอท. ซึ่งมีกระทรวงการคลังถือหุ้น 70% มีโอกาสได้รับความเสียหาย
ย้อนกลับไปช่วงปลายปี 2551 เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง และมีกลุ่มผู้ชุมนุมฯบางกลุ่มบุกเข้ายึดและปิดล้อมสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง อีกทั้งในห้วงเวลาใกล้เคียงกันนั้นได้เกิดวิกฤติการเงินโลก หรือ ‘วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์’ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ณ สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองอย่างมาก
ต่อมาบอร์ดทอท.เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2552 ,วันที่ 10 มี.ค.2552 มีมติให้ความช่วยเหลือสายการบิน โดยลดค่าธรรมเนียมขึ้นลงอากาศยาน (Landing Fee) และลดค่าธรรมเนียมเก็บอากาศยาน (Parking Fee) พร้อมทั้งปรับลดค่าเช่าพื้นที่หรือค่าธรรมเนียมการใช้อาคารลง 10% ให้ผู้เช่าทุกราย
นอกจากนี้ กรณีที่ผู้ประกอบการต้องจ่าย ‘ค่าตอบแทนคงที่รายเดือน’ ให้ปรับลดค่าตอบแทนคงที่รายเดือนตาม 'อัตราส่วนของผู้โดยสารที่ลดลง' เมื่อเทียบกับจำนวนผู้โดยสารในเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นเวลา 1 ปี หรือตั้งแต่เดือนม.ค.-ธ.ค.2562 และไม่เรียกเก็บค่าตอบแทนขั้นต่ำของปี 2562
ในเวลาต่อมา ครม.มีมติเมื่อวันที่ 21 เม.ย.2552 อนุมัติหลักการในการช่วยเหลือสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบิน โดยให้ทอท.ลดค่า Landing Fee และค่า Parking Fee ออกไปอีก 1 รอบปี (สิ้นสุด 30 ก.ย.2553)
จากนั้นอีก 3 เดือนต่อมา ครม.มีมติเมื่อวันที่ 21 ก.ค.2552 เห็นชอบหลักการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
แต่ทว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ
คือ กระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือ ลงวันที่ 16 ก.ค.2552 เรื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการฯ ส่งไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อประกอบการพิจารณาของครม. หลังจาก สลค. ขอให้พิจารณาความเห็นของ 'สำนักงานอัยการสูงสุด' ที่เห็นว่า การพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการฯ นั้น จะต้อง 'ไม่เกินมูลค่าความเสียหายที่ประเมินได้'
“1.ประธานคณะกรรมการประสานงานโครการต่างๆ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แจ้งว่า ทอท.พิจารณาความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1.1 ประเด็นการประเมินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งมีผลต่อคู่สัญญาแต่ละรายจะต้อง 'ไม่เกินมูลค่าความเสียหายที่ประเมินได้' นั้น ทอท. และคณะกรรมการประสานงานฯ ความเสียหายที่เกิดขึ้นของแต่ละคู่สัญญาโดยละเอียด โดยใช้แบบวิเคราะห์ทางการเงิน (Financial Mode) ซึ่งเป็นเอกสารแนบสัญญาของแต่ละคู่สัญญาในการวิเคราะห์ผลตอบแทนโครงการ (IRR) ที่ลดลงไป เนื่องจากผลของการปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ IRR ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมาตรการความช่วยเหลือ
ทั้งนี้ ผลการวิเคราะห์สรุปได้ว่า ทุกโครงการนั้น IRR ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือ จะต้องไม่เกิน IRR ที่ลดลง เนื่องจากผลกระทบจากการปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดังนั้น การดำเนินการของทอท.และคณะกรรมการประสานงานฯ จึงสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว
1.2 ประเด็นผลกระทบต่อฐานะการเงินของผู้ประกอบการที่จะนำมาประกอบการพิจารณาบรรเทาความเสียหาย อันเนื่องมาจากการประท้วงการปิดท่าอากาศยาน จะต้องเป็นเหตุความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว และมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างรุนแรง นั้น ในการพิจารณาของ ทอท. และคณะกรรมการประสานงานฯ ได้พิจารณา 'เฉพาะผลกระทบ' เนื่องมาจากการประท้วงปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเท่านั้น และในการพิจารณา Financial Mode นั้น ทอท. ใช้ความเสียหายเฉพาะที่เกิดขึ้นในปีที่ 3 เท่านั้น ในการคำนวณ
โดยหลังจากปีที่ 3 ไปแล้ว ใช้สมมติฐานว่าเหตุการณ์กลับสู่ภาวะปกติตามประมาณการเดิม (ซึ่งไม่รวมผลของเศรษฐกิจตกต่ำ) ดังนั้น ทอท. จึงไม่ได้นำความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นภายหน้าในระยะยาว หรือความเสียหายจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมาคำนวณแต่อย่างใด
โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นอันเกิดจากการปิดท่าอกาศยานสุวรรณภูมิในปีที่ 3 นั้น ทอท. ใช้ข้อมูลความเสียหายจริงที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นพื้นฐานในการประเมินความเสียหาย สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการนั้น ทอท.ไม่สามารถจะให้ความช่วยเหลือในรูปตัวเงิน เช่น ชดเชยเงินให้แก่ผู้ประกอบการโดยตรงได้
ดังนั้น มาตรการช่วยเหลือจึงต้องอยู่ในรูปแบบของการยกเว้นการตอบแทนขั้นต่ำและการขยายอายุสัญญาสัมปทาน ซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้ เมื่อวิเคราะห์โดย Financial Mode แล้ว ไม่ได้เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการมากกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด” หนังสือด่วนที่สุด ที่ คค (ปคร) 0804/191 ลงวันที่ 16 ก.ค.2552 ระบุ
(ที่มา : หนังสือด่วนที่สุด ที่ คค (ปคร) 0804/191 ลงวันที่ 16 ก.ค.2552)
แต่ทว่า ‘วิธีการปฏิบัติ’ ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563 กลับมีความแตกต่างจาก ‘วิธีการปฏิบัติ’ ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ปิดสนามบินเมื่อปี 2552 ในอย่างน้อย 2 ประเด็น คือ
ประเด็นที่ 1 มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะกรณีการช่วยเหลือกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ซึ่งมีมูลค่านับแสนล้านบาทนั้น ทอท.กลับไม่เคยทำเรื่องเสนอให้ครม.รับทราบเลย และระบุเพียงว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่สอดคล้องกับมติครม.และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดยจะรายงานให้นายกฯทราบต่อไป
“โดยมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการฯ ตามข้อ 1.3.1 เป็นการดำเนินงานเพื่อบรรเทาและเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งสอดคล้องกับมติครม.และข้อสั่งการของนายกฯ ดังนั้น ให้ฝ่ายบริหารทอท. รายงานแนวทางให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการให้กระทรวงคมนาคม เพื่อนำเรียนนายกรัฐมนตรีรับทราบโดยด่วนต่อไป” เอกสารรายงานการประชุมบอร์ดทอท. เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2563 ระบุ
ประเด็นที่ 2 การกำหนดแนวทางช่วยเหลือกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ นั้น ทอท.ไม่ได้มีการตั้งคณะทำงานฯ ขึ้นมาพิจารณาว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงๆว่าเป็นเท่าใดแน่ เหมือนแนวทางที่เคยปฏิบัติในอดีตที่มีวิธีการคำนวณที่ไว้ชัดเจน
โดยมีข้อมูลในรายงานการประชุมบอร์ดทอท.เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2563 ว่า “จากข้อมูลจำนวนผู้โดยสารโดยรวมของทอท.ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2560-2562 มีอัตราการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารรวมแบบถดถอยเรื่อยมา จนกระทั่งในปัจจุบันปี 2563 ซึ่งเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) อย่างรุนแรง ได้ส่งผลให้ผู้โดยสารรวมตามประมาณการลดลงอย่างมาก”
พร้อมทั้งอ้างผลการศึกษาของที่ปรึกษาโครงการเข้าถึงความต้องการของลูกค้าปี 2562 ที่ระบุว่า “สถิติการจับจ่ายใช้สอยของผู้โดยสาร (Spending Per Head) ตั้งแต่ปี 2560-2562 มีแนวโน้มลดลง จากเหตุผลดังกล่าว ‘อาจ’ เป็นปัจจัยที่ทำให้รายได้ของผู้ประกอบการไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์
และส่งผลกระทบต่อความสามารถในการจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำแก่ ทอท. ซึ่งเห็นได้จากที่ผ่านมา ผู้ประกอบการในท่าอากาศยานในภูมิภาคของ ทอท. บางราย ได้ขอปรับลดค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ หรือขอยกเลิกกิจการ เนื่องจากไม่สามารถจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ ทอท.ได้”
จากนั้นบอร์ด ทอท.ได้มีมติช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยการปรับสูตรการเรียกเก็บ ‘ค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่’ และ ‘ค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ’ จากการประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์
(ประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานบอร์ด ทอท. ที่มา : กระทรวงการคลัง)
โดยเฉพาะในส่วนของการช่วยเหลือช่วยเหลือผู้ประกอบการกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) และบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ทสภ. นั้น ทอท.และกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมฯ เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ตามคำสั่ง ทอท. ที่ 1306/2563 ลงวันที่ 9 ก.ค.2563
คือ ‘คณะทำงานเพื่อเจรจาเงื่อนไขในการขยายระยะเวลาการปรับปรุง ตกแต่งพื้นที่ และเลื่อนเวลาการเริ่มต้น และสิ้นสุดการประกอบกิจการของสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ทสภ., ทภก., ทชม. และ ทหญ. ของบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) และสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ทสภ. ของ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS)’
ต่อมาที่ประชุมบอร์ด ทอท. เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2563 ได้มีมติรับทราบผลการเจรจาระหว่าง ทอท. กับ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) และ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS) ตามที่ ทอท.เสนอ และบอร์ดทอท.จะมีมติอนุมัติแนวทางช่วยเหลือแนวทางการเรียกเก็บผลประโยชน์ขั้นต่ำของกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ โดยใช้ผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร (Sharing per Head) ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2565 (อ่านประกอบ : เปิดเอกสารมติ ทอท.! อุ้ม ‘คิง เพาเวอร์’ ยกเลิก ‘การันตี’ ผลตอบแทนขั้นต่ำ 2.4 แสนล.)
จึงสรุปได้ว่าการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ณ ท่าอากาศยานของ ทอท. โดยเฉพาะกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ นั้น เป็นไปด้วยความไม่รอบคอบหรือไม่ เนื่องจากมีการ ‘ลัดขั้นตอน’ ไม่ได้ปฏิบัติตามวิธีการในอดีต
ที่สำคัญการที่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ดพีพีพี) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเมื่อวันที่ 18 เม.ย.2562 กำหนดให้กิจการ ‘ดิวตี้ฟรี’ และ ‘การบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์’ ภายในสนามบินของ ทอท. ไม่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2562
นั่นทำให้เกิดประเด็นคำถามตามมาว่า กิจการร้านค้า ‘ดิวตี้ฟรี’ และ ‘การบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์’ ในสนามบินของ ทอท. มูลค่านับแสนล้านบาทนั้น เป็นสมบัติและผลประโยชน์ของชาติ หรือสมบัติของใครกันแน่?
ขอบคุณภาพ : thaigov.go.th
อ่านประกอบ :
เปิดสัญญา‘เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์’ สุวรรณภูมิ จ่ายขั้นต่ำ5.7พันล./ปี ก่อน ทอท.อุ้ม ‘คิงเพาเวอร์’
เปิดสัญญา ‘ดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ’ ก่อนบอร์ด ทอท.มีมติเยียวยา ‘คิงเพาเวอร์’
ยกเหตุสร้างอาคารล่าช้า! บอร์ดทอท.เลื่อนนับหนึ่งอายุสัญญา ‘ดิวตี้ฟรี’ สุวรรณภูมิ’ เป็นเม.ย.65
ไขปมโต๊ะจีน ‘พปชร’ หนุน ‘คิงเพาเวอร์’ กวาดสัมปทานดิวตี้ฟรี 6 สนามบินจริงหรือ ?
ให้ผลตอบแทนรวมปีแรก2.3 หมื่นล! ทอท. แจ้ง ตลท. 'คิงเพาเวอร์' กวาดเรียบ 3 ส.'ดิวตี้ฟรี-พาณิชย์'
'ชาญชัย'อ่วมคุก16เดือน! ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคดีหมิ่นคิงเพาเวอร์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/