“…การประชุมภายในของ ทอท. เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการกำหนดเงื่อนไข พื้นที่และแนวคิดการใช้พื้นที่ก่อนมีการเปิดประมูล กลับมีการเชิญตัวแทนของกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ เข้าร่วมประชุมเพื่อเสนอแนวความคิดด้วยเช่นนี้ ย่อมเห็นได้ชัดว่า กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ย่อมได้รับรู้ข้อมูลมากกว่าผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่นทำให้ได้เปรียบในการเสนอราคา และในที่สุดบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ก็เป็นผู้ชนะการประมูลจริงๆ ข้อเท็จจริงเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุผลให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่า สิ่งที่ตนให้สัมภาษณ์ไปนั้นเป็นความจริงทั้งสิ้น…”
...................
สืบเนื่องจากกรณีศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 4101-4102/2563 โดยพิพากษา ‘ยกฟ้อง’ ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งเป็นจำเลย ในคดีหมิ่นประมาท ‘กลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์’
กรณีให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสัมปทานร้านขายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ภายในสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินภูมิภาค ระหว่างกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. (อ่านประกอบ : ศาลฎีกายกฟ้อง! ‘ชาญชัย’ หมิ่นประมาท ‘คิง เพาเวอร์’ ชี้ 'สุจริต-ติชมด้วยความเป็นธรรม')
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่า จากคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าวปรากฎข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสัมปทานดิวตี้ฟรีในสนามบิน ระหว่างกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ และ ทอท. ใน 5 ประเด็น สรุปได้ ดังนี้
@ประเมินมูลค่าโครงการต่ำกว่า 1 พันล้านเลี่ยงกม.ร่วมทุนฯ
ประเด็นที่ 1 เรื่องที่จำเลย (นายชาญชัย) ให้สัมภาษณ์ว่า มูลค่าโครงการของสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานภูมิภาค ที่ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ทำกับ ทอท. หรือสัญญาการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ทำกับ ทอท. มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท
ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 แต่มีการหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยให้มีการประเมินมูลค่าโครงการต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งมีการว่าจ้างสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งผลการประเมินมีมูลค่าไม่เกิน 1,000 ล้านบาท
แต่ภายหลังเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้น ผลการตรวจสอบกลับปรากฏว่า มูลค่าของโครงการที่สถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประเมินไว้ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะในส่วนของการคำนวณมูลค่าของสินค้าคงคลัง ซึ่งใช้ระยะเวลาเพียง 1 เดือน
ทั้งๆที่ความเป็นจริงต้องใช้ระยะเวลา 100 วัน หรือการนำค่าเสื่อมราคาของอาคารในระยะเวลา 30 ปี มาคำนวณเพื่อลดต้นทุนมูลค่าการลงทุน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วว่า จะนำมาคำนวณรวมด้วยกันไม่ได้
ข้อเท็จจริงดังกล่าว ได้มีการจัดทำเป็นรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร การกล่าวให้สัมภาษณ์ของจำเลยดังกล่าว จึงไม่ใช่เรื่องที่จำเลยกล่าวอ้างโดยไม่มีเหตุผล ไม่มีพยานหลักฐาน หรือกล่าวอ้างขึ้นมาลอยๆแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องที่มีพยานหลักฐานยืนยันข้อเท็จจริงแน่ชัด
จนในที่สุด ทอท. เอง ต้องมีหนังสือแจ้งให้ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ทราบว่า สัญญาที่ทำกันไว้ เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ จึงไม่มีเหตุผูกพัน อันเป็นเหตุให้บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ต้องยื่นฟ้องร้อง ทอท. ต่อศาลแพ่ง
และในคำฟ้องดังกล่าว บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ก็ยอมรับว่า ได้มีการลงทุนในโครงการมากกว่า 1,000 ล้านบาทด้วย อันแสดงให้เห็นว่า ในเรื่องที่จำเลยให้สัมภาษณ์เป็นเรื่องที่มีข้อมูลจริงนั่นเอง
@ไม่ติดตั้งระบบ POS ตามที่กำหนดในสัญญา
ประเด็นที่ 2 สำหรับเรื่องที่จำเลย (นายชาญชัย) ให้สัมภาษณ์เรื่องกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ไม่ได้ติดตั้งระบบ Point Of Sale หรือ POS คือ ระบบรับรู้ข้อมูลการขายทันที ซึ่งตามสัญญาระบุแจ้งชัดว่า ผู้รับอนุญาตจะต้องนำส่งข้อมูลและรายได้ของโครงการให้แก่ ทอท.
ซึ่งสัญญาที่ทำกันตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2559 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจพบว่า ยังไม่ได้มีการการเชื่อมโยงข้อมูลตามสัญญาแต่อย่างใด ซึ่งทำให้ไม่สามารถควบคุมเกี่ยวกับการกระทำธุรกรรมจายสินค้าปลอดอากรให้เป็นไปได้อย่างถูกต้องได้ โดยมีเอกสารหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่า เพิ่งมีการเริ่มดำเนินการติดตั้งระบบ POS เมื่อกลางเดือนก.พ.2558 เท่านั้น
จนมีการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษา เสนอแนะมาตรการ และกลไกในการปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบในคณะกรรมการธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิบัติประเทศ ซึ่งจำเลย (นายชาญชัย) ร่วมในการประชุมอยู่ด้วย ก็ได้รับแจ้งจากผู้แทนของ ทอท. ว่า ระบบ POS อยู่ระหว่างทดสอบระบบ และได้เริ่มระบบออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2559
คำให้สัมภาษณ์ของจำเลย (นายชาญชัย) ก็อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่มีพยานหลักฐานที่เป็นเอกสารยืนยันแน่ชัดเช่นกัน ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องที่จำเลยแต่งขึ้นมาเพียงเพื่อจะกลั่นแกล้ง ทำให้ บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ,บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด
ที่สำคัญจำเลย เป็นรองประธานอนุกรรมาธิการคนที่ 2 และมีส่วนร่วมได้เข้าประชุมในเรื่องดังกล่าวด้วย จึงได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวมาโดยตรงตามหน้าที่
@จ่ายค่าตอบแทนให้ทอท.ไม่เป็นไปตามสัญญา
ประเด็นที่ 3 สำหรับการจ่ายค่าตอบแทนซึ่งตามสัญญา บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิในการประกอบกิจการบริหารจัดการพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์นั้น บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ ทอท. ในอัตรา 15% ของราคาสินค้าที่ขายได้
แต่บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ขออนุญาตให้ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ดำเนินการแทน ซึ่งเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ก็ต้องจ่ายค่าตอบแทนเช่นเดียวกับบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด นั่นเอง
แต่ภายหลังข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตั้งร้านค้าปลอดอากรขึ้นที่ถนนรางน้ำ กรุงเทพมหานคร โดยมีจุดส่งมอบสินค้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 2 จุด
ต่อมาบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ให้ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ไปขออนุญาตตั้งจุดส่งมอบสินค้าในจุดเดียวกันอีก ซึ่งก็ต้องถือว่าบริษัทคิง เพาเวอร์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด เป็นตัวแทนทำการแทนของบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด นั้นเอง
เมื่อบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ซึ่งเข้ามาทำสัญญากับ ทอท. แทน บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ก็ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้ ทอท. ในอัตรา 15 ของราคาขายสินค้าเช่นกัน
แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฎว่า บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด จ่ายค่าตอบแทนในอัตรา 15% ของอัตรา 3%ของค่าบริการที่บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้รับจากบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในการนำสินค้าจากถนนรางน้ำไปส่งยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จึงเป็นการผิดสัญญา
ซึ่งภายหลัง ทอท. ได้ยกเลิกการอนุมัติให้บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิเวลลอปเมันท์ จำกัด จัดตั้งจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร และในประเด็นนี้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ก็เคยแจ้งผลการตรวจสอบให้ ทอท.ทราบด้วยว่า ควรต้องได้รับค่าตอบแทนในอัตรา 15% ของราคาขาย
ข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์ดังกล่าวก็เป็นข้อเท็จจริงที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงเช่นเดียวกัน โดยมีพยานหลักฐานเป็นเอกสารยืนยันแน่ชัด
โดยจำเลยในฐานะที่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบเกี่ยวกับการทำสัญญาของ ทอท. และได้รับทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวมา ก็มีการแจ้งข่าว แจ้งข้อเท็จจริงเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบเท่านั้น ไม่ได้มีข้อเท็จจริงใดที่จะแสดงให้เห็นเลยว่า จำเลยมีเจตนาต้องการกลั่นแกล้งหรือให้สัมภาษณ์โดยการแถลงข่าวเพื่อให้โจทก์ทั้งสามเสียหาย โดยข้อเท็จจริงที่แถลงนั้นไม่ได้มีอยู่ตามความเป็นจริงแต่อย่างใด
@เรียกเก็บค่าสิทธิประกอบกิจการร่วม 2 ธนาคารขัดต่อสัญญา
ประเด็นที่ 4 สำหรับข้อความที่จำเลย (นายชาญชัย) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องการเรียกเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายสินค้าจากร้านค้าไม่เกิน 20% ของรายได้ของร้านค้า ซึ่งเป็นข้อตกลงตามสัญญาที่บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ทำกับ ทอท.
แต่ในการประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง การดำเนินงานตามสัญญาของกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ตรวจพบว่า บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด เรียกเก็บค่าสิทธิในการประกอบกิจการ ซึ่งค่าสิทธิดังกล่าวตามสัญญา ทอท. ไม่ได้มีข้อตกลงให้เรียกเก็บแต่อย่างใด
แต่บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด เรียกเก็บจากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เป็นค่าสิทธิในการประกอบกิจการร่วมเป็นเงิน 100 ล้านบาท และเรียกเก็บจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นค่าสิทธิในการประกอบกิจการรวมเป็นเงิน 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อสัญญา
@ให้เอกชนร่วมประชุมภายในทำให้ได้เปรียบคู่แข่ง
ประเด็นที่ 5 การให้สัมภาษณ์ของจำเลย (นายชาญชัย) เกี่ยวกับการที่คณะกรรมการบริหารและพัฒนากิจการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีการประชุมกันเป็นการภายใน แต่กลับมีการเชิญตัวแทน บริษัท คิงเพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด มาร่วมในการประชุมด้วย เพื่อให้ร่วมเสนอแนวความคิดในการออกแบบพื้นที่เชิงพาณิชย์
ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดเผยข้อมูล ทำให้บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ทราบข้อมูลมากกว่าผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่น จนในที่สุดบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ก็ชนะการประมูล
ข้อเท็จจริงนี้ก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยกล่าวอ้างขึ้นมาลอยๆ เพื่อกลั่นแกล้งบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เท่านั้น แต่เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดมีขึ้นและจำเลยได้ทราบมา เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง
“ข้อเท็จจริงที่จำเลยให้สัมภาษณ์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นจะเห็นได้ว่า เจตนาในการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ น่าจะเป็นเรื่องที่มุ่งหาข้อเท็จจริง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ไปที่เจ้าหน้าที่ของ ทอท.ที่กระทำการโดยไม่สุจริต มากกว่าที่จะต้องการทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย”
@พบข้อเท็จริงเจ้าหน้าที่ ทอท. ‘ปล่อยปละละเลย’
ส่วนการทำสัญญาอันจะต้องใช้บังคับพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาและดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของ ทอท.เองเป็นหลัก ไม่ใช่เรื่องของโจทก์ทั้งสาม (บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ,บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด) โดยตรง หรือการไม่ติดตั้งระบบรับรู้ข้อมูลการขายทันที หรือ POS การไม่จ่ายค่าตอบแทนให้เป็นไปตามสัญญา
หากเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสามทำผิดสัญญา ก็เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ของ ทอท.จะต้องดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาหรือดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดีความต่อศาล แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฎว่า เจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว 'กลับปล่อยปละละเลย'
รวมถึงการให้บริษัทในกลุ่มคิงเพาเวอร์เข้าร่วมประชุมในการประชุมภายในของ ทอท. จนทำให้กลุ่มคิงเพาเวอร์ได้เปรียบผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่นนั้น ต่างก็เป็นเรื่องที่กล่าวหาว่า เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ของ ทอท. กระทำการโดยไม่ถูกต้องหรือกระทำการโดยทุจริตทั้งสิ้น
เพียงแต่โจทก์ทั้งสามเข้ามาเป็นคู่สัญญากับ ทอท.ด้วย จึงทำให้ถูกพูดโยงไปถึงหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเท่านั้น ซึ่งคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้ยื่นคำร้องต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ขอให้พิจารณาสอบสวนการทุจริตภายในของ ทอท.ด้วย
“โดยเรื่องที่จำเลย (นายชาญชัย) ให้สัมภาษณ์ทั้งหมดจะเห็นได้ว่า เป็นเรื่องที่มีเอกสารหลักฐานยืนยันแน่ชัด มีเหตุผลน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะบางเรื่องเป็นเรื่องที่จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบ หรือเข้าร่วมในการประชุมด้วยโดยตรงเลยทีเดียว
โดยข้อเท็จจริงแล้ว ไม่ว่าเรื่องที่จำเลยให้สัมภาษณ์จะเป็นความจริงแท้แน่นอนหรือไม่ก็ตาม แต่จากพยานหลักฐานและเอกสารที่จำเลยได้รับทราบข้อมูลมานั้น มีเหตุมีผลอันสมควรที่จะทำให้จำเลยเห็นว่า เรื่องต่างๆที่จำเลยได้รับรู้มาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง
เช่น เรื่องที่สถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้รับจ้างดำเนินการประเมินมูลค่าโครงการว่ามีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท หรือไม่นั้น ผู้ว่าจ้างให้ประเมิน คือ ทอท. แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฎว่า ผู้ที่จ่ายเงินค่าจ้างให้สถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลับเป็นกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์เช่นนี้
หรือการประชุมภายในของ ทอท. เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการกำหนดเงื่อนไข พื้นที่และแนวคิดการใช้พื้นที่ก่อนมีการเปิดประมูล กลับมีการเชิญตัวแทนของกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ เข้าร่วมประชุมเพื่อเสนอแนวความคิดด้วยเช่นนี้ ย่อมเห็นได้ชัดว่า กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ย่อมได้รับรู้ข้อมูลมากกว่าผู้เข้าร่วมประมูลรายอื่นทำให้ได้เปรียบในการเสนอราคา และในที่สุดบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ก็เป็นผู้ชนะการประมูลจริงๆ
ข้อเท็จจริงเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุผลให้จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่า สิ่งที่ตนให้สัมภาษณ์ไปนั้นเป็นความจริงทั้งสิ้น โดยเฉพาะในฐานะที่จำเลยได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ซึ่งมีหน้าที่ในการศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแนวทางแผนการปฏิรูป วิธีการปฏิรูป พร้อมกำหนดเวลาปฏิรูป และข้อเสนอแนะเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ
โดยหน้าที่ดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลย และคณะอนุกรรมาธิการจะต้องร่วมกันค้นคว้าหา ข้อเท็จจริงเพื่อกำหนดแนวทาง เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จำเลยได้รับแต่งตั้งให้ดำเนินการในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาต่างๆของ ทอท. ทั้งหมดด้วย เรื่องที่จำเลยกล่าวให้สัมภาษณ์ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานโดยตรงของจำเลยทั้งสิ้น
ที่สำคัญเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ เป็นเรื่องของความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อส่วนรวม ในฐานะที่ ทอท.เดิมเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ภายหลังได้แปรสภาพมาเป็นบริษัทมหาชน จำกัด ซึ่งมีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
หากมีความเสียหายเกิดขึ้นก็เท่ากับหน่วยงานของรัฐหรือประเทศชาติได้รับความเสียหายไปด้วย การร่วมกันรักษาปกป้องประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติย่อมเป็นหน้ที่ของประชาชนพลเมืองดีโดยทั่วไป” คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4101-4102/2563 ลงวันที่ 16 ก.ย.2563 ระบุ
ทั้งหมดนี้เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการตามสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีและการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ของกลุ่มคิงเพาเวอร์
โดยเฉพาะมี 5 ประเด็นที่ได้มีการกล่าวถึงเจ้าหน้าที่ของ ทอท. ว่าอาจเข้าข่ายว่าปล่อยปละละเลยต่อการปฏิบัติตามสัญญา ที่ทำให้รัฐได้รับความเสียหายด้วย จึงเป็นหน้าที่ของ ทอท. กระทรวงคมนาคม ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล และกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่
ต้องติดตามตรวจสอบต่อไป!
อ่านประกอบ :
ศาลฎีกายกฟ้อง! ‘ชาญชัย’ หมิ่นประมาท ‘คิง เพาเวอร์’ ชี้ 'สุจริต-ติชมด้วยความเป็นธรรม'
ฟ้องศาลทุจริตฯ!ทอท.แก้สัมปทาน ‘ดิวตี้ฟรี-พื้นที่พาณิชย์’ มิชอบ-เสียหาย 3.2 หมื่นล.
ทอท.แจง ‘อิศรา’! สัมปทาน ‘ดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์’ ไม่เข่าข่ายพ.ร.บ.วินัยการเงินฯ
ชำแหละปมใช้พ.ร.บ.วินัยการเงินฯ ‘สองมาตรฐาน’? แก้สัญญาดิวตี้ฟรี-เขย่าต่อสัมปทานสายสีเขียว
‘ดิวตี้ฟรี’แสนล้าน สมบัติใคร บอร์ด ทอท.อ้างมติครม.-ลัดขั้นตอนอุ้ม ‘คิงเพาเวอร์’?
เปิดสัญญา‘เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์’ สุวรรณภูมิ จ่ายขั้นต่ำ5.7พันล./ปี ก่อน ทอท.อุ้ม ‘คิงเพาเวอร์’
เปิดสัญญา ‘ดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ’ ก่อนบอร์ด ทอท.มีมติเยียวยา ‘คิงเพาเวอร์’
ยกเหตุสร้างอาคารล่าช้า! บอร์ดทอท.เลื่อนนับหนึ่งอายุสัญญา ‘ดิวตี้ฟรี’ สุวรรณภูมิ’ เป็นเม.ย.65
ไขปมโต๊ะจีน ‘พปชร’ หนุน ‘คิงเพาเวอร์’ กวาดสัมปทานดิวตี้ฟรี 6 สนามบินจริงหรือ ?
ให้ผลตอบแทนรวมปีแรก2.3 หมื่นล! ทอท. แจ้ง ตลท. 'คิงเพาเวอร์' กวาดเรียบ 3 ส.'ดิวตี้ฟรี-พาณิชย์'
'ชาญชัย'อ่วมคุก16เดือน! ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคดีหมิ่นคิงเพาเวอร์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/