“…การดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของ ทอท. ไม่มีกฎ ระเบียบ หรือหลักเกณฑ์กำหนดให้ต้องขออนุมัติต่อคณะรัฐนตรี (ครม.) อันที่จะส่งผลกระทบหรือก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ ดังนั้น กิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และ/หรือการประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของ ทอท. จึงมิใช่การดำเนินกิจกรรม มาตรการหรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ หรือภาระทางการคลังในอนาคต และ/หรือการดำเนินการก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐหรือของหวยงานของรัฐ ดังนั้น การประกอบกิจการดังกล่าว จึงไม่ได้อยู่ภายใต้มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561…”
...................
จากกรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เผยแพร่รายงานข่าว เรื่อง ‘ชำแหละปมใช้พ.ร.บ.วินัยการเงินฯ ‘สองมาตรฐาน’? แก้สัญญาดิวตี้ฟรี-เขย่าต่อสัมปทานสายสีเขียว’ โดยตั้งคำถามว่าเหตุใด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. แก้ไขสัญญาสัมปทานร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตีฟรี) และสัมปทานบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินของทอท. เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
แต่กลับไม่มีการจัดทำรายงานประมาณการการสูญเสียรายได้ และประโยชน์ที่จะได้รับ เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 เช่นเดียวกับกรณีการพิจารณาต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอส เนื่องจากการแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าว ทำให้ ทอท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ต้องสูญเสียรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2563 นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ทำหนังสือถึงสำนักข่าวอิศรา ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการให้สิทธิเอกชนประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และ/หรือการประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 มีรายละเอียด ดังนี้
ตามอ้างถึงสำนักข่าวอิศราได้เผยแพร่รายงานข่าวเมื่อวันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม 2563 กรณีการให้สิทธิเอกชนประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และ/หรือการประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) และมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ณ ท่าอากาศยานภายใต้ความรับผิดชอบของ ทอท. นั้น
ทอท ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงต่อประเด็นตามรายงานข่าวดังกล่าว ดังนี้
1.การให้สิทธิเอกชนประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และ/หรือการประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของ ทอท.ไม่อยู่ภายใต้มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 : การดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของ ทอท. ไม่มีกฎ ระเบียบ หรือหลักเกณฑ์กำหนดให้ต้องขออนุมัติต่อคณะรัฐนตรี (ครม.) อันที่จะส่งผลกระทบหรือก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ
ดังนั้น กิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และ/หรือการประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของ ทอท. จึงมิใช่การดำเนินกิจกรรม มาตรการหรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณ หรือภาระทางการคลังในอนาคต และ/หรือการดำเนินการก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น การประกอบกิจการดังกล่าว จึงไม่ได้อยู่ภายใต้มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561
2.การให้สิทธิเอกชนประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และ/หรือการประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของ ทอท. ไม่เข้าข่ายต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ.2562 : การให้สิทธิเอกชนประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และ/หรือการประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์นั้น ได้มีประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน เรื่องกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินการท่าอากาศยานและการขนส่งทางอกาศ พ.ศ.2562 ออกตามความในมาตรา 7 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ.2562
ซึ่ง “กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น” ตามมาตรา 7 วรรคสอง ที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของประกาศฯ มีทั้งหมด 13 ประเภทกิจการ ซึ่งไม่รวมกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และ/หรือการประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์เป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นตามมาตรา 7 วรรคสอง ดังนั้น การประกอบกิจการดังกล่าว จึงไม่เข้าข่ายต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนฯ แต่อย่างใด
3.การให้สิทธิเอกชนประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และ/หรือการประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของ ทอท. อยู่ภายใต้อำนาจของคณะกรรมการ ทอท. ตามข้อบังคับ 36 และตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 77 : สำหรับการให้สิทธิเอกชนประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และ/หรือการประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. ภายใต้กรอบอำนาจการบริหารภายในของ ทอท.
โดยการให้สิทธิเอกชนนี้ ทอท.ใช้วิธีการคัดเลือกผู้ประกอบการ ด้วยวิธีประมูลเสนอคำตอบแทน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบการให้สิทธิประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของ ทอท. และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ทอท. ตามมาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่จัดการบริษัทให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ข้อบังคับและมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น...
โดยหลักกฎหมายดังกล่าวได้นำมากำหนดไว้ในข้อบังคับของ ทอท. ข้อ 36 กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ในการดำเนินกิจการของบริษัทให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับ
4.การให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร, กิจการเชิงพาณิชย์ เป็นไปตามขั้นตอนและระเบียบในการคัดเลือกผู้ประกอบการด้วยวิธีประมูลเสนอราคาตามระเบียบ ทอท.ว่าด้วยการให้สิทธิประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ พ.ศ.2555, ฉบับแก้ไข พ.ศ.2556 และพ.ศ.2557 และข้อกำหนด ทอท.ว่าด้วย วิธีดำเนินการคัดเลือกเพื่อให้สิทธิประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ พ.ศ. 2561 โดยผู้ชนะประมูลเป็นผู้ที่มีคะแนนรวมสูงกว่าผู้แข่งขันรายอื่นๆ ทุกราย
5.มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ของ ทอท.จากผลกระทบโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ดำเนินการเป็นการทั่วไป มิได้ช่วยเหลือกิจการใดกิจการหนึ่งเป็นการเฉพาะ : จากผลการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรงและแพร่หลายเป็นวงกว้าง รัฐบาลโดยมติ ครม. ได้มีนโยบายให้ภาครัฐช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง
จึงทำให้ ทอท.ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ ซึ่งมีระยะเวลาประมาณ 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563-31 มีนาคม 2565 โดยระยะเวลาดังกล่าวนี้ ทอท.ได้คาดว่าการฟื้นตัวจะไม่น่าเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ก่อนตารางการบินฤดูหนาวปี 2564 ซึ่งจะสิ้นสุดราวปลายเดือนมีนาคม 2565 และได้มีการสงวนสิทธิ์ที่จะยกเลิกมาตรการช่วยเหลือก่อนระยะเวลาที่กำหนด หากการฟื้นตัวฯ เป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
6.ความเสียหาย หาก ทอท.ไม่ดำเนินมาตรการช่วยเหลือ นอกจากความเสียหายที่จะมีต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศแล้ว สำหรับ ทอท. ตั้งแต่เกิดสถานการณ์ควิด-19 นั้น ได้มีสัญญาณที่ชัดเจนชี้ชัดว่าผู้ประกอบการเกือบทุกรายไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ โดยจากผู้ประกอบการภายใต้ ทอท.กว่า 1,000 สัญญา ไม่มีสัญญาใดเลยที่มีส่วนแบ่งรายได้ (Revenue Sharing) สูงกว่าค่าตอบแทนขั้นต่ำ (Minimum Guarantee)
เมื่อประกอบกับเกณฑ์ที่ผู้ประกอบการสามารถบอกเลิกสัญญาได้ล่วงหน้า 45-90 วัน จึงทำให้มีคำร้องจากผู้ประกอบการเพื่อขอยุติการประกอบการเข้ามาจำนวนมากก่อนที่ ทอท.จะออกมาตรการ ซึ่งทาง ทอท.พิจารณาแล้วมีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะไม่สามารถหักเงินประกันหรือเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ เนื่องจากเป็นเหตุสุดวิสัยและเป็นผลพวงจากการปิดน่านฟ้าเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของรัฐบาล
ทอท.จึงขอเรียนชี้แจงถึงข้อเท็จจริง และข้อฎหมาย ซึ่งมีความแตกแต่งจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามรายงานข่าวที่ลงในทุกประเด็นข้างต้น และขอความกรุณาเผยแพร่การชี้แจงดังกล่วให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง และเข้าใจในกรดำเนินงานของ ทอท. ทั้งนี้ ทอท.ขอขอบคุณท่านที่ให้ความสนใจในกิจการดำเนินงานของ ทอท.และมีความห่วงใยในผลประโยชน์ของชาติ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส ซึ่งจะเป็นประโชน์ต่อการปฏิบัติงานของ ทอท.ในฐานะรัฐวิสาหกิจ และบริษัทมหาชนที่มุ่งมั่นในการดำเนินงานภายใต้หลักธรรมาภิบาล โปร่งใสตรวจสอบได้
อ่านประกอบ :
ชำแหละปมใช้พ.ร.บ.วินัยการเงินฯ ‘สองมาตรฐาน’? แก้สัญญาดิวตี้ฟรี-เขย่าต่อสัมปทานสายสีเขียว
‘ดิวตี้ฟรี’แสนล้าน สมบัติใคร บอร์ด ทอท.อ้างมติครม.-ลัดขั้นตอนอุ้ม ‘คิงเพาเวอร์’?
เปิดสัญญา‘เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์’ สุวรรณภูมิ จ่ายขั้นต่ำ5.7พันล./ปี ก่อน ทอท.อุ้ม ‘คิงเพาเวอร์’
เปิดสัญญา ‘ดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ’ ก่อนบอร์ด ทอท.มีมติเยียวยา ‘คิงเพาเวอร์’
ยกเหตุสร้างอาคารล่าช้า! บอร์ดทอท.เลื่อนนับหนึ่งอายุสัญญา ‘ดิวตี้ฟรี’ สุวรรณภูมิ’ เป็นเม.ย.65
ไขปมโต๊ะจีน ‘พปชร’ หนุน ‘คิงเพาเวอร์’ กวาดสัมปทานดิวตี้ฟรี 6 สนามบินจริงหรือ ?
ให้ผลตอบแทนรวมปีแรก2.3 หมื่นล! ทอท. แจ้ง ตลท. 'คิงเพาเวอร์' กวาดเรียบ 3 ส.'ดิวตี้ฟรี-พาณิชย์'
'ชาญชัย'อ่วมคุก16เดือน! ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคดีหมิ่นคิงเพาเวอร์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/