"...ทำให้เกิดคำถามต่อท่าทีและการปฏิบัติของกระทรวงคมนาคมและศักดิ์สยาม ในกรณีการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอส ที่มีพฤติการณ์ที่ ‘แตกต่าง’ ไป เมื่อเทียบกับกรณีแก้ไขสัญญาสัมปทาน ‘ดิวตี้ฟรี’ และสัมปทานการบริหาร ‘พื้นที่เชิงพาณิชย์’ ในสนามบิน ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)..."
"
.....................
ยังคงเป็นประเด็นที่ยืดเยื้อ
หลังกระทรวงคมนาคม ‘คัดค้าน’ การต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้า ‘สายสีเขียว’ ระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกทม. และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในเครือบีทีเอส เป็นสิ้นสุดสัมปทานปี 2602 จากเดิมที่สิ้นสุดในปี 2572
แม้ว่าล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เรียก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เข้าหารือเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
แต่สุดท้ายการหารือไม่ได้ข้อยุติ
เนื่องจากกระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางราง คำนวณว่าอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายที่เหมาะสม คือ 50 บาท ไม่ใช่ 65 บาทตลอดสายตามที่กรุงเทพฯเสนอ และมองว่าการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปอีก 30 ปี ทั้งๆสัมปทานปัจจุบันยังเหลืออายุอีก 9 ปี มีความเหมาะสมหรือไม่
ทำให้เกิดคำถามต่อท่าทีและการปฏิบัติของกระทรวงคมนาคมและศักดิ์สยาม ในกรณีการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอส ที่มีพฤติการณ์ที่ ‘แตกต่าง’ ไป เมื่อเทียบกับกรณีแก้ไขสัญญาสัมปทาน ‘ดิวตี้ฟรี’ และสัมปทานการบริหาร ‘พื้นที่เชิงพาณิชย์’ ในสนามบิน ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.
เพราะในขณะที่หนังสือด่วนที่สุด ที่คค (ปคร) 0202/401 ที่ลงนามโดย ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่เสนอให้ครม. เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563 เสนอว่า การพิจารณาต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่ระบุว่า
“...ในกรณีที่การดำเนินการก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐหรือของหน่วยงานของรัฐ ให้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้ และประโยชน์ที่จะได้รับเสนอในการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีด้วย
ในการพิจารณาอนุมัติกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามวรรคหนึ่ง ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาความจำเป็นเร่งด่วน ประโยชน์ที่ได้รับ และภาระทางการคลังหรือการสูญเสียรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย...” (อ่านประกอบ : ขย่ม 4 ปม 'คมนาคม' ค้านต่อสัมปทาน ‘บีทีเอส’ 30 ปี-รอ ‘บิ๊กตู่’ ชี้ชะตาผลประโยชน์ 2 แสนล.)
แต่กรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทาน ‘ดิวตี้ฟรี’ และสัมปทานบริหาร ‘พื้นที่เชิงพาณิชย์’ ในสนามบิน ของทอท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของ ศักดิ์สยาม ที่ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 เช่นเดียวกรณีต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว
จึงมีคำถามว่าเหตุใด ทั้งบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และ ทอท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนกัน แต่กลับมีมาตรฐานการปฏิบัติที่แตกต่างกัน
เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 29 ก.ค.2563 คณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ และสายการบิน ณ ท่าอากาศยาน ของ ทอท. ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
โดยเฉพาะการช่วยเหลือและเยียวยากลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ซึ่งได้รับสัมปทานดิวตี้ฟรี ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 1 สัญญา ได้รับสัมปทานดิวตี้ฟรี 3 สนามบิน (ภูเก็ต ,เชียงใหม่ และหาดใหญ่) 1 สัญญา และได้รับสัมปทานบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 1 สัญญา ประกอบด้วย
1.อนุมัติให้เลื่อนเวลาการเข้าปรับปรุงตกแต่งพื้นที่ของกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ออกไปอีก 1 ปี พร้อมทั้งขยายระยะเวลาสิ้นสุดของการประกอบกิจการออกไปอีก 1 ปี จากวันที่ 31 มี.ค.2574 เป็นวันที่ 31 มี.ค.2575 จากสัญญาในปัจจุบันที่เริ่มต้นสัญญาตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย.2563 ถึงวันที่ 31 มี.ค.2574
2.ปรับวิธีการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2565 ทั้งกรณีสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรี 2 สัญญา และสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ 1 สัญญา โดยใช้ผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร (Sharing per Head) แต่ยังเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละเหมือนเดิม
แม้ว่าการแก้สัญญาดังกล่าวส่งผลให้ทอท. อาจสูญเสียรายได้จากการ 'ยกเลิก' การจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee) หลายหมื่นล้านบาท จากสัญญาเดิมที่กำหนดให้กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ต้องจ่าย Minimum Guarantee สำหรับ 3 สัญญา ในปีแรกเป็นเงินรวม 23,548 ล้านบาท หรือไม่ต่ำกว่า 2.4 แสนล้านบาทตลอดอายุสัญญา 10 ปี 6 เดือน (อ่านประกอบ : เปิดเอกสารมติ ทอท.! อุ้ม ‘คิง เพาเวอร์’ ยกเลิก ‘การันตี’ ผลตอบแทนขั้นต่ำ 2.4 แสนล.)
แต่ปรากฎว่าทั้ง ‘ก่อนและหลัง’ วันที่บอร์ดทอท.มีมติให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการต่างๆ ซึ่งรวมถึงกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2563 นั้น ทอท.ไม่เคยจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้ และประโยชน์ที่จะได้รับ เสนอให้ครม.อนุมัติ ตามมาตรา 27 แห่งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 เลย
และแม้ว่ากิจการ ‘ร้านค้าดิวตี้ฟรี’ และการบริหาร ‘พื้นที่เชิงพาณิชย์’ ภายในสนามบิน จะไม่ได้อยู่ในประเภทกิจการที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
แต่ในฐานะที่ ทอท. ซึ่งกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ 70% ของหุ้นทั้งหมด เป็นรัฐวิสาหกิจ ตามนิยามในมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ซึ่งระบุว่า ‘รัฐวิสาหกิจ’ หมายความว่า “…(2) บริษัทจํากัดหรือบริษัทมหาชนจํากัดที่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตาม (1) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ…”
ดังนั้น ทอท. จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ด้วย
ที่สำคัญการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ดังกล่าว ทอท.ระบุเหตุผลเพียงว่า เป็นการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการที่สอดคล้องกับข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ก.พ.63 ทั้งๆที่รัฐอาจได้รับความสูญเสียผลประโยชน์จำนวนมหาศาล
ขณะที่บอร์ดทอท.สั่งการให้ฝ่ายบริหารทอท. ‘รายงาน’ แนวทางให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการให้กระทรวงคมนาคม เพื่อนำเรียนนายกรัฐมนตรีรับทราบโดยด่วนต่อไป (อ่านประกอบ : ‘ดิวตี้ฟรี’แสนล้าน สมบัติใคร บอร์ด ทอท.อ้างมติครม.-ลัดขั้นตอนอุ้ม ‘คิงเพาเวอร์’?)
เหล่านี้เป็นข้อสงสัยว่า เหตุใดจึงมีการบังคับใช้กฎหมายที่มีลักษณะ ‘สองมาตรฐาน’ กับสองโครงการขนาดใหญ่ที่เกี่ยวพันกับเม็ดเงินหลายแสนล้านบาทเช่นนี้
อ่านประกอบ :
‘ดิวตี้ฟรี’แสนล้าน สมบัติใคร บอร์ด ทอท.อ้างมติครม.-ลัดขั้นตอนอุ้ม ‘คิงเพาเวอร์’?
เปิดสัญญา‘เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์’ สุวรรณภูมิ จ่ายขั้นต่ำ5.7พันล./ปี ก่อน ทอท.อุ้ม ‘คิงเพาเวอร์’
เปิดสัญญา ‘ดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ’ ก่อนบอร์ด ทอท.มีมติเยียวยา ‘คิงเพาเวอร์’
ยกเหตุสร้างอาคารล่าช้า! บอร์ดทอท.เลื่อนนับหนึ่งอายุสัญญา ‘ดิวตี้ฟรี’ สุวรรณภูมิ’ เป็นเม.ย.65
ไขปมโต๊ะจีน ‘พปชร’ หนุน ‘คิงเพาเวอร์’ กวาดสัมปทานดิวตี้ฟรี 6 สนามบินจริงหรือ ?
ให้ผลตอบแทนรวมปีแรก2.3 หมื่นล! ทอท. แจ้ง ตลท. 'คิงเพาเวอร์' กวาดเรียบ 3 ส.'ดิวตี้ฟรี-พาณิชย์'
'ชาญชัย'อ่วมคุก16เดือน! ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคดีหมิ่นคิงเพาเวอร์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/