‘แบงก์ชาติ’ สรุปภาพรวมการสินเชื่อไตรมาส 1/64 พบยังขยายตัว 3.8% ขณะที่ ‘หนี้เสีย’ ทรงตัวที่ 3.1% หลังสถาบันการเงินมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่อง เผย 'สินเชื่อที่อยู่อาศัย-สินเชื่อบัตรเครดิต' ขยายตัวเกิน 6%
..................
เมื่อวันที่ 17 พ.ค. น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาพรวมผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1/2564 ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง สามารถรองรับความต้องการสินเชื่อและความผันผวนของเศรษฐกิจในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้
“การให้สินเชื่อไตรมาส 1/2564 ยังขยายตัวที่ 3.8% แต่ขยายตัวในอัตราลดลง โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจ เนื่องจากในช่วงต้นปีที่แล้วก่อนเจอโควิด สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัวเร่งขึ้น เนื่องจากตลาดทุนผันผวน ทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่หันมาระดมทุนผ่านธนาคารพาณิชย์แทนการออกตราสารหนี้ ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอียังปรับตัวดี ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวที่ 5.3% ซึ่งมาจากการขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นสำคัญ” น.ส.สุวรรณีกล่าว
ส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) มีจำนวนปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่อัตราส่วน NPL ต่อสินเชื่อ (NPL Ratio) ทรงตัวที่ระดับ 3.1% เนื่องจากมีฐานสินเชื่อที่สูงขึ้น ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นช่วยชะลอการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ผลประกอบการปรับลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่ลดลง
“หนี้เสีย เป็นเรื่องที่ ธปท.และสถาบันการเงินกังวล โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด เช่น ท่องเที่ยว โรงแรม ขนส่งผู้โดยสาร สายการบิน ร้านอาหารและภัตตาคาร ซึ่งเราคิดว่าการคลายล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้มจะช่วยกลุ่มร้านอาหารได้ ส่วนกลุ่มอื่นๆ เราไม่นิ่งนอนใจ และสาเหตุที่ NPL ไตรมาส 1/2564 ที่ไม่ได้เพิ่มเยอะมาก เพราะสถาบันการเงินยังช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง และธปท.พร้อมออกมาตรการที่จำเป็น” น.ส.สุวรรณีระบุ
@ธปท.อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางจ่ายปันผลแบงก์ปี 64
ส่วนกำหนดแนวทางการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2564 ของธนาคารพาณิชย์นั้น น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า ธปท.อยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งปกติแล้วธปท.จะพิจารณาจากฐานะของธนาคารพาณิชย์ ประกอบกับแนวทางการดำเนินการในต่างประเทศ และพิจารณาด้านอื่นๆ เช่น ผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น ผู้ฝากเงิน และลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ทั้งนี้ หากมีความชัดเจน ธปท.จะมีการชี้แจงรายละเอียดต่อไป
สำหรับรายละเอียดผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1/2564 มีดังนี้
ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 3,017.2 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 20.0% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 823.4 พันล้านบาท อัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) อยู่ที่ 149.7% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่อง เพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ 186.5%
ส่วนภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 2564 ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 3.8% เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2563 จาก 5.1% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีรายละเอียด ดังนี้
สินเชื่อธุรกิจ (คิดเป็น 64.3% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ 3% เทียบกับไตรมาส 1/2563 โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ชะลอตัวลงจากการเร่งใช้สินเชื่อในช่วงเดียวกันของปีก่อนเพื่อเสริมสภาพคล่อง และส่วนหนึ่งเป็นผลจากการระดมทุนผ่านธนาคารพาณิชย์แทนตลาดการเงินที่มีความผันผวนสูงในช่วงต้นปีที่แล้ว ขณะที่ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สินเชื่อ SMEs หดตัวในอัตราที่ลดลง แม้ไม่รวมผลของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan)
@สินเชื่อบ้าน-บัตรเครดิต-ส่วนบุคคลขยายตัวต่อเนื่อง
สินเชื่ออุปโภคบริโภค (คิดเป็น 35.7% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 5.3% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2563 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.4% ประกอบด้วย สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ขยายตัว 6.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2563 และปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 5.9% โดยมาจากอุปสงค์ที่อยู่ในอาศัยแนวราบ การส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการ การทำโปรโมชั่นลดราคาและให้ของแถม ประกอบกับมีมาตรการลดหย่อนค่าธรรมของภาครัฐ
ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัว 6.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2563 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว 2.1% และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ขยายตัว 5.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2563 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.8% ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของภาคครัวเรือนที่มีความต้องการสภาพคล่องเพิ่มเติม และการให้สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันผ่านออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆ (online platform) และบัตรกดเงินสด
ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ขยายตัว 1.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2563 แต่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 2.4% เนื่องจากยอดขายรถยนต์ที่ลดลง
@หนี้เสีย 3.1%-คุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภคเปราะบาง
ด้านคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1/2564 ยังคงได้รับผลจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL หรือ stage 3) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 537.1 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 3.10% ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ 6.41% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 6.62%
ทั้งนี้ เมื่อแยกพอร์ตสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค พบว่า NPL สินเชื่อธุรกิจอยู่ที่ 3.17% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ 3.23% ประกอบด้วย NPL สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่หรือวงเงินเกิน 500 ล้านบาทขึ้นไปอยู่ที่ 2.55% เท่ากับไตรมาสก่อน และ NPL สินเชื่อเอสเอ็มอีหรือวเงินไม่เกิน 500 ล้านบาทอยู่ที่ 7.11% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้านี้ที่อยู่ที่ 8.86% ขณะที่ NPL ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคอยู่ที่ 2.92% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ 2.85%
อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภคเปราะบางมากขึ้นทุกพอร์ตสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยมี NPL อยู่ที่ 3.74% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 3.78% ขณะที่ NPL สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
ทั้งนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิในไตรมาส 1/2564 จำนวน 43.8 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 12% โดยหลักจากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่ลดลง ทั้งนี้ หากเทียบกับไตรมาสก่อน กำไรสุทธิปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายเงินสำรองที่ลดลงจากการกันสำรองในระดับสูงในปี 2563 ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.8% จากไตรมาสก่อนที่ 0.32%
ส่วนอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ลดลงมาอยู่ที่ 2.43% จากไตรมาสก่อนที่ 2.52%
@ปล่อยซอฟต์โลนล็อตใหม่ 4.4 พันล.-อนุมัติพักทรัพย์พักหนี้ 2 ราย
น.ส.สุวรรณี กล่าวถึงภาพรวมการมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ของธปท. ว่า การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ภายใต้พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft Loan) วงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งปิดรับคำขอไปแล้วนั้น ธปท.อนุมัติสินเชื่อทั้งสิ้น 1.38 แสนล้านบาท มีลูกหนี้ได้รับสินเชื่อ 7.77 หมื่นราย
ส่วนการให้สินเชื่อดอกเบี้นต่ำ ภายใต้พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาทนั้น ในส่วนของสินเชื่อฟื้นฟู ธปท.อนุมัติวสินเชื่อแล้ว 8,225 ล้านบาท มีผู้ได้รับสินเชื่อ 4,454 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละ 1.8 ล้านบาท และสินเชื่อในโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ธปท.อนุมัติได้สินเชื่อแล้ว 750 ล้านบาท มีผู้ได้รับสินเชื่อ 2 ราย โดยเป็นผู้ประกอบการโรงแรม
“โครงการพักทรัพย์พักหนี้ล่าสุดมีการตีโอนทรัพย์แล้ว 750 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นของโครงการฯ และโดยปกติแล้ว เรื่องนี้ต้องใช้เวลาในการเจรจาตกลงเรื่องราคาและการดูแลทรัพย์ต่อ ดังนั้น ในกลุ่มพักทรัพย์พักหนี้ยังต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง แต่เป็นข่าวดีที่มีผู้ประกอบการ 2 รายได้รับอนุมัติแล้ว” น.ส.สุวรรณีกล่าว
อ่านประกอบ :
ฉีดวัคซีนเร็วช่วยฟื้นศก.! 'แบงก์ชาติ' มองจีดีพีปีนี้โต 2%-หวังภาคส่งออกเพิ่มจ้างงาน
พักต้น-ลดดอก-คืนรถได้! ธปท.ประกาศมาตรการช่วยเหลือ 'ลูกหนี้รายย่อย' 4 กลุ่ม
คาดจีดีพีปีนี้ดีสุดโต 2%! กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%-วัคซีนพระเอกฟื้นเศรษฐกิจ
เซ่นโควิดระลอก 3! ‘ธปท.’ เล็งหั่นจีดีพีโตต่ำ 3%-เผยตัวเลขส่งออกมี.ค.พุ่ง 15.8%
โควิดระลอก 3 เขย่าเศรษฐกิจไทย-กระทบเปิดประเทศ ‘วัคซีนทั่วหน้า’ คือ ทางออก
เปิดรายงานกนง. : เศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตต่ำคาด-โควิดซ้ำเติมเหลื่อมล้ำรายได้เลวร้ายลง
กนง.หั่นจีดีพีโตแค่ 3%! เซ่นโควิดรอบสอง-นทท.เหลือ 3 ล้าน คงดบ.นโยบาย 0.5%
ให้กู้ยาว 5 ปี! ครม.ปลดล็อก ‘ซอฟต์โลน’ อุ้มเอสเอ็มอี-เทแสนล.หนุน ‘พักทรัพย์ พักหนี้’
แบงก์ทุนแกร่ง-สภาพคล่องล้น! ธปท.มอง NPL ปี 64 ขยับอีก-ถก'คลัง'ผุด'โกดังเก็บหนี้'
เปิดรายงาน กนง. : แนะรัฐบาล 'ออกแรง' กระตุ้นทางการคลังเพิ่ม
หั่นจีดีพีปี 64! กนง.คาดโตต่ำกว่า 3.2%-มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5%
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/