ธปท.ประกาศมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 ครอบคลุมสินเชื่อ 4 ประเภท ให้ลูกหนี้ยื่นขอ ‘พักเงินต้น-ลดดอกเบี้ย’ เพิ่มทางเลือกลูกหนี้สินเชื่อ ‘จำนำทะเบียนรถ-เช่าซื้อรถ’ ขอคืนรถได้ หากมีหนี้คงเหลือให้ 'เจ้าหนี้' ลดภาระตามฐานะลูกหนี้
....................
เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 ครอบคลุมสินเชื่อ 4 ประเภท ได้แก่ 1.สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 2.สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 3.สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และ4.สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น โดยลูกหนี้สามารถสมัครเข้ารับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินเจ้าหนี้ได้ระหว่างวันที่ 17 พ.ค.-31 ธ.ค.2564
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า สำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลนั้น ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง จะได้รับการพิจารณาขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้มากขึ้นและจ่ายดอกเบี้ยลดลง ส่วนสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ จะเพิ่มทางเลือกในการคืนรถของลูกหนี้ และหากมีภาระหนี้คงเหลือ ให้ผู้บริการทางการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ให้เหมาะสมกับฐานะของลูกหนี้ รวมทั้งเพิ่มทางเลือกในพักชำระค่างวดด้วย
ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์นั้น กรณีที่ลูกหนี้ขอพักชำระหนี้ ให้สถาบันการเงินคิดอัตราดอกเบี้ยเฉพาะบนค่างวดที่พักชำระหนี้เท่านั้น และต้องควบคุมอัตราดอกเบี้ยของสัญญาไม่ให้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเดิม รวมทั้งเพิ่มทางเลือกให้ลูกหนี้ในการคืนรถด้วย และหลังคืนรถแล้ว หากมีภาระหนี้คงเหลือให้ผู้ให้บริการทางการเงินลดภาระให้ลูกหนี้ให้สอดคล้องกับฐานะของลูกหนี้
และสินเชื่อสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย จะเพิ่มทางเลือกให้ลูกหนี้ในการขอพักเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน สำหรับลูกหนี้ที่มีศักยภาพในการชำระหนี้ได้ สามารถเลือกทยอยชำระหนี้เป็นแบบขั้นบันไดได้
“ตรงนี้เป็นมาตรการเสริมที่จะตอบโจทย์ให้ลูกหนี้รายย่อยในสถานการณ์โควิดระลอก 3 ซึ่งมีสัญญาณว่าลูกหนี้กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการว่างงานและรายได้หดหายไป ส่วนลูกหนี้ที่มีศักยภาพ เราอยากให้ทยอยชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นการชะลอ แต่ดอกเบี้ยยังเดินอยู่ และเพื่อให้มาตรการเหล่านี้เป็นรูปธรรม ธปท.ได้หาช่องทางให้ลูกหนี้แจ้งความประสงค์กับเจ้าหนี้เพื่อขอรับความช่วยเหลือแล้ว” นายรณดลกล่าว
นายรณดล กล่าวถึงการต่ออายุมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่จะสิ้นสุดอายุลงวันที่ 30 มิ.ย.2564 ว่า ธปท.และอยู่ระหว่างพิจารณา อย่างไรก็ตาม ธปท.มองว่าการพักชำระหนี้อาจเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดนัก จึงมุ่งเน้นให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้เอสเอ็มอี ส่วนแนวโน้มหนี้เสีย (NPL) นั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ธปท.มั่นใจว่ามาตรการเชิงรุกในการช่วยเหลือลูกหนี้จะทำให้หนี้เสียไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ซึ่งธปท.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นางวิเรขา สันตะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธปท. กล่าวถึงรายละเอียดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 โดยแบ่งเป็นสินเชื่อ 4 ประเภท ดังนี้
บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล
1.เปลี่ยนเป็นหนี้ระยะยาว หรือ ลดค่างวด
2.กรณีขยายระยะเวลาเกินกว่า 48 งวด ให้ผู้ให้บริการทางการเงินทบทวนอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าอัตราที่กำหนด
3.รวมหนี้ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่น
สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์
สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์
1.ลดค่างวด
2.สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง พิจารณาใน 2 ทางเลือก
-พักชำระค่างวด
-การคืนรถ สำหรับลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ หากราคาขายประมูลได้จริงต่ำกว่าภาระหนี้ตามสัญญา ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้
3.รวมหนี้ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่น
จำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์
1.ลดค่างวด
2.รวมหนี้ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่น
สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
เช่าซื้อรถยนต์
1.ลดค่างวด หรือ ขยายเวลา
2.สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง พิจารณาใน 2 ทางเลือก
-พักชำระค่างวด โดยยกเว้นดอกเบี้ยในช่วงที่พัก หรือคิดดอกเบี้ยจากฐานค่างวดในช่วงที่พักชำระหนี้
-การคืนรถ สำหรับลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ หากราคาขายประมูลได้จริงต่ำกว่าภาระหนี้ตามสัญญาผู้ให้บริการทางการเงินสามารถช่วยลดภาระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานะของลูกหนี้
ทั้งนี้ การช่วยเหลือตามข้อ 1 และ 2 เมื่อคำนวณอัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา (EIR : Effective Interest Rate) ต้องไม่สูงกว่า EIR เดิม
3.รวมหนี้ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่น
4.หากลูกหนี้ชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียวเพื่อปีดบัญชี ให้ลดดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระไม่น้อยกว่า 50% ตามข้อกำหนดของ สคบ.
เช่าซื้อรถจักรยานยนต์
1.ลดค่างวด หรือ ขยายเวลา เมื่อคำนวณ EIR ใหม่ตลอดอายุสัญญาต้องไม่สูงกว่า EIR เดิม
2.รวมหนี้ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่น
3.หากลูกหนี้ชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียวเพื่อปีดบัญชี ให้ลดดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระไม่น้อยกว่า 50% ตามข้อกำหนดของ สคบ.
สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน
1.บรรเทาภาระหนี้ โดยลดค่างวด หรือ พักเงินต้นและจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน หรือ พักเงินต้นและพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ย หรือ พักชำระค่างวด
2.ทยอยชำระคืนเป็นขั้นบันได (step up) ตามความสามารถของลูกหนี้ หลังลดค่างวดหรือพักชำระหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยหรือ มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน
3.รวมหนี้ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่น
“ผู้ให้บริการทางการเงินให้ความช่วยเหลือมากกว่ามาตรการของ ธปท. โด้ ตามนโยบายของแต่ละแห่งที่จะประกาศให้ทราบ ส่วนลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพ ขอให้ชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้มีภาระการจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในระยะยาว” นางวิเรขาระบุ
นางวิเรขา ยังกล่าวว่า ธปท.ได้ขยายเวลาการลงทะเบียนมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564 โดยลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ทุกสถานะทั้งที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย (NPL) เป็น NPL ตั้งแต่ก่อนฟ้องหรืออยู่ระหว่างการฟ้อง และเป็น NPL ที่มีคำพิพากษาหรือถูกบังคับคดีแล้ว สามารถสมัครขอไกล่เกลี่ยหนี้ตามเงื่อนไขของมหกรรมฯได้ผ่านเว็ปไซด์ของธปท. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ให้บริการทางการเงินที่เข้าร่วมโครงการ
อ่านประกอบ :
ส.ธนาคารไทย-แบงก์’ ขยายเวลาช่วยเหลือ 'ลูกหนี้รายย่อย-เอสเอ็มอี' ถึง 30 มิ.ย.64
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/