‘จินตนันท์-พล.อ.นิพัทธ์’แห้ว! ศาล รธน.ตีตกหลังไม่ถูกสรรหาเป็น กสม. ชี้ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แม้ตีความว่า สนช. ไม่เหมือน ส.ส.-ส.ว. ก็ตาม เหตุไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าปฏิบัติไม่เป็นธรรม
.......................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมปรึกษา เรื่องพิจารณาที่ ต.44/2563 โดยผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) โดยการร้องเรียนของ น.ส.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร และ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย กรณีคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กรรมการสรรหา กสม. ผู้ถูกร้อง) วินิจฉัยตัดสิทธิ น.ส.จินตนันท์ และ พล.อ.นิพัทธ์ ในการเข้ารับการสรรหาเป็น กสม. เนื่องจากเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ขอให้สั่งเพิกถอนมติที่วินิจฉัยตัดสิทธิผู้ร้องเรียนทั้งสอง พร้อมกับคืนสิทธิผู้ร้องเรียนทั้งสองในการเป็นผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กสม.
โดยศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 10 บัญญัติลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่ง กสม. ใน (18) เป็นหรือเคยเป็น ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะ 10 ปีก่อนเข้ารับการสรรหา
รัฐธรรมนูญ มาตรา 263 วรรคหนึ่ง เป็นบทเฉพาะกาลบัญญัติให้ระหว่างที่ยังไม่มี ส.ส. และ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญนี้ให้ สนช. ที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ยังคงทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาต่อไป และให้ สนช. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ทำหน้าที่เป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ตามลำดับตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
ศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยที่ 1/2560 วินิจฉัยไว้แล้วว่า บทเฉพาะกาลที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นบทบัญญัติที่ยกเว้นเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องมีขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับก่อนกับฉบับปัจจุบัน เพื่อให้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างราบรื่น และเหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองในระยะเริ่มแรก รวมทั้งเพื่อให้องค์กรนั้นสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยมิให้เกิดช่องว่างอันจะส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ต้องหยุดชะงัก จนกว่ากลไกที่กำหนดขึ้นใหม่หรือใช้บังคับนั้นมีความพร้อมหรือสามารถดำเนินการได้ แล้วแต่กรณี
การปฏิบัติหน้าที่ของ สนช. จึงอยู่ในฐานะการทำหน้าที่แทน ส.ส. และ ส.ว. ชั่วคราว ในสถานการณ์ที่จำเป็นระหว่างรอการจัดตั้งองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ประกอบกับเมื่อพิจารณาคุณสมบัติ ที่มา ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง และกรณีอื่นอีกหลายประการของ สนช. มีความแตกต่างจาก ส.ส. และ ส.ว. การที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 263 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ สนช. ‘ทำหน้าที่เป็น’ ส.ส. หรือ ส.ว. ตามลำดับนั้น ย่อมหมายถึง การให้ สนช. ทำภารกิจของตนด้วยความรับผิดชอบอย่าง ส.ส. และ ส.ว. โดยเป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แทนในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา แต่มิได้หมายความว่า สนช. ‘เป็น’ ส.ส. หรือ ส.ว. ดังนั้นการที่ผู้ร้องเรียนทั้งสองเคยดำรงตำแหน่ง สนช. ไม่ถือว่าเคยเป็น ส.ส. หรือ ส.ว.
คดีนี้ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติของผู้ถูกร้องดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 โดยอ้างว่าไม่สอดคล้องกับการวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหา กสม. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน มติดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ขัดต่อหลักความเสมอภาคนั้น เห็นว่า ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคณะกรรมการสรรหา กสม. เคยให้ผู้อื่นที่เป็นหรือเคยเป็น สนช. ได้รับการสรรหาเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็น กสม. แต่ปรากฏตามคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและเอกสารประกอบของผู้ถูกร้องว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการสรรหา กสม. วินิจฉัยมาโดยตลอดว่า บุคคลใดที่เคยเป็นหรือเป็น สนช. มีลักษณะต้องห้าม ทำให้ไม่มีสิทธิเข้ารับการสรรหาได้ ซึ่งไม่มีความแตกต่างไปจากการวินิจฉัยกรณีของผู้ร้องเรียนทั้งสอง มติดังกล่าวไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาค จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ส่วนคำขออื่นไม่จำต้องวินิจฉัย
ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า มติดังกล่าวของผู้ถูกร้องไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27
อ่านประกอบ :
12 พ.ค.ศาล รธน.นัดวินิจฉัย‘นิพัทธ์-จินตนันท์’โดนตัดสิทธินั่ง กสม.เหตุเคยเป็น สนช.
ศาล รธน.รับคำร้องปม‘นิพัทธ์-จินตนันท์’ถูกตัดสิทธิเข้าสรรหา กสม.เหตุเคยเป็น สนช.
ผู้ตรวจฯส่งศาล รธน.ชี้ขาด‘จินตนันท์-นิพัทธ์’ถูก กก.สรรหา กสม.ตัดสิทธิเหตุเคยเป็น สนช.
ให้ ปธ.สรรหา กสม.แจง!ผู้ตรวจฯรับคำร้อง‘นิพัทธ์-จินตนันท์’ส่งศาล รธน.ตีความตำแหน่ง สนช.
‘พรเพชร’ทูลเกล้าฯ‘สุชาติ’นั่ง กก.ป.ป.ช.ย้ำ สนช.ไม่ใช่ ส.ส.-ส.ว.-ไม่พบช่องส่งศาล รธน.
‘ชวน’นำทีมยืนยันมติ กก.สรรหา กสม.อีกรอบ 8 เสียงชี้‘นิพัทธ์’มีลักษณะต้องห้าม
‘อิศรา’ถาม‘ปธ.ศาลฎีกา’ตอบ! ปัญหาตีความ สนช.นั่งองค์กรอิสระ ช่องโหว่ตรงไหน-ใครชี้ขาด?
ชงศาล รธน.ชี้ขาด แล้วแต่’พรเพชร’! ‘ชวน’เผยคุณสมบัติ‘สุชาติ’นั่ง ป.ป.ช.จบแล้ว
สนช.ไม่ใช่ ส.ส.-ส.ว.! กก.สรรหา ป.ป.ช.ยันซ้ำคุณสมบัติ'สุชาติ'ถูกต้อง-ชง'พรเพชร'ชี้ขาด
ขยายเวลาทูลเกล้าฯ‘สุชาติ’! ‘พรเพชร’นัดแก้ปัญหา สนช.นั่งองค์กรอิสระ-รับ ส.ว.ถูกมัดมือชกโหวต
‘วิษณุ’ปัดตอบปมตีความตำแหน่ง สนช.นั่งองค์กรอิสระ-ชี้ช่องส่งศาล รธน.วินิจฉัยได้
เปิดคำชี้แจง'สุชาติ'ถึง กมธ.สอบประวัติฯ ยัน สนช.ไม่มีลักษณะต้องห้ามนั่งองค์กรอิสระ
เอาผิด 219 ส.ว.! ‘ศรีสุวรรณ’รุดยื่นผู้ตรวจฯชงศาล รธน.-ศาล ปค.ตีความตำแหน่ง สนช.
เดิมพันเก้าอี้!‘สมชาย’ลั่น สนช.ไม่ใช่ ส.ส.-ส.ว.-‘ศรีสุวรรณ’ยื่นผู้ตรวจฯชงศาล รธน.ตีความ
ส่งศาล รธน.ไม่ได้! เลขาวุฒิสภาเผยเป็นอำนาจ กก.สรรหาปมตีความตำแหน่ง สนช.ต่างกัน
ใครเป็นใคร? เปิดโครงสร้าง กก.สรรหาองค์กรอิสระ vs กสม. ไฉนตีความตำแหน่ง สนช.ต่างกัน?
พลิกปม กก.สรรหา กสม. vs ป.ป.ช. ตีความตำแหน่ง สนช.ต่างกัน-ส่งศาล รธน.วางบรรทัดฐาน?
มติกรรมการสรรหา กสม.’นิพัทธ์ ทองเล็ก’มีลักษณะต้องห้าม เหตุพ้น สนช.ไม่เกิน 10 ปี
ที่ประชุม ส.ว.เสียงข้างมากเห็นชอบ‘ณัฐจักร-สุชาติ’ เป็น กก.ป.ป.ช.ใหม่
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/