“...ความเหมือนกันในคณะกรรมการสรรหา 3 ตำแหน่งแรก ได้แก่ ประธานศาลฎีกา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และประธานศาลปกครองสูงสุด แต่แตกต่างกันในส่วนของคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระอื่น ๆ จะให้มีตัวแทนขององค์กรอิสระหน่วยงานละ 1 แห่ง มาเป็นกรรมการสรรหา ขณะที่คณะกรรมการสรรหา กสม. จะให้ตัวแทนเอกชนองค์กรสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ตัวแทนวิชาชีพทางการแพทย์ และอาจารย์ เข้ามาเป็นด้วย…”
ประเด็นการตีความตำแหน่ง สนช. ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวุฒิสภา ภายหลังคณะกรรมการสรรหา กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการสรรหา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีความเห็นเรื่องคุณสมบัติของบุคคลผู้เข้าการสรรหาไม่เหมือนกัน ?
เนื่องจากคณะกรรมการสรรหา กรรมการ ป.ป.ช. ให้นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และอดีต สนช. ปี 2559-2562 ผ่านคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
แต่คณะกรรมการสรรหา กสม. ที่ประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา มีมติเสียงข้างมากว่า พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีต สนช. ปี 2557-2562 มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 10 (18) โดยตีความว่า สนช. คือตำแหน่งเดียวกับ ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งต้องพ้นจากตำแหน่ง 10 ปีก่อนเข้ารับการสรรหา (อ่านประกอบ : พลิกปม กก.สรรหา กสม. vs ป.ป.ช. ตีความตำแหน่ง สนช.ต่างกัน-ส่งศาล รธน.วางบรรทัดฐาน?)
เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากที่ประชุมวุฒิสภาลงมติเห็นชอบให้นายสุชาติเป็นกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว โดยขั้นตอนอยู่ระหว่างให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา นำรายชื่อทูลเกล้าฯถวาย
เงื่อนปมที่น่าสนใจคือ การตีความข้อกฎหมายระหว่างคณะกรรมการสรรหา กรรมการ ป.ป.ช. และคณะกรรมการสรรหา กสม. ไม่เหมือนกัน อาจเป็นเพราะโครงสร้างในคณะกรรมการสรรหาที่แตกต่างกันด้วย ?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นโครงสร้างคณะกรรมการสรรหากรรการในองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 พบรายละเอียด ดังนี้
ตามมาตรา 217 เมื่อมีกรณีจะต้องสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ นอกจาก กสม. ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหา ตามมาตรา 203 ที่จะดำเนินการสรรหา เว้นแต่กรรมการสรรหาตามมาตรา 203 (4) ให้ประกอบด้วยบุคคลซึ่งแต่งตั้งโดยศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่องค์กรอิสระที่ต้องมีการสรรหา
มาตรา 203 คือการตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยหากนับตามมาตรา 217 คือให้หมายรวมถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระอื่น ๆ ได้แก่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ยกเว้นกรรมการ กสม. ที่ให้พิจารณาตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560
การตั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการองค์กรอิสระ ตามมาตรา 217 ประกอบมาตรา 203 ได้แก่ (1) ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ (2) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ (3) ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ (4) บุคคลซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 201 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 202 และไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ ในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ องค์กรละ 1 คน เป็นกรรมการ
กรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการสรรหาตาม (2) หรือกรรมการสรรหาตาม (4) มีไม่ครบ ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้คณะกรรมการสรรหาประกอบด้วยกรรมการสรรหาเท่าที่มีอยู่ โดยให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา
กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัคร ผู้ได้รับการคัดเลือกหรือได้รับการสรรหา ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด
ในการสรรหา ให้คณะกรรมการสรรหาปรึกษาหารือเพื่อคัดสรรให้ได้บุคคลซึ่งมีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ และมีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม โดยนอกจากการประกาศรับสมัครแล้ว ให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการสรรหาจากบุคคลที่มีความเหมาะสมทั่วไปได้ด้วย แต่ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลนั้น (อ่านรัฐธรรมนูญปี 2560 : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF)
ส่วนการสรรหาของ กสม. นั้น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 246 วรรคสี่ กำหนดให้คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การสรรหา และการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการ กสม. ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.กสม. ทั้งนี้บทบัญญัติเกี่ยวกับการสรรหาต้องกำหนดให้ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนมีส่วนร่วมในการสรรหาด้วย
พ.ร.บ.กสม. มาตรา 11 ระบุว่า เมื่อมีกรณีที่จะต้องสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งประกอบด้วย (1) ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ (2) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ (3) ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ (4) ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน องค์กรละ 1 คน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 3 คน เป็นกรรมการ (5) ผู้แทนสภาทนายความ 1 คน ผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน และผู้แทนสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน เป็นกรรมการ (6) อาจารย์ประจำหรือผู้เคยเป็นอาจารย์ประจำในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งสอนหรือทำงานวิจัยหรือทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ซึ่งกรรมการตาม (1) (2) (3) (4) และ (5) มีมติเลือก 1 คน เป็นกรรมการ ให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา
ทั้งนี้องค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนตาม (4) และสภาวิชาชีพตาม (5) ต้องเป็นองค์กรหรือสภาวิชาชีพที่ได้จดแจ้งไว้กับสำนักงาน โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจดแจ้ง การรับจดแจ้ง และการเลือกกันเองให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด โดยต้องกำหนดให้มีการเลือกกันเองให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน นับแต่วันที่มีกรณีต้องรรหาผู้สควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กสม. (อ่าน พ.ร.บ. กสม. : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/123/1.PDF)
เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระเกือบทั้งหมด ได้แก่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการ คตง. เทียบกับคณะกรรมการสรรหา กสม. แล้ว เห็นได้ว่า มีความเหมือนกันในคณะกรรมการสรรหา 3 ตำแหน่งแรก ได้แก่ ประธานศาลฎีกา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และประธานศาลปกครองสูงสุด
แต่แตกต่างกันในส่วนของคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระอื่น ๆ จะให้มีตัวแทนขององค์กรอิสระหน่วยงานละ 1 แห่ง มาเป็นกรรมการสรรหา ขณะที่คณะกรรมการสรรหา กสม. จะให้ตัวแทนเอกชนองค์กรสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ตัวแทนวิชาชีพทางการแพทย์ และอาจารย์ เข้ามาเป็นด้วย
ด้วยความแตกต่างนี้ อาจส่งผลให้การใช้ดุลพินิจการพิจารณาตีความข้อกฎหมายเกี่ยวกับตำแหน่ง สนช. ไม่เหมือนกัน ?
ทั้งที่เนื้อความในกฎหมายเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว กล่าวคือ
พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 11 ระบุสาระสำคัญใน (18) ว่า กรรมการ ป.ป.ช. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็น หรือเคยเป็น ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะ 10 ปี ก่อนเข้ารับการสรรหา
ส่วน พ.ร.บ.กสม. มาตรา 10 ระบุสาระสำคัญใน (18) ว่า กรรมการ กสม. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็น หรือเคยเป็น ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะ 10 ปี ก่อนเข้ารับการสรรหา
นี่จึงเป็นประเด็นสำคัญที่นายพรเพชร จำเป็นต้องสะสางให้เคลียร์ โดยการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานให้กระจ่างชัดเสียก่อน เพื่อให้การสรรหากรรมการองค์กรอิสระ และกรรมการ กสม. ในภายภาคหน้าเป็นไปอย่างเรียบร้อยต่อไป !
อ่านประกอบ :
พลิกปม กก.สรรหา กสม. vs ป.ป.ช. ตีความตำแหน่ง สนช.ต่างกัน-ส่งศาล รธน.วางบรรทัดฐาน?
มติกรรมการสรรหา กสม.’นิพัทธ์ ทองเล็ก’มีลักษณะต้องห้าม เหตุพ้น สนช.ไม่เกิน 10 ปี
ที่ประชุม ส.ว.เสียงข้างมากเห็นชอบ‘ณัฐจักร-สุชาติ’ เป็น กก.ป.ป.ช.ใหม่
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/