"...การตีความที่เป็นการตัดสิทธิบุคคลโดยไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายชัดแจ้งของคณะกรรมการสรรหาชุดแรก ๆ จะก่อให้เกิดปัญหาแก่คณะกรรมการสรรหาในชุดต่างๆ ในอนาคต กล่าวคือ คณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีหลายคณะ แต่ละคณะก็มิใช่บุคคลเดียวกันทั้งหมด หากคณะกรรมการสรรหาชุดแรกวินิจฉัยตัดสิทธิผู้สมัครเข้ารับการสรรหาไปแล้ว แต่การวินิจฉัยดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายดังที่กล่าวมาข้างต้น จะทำให้เกิดแนวบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องตามมา มติของคณะกรรมการสรรหาชุดก่อนจึงไม่ควรใช้เป็นแนวทางแก่คณะกรรมการสรรหาชุดหลัง..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระหว่างปี 2559-2562 ทำหนังสือชี้แจงประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ และ กมธ.สามัญเพื่อหน้าที่ตรวจสอบประวัติความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา
----
กระผม นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ข้าราชการตุลาการ ตำแหน่ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี ผู้สมัครเข้ารับการแต่งตั้งเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (แทนตำแหน่งที่ว่าง) มีคุณสมบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 โดยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษามาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปี ขณะเดียวกันในวันที่ 8 ตุลาคม 2559 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กระผมดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2562 โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 12 องค์กรอิสระ มาตรา 216 บัญญัติว่า “นอกจากคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยองค์กรอิสระแต่ละองค์กรแล้ว ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามทั่วไป ดังต่อไปนี้ด้วย (3) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 202” ส่วนมาตรา 202 บัญญัติว่า “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ (4) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง...ในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา...” ภายหลังมีการตรา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 บัญญัติอนุวัตรการตามรัฐธรรมนูญปรากฏในมาตรา 11 บัญญัติว่า “กรรมการต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ (18) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา” ต่อมาในการประชุมกรรมการสรรหาองค์กรอิสระองค์กรหนึ่งมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องพิจารณาว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่
ที่มาของเรื่องมาจากการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีผู้สมัครเข้ารับการสรรหาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมการสรรหาชุดดังกล่าว เห็นว่า ผู้สมัครเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คือเป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา ตามมาตรา 9 (18) จึงถูกตัดสิทธิไม่ได้เข้ารับการสรรหา ซึ่งบทบัญญัติพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 9 (18) กับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 11 (18) บัญญัติลักษณะต้องห้ามเหมือนกัน
การสรรหากรรมการป้องกันและปราปรามการทุจริตแห่งชาติ (แทนตำแหน่งที่ว่าง) ในครั้งนี้ กระผมเป็นผู้สมัครรวมอยู่ด้วย เป็นที่แน่นอนว่าปัญหาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติคงจะได้รับการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง กระผมจึงขอกราบเรียนชี้แจงในเรื่องดังกล่าว เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการสรรหา ดังต่อไปนี้
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 6 บัญญัติให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ทำหน้าที่จึงเท่ากับ สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีหน้าที่ทำแทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาและรัฐสภา สถานะจึงมีความแตกต่างกัน ตั้งแต่ชื่อตำแหน่ง คุณสมบัติ สิทธิประโยชน์บางประการ เช่น คุณสมบัติของสมาชิกสภานิติบัญญัติสามารถเป็นข้าราชการในขณะเดียวกันได้ แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาโดยการคัดเลือก ไม่สามารถเป็นข้าราชการได้ เดิมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และ 2550 บัญญัติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ได้รับบำเหน็จบำนาญได้ตามพระราชกฤษฎีกา แต่มีการตีความว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่สามารถรับบำเหน็จบำนาญได้ตามพระราชกฤษฎีกา เพราะมิใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา
2. ประเด็นที่นำไปสู่การตีความให้ตัดสิทธิผู้สมัครเข้ารับการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เกิดบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 263 วรรคสอง บัญญัติว่า “สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นอกจากจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แล้ว ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม รวมทั้งเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกภาพตามที่บัญญัติไว้สำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ ดังต่อไปนี้ด้วย
(1) มาตรา 98 ยกเว้น (3) (12) (13) (14) และ (15)
(2) มาตรา 101 ยกเว้น (ก) กรณีตาม (6) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 ยกเว้น (3) (12) (13) (14) และ (15) และ (ข) กรณีตาม (7) เฉพาะในกรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติการตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 184 (1) (3) มาตรา 108 ยกเว้น ก. คุณสมบัติตาม (3) และ (4) และ ข. ลักษณะต้องห้ามตาม (1) (2) และ (7) แต่เฉพาะกรณีตาม (1) นั้น ไม่รวมส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (3) และ (15) มิให้นำมาตรา 112 มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ห้ามมิให้บุคคลดำรงตำแหน่งทางการเมือง มิให้นำมาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามมาตรา 264 ข้าราชการการเมืองที่ตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 264 หรือเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 265 หรือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามมาตรานี้
ในระหว่างที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ตามวรรคหนึ่ง ให้อำนาจของประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายเป็นอำนาจของประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ในระหว่างที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง หากมีตำแหน่งว่างลง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามวรรคสอง เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติแทนก็ได้
เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายหลังจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติภายในเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้”
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสมัครเข้าเป็นกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คือ มาตรา 98 บุคคลต้องห้ามสิทธิรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะต้องไม่เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกิน 2 ปี มาตรา 101 สมาชิกภาพสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 มาตรา 184 (1) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ดำรงตำแหน่งหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น มาตรา 112 บุคคลผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้วยังไม่เกิน 2 ปี จะเป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมิได้ เป็นต้น
ลักษณะต้องห้ามของการเป็นสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังกล่าว มาตรา 263 บัญญัติให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้รับการยกเว้นทั้งหมด จึงทำให้เกิดการตีความว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และตีความต่อไปว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีลักษณะต้องห้ามมิให้รับการสรรหาเข้าสู่ตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การตีความดังกล่าวทำให้เกิดความลักลั่นในเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้
1. บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะต้องมีความสอดคล้องกันทั้งฉบับ หากจะเกิดปัญหาการบังคับใช้ที่ขัดหรือแย้งกันก็ต้องเป็นความขัดแย้งกันของบทบัญญัติกฎหมายเอง มิใช่เกิดจากการตีความทำให้เกิดการขัดหรือแย้งกัน กล่าวคือ รัฐธรรมนูญมาตรา 263 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาตามลำดับ เท่ากับว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่ใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา การที่คณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระอื่นตีความว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีลักษณะต้องห้ามมิให้เข้ารับการสรรหาเท่ากับว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ทั้งที่บทบัญญัติหลักไม่มีเจตนารมณ์ให้สถานะของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นดังนั้น การตีความจึงเป็นเป็นการตีความที่ขัดต่อบทบัญญัติทางรัฐธรรมนูญที่ใช้ข้อยกเว้นมายกเลิกหลักการและไม่เป็นไปในทางเดียวกัน
2. การบัญญัติมาตรา 263 ที่มิให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กรณีเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าว รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติที่จะรับรองว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา แต่มาตรา 263 เป็นบทบัญญัติเพื่อป้องกันปัญหาการตีความว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาจะเข้าสู่การดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้หรือไม่ อันเป็นยุติปัญหาข้อกฎหมายลงด้วยการตราบทบัญญัติให้ชัดแจ้ง กล่าวคือ แม้รัฐธรรมนูญจะไม่มีบทบัญญัติตามมาตรา 263 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็สามารถเข้าสู่การดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ แต่ในทางการเมืองก็อาจจะเป็นช่องทางนำเสนอข้อกฎหมายดังกล่าวออกมาเป็นประเด็นให้มีการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก่อให้เกิดปัญหาความล่าช้าในการเลือกตั้งและการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาได้
3. การจำกัดสิทธิของบุคคลผู้เข้ารับการสรรหาหรือสิทธิต่างๆนั้น จะต้องเกิดจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 26 คือ การตรากฎหมายเป็นกฎหมายที่เป็นไปตามเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรมฯ การตีความกฎหมายเพื่อให้เกิดการตัดสิทธิของบุคคล โดยไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายโดยชัดแจ้งเป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมายเพราะบุคคลจะไม่ทราบสถานะของตนเองที่แน่นอน กรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติชัดแจ้งมีแต่การตีความในลักษณะขยายสิทธิเท่านั้น อีกทั้งการตัดสิทธินี้ไม่สอดคล้องกับหลักการความเสมอภาค กล่าวคือในการพิจารณาตราพระราชกฤษฎีกาบำเหน็จบำนาญสมาชิกรัฐสภาก็ตีความว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมิใช่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ทำให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดก่อนๆ ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญ แต่การสรรหากรรมการในองค์กรอิสระตีความว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ทำให้ไม่มีคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามมิให้เข้ารับการสรรหาในตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆตามรัฐธรรมนูญ
4. การตีความมาตรา 263 เกี่ยวกับสถานภาพของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา แล้วตีความต่อไปว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีลักษณะต้องห้ามมิให้เป็นกรรมการในองค์กรอิสระนั้น เป็นการตีความแบบการใช้กฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง (Analogy) ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกตีความว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ครั้งที่สองนำผลตีความในครั้งแรกมาปรับใช้กับผู้เข้ารับการสรรหาในองค์กรอิสระ
กระผมขอเรียนว่า มาตรา 263 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับสถานะความสัมพันธ์ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา รัฐมนตรี เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระแต่อย่างใด การตีความโดยใช้กฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งเป็นการตีความแบบกฎหมายแพ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายเอกชนไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายมหาชนที่ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายโดยชัดแจ้งแล้วจะต้องตีความตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยตาม มาตรา 5 ซึ่งเป็นหลักกฎหมายทั่วไปเท่านั้น ในกรณีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลผู้เข้ารับการสรรหาในองค์กรอิสระยิ่งไม่จำต้องตีความตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 5 แต่อย่างใด เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติโดยแจ้งชัดแล้วว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา เท่านั้น มิใช่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒฺสภา แต่อย่างใด
5. การตีความที่เป็นการตัดสิทธิบุคคลโดยไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายชัดแจ้งของคณะกรรมการสรรหาชุดแรก ๆ จะก่อให้เกิดปัญหาแก่คณะกรรมการสรรหาในชุดต่างๆ ในอนาคต กล่าวคือ คณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีหลายคณะ แต่ละคณะก็มิใช่บุคคลเดียวกันทั้งหมด หากคณะกรรมการสรรหาชุดแรกวินิจฉัยตัดสิทธิผู้สมัครเข้ารับการสรรหาไปแล้ว แต่การวินิจฉัยดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายดังที่กล่าวมาข้างต้น จะทำให้เกิดแนวบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องตามมา มติของคณะกรรมการสรรหาชุดก่อนจึงไม่ควรใช้เป็นแนวทางแก่คณะกรรมการสรรหาชุดหลัง
ดังที่กระผมกราบเรียนอธิบายมาทั้งหมดนี้ กระผมเห็นโดยสุจริตใจว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และองค์กรอิสระอื่น ๆ กระผมจึงเข้าสมัครเข้ารับการสรรหาในครั้งนี้ ขอคณะกรรมาธิการฯ โปรดพิจารณาเกี่ยวกับสถานะคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในการเข้ารับการสรรหากรรมการองค์กรอิสระอีกครั้งหนึ่ง
จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
(นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข)
ผู้สมัครเข้ารับการสรรหา
หมายเหตุ : ภาพประกอบ นายสุชาติ จาก Justice Officials Training Institute
อ่านประกอบ :
เอาผิด 219 ส.ว.! ‘ศรีสุวรรณ’รุดยื่นผู้ตรวจฯชงศาล รธน.-ศาล ปค.ตีความตำแหน่ง สนช.
เดิมพันเก้าอี้!‘สมชาย’ลั่น สนช.ไม่ใช่ ส.ส.-ส.ว.-‘ศรีสุวรรณ’ยื่นผู้ตรวจฯชงศาล รธน.ตีความ
ส่งศาล รธน.ไม่ได้! เลขาวุฒิสภาเผยเป็นอำนาจ กก.สรรหาปมตีความตำแหน่ง สนช.ต่างกัน
ใครเป็นใคร? เปิดโครงสร้าง กก.สรรหาองค์กรอิสระ vs กสม. ไฉนตีความตำแหน่ง สนช.ต่างกัน?
พลิกปม กก.สรรหา กสม. vs ป.ป.ช. ตีความตำแหน่ง สนช.ต่างกัน-ส่งศาล รธน.วางบรรทัดฐาน?
มติกรรมการสรรหา กสม.’นิพัทธ์ ทองเล็ก’มีลักษณะต้องห้าม เหตุพ้น สนช.ไม่เกิน 10 ปี
ที่ประชุม ส.ว.เสียงข้างมากเห็นชอบ‘ณัฐจักร-สุชาติ’ เป็น กก.ป.ป.ช.ใหม่
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/