‘ศรีสุวรรณ’ รุดยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาล รธน.-ศาลปกครอง ตีความตำแหน่ง สนช. เหมือน ส.ส.-ส.ว. หรือไม่ หลังที่ประชุมวุฒิสภาให้ความเห็นอดีต สนช. พ้นตำแหน่งไม่เกิน 10 ปี นั่งกรรมการ ป.ป.ช. ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2563 ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณายื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง กรณีที่ ส.ว. ให้ความเห็นชอบบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 11 (18) ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. คนใหม่ โดยเป็นการกระทำโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือไม่ มีนายปิยะ ลือเดชกุล ผอ.สำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้รับเรื่อง
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ตามที่ที่ประชุมวุฒิสภา ได้ร่วมกันลงคะแนนให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา โดยโหวตให้ความเห็นชอบนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระหว่างปี 2559-2562 ด้วยคะแนนเห็นชอบ 219 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 12 เสียง ไม่ออกเสียง 8 เสียง ความดังทราบแล้วนั้น แต่เนื่องจากพ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.2561 มาตรา 11 (18) บัญญัติไว้ว่ากรรมการ ป.ป.ช. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้ “เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา” ประกอบกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยมีความเห็นว่า สนช.ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่บัญญัติให้ สนช.ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา จึงมีหน้าที่ยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ต่อมารัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 263 ได้บัญญัติว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ สนช. ที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ยังคงทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาต่อไป และให้สมาชิก สนช.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ตามลำดับตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และให้ สนช. และสมาชิก สนช. สิ้นสุดลงในวันก่อนวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้
นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า ดังนั้นเมื่อนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข เคยได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เป็นสมาชิก สนช. เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 และพ้นจากตำแหน่ง สนช. ถือว่าเป็นข้าราชการการเมือง เมื่อเดือน พ.ค. 2562 นับถึงปัจจุบันพ้นตำแหน่งมาเพียง 1 ปี เท่ากับพ้นตำแหน่งไม่เกิน 10 ปี จึงน่าจะเป็นการขัดต่อลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายบัญญัติดังกล่าว
“ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงเห็นว่าจะต้องหาข้อยุติดังกล่าวโดยจะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 231 ในการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองว่า การที่ ส.ว.ให้ความเห็นชอบบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 11 (18) เป็นการกระทำโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือไม่ และหากศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สมาคมฯจะดำเนินการร้องเอาผิด 219 ส.ว. ที่โหวตให้นายสุชาติเป็น ป.ป.ช.ตามครรลองของกฎหมายต่อไป” นายศรีสุวรรณ กล่าว
อ่านประกอบ :
เดิมพันเก้าอี้!‘สมชาย’ลั่น สนช.ไม่ใช่ ส.ส.-ส.ว.-‘ศรีสุวรรณ’ยื่นผู้ตรวจฯชงศาล รธน.ตีความ
ส่งศาล รธน.ไม่ได้! เลขาวุฒิสภาเผยเป็นอำนาจ กก.สรรหาปมตีความตำแหน่ง สนช.ต่างกัน
ใครเป็นใคร? เปิดโครงสร้าง กก.สรรหาองค์กรอิสระ vs กสม. ไฉนตีความตำแหน่ง สนช.ต่างกัน?
พลิกปม กก.สรรหา กสม. vs ป.ป.ช. ตีความตำแหน่ง สนช.ต่างกัน-ส่งศาล รธน.วางบรรทัดฐาน?
มติกรรมการสรรหา กสม.’นิพัทธ์ ทองเล็ก’มีลักษณะต้องห้าม เหตุพ้น สนช.ไม่เกิน 10 ปี
ที่ประชุม ส.ว.เสียงข้างมากเห็นชอบ‘ณัฐจักร-สุชาติ’ เป็น กก.ป.ป.ช.ใหม่
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/