เปิดคำฟ้อง ‘BTSC’ ฟ้องศาลทุจริตฯกล่าวหา 'ผู้ว่าฯรฟม.-พวก' รวม 7 คน กระทำผิด ‘ม.157-ม.165’ คดีแก้ไขทีโออาร์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ขณะที่ศาลฯนัดฟังคำสั่งในชั้นตรวจคำฟ้องนัดแรก 15 มี.ค.นี้
................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง รับคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อท 30/2564 ไว้ไต่สวนมูลฟ้อง โดยคดีดังกล่าวเป็นคดีที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส และผู้เข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นจำเลยที่ 1
นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการฝ่ายวิศวกรรมและก่อสร้าง รฟม. ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมทุนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นจำเลยที่ 2 ,นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นจำเลยที่ 3 ,นายประสิทธิ์ ศิริภากรณ์ อธิบดีอัยการ ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นจำเลยที่ 4
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (ผอ.สคร.) กรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นจำเลยที่ 5 ,นายอัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นจำเลยที่ 6 และนายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า รฟม. ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นจำเลยที่ 7
ทั้งนี้ BTSC กล่าวหาว่านายภคพงศ์ และพวกรวม 7 คน ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (16) กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 165
ส่วนคำบรรยายฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2563 รฟม.ออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยการพิจารณาข้อเสนอจะพิจารณาทีละซองข้อเสนอตามลำดับ คือ ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน และซองที่ 4 ข้อเสนออื่นๆ เมื่อพิจารณาซองแต่ละลำดับผ่านแล้ว จึงจะได้รับสิทธิในการพิจารณาซองถัดไป
สำหรับการพิจารณาซองที่ 3 นั้น ผู้ที่ยื่นข้อเสนอ NPV ของประโยชน์สุทธิ (เงินตอบแทนที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะให้แก่ รฟม.หักด้วยจำนวนเงินสนับสนุนที่ผู้ยื่นข้อเสนอจะขอรับจาก รฟม.) สูงที่สุด จะเป็นผู้ผ่านการประเมินสูงสุด
ต่อมา รฟม.เปิดขายเอกสารประมูลระหว่างวันที่ 10-24 ก.ค.2563 มีกำหนดรับซองข้อเสนอในวันที่ 23 ก.ย.2563 ทั้งนี้ มีเอกชนเข้าซื้อเอกสาร 10 ราย ซึ่งรวมถึง BTSC ที่เป็นโจทก์ในคดีนี้ด้วย แต่ปรากฏว่าหลังปิดขายซองเอกสารแล้ว เมื่อวันที่ 20 ส.ค.2563 โจทก์ (BTSC) ทราบข่าวว่า จะมีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักเกณฑ์ วิธีการประเมินข้อเสนอที่ประกาศไว้แล้ว ซึ่งเป็นสาระสำคัญของการประมูล และน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น ระหว่างวันที่ 20-28 ส.ค.2563 โจทก์ (BTSC) จึงทำหนังสือโต้แย้งคัดค้านทั้งก่อนและหลัง การประกาศเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในการประเมินข้อเสนอใหม่ของรฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่มีการประกาศเมื่อวันที่ 27 ส.ค.2563 โดยเปลี่ยนแปลงเป็น ให้พิจารณาคะแนนด้านเทคนิคและการลงทุนและผลตอบแทนร่วมกัน โดยคะแนนเทคนิคมีสัดส่วน 30 คะแนน และการลงทุนและผลตอบแทนในสัดส่วน 70 คะแนน แต่โจทก์ไม่ได้รับคำชี้แจงแต่อย่างใด
ทั้งที่การแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินดังกล่าว ขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อนุมัติตามที่คณะกรรมการ PPP เสนอ คือ รัฐต้องได้รับผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ดีที่สุด หรือมีการขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐน้อยที่สุด (NPV ต่ำสุด) จะเป็นผู้ชนะการคัดเลือก และเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์อันเป็นสาระสำคัญในการพิจารณาคัดเลือกฯ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการคัดเลือกและประกาศใช้แล้ว
นอกจากนี้ หลังจากจำเลยที่ 1-7 ได้ออกคำสั่งและมีมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2563 โจทก์ (BTSC) ยื่นฟ้องคดีปกครองกับ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ (จำเลยที่ 2-7 ในคดีนี้) ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติในการออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน เพิ่มเติมครั้งที่ 1 (RFP Addendum No.1) และขอให้ทุเลาการบังคับตามมติดังกล่าว
ต่อมาวันที่ 19 ต.ค.2563 ศาลปกครองมีคำสั่งอนุญาตให้ทุเลาการบังคับ โดยเห็นว่า “…กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม คำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 จึงน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย...” อย่างไรก็ดี ต่อมาในวันที่ 4 พ.ย.2563 รฟม.มีหนังสือแจ้งโจทก์ (BTSC) ว่า รฟม.ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวแล้ว และยังคงกำหนดการยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนในวันที่ 9 พ.ย.2563
ต่อมาวันที่ 9 พ.ย.2563 โจทก์ (BTSC) ร่วมกับบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง และบมจ.ชิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งฯ ในนามกิจการร่วมค้า BSR เข้ายื่นข้อเสนอฯ แต่เมื่อถึงกำหนดเปิดซองข้อเสนอการร่วมลงทุนในวันที่ 23 พ.ย.2563 จำเลยที่ 2-7 กลับไม่เปิดซองข้อเสนอของผู้ยื่นซอง โดยอ้างว่ารอคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลปกครองสูงสุด และปรากฏว่า เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 จำเลยที่ 1 และคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติยกเลิกการประกาศเชิญชวนฉบับลงวันที่ 3 ก.ค.2563
ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ดังกล่าวโจทก์ (BTSC) เห็นว่าจำเลยที่ 1-7 มีการกระทำอันเป็นความผิดคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และมีพฤติการณ์การกระทำผิด พร้อมพยานหลักฐาน สรุปได้ว่า
เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2563 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 (นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ) ในฐานะผู้ว่าการ รฟม. และเป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 2 (นายกิตติกร ตันเปาว์) และจำเลยที่ 7 (นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี) ได้ใช้อำนาจในหน้าที่โดยมิชอบ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยร่วมกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 7 ร่วมประชุมแก้ไขหลักเกณฑ์ในการประเมินข้อเสนอตามเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน เล่มที่ 1 (RFP No.1) ใหม่ กล่าวคือ
จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีอำนาจในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เสนอเรื่องการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน เล่มที่ 1 (RFP No.1) ข้อแนะนำผู้ยื่นข้อเสนอ ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการคัดเลือกฯแล้ว โดยจำเลยที่ 1 ทราบดีว่าไม่สามารถทำได้ตามกฎหมาย และจำเลยที่ 1 ยังเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งการกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำในลักษณะเข้าไปกระทำการกำกับ ควบคุม สั่งการในที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ
โดยจำเลยที่ 1 ได้ให้มีการนำข้อเรียกร้องของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ เพื่อให้มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์วิธีการประเมินข้อเสนอในเอกสำหรับการคัดเลือกเอกชน เล่มที่ 1 (RFP No.1) ทั้งที่ทราบดีแล้วว่า ตนเองในฐานะผู้ว่าการ รฟม. ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะนำเสนอข้อเรียกร้องของเอกชนรายนี้ต่อที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ
ขณะที่จำเลยที่ 2-7 ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ทราบดีว่า ข้อเรียกร้องขอเอกชนรายนี้ พ้นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายเปิดโอกาสให้ รฟม. หน่วยงานเจ้าของโครงการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องแล้ว
ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ในการนำเสนอข้อเรียกร้องของเอกชนรายนี้ จึงเป็นการสมคบคิดกันเพื่อให้จำเลยที่ 2-7 นำข้อเรียกร้องของเอกชนรายนี้เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม โดยจำเลยทุกคนรู้อยู่แล้วว่า ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะนำข้อเรียกร้องนี้มาพิจารณาอีก และจำเลยที่ 2-7 ได้มีมติคณะกรรมการคัดเลือกฯ ให้มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์วิธีการประเมินข้อเสนอฯตามข้อเรียกร้องของเอกชนรายนี้ในที่สุด จึงเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ขณะเดียวกัน จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจหน้าที่ของตนเอง ในฐานะผู้ว่าการ รฟม. เข้ากำกับ ควบคุม รฟม. ชี้นำคณะกรรมการคัดเลือกฯให้ลงมติแก้ไขหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการฯ และออกคำสั่งให้นำมติดังกล่าวบังคับใช้เป็นหลักเกณฑ์ใหม่ในการคัดเลือกเอกชนฯ ขณะที่หลักเกณฑ์การประเมินใหม่ดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายหนึ่งรายใดที่มีคุณสมบัติเฉพาะทางเทคนิคในการก่อสร้างทางลอดใต้ดินและลอดแม่น้ำเจ้าพระยา
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า คดีดังกล่าวศาลฯนัดฟังคำสั่งในชั้นตรวจคำฟ้องนัดแรก หรือคำพิพากษาในวันที่ 15 มี.ค.2564 เวลา 9.30 น.
นายประภาส คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกฯ และจำเลยที่ 5 กล่าวว่า การดำเนินการในส่วนของคดี ทางรฟม.จะเป็นผู้รับผิดชอบ และทราบว่าได้มีการแจ้งกับทางอัยการแล้ว
อ่านประกอบ :
ชำแหละสายสีส้ม! ‘จิรายุ’ ร่าย 16 วันทันใจนาย-‘ศักดิ์สยาม’ถาม‘เอื้อประโยชน์ใคร’
โชว์ชัดๆ ‘ข้อดี-ข้อเสีย’! ก่อนรฟม.ล้มประมูล ‘สายสีส้ม’ โยน 'บิ๊กตู่' ชี้ขาดกติกาใหม่
รฟม.คาดประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ รอบใหม่ ใช้เวลา 6-8 เดือน
หวั่นโครงการล่าช้า! บอร์ดคัดเลือกฯ ล้มประมูล ‘สายสีส้ม’-รฟม.เร่งร่างทีโออาร์ใหม่
ชี้ขาดวันนี้! จับตาบอร์ดคัดเลือกฯล้มประมูล ‘สายสีส้ม’-ชงครม.รับทราบใช้กติกาใหม่
ร้าวลึก! 'บีทีเอส-ภูมิใจไทย' ขัดแย้ง 'สีส้ม' ลามสัมปทาน ‘สีเขียว’-เบรกต่อขยาย 'สีชมพู'
ทูลเกล้าถวายฎีกา! ‘ประธานบีทีเอส’ กรณีรฟม.แก้กติกาประมูลสาย ‘สีส้ม’
เบื้องลึก ‘รฟม.-บีทีเอส’ ร้องกันนัว เปลี่ยนตัว ‘ตุลาการ’ศาล ปค.คดีแก้ทีโออาร์สายสีส้ม
ศึกชิงสายสีส้ม 1.4 แสนล.เดือด! ‘บีทีเอส’ ร้องสอบวินัย 2 ตุลาการ-เพิกถอนกระบวนพิจารณา)
'ศาลปกครองสูงสุด' นัดไต่สวนคำร้อง คดี 'รฟม.' แก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’
ยื่นซองข้อเสนอ 2 ราย! ‘BEM-กลุ่มบีเอสอาร์’ แข่งประมูลรถไฟฟ้า ‘สายสีส้ม’ 1.4 แสนล.
ห้ามใช้หลักเกณฑ์ใหม่ประมูลชั่วคราว! ศาลปค.สั่งคุ้มครองคดีรฟม.แก้ทีโออาร์รถไฟฟ้า 'สีส้ม'
ศาลฯไต่สวนนัดแรก 14 ต.ค.!คดี BTSC ฟ้อง ‘รฟม.’ แก้กติกาประมูลรถไฟฟ้าสาย 'สีส้ม' มิชอบ
รื้อกติกาทำเสียเปรียบ! บีทีเอสห่วงประมูล ‘สายสีส้ม’ ใช้ดุลพินิจมาก-ฟ้องศาลฯใช้TORเดิม
รื้อเกณฑ์ตัดสินประมูล ‘สายสีส้ม’ 1.4 แสนล. 'รฟม.' แหวก ‘กติกา’ รัฐร่วมทุนเอกชน
ครม.ไฟเขียวรถไฟฟ้าสายสีส้ม ‘บางขุนนนท์-มีนบุรี’ 1.42 แสนล.
ปิดดีลรถไฟฟ้า ‘สีส้ม’ ตะวันตก ‘ศักดิ์สยาม’ ชงสัญญาเดียว รัฐอุ้ม 10 ปี 9.6 หมื่นล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/