‘จักรกฤศฏิ์’ มั่นใจศาลฯมีคำสั่งให้ ‘การบินไทย’ ฟื้นฟูกิจการฯ พร้อมตั้งผู้ทำแผนที่ฝ่ายลูกหนี้เสนอ หลังการไต่ส่วนฯนัดสุดท้ายในวันที่ 25 ส.ค.นี้ ก่อนทำแผนฟื้นฟูฯ ทั้งปรับโครงสร้างองค์กร-ปรับโครงสร้างหนี้-ทำแผนธุรกิจใหม่ เสนอที่ประชุมเจ้าหนี้โหวต ลั่นหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน ไม่เกิน 2 ปี บริษัทกลับมามีกำไร เผยจำเป็นต้องลดไซส์องค์กร-ลดเครื่องบินลง 50% ขณะที่บริษัทฯมีสภาพคล่องใช้ได้ถึงสิ้นปี 63
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการ คนที่ 2 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะ 1 ใน 7 คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย ซึ่งเสนอโดยฝ่ายลูกหนี้ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า หลังศาลล้มละลายไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย นัดสุดท้าย ในวันที่ 25 ส.ค.นี้ แล้ว ตนมั่นใจว่าศาลฯ จะมีคำสั่งให้บริษัทฯเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และแต่งตั้งคณะผู้ทำแผนที่เสนอโดยฝ่ายลูกหนี้
“น่าจะเห็นชอบอยู่แล้ว เพราะว่าผู้คัดค้านเป็นรายเล็กรายน้อย ไม่มีเจ้าหนี้รายใหญ่มาคัดค้านเลย โดยเขาอยากให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูฯ เพื่อจะได้กลับมาทำธุรกิจได้ มีเงินไปใช้หนี้เขา และคนที่จะมายื่นคัดค้านนั้น ต้องมีความสามารถในการทำแผน ซึ่งก็ไม่มีเจ้าหนี้รายไหนมายื่นทำแผนแข่ง เพราะฉะนั้น ศาลฯคงให้ความเห็นชอบให้บริษัท การบินไทย เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ” นายจักรกฤศฏิ์กล่าว
นายจักรกฤศฏิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการทำแผนฟื้นฟูกิจการฯนั้น มีสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปหลายอย่าง เช่น การปรับโครงสร้างองค์กร การปรับโครงสร้างหนี้ และต้องมีการจัดทำโมเดลธุรกิจใหม่ให้สอดคล้องกับโจทย์ของธุรกิจสายการบินที่เปลี่ยนแปลงไป โดยบริษัท การบินไทย จะมีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจสายการบินให้เข้ามาช่วยจัดทำแผนธุรกิจใหม่ว่า ต่อจากนี้ไปบริษัท การบินไทย จะบินอย่างไร บินเส้นทางไหนบ้าง และมีเครื่องบินกี่ลำ เป็นต้น
นายจักรกฤศฏิ์ คาดว่า การจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จะแล้วเสร็จภายใน 3-5 เดือน และจะเสนอให้ที่ประชุมเจ้าหนี้โหวตรับแผนหรือไม่ในช่วงไตรมาส 1/64 จากนั้นจะเสนอให้ศาลฯเห็นชอบ และเข้าสู่ขั้นตอนการบริหารแผนต่อไป
“การจะบินอย่างไรเป็นโจทย์หนักที่เราต้องหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วย เพราะธุรกิจการบินจากนี้จะเปลี่ยนไป คนไม่ได้บินเหมือนปกติแล้ว แล้วจุดที่จะบิน บินไปไหนบ้าง จำนวนเครื่องควรเหลือเท่าไหร่ เป็นเรื่องที่เรากำลังทำ ถ้าทำตรงนี้ได้ จะบอกได้ว่าธุรกิจเป็นอย่างนี้ เรามีรายได้อย่างนี้ กระแสเงินสดเป็นอย่างนี้ ฉะนั้น หนี้ที่มีอยู่ต้องมาดูว่าจะยืดอย่างไร ตัดอย่างไร ถ้ายืด 30 ปีแล้วใช้ไม่หมด ต้องเริ่มตัด เจรจากับเจ้าหนี้ว่าใครจะตัด ใครจะแปลงหนี้เป็นทุน” นายจักรกฤศฏิ์ระบุ
นายจักรกฤศฏิ์ ยืนยันว่า การบินไทย ยังไม่มีปัญหาการขาดสภาพคล่อง โดยบริษัทฯมีสภาพคล่องใช้ได้สิ้นปี 63 ส่วนการขอกู้เงินก้อนใหม่นั้น จะขอได้ก็ต่อเมื่อแผนฟื้นฟูกิจการฯได้รับความเห็นชอบแล้ว และการขอกู้เงินแต่ละครั้งต้องขอกู้เงินผ่านศาลฯ รวมทั้งผู้ให้กู้ต้องได้บุริมสิทธิ (สิทธิของเจ้าหนี้ที่มีเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้อันค้างชำระแก่ตนจากทรัพย์สินนั้นก่อนเจ้าหนี้อื่นตามที่กฎหมายกำหนด)
“สภาพคล่องตอนนี้ เงินเราใช้ได้ถึงสิ้นปี และแม้ว่าระหว่างนี้เราจะยังกู้เงินเพิ่มไม่ได้ เพราะแผนยังไม่เสร็จ ซึ่งต้องรอให้ศาลฯรับผู้ทำแผนก่อน จากนั้นเราจะเสนอแผนว่า เราจะบริหารกิจการอย่างไร หรือถ้าเงินขาดมือก็ต้องไปขอผ่านศาลว่า จะต้องขอกู้เงินแล้ว และคนที่จะให้กู้ก็ต้องดูคำสั่งศาลอีกว่า ศาลรับรองเราแล้ว ถ้าให้เรากู้เขาจะได้บุริมสิทธิหรือเปล่า เพราะถ้าไม่ได้ เขาก็ไม่ให้กู้ ทุกอย่างจึงต้องเป็นตามขั้นตอน” นายจักรกฤศฏิ์กล่าว
เมื่อถามว่า มีการคัดค้านการตั้งบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็น 1 ในคณะผู้จัดทำแผนฯ เนื่องจากไม่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจสายการบิน นายจักรกฤศฏิ์ กล่าวว่า ที่จริงแล้วบริษัทฯ จ้างอีวาย มาเป็นผู้ทำแผนร่วมกับกรรมการบริษัท การบินไทย 6 คน เนื่องจากเป็น 1 ใน 2 บริษัท ที่มีใบอนุญาตเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการกับกระทรวงยุติธรรม ซึ่งบริษัทฯได้เลือกคนที่ดีที่สุดมา
“เขาทำแผนเป็น บริหารแผนได้ และการดูแลเรื่องบัญชี เรื่องเงิน เขาจะเข้ามากำกับทั้งหมด แต่ที่เขาถูกโจมตี เป็นเรื่องความเชี่ยวชาญในธุรกิจการบิน ซึ่งในข้อเสนอความต้องการเดิม เรายังไปไม่ถึงตรงนั้น เราบอกให้เขามาช่วยเป็นผู้ทำแผน เพื่อให้การยื่นแผนกับศาลฯไปได้ ส่วนผู้เชี่ยวชาญที่เราจ้างมาช่วยดูในเรื่องธุรกิจการบิน คือ แม็คเคนซี ซึ่งเราจ้างแล้ว แต่คนเข้าใจผิดว่า จ้างอีวายมา แล้วทำไมอีวายไม่ทำทุกอย่าง มันไม่ใช่คนเดียวมาทำทุกอย่างได้” นายจักรกฤศฏิ์ย้ำ
เมื่อถามว่า คาดว่าบริษัท การบินไทย จะกลับมามีกำไรเมื่อใด นายจักรกฤศฏิ์ กล่าวว่า “ต้องถามว่าโควิดจบเมื่อไหร่ก่อน แล้วต้องรอสนามบินต่างประเทศเปิดก่อน และคนจะเริ่มมาบินหรือยัง ซึ่ง 3 ปัจจัยนี้ เขาบอกว่าจะค่อยๆปรับขึ้นภายในระยะเวลา 3 ปี และกลับสู่จุดเดิมภายใน 4-5 ปี เพราะฉะนั้น ถ้าการบินไทยจะกลับมาเป็นตัวเขียวได้ เราต้องลดไซส์ให้เหลือเท่าที่จำเป็นในการทำการบิน และ ณ จุดนั้น เราจะเริ่มเขียว
ซึ่งอาจจะเร็วกว่า 3 ปีก็ได้ แต่ต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กร ปรับเที่ยวบิน ถ้าปรับธุรกิจภายใน 1 ปีให้ได้ และปีต่อไปจะเริ่มเขียว แต่ถ้าปรับโครงสร้างองค์กร และปรับธุรกิจเสร็จใน 2 ปี ปีถัดไปจึงจะเขียว ซึ่งเรื่องพนักงานยังเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวอยู่ แต่ตามหลักการต้องปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อให้การบินไทยกลับมาเดินได้ ซึ่งเครื่องบินที่มีอยู่ปัจจุบันนั้น จะต้องทิ้งครึ่งหนึ่ง”
ก่อนหน้านี้ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย ระบุว่า จากกรณีที่ศาลล้มละลายกลางได้มีการไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของการบินไทยแล้ว 2 ครั้ง โดยการบินไทยได้นำพยานทุกปากเข้าเบิกความต่อศาลและตอบคำถามผู้คัดค้านในประเด็นต่างๆ โดยละเอียดแล้วนั้น แม้ว่ากระบวนการพิจารณาในศาลล้มละลายกลางจะเป็นไปอย่างราบรื่นและไม่มีเรื่องใดน่ากังวล
แต่ปรากฏว่ามีการเผยแพร่ข่าวที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงจากสื่อมวลชนบางแห่ง เกี่ยวกับประเด็นที่การบินไทยเลือกบริษัท อีวายฯ ให้เป็นหนึ่งในคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูฯ และประเด็นกระแสเงินสดที่เหลือในไตรมาสที่ 1 และที่ 2 ของปีงบประมาณ 2563 นั้น บริษัทฯ ขอชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นประเด็นๆ ดังนี้
สำหรับประเด็นเรื่องบริษัท อีวายฯ นั้น จากการตรวจสอบข้อมูลการว่าจ้างบริษัท อีวายฯ ให้เข้ามาเป็นผู้ทำแผนนั้น การบินไทยมีคณะกรรมการที่เข้ามาพิจารณาว่าจ้างผู้ทำแผนโดยพิจารณาจากคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ตลอดจนค่าตอบแทนที่บริษัทผู้ทำแผนแต่ละรายเสนอเข้ามาแล้วเห็นว่าบริษัท อีวายฯ มีความเหมาะสมมากที่สุด โดยค่าตอบแทนที่บริษัท อีวายฯ เสนอก็อยู่ในอัตราที่เหมาะสมและเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพของผู้ทำแผนเมื่อพิจารณาถึงขนาดและความซับซ้อนของธุรกิจของการบินไทย อีกทั้งไม่ได้สูงกว่าอัตราค่าตอบแทนที่บริษัทผู้ทำแผนรายอื่นเสนอมา
"การจ่ายค่าตอบแทนในอัตราแบบคงที่ให้บริษัท อีวายฯ นั้น เป็นการจ่ายให้ บริษัท อีวายฯ ไม่ใช่เป็นการจ่ายโดยตรงให้แก่บุคลากรแต่ละคนของบริษัท อีวายฯ ทั้งนี้ บริษัท อีวายฯ จะบริหารค่าตอบแทนที่ได้รับจากการบินไทยอย่างไร ก็เป็นเรื่องการบริการจัดการภายในของบริษัท อีวายฯ และแม้ปัจจุบันบริษัท อีวายฯ จะมีทุนจดทะเบียนเพียง 10 ล้านบาท
แต่กรณีดังกล่าวก็เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนกำหนดไว้ โดยในการพิจารณาว่าจ้างนั้น การบินไทยไม่ได้พิจารณาจากทุนจดทะเบียนของบริษัทผู้ทำแผนเพราะเรื่องดังกล่าวไม่ใช่สาระสำคัญ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า โดยปกติแล้วบริษัทที่ปรึกษามักจะมีทุนจดทะเบียนที่ไม่สูง เพราะบริษัทที่ปรึกษาส่วนใหญ่ไม่ต้องนำเงินทุนไปลงทุนในทรัพย์สินใด เนื่องจากทรัพย์สินหลักที่สำคัญ คือ บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ" นายชาญศิลป์กล่าว
ส่วนประเด็นเรื่องใบอนุญาตของบริษัท อีวายฯ นั้น การบินไทยได้ตรวจสอบแล้วพบว่า ตามกฎหมายกำหนดให้ใบอนุญาตเป็นผู้ทำแผนมีอายุเพียงสองปี เมื่อครบสองปีก็จะต้องมีการต่ออายุเพื่อที่กรมบังคับคดีจะได้มีโอกาสทบทวนคุณสมบัติของผู้ทำแผนเป็นระยะๆ ซึ่งใบอนุญาตของบริษัท อีวายฯ ฉบับปัจจุบันจะหมดอายุในเดือนก.ย.2563 บริษัท อีวายฯ จึงได้ขอต่ออายุใบอนุญาตล่วงหน้าต่อกรมบังคับคดีและได้รับอนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตแล้ว
โดยใบอนุญาตฉบับที่ขอต่ออายุจะเริ่มมีผลใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย.2563 การระบุวันที่ดังกล่าวในใบอนุญาตของ บริษัท อีวายฯ จึงเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ ส่วนขอบเขตการทำงานของบริษัท อีวายฯ นั้น หน้าที่ของบริษัท อีวายฯ คือ การช่วยเหลือการบินไทยในด้านการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ทำการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดของการบินไทย เพื่อดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ โครงสร้างทางการเงินและการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเสร็จสิ้น ตลอดจนวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของแผนฟื้นฟูกิจการ
"ผู้ทำแผนท่านอื่นๆ ไม่เคยมีประสบการณ์ในการเป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาก่อน จึงจำเป็นต้องให้ บริษัท อีวายฯ เข้ามารับผิดชอบหน้าที่ส่วนนี้ โดยการบินไทยขอยืนยันว่าบริษัท อีวายฯ เป็นบริษัทผู้ทำแผนที่มีความน่าเชื่อถือ เพราะเป็นบริษัทเครือข่ายของบริษัท อีวาย คอร์เปอร์เรท เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัท BIG4 รายใหญ่ระดับโลกที่มีชื่อเสียงทางด้านการสอบบัญชีและการเงิน และมีสำนักงานเครือข่ายอยู่ทั่วโลก" นายชาญศิลป์ระบุ
ขณะที่ประเด็นเรื่องสินทรัพย์และหนี้สินของการบินไทย ซึ่งกำลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง เพราะสื่อหลายแห่งได้นำเสนอข่าวว่า การบินไทยมีกระแสเงินสดตามงบการเงินไตรมาส 2 ลดลงจากงบการเงินไตรมาส 1 ประจำปี 2563 ถึง 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ความจริงคือ การบินไทยมีกระแสเงินสดลดลงประมาณ 9 พันล้านบาท ซึ่งเหตุหลักๆ ที่เป็นผลให้เงินสดลดลง ก็เนื่องจากการบินไทยต้องชำระหนี้หุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชำระในเดือนเม.ย.2563 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะมีการตัดสินใจให้การบินไทยยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ
นอกจากนี้ เจ้าหนี้บางรายก็ได้ใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ตามสิทธิที่เจ้าหนี้มีอยู่ตามกฎหมาย เฉพาะสองส่วนนี้ก็เป็นเงินกว่า 4,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ในระหว่างสิ้นไตรมาส 1 จนถึงสิ้นไตรมาส 2 การบินไทยก็ยังมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเพื่อรักษาให้การดำเนินธุรกิจตามปกติของการบินไทยดำเนินต่อไปได้อีกส่วนหนึ่ง การลดลงของกระแสเงินสดจึงเป็นเรื่องที่สามารถชี้แจงได้ ซึ่งการบินไทยก็ได้นำเสนอข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อศาลแล้ว
ส่วนรายการสินทรัพย์ในส่วนที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ตามงบการเงินไตรมาส 1 ประจำปี 2563 ที่ลดลงจากงบการเงินสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 จำนวน 9 หมื่นกว่าล้านบาทนั้น ก็มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงรายการสินทรัพย์จากส่วนที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ มาอยู่ในรายการสินทรัพย์สิทธิการใช้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานบัญชีใหม่ โดยรายการสินทรัพย์ดังกล่าวไม่ได้หายไปแต่อย่างใด
นายชาญศิลป์ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นเรื่องภาระหนี้สินของการบินไทยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในงบการเงินไตรมาส 2 ประจำปี 2563 นั้น เหตุที่ตัวเลขภาระหนี้สินในงบการเงินไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 ก็เป็นเพราะการบินไทยผิดนัดชำระหนี้จนทำให้หนี้ในบางรายการถึงกำหนดชำระทั้งหมด
"การบินไทยยินดีให้ข้อมูลและชี้แจงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเสมอ เพื่อให้ทุกท่านเชื่อมั่นว่าการบินไทยมีความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินที่มีอยู่ และขอให้เจ้าหนี้และลูกค้าทุกท่านมั่นใจได้ว่า การบินไทยมีความจริงใจที่จะดูแลทุกท่านเป็นอย่างดีตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ต่อไป" นายชาญศิลป์กล่าว
อ่านประกอบ :
แจงศาลฯวันที่ 2! 'การบินไทย'โล่ง ทิพยประกันชีวิตฯ ถอนคัดค้านเสนอผู้ทำแผนร่วมฯ
ไม่ยุบไทยสมายล์แอร์เวย์! ‘ชาญศิลป์’ ยันเปิดบินเหมือนเดิม-มั่นใจกลับมาทำกำไรได้
เจาะธุรกิจพันล.! บ.ผู้สอบบัญชี‘อีวายฯ’ ไฉนเจ้าหนี้การบินไทยค้านทำแผนฟื้นฟูกิจการ?
กระบวนการโปร่งใสชัดเจน! ‘ชาญศิลป์-ปิยะสวัสดิ์’แจงศาลล้มละลายคดีฟื้นฟู‘การบินไทย’
‘การบินไทย’ ยืดอายุตั๋วที่ยังไม่ได้บินไปถึงปี 64-แลกเป็น ‘travel voucher’ ใช้สิทธิ์ใน 2 ปี
ครึ่งปีขาดทุน 2.8 หมื่นล.! ‘การบินไทย’ โชว์งบก่อนศาลฯไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ-ตั้งผู้ทำแผน
ลุ้นศาลสั่งฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’! ‘ชาญศิลป์’ วอน พนง.อย่าขัดแย้ง-ปิ๊งไอเดียภัตตาคารเครื่องบิน
'ชาญศิลป์' นำทีมพบ 'วิษณุ' รายงานคืบหน้าแผนฟื้นฟูฯบินไทย ก่อนส่งชื่อให้ศาล 17 ส.ค.นี้
ยันห้ามแฮร์คัทหนี้หุ้นกู้ ‘การบินไทย’! 89 สหกรณ์ฯยืนท่าทีเดิม-ไม่คัดค้านชื่อ ‘ผู้ทำแผน’
งดรับรู้ดบ.-ตีมูลค่าหุ้นกู้ ‘การบินไทย’ ใหม่! เบื้องต้นสหกรณ์สูญ 1.8 พันล.-จับตาแฮร์คัทหนี้
กล่อมเจ้าหนี้หุ้นกู้หนุน! ‘ชาญศิลป์’ ห่วงเสนอตั้ง'ผู้ทำแผน'แข่ง ถ่วงแผนฟื้นฟู ’การบินไทย’ช้า
สยบคลื่นใต้น้ำฝ่าวิกฤติ 'การบินไทย' สไตล์ 'ชาญศิลป์' ประกาศฟัน ‘คนทุจริต-สร้างขัดแย้ง’
แต่งตัวรอฟื้นฟูฯ! ‘การบินไทย’ ขยับถกเจ้าหนี้ จ้าง ‘อีวาย’ ทำแผนธุรกิจใหม่-จ่อเออร์ลี่ฯพนง.
บอร์ดตั้ง ‘ชาญศิลป์’ นั่งรักษาการดีดี ‘การบินไทย’ แทน ‘จักรกฤศฏิ์’ มีผล 2 ก.ค.นี้
โชว์ยิบหนี้ 3.52 แสนล.! 'การบินไทย' ชง 'รบ.บิ๊กตู่' อุ้ม 9 ข้อ ทบทวนเสรีการบิน-บีบโลว์คอสต์
เปิดเงินเดือน-ฟังเสียงสะท้อน ‘คนการบินไทย’ : ชีวิตไม่ได้ ‘สวยหรู’ อย่างที่ใครคิด!
เจอเพิ่ม! เปิดชื่อ 84 สหกรณ์ ลงทุนหุ้นกู้ ‘การบินไทย’ 4.3 หมื่นล.-ส่อ ‘ทุนหาย-กำไรหด’
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage