"...เรากำลังเอาสิ่งที่ไม่จำเป็นออกให้หมด รวมถึงคนที่เราคิดว่าไม่มีประโยชน์ด้วย คนที่ทุจริตด้วย เราจะเอาออก ท่านคิดว่าอย่างไร (มีเสียงปรบมือพนักงาน) คนที่ไม่ทำงานด้วย คนที่พูดขัดแย้ง คนที่สร้างปัญหา คนที่สร้างความขัดแย้ง เราก็ไม่อยากให้มี เราอยากให้เปลี่ยนความเชื่อใหม่ อยากให้มองแต่การทำงานร่วมกัน เราอยากให้เกิดความสร้างสรรค์ ผมก็ทำได้แค่นี้ แล้วถ้าทำไม่ได้ก็พวกเรา ไม่ใช่ผม ผมตัวคนเดียว ผมมาคนเดียว ไม่มีใคร..."
ใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว กับการนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ของศาลล้มละลายกลาง ที่จะมีขึ้นในวันที่ 17 ส.ค.นี้
ทว่าภารกิจสำคัญที่ ชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย และหนึ่งในคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการฯ ต้องเร่งทำก่อนจะถึงวันนัดไต่สวนฯ คือ สร้างความเชื่อมั่นให้กับบรรดาเจ้าหนี้ ปลุกพลัง และสร้างความสามัคคีในหมู่พนักงาน เพื่อให้บริษัทฯ ก้าวข้ามวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปให้ได้
ข้อมูลล่าสุด บริษัท การบินไทย เข้าเจรจากับเจ้าหนี้หลักไปแล้ว 147 ราย ได้แก่ เจ้าหนี้เครื่องบินทั้งแบบ ‘สัญญาเช่าทางการเงิน (Financing Lease)’ และ ‘สัญญาเช่าดำเนินการ (Operating Lease)’ 47 ราย ธนาคารในประเทศและกระทรวงการคลังทั้ง 18 ราย เจ้าหนี้หุ้นกู้ 86 ราย จากผู้ถือหุ้นกู้ทั้งหมด 2,449 ราย
กลุ่มสมาชิกรอยัลออคิดพลัส (ROP) 7 ราย และอยู่ระหว่างเจรจากับเจ้าหนี้บัตรโดยสาร ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ผู้ซื้อบัตรโดยสารผ่านบริษัท การบินไทย (TG) มูลหนี้ 2,700 ล้านบาท ผู้ซื้อบัตรโดยสารผ่านเอเย่นต์ไทย มูลหนี้ 800 ล้านบาท และผู้ซื้อบัตรโดยสารผ่านเอเย่นต์ใน IATA มูลหนี้ 2,540 ล้านบาท
ส่วนการลดต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ชาญศิลป์ ประกาศโครงการ ‘Together We Can’ ในการประชุม Staff Meeting กับพนักงานบริษัท การบินไทย ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา
ชาญศิลป์ และคณะบริหาร ตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทนพนักงานลง 261 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 3,132 ล้านบาทต่อปี ซึ่งยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆที่บริษัทจะประหยัดได้ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จากเดือน ก.ค.63 ที่บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายพนักงาน 1,326 ล้านบาท
สำหรับรายละเอียดการลดเงินเดือนนั้น บริษัทฯจะลดเงินเดือนและค่าตอบแทนผู้บริหารระดับสูงลง 40-70% ได้แก่ ตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (EVP) สัญญาจ้าง ลดเงินเดือน 70% จากปัจจุบัน 5-6 แสนบาทต่อคนต่อเดือน ทำให้อัตราเงินเดือนเฉลี่ยจะอยู่ที่ 185,605 บาทต่อคนต่อเดือน
ตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (EVP) ลดเงินเดือน 50% จากปัจจุบัน 2-4 แสนบาทคนต่อเดือน ซึ่งทำให้เงินเดือนเฉลี่ยลดเหลือ 76,441 บาทต่อคนต่อเดือน และตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ (VP) ลดเงินเดือน 40% จากปัจจุบัน 2-4 แสนบาทต่อเดือน ทำให้เงินเดือนเฉลี่ยลดเหลือ 88,933 บาทต่อคนต่อเดือน
ผลคือบริษัทฯจะประหยัดเงินค่าจ้างผู้บริหารระดับสูง 3.69 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 44.32 ล้านบาทต่อปี
ขณะที่พนักงานระดับปฏิบัติการ (Staff) บริษัทฯจะลดเงินเดือนและค่าตอบแทนตามช่วงเงินเดือนในอัตรา 3.33-33.33% ซึ่งจะสามารถลดค่าใช้จ่ายพนักงานได้ 257.47 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 3,089 ล้านบาทต่อปี
โดยเฉพาะการลดเงินเดือนกลุ่มพนักงานที่มีค่าตอบแทนสูงตั้งแต่ 200,001 บาทขึ้นไป ในอัตรา 33.33% นั้น จะลดค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ 81.3 ล้านบาทต่อเดือน รองลงมาเป็นกลุ่มพนักงานที่มีค่าตอบแทน 60,001-100,000 บาท ในอัตรา 20% จะลดค่าใช้จ่ายได้ 72 ล้านบาทต่อเดือน (อ่านตารางข้อมูลประกอบ)
นอกจากนี้ บริษัทฯยังให้พนักงานสามารถใช้สิทธิลางานโดยไม่รับเงินเดือน (Leave Without Pay) ได้มากกว่าจำนวนขั้นต่ำที่บริษัทฯกำหนดไว้ พร้อมทั้งคงสิทธิประโยชน์ของพนักงานในระหว่างโครงการ เช่น สิทธิการใช้บริการห้องพยาบาล การนับอายุงานต่อเนื่อง การใช้บัตรโดยสารพนักงาน เป็นต้น
ชาญศิลป์ เน้นย้ำกับพนักงานว่า หยุดโจมตีบริษัทฯ เพราะจะส่งผลกระทบต่อการยอมรับและความเชื่อถือจากทุกฝ่าย ซึ่งจะทำให้บริษัทฯไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการฯได้ และขอบคุณพนักงานที่ลดเงินเดือนและสวัสดิการ ‘อดเปรี้ยวไว้กิน (หวาน) พอดี’ โดยหวังได้รับความร่วมมือจากพนักงาน 100%
อีกทั้งขอให้พนักงานทุกคนช่วย ‘ดับไฟ’ ด้วยการต่อต้านผู้ทำร้ายบริษัทฯ และหยุดการทำร้ายบริษัทฯ ด้วยการให้ข่าวผิดๆกับสื่อมวลชน หากพบพนักงานไม่หวังดีต่อองค์กรแจ้งได้ที่อีเมล์บริษัทฯ รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาบริษัทฯ ตลอดจนข้อเสนอแนะในการลดค่าใช้จ่าย หารายได้ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
ชาญศิลป์ ยังสื่อข้อความถึงกลุ่มพนักงานด้วยว่า ‘องค์กรที่มีธรรมาภิบาลไม่แข็งแรงจะมีแต่เรื่อง มีคดี ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และเสียเวลา เสียทรัพยากรมากมาย จนไร้ซึ่งความสามารถในการแข่งขัน ทั้งจากคณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และ Stakeholder ต่างๆ”
และ ‘องค์กรที่ขาดทุน องค์กรที่คนไม่ไว้วางใจ ไม่ชื่นชอบ ก็ไม่มีคนอยากร่วมทำงาน แต่องค์กรที่กำไร ทันสมัย ไร้พวกพ้อง ไร้ทุจริต ก็มี คนเก่ง คนดี ที่อยากเข้าทำงาน’ หรือ พร้อมทั้งย้ำว่า คนที่ทุจริตในองค์กรจะต้องถูกให้ออก
“เรากำลังเอาสิ่งที่ไม่จำเป็นออกให้หมด รวมถึงคนที่เราคิดว่าไม่มีประโยชน์ด้วย คนที่ทุจริตด้วย เราจะเอาออก ท่านคิดว่าอย่างไร (มีเสียงปรบมือพนักงาน) คนที่ไม่ทำงานด้วย คนที่พูดขัดแย้ง คนที่สร้างปัญหา คนที่สร้างความขัดแย้ง เราก็ไม่อยากให้มี เราอยากให้เปลี่ยนความเชื่อใหม่ อยากให้มองแต่การทำงานร่วมกัน เราอยากให้เกิดความสร้างสรรค์
ผมก็ทำได้แค่นี้ แล้วถ้าทำไม่ได้ก็พวกเรา ไม่ใช่ผม ผมตัวคนเดียว ผมมาคนเดียว ไม่มีใคร นี่คือสิ่งที่ผมอยากถ่ายทอด เพราะอันนี้เป็นความจริงของชีวิตการทำธุรกิจ
ผม individual (ปัจเจกบุคคล) ผมรอด ผมไม่มีความหมายอะไรเลยกับชื่อเสียงผม ว่าจะทำรอดหรือไม่รอด แต่อยู่ที่พวกเรา เรามาขอความร่วมมือ และเราคุยกับผู้บริหาร คุยกับใครต่อใครมาแล้ว กองทุนบำเหน็จฯ ผมก็ทำให้ตามที่เหมาะสม” เป็นคำพูดตอนหนึ่งที่ ชาญศิลป์ กล่าวกับพนักงานบริษัท การบินไทยเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา
(ชาญศิลป์ ตรีนุชกร)
ขณะเดียวกัน ท่ามกลางวิกฤตการณ์โควิด-19 บริษัทฯมีแผนดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ โดยเตรียมเปิด ‘TG Group Money Expo Week’ เพื่อบรรเทาปัญหาทางการเงินของพนักงาน ทั้งค่าใช้จ่ายส่วนตัวและการรีไฟแนนท์หนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีธนาคารเข้าร่วม 5 แห่ง
ส่วนเสียงสะท้อนจากพนักงานบริษัท การบินไทยนั้น พนักงานรายหนึ่ง บอกกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) หลังเข้าฟังการประชุม Staff Meeting ว่า เชื่อว่าพนักงานของบริษัทฯส่วนใหญ่จะให้ความร่วมมือกับนโยบายของฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะการลดเงินเดือน เพื่อทำให้บริษัทฯเดินหน้าต่อไปได้
“พนักงานไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และน่าจะให้ความร่วมมือด้วยดี” แหล่งข่าวกล่าว
ขณะที่แหล่งข่าวอีกราย ได้กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า หลังจากเมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศนายทะเบียนให้ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย (สร.บกท.) สิ้นสภาพตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.63 ทราบว่ามีพนักงานบริษัท การบินไทย ยื่นจดทะเบียนตั้งสหภาพแรงงานฯตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 อย่างน้อย 2 กลุ่ม
“กลุ่มที่มีการจดทะเบียนตั้งสหภาพแรงงานภายใต้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ตอนนี้มีอยู่ 2 กลุ่ม ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นกลุ่มที่เคยทำงานในสหภาพฯ ส่วนอดีตประธานและกรรมการชุดที่เพิ่งสิ้นสภาพไป ตอนนี้อยู่ระหว่างยื่นจดทะเบียนตั้งสหภาพแรงงานฯ เป็นกลุ่มที่ 3 และคาดว่าจะมีการตั้งสหภาพแรงงานของบริษัทฯอย่างน้อย 5 กลุ่ม” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าว กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าขณะนี้พนักงานการบินไทยจะแยกตัวไปตั้งสหภาพแรงงานฯเป็นหลายกลุ่ม ซึ่งทุกกลุ่มมีความอิสระและกำลังหาสมาชิกเพิ่มอยู่นั้น แต่สหภาพฯทุกกลุ่มพร้อมที่จะร่วมมือกันทันที หากมีประเด็นที่ส่งผลกระทบหรือไม่เป็นธรรมต่อพนักงาน
จึงนับเป็นอีกย่างก้าวในการสยบคลื่นใต้น้ำของ ชาญศิลป์ ก่อนนำพาบริษัทฯเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการฯ
อ่านประกอบ :
ยันไม่เปลี่ยนกรรมการทำแผนฟื้นฟูฯ! ‘ดีดีการบินไทย’ ชี้เห็นต่างเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่ ‘แตกแยก’
แพร่ประกาศ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย สิ้นสภาพ
แต่งตัวรอฟื้นฟูฯ! ‘การบินไทย’ ขยับถกเจ้าหนี้ จ้าง ‘อีวาย’ ทำแผนธุรกิจใหม่-จ่อเออร์ลี่ฯพนง.
บอร์ดตั้ง ‘ชาญศิลป์’ นั่งรักษาการดีดี ‘การบินไทย’ แทน ‘จักรกฤศฏิ์’ มีผล 2 ก.ค.นี้
โชว์ยิบหนี้ 3.52 แสนล.! 'การบินไทย' ชง 'รบ.บิ๊กตู่' อุ้ม 9 ข้อ ทบทวนเสรีการบิน-บีบโลว์คอสต์
เริ่มแล้วตัดสวัสดิการพนง.! ยกแรกปฏิบัติการฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ จับตา ‘คลื่นใต้น้ำ’
เปิดเงินเดือน-ฟังเสียงสะท้อน ‘คนการบินไทย’ : ชีวิตไม่ได้ ‘สวยหรู’ อย่างที่ใครคิด!
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage