‘ชาญศิลป์-ปิยะสวัสดิ์’ เข้าเบิกความชี้แจงศาลล้มละลายกลาง ไต่สวนคำร้องนัดแรกยื่นฟื้นฟู ‘การบินไทย’ ยันกระบวนการโปร่งใส-มีขอบเขตการทำงานชัดเจน รับที่ผ่านมาบริหารงานผิดพลาด-มีปัญหาบางอย่างแก้ไขไม่ได้ ด้านที่ปรึกษา บ.อีวายฯ ยันเป็น 1 ในผู้ทำแผนฯตามกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2563 ที่ศาลล้มละลายกลาง อาคาร A ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลนัดฟังการไต่สวนคำร้องนัดแรก คดีที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะลูกหนี้ ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และมีเจ้าหนี้ 16 ราย เป็นเจ้าหนี้บุคคลธรรมดา 13 ราย และเจ้าหนี้นิติบุคคล 3 ราย เช่น เจ้าหนี้กลุ่มที่ถือบัตรโดยสาร เจ้าหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์วชิรพยาบาล จำกัด เป็นต้น เป็นผู้คัดค้านผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ โดยมีนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ น.ส.ชุติมา ปัญจโภคากิจ ที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นพยานฝ่ายผู้ร้อง เบิกความต่อศาล 3 ปากแรก จากจำนวนพยานฝ่ายลูกหนี้ทั้งหมด 5 ปาก ส่วนฝ่ายเจ้าหนี้มีพยานทั้งหมด 4 ปาก
โดยนายชาญศิลป์ เบิกความเป็นพยานปากแรก ชี้แจงถึงกรณีบริษัท อีวายฯ เป็นหนึ่งในผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ สรุปได้ว่า บริษัท อีวายฯ เป็นเครือบริษัทระดับโลก และในสัดส่วนผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการนั้น มีการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละด้านมา โดยบริษัท อีวายฯ แม้มิได้เชี่ยวชาญในส่วน Airline Expert (ส่วนสายการบิน) แต่มีความเชี่ยวชาญทางด้านบัญชี โดยในการจัดทำแผนผู้จัดทำแผนทั้ง 7 รายจะต้องลงนามร่วมกัน มิใช่ให้อำนาจคนใดคนหนึ่ง ส่วนกรณีบริษัท อีวายฯ มีทุนจดทะเบียนแค่ 5 ล้านบาท และไม่เคยฟื้นฟูกิจการบริษัทระดับทรัพย์สินแสนล้านบาทนั้น ไม่ทราบรายละเอียด แต่ทราบว่าเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านบัญชี และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เสนอชื่อบริษัท อีวายฯ เป็นผู้ทำแผน ก่อนที่ตนจะมาดำรงตำแหน่งดีดีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และภายหลังที่ออกจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ
ส่วนแหล่งเงินทุนในการชำระหนี้นั้น นายชาญศิลป์ เบิกความสรุปได้ว่า ขณะนี้มีการหารือกับสถาบันการเงินในประเทศไทยหลายแห่ง แต่ยังไม่ทราบรายละเอียด
นายชาญศิลป์ เบิกความอีกว่า การจัดทำแผนฟื้นฟูดังกล่าวดำเนินการอย่างโปร่งใส มีขอบเขตการทำงานอย่างชัดเจน ส่วนประเด็นการบริหารของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ผิดพลาดในช่วงที่ผ่านมานั้น ยืนยันว่า ยอมรับว่าที่ผ่านมามีการบริหารงานผิดพลาด มีผลประกอบการที่ลดลง และมีปัญหาบางอย่างที่ไม่สามารถแก้ไขได้
ต่อมานายปิยะสวัสดิ์ เบิกความเป็นพยานปากที่สอง ชี้แจงถึงกรณีเงินค่าตอบแทนให้บริษัท อีวายฯ สรุปได้ว่า เรื่องเงินค่าตอบแทนนั้น มีการระบุไว้ว่า จะจ่ยเงินครั้งแรกจำนวน 22 ล้านบาท และจ่ายรายเดือน เดือนละ 15 ล้านบาท จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาคดีนี้ แต่ไม่ทราบรายละเอียดว่าเขียนอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการหรือไม่ และยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่บริษัท อีวายฯ แต่อย่างใด เนื่องจากศาลยังไม่มีคำพิพากษา
นายปิยะสวัสดิ์ เบิกความอีกว่า สำหรับร่างแผนฟื้นฟูกิจการนั้น มีการหารือเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่ได้จัดทำฉบับ Final (ฉบับสมบูรณ์) แต่มีการหารือกันอยู่ ส่วนแหล่งเงินทุนในการจัดทำแผนนั้น ได้หารือกับสถาบันการเงินชั้นนำภายในประเทศไทย แต่ยังไม่อยากเปิดเผยข้อมูล ต้องรอให้ได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ก่อน ส่วนสถาบันทางการเงินต่างประเทศยังไม่ได้มีการนำมาหารือ
ส่วนแนวทางหากจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว แต่ยังชำระหนี้ 3.5 แสนล้านบาทไม่ได้นั้นจะทำอย่างไร นายปิยะสวัสดิ์ เบิกความชี้แจงว่า เบื้องต้นบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีการปรับโครงสร้างทางการเงิน และโครงสร้างบุคลากรไว้แล้วมีการปรับลดรายจ่ายแก่พนักงาน และอื่น ๆ เชื่อมั่นว่าแผนการฟื้นฟูครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ
ส่วน น.ส.ชุติมา เบิกความเป็นพยานปากสุดท้าย สรุปได้ว่า ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยระบุค่าทำแผนไว้ 22 ล้านบาท และจ่ายรายเดือน 15 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนสาเหตุที่ไม่ได้มีการระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ระบุไว้ ยืนยันว่าทุกอย่างดำเนินการตามกฎหมาย และบริษัท อีวายฯ มีความเชี่ยวชาญทางด้านบัญชีระดับโลก แม้ไม่เคยเป็นผู้บริหารในบริษัทที่มีสินทรัพย์ระดับแสนล้านบาท แต่เพราะว่าบริษัทระดับดังกล่าวมักไม่ค่อยเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ
หลังจากพยานทั้ง 3 ปากเข้าเบิกความต่อศาลแล้ว บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะลูกหนี้ ได้ยื่นขอต่อศาลขอสืบพยานอีก 2 ปากเพิ่มเติม ได้แก่ CFO (ผู้บริหารสูงสุดสายการเงิน) ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง และเจ้าหน้าที่จากบริษัท ดีลอยท์ฯ (บริษัทผู้สอบบัญชีระดับโลก) ในประเด็นเรื่องหนี้สินล้นพ้นตัว ฝ่ายเจ้าหนี้ไม่คัดค้าน ศาลอนุญาตตามที่ฝ่ายลูกหนี้ขอ
ศาลอ่านกระบวนความพิจารณา นัดไต่สวนอีก 2 นัด วันที่ 20 ส.ค. 2563 เวลา 09.00 น. ไต่สวนพยานฝ่ายลูกหนี้ 2 ปาก และพยานฝ่ายเจ้าหนี้ 1 ปาก วันที่ 25 ส.ค. 2563 เวลา 09.00 น. ไต่สวนพยานฝ่ายเจ้าหนี้อีก 3 ปาก ก่อนจะนัดฟังคำพิพากษาต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหนี้ที่คัดค้านผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการนั้น มี 16 ราย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ เจ้าหนี้ที่ 1-10 คือเจ้าหนี้รายใหญ่ เช่น เจ้าหนี้กลุ่มที่ถือบัตรโดยสาร เจ้าหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์วชิรพยาบาล จำกัด เป็นต้น เจ้าหนี้ที่ 11-15 คือเจ้าหนี้รายย่อย และสุดท้ายบริษัท ทิพยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าหนี้รายที่ 17 ซึ่งมิได้ยื่นคัดค้านผู้ทำแผนฟื้นฟู แต่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมจัดทำแผนฟื้นฟูด้วย
โดยรายชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการตามที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะลูกหนี้เสนอให้ศาลล้มละลายกลาง ที่ถูกเจ้าหนี้คัดค้าน มี 7 ราย ได้แก่ 1.บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด 2.พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ 3.นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล 4.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 5.นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ส.ว. 6.นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ 7.นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ดีดีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ ภายหลังศาลนัดไต่สวนครั้งแรกเสร็จสิ้น ฝ่ายภาพลักษณ์องค์กรและสื่อสาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยแพร่ข้อความของ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ดีดีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า ศาลล้มละลายกลาง ได้พิจารณาไต่สวนใน 2 ประเด็น คือ ควรสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการหรือไม่ และควรแต่งตั้งคณะผู้ทำแผนฯ ตามที่การบินไทยเสนอมาหรือไม่ ซึ่งคณะผู้ทำแผนฯ ที่การบินไทยเสนอประกอบด้วยบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์สูงและเป็นมืออาชีพในสาขาความรู้ด้านต่างๆ
นายชาญศิลป์ฯ กล่าวด้วยว่า กระบวนการไต่สวนคำร้องวันนี้เป็นไปโดยราบรื่นและมีแนวโน้มที่ดี มีทนายเจ้าหนี้รายย่อยเพียง 7 รายเท่านั้นที่ยื่นคำคัดค้านคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ซึ่งประเด็นที่คัดค้านนั้น ไม่มีเรื่องใดน่าหนักใจเพราะเป็นประเด็นที่การบินไทยสามารถชี้แจงให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องได้ ประกอบกับขณะนี้มีเจ้าหนี้รายใหญ่หลายราย รวมทั้งกระทรวงการคลัง ที่ได้ลงนามในหนังสือให้การสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยและไม่คัดค้านคณะผู้ทำแผนฯ ที่การบินไทยเสนอ ซึ่งคิดเป็นจำนวนรวมมากกว่า ร้อยละ 50 ของจำนวนหนี้ตามงบการเงินไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2563 ของการบินไทย โดยนายชาญศิลป์ฯ เชื่อว่า การบินไทยได้แสดงพยานหลักฐานต่อศาลอย่างเต็มที่แล้วว่าการบินไทยสมควรได้รับการฟื้นฟูกิจการและคณะผู้ทำแผนฯ ที่การบินไทยเสนอ มีความเหมาะสม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลล้มละลายกลางว่าจะมีคำสั่งอย่างไรและเมื่อใด
นายชาญศิลป์ฯ กล่าวว่า เพื่อฝากความมั่นใจไปยังเจ้าหนี้ทุกรายของการบินไทยว่า หากศาลมีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการและตั้งคณะผู้ทำแผนฯ ในระยะเวลาอันใกล้ ก็จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อเจ้าหนี้ทุกราย เพราะกระบวนการฟื้นฟูกิจการจะไม่ล่าช้าและการบินไทยจะสามารถเริ่มต้นแก้ไขสถานการณ์ทางการเงินได้โดยเร็ว นอกจากนี้ นายชาญศิลป์ฯ ยังได้กล่าวขอบคุณเจ้าหนี้และลูกค้าของการบินไทยที่ให้การสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการและไม่คัดค้านคณะผู้ทำแผนฯ ที่การบินไทยเสนอ ซึ่งการบินไทยจะเตรียมความพร้อมเพื่อดูแลทุกท่านเป็นอย่างดีตามที่ได้ให้คำมั่นไว้ต่อไป หากกระบวนการไต่สวนเสร็จสิ้นและศาลมีคำสั่งให้การบินไทยเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการพร้อมตั้งคณะผู้ทำแผนฯ ได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วกรมบังคับคดีจะดำเนินการแจ้งเจ้าหนี้ทุกรายให้ทราบถึงขั้นตอนการลงทะเบียนเพื่อยื่นคำขอรับชำระหนี้ ซึ่งท่านสามารถดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ได้ด้วยตนเองที่บ้าน หรือจะนำเอกสารมาที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อที่การบินไทยและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหนี้ในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ออนไลน์ โดยการบินไทยจะประชาสัมพันธ์รายละเอียดวัน เวลา และสถานที่ต่อไป
นายชาญศิลป์ฯ กล่าวอีกว่า สำหรับลูกค้าที่ขอคืนค่าบัตรโดยสาร (Refund) นั้น การบินไทยมีนโยบายที่มุ่งมั่นจะอำนวยความสะดวกและรักษาสิทธิของท่านในการได้รับคืนค่าบัตรโดยสารอย่างเต็มที่โดยคณะผู้ทำแผนฯ ได้หารือกันเกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขและรายละเอียดส่วนนี้ไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกค้าทุกท่านไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายใดๆ ในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ส่วนสมาชิกโปรแกรมสะสมไมล์ Royal Orchid Plus (ROP) นั้น นายชาญศิลป์ฯ กล่าวว่า แม้สมาชิก ROP จะไม่ใช่เจ้าหนี้ของการบินไทยที่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ เพราะไมล์สะสมของสมาชิกเป็นการสะสมคะแนนเพื่อวัตถุประสงค์ในการแลกรางวัลต่างๆ แต่การบินไทยยังคงตระหนักถึงความสำคัญของสมาชิก ROP และมุ่งมั่นที่จะมอบสิทธิประโยชน์ให้สมาชิกอย่างต่อเนื่อง โดยการบินไทยขอให้ทุกท่านมั่นใจได้ว่าสิทธิของท่านในฐานะสมาชิก ROP จะยังคงมีอยู่ตามเดิม โดยที่ไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้หรือดำเนินการทางกฎหมายภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการแต่อย่างใด
"หากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งคณะผู้ทำแผนฯ ที่การบินไทยเสนอในเร็ววันนี้การบินไทยคาดว่าจะสามารถเชิญเจ้าหนี้กลุ่มต่างๆ มารับฟังการจัดทำร่างแผนฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้นเพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับทราบถึงความคืบหน้าของการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการได้ภาย 1-2 เดือน นับจากวันที่มีการประกาศคำสั่งตั้งผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษา" นายชาญศิลป์ กล่าว
อ่านประกอบ :
เปิดคำร้องฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย' หาทุนใหม่-ลดพนง. ‘รักษาการดีดี’ หวัง ‘เจ้าหนี้-ศาล’ เชื่อมั่น
เปิดตัว 9 เจ้าหนี้!ทวงหมื่นล. ก่อน 'การบินไทย' ยื่นฟื้นฟูฯ-พบสัญญาเช่าโผล่ 9.7 หมื่นล.
โชว์ยิบหนี้ 3.52 แสนล.! 'การบินไทย' ชง 'รบ.บิ๊กตู่' อุ้ม 9 ข้อ ทบทวนเสรีการบิน-บีบโลว์คอสต์
เริ่มแล้วตัดสวัสดิการพนง.! ยกแรกปฏิบัติการฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ จับตา ‘คลื่นใต้น้ำ’
เปิดเงินเดือน-ฟังเสียงสะท้อน ‘คนการบินไทย’ : ชีวิตไม่ได้ ‘สวยหรู’ อย่างที่ใครคิด!
5 ประเด็นแผนฟื้นฟู ‘การบินไทย’! ให้เจ้าหนี้โหวต ก.พ.64-ตั้ง 'ชาญศิลป์' เป็นผู้ทำแผน
บิ๊กการบินไทยดีลลับซื้อเครื่องยนต์! โชว์ละเอียดสำนวน ป.ป.ช.สอบคดีสินบนโรลส์รอยซ์
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage