เจ้าของใหม่ที่เข้ามาจะได้สิทธิทั้งหลายทั้งปวงที่อยู่ในการบินไทย เช่น แบรนด์ สิทธิการบินที่มากกว่าสายการบินทั่วไป...ซึ่งผมไม่รู้ว่าใครจะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหม่ อาจเป็นคนที่ทำธุรกิจสายการบินอยู่แล้ว หรือเศรษฐีที่ไหนก็ได้ แต่เขาจะซื้อการบินไทยไปในราคาถูกมากๆผ่านการเพิ่มทุน โดยมีศาลฯเป็นหลังพิงในการลดหนี้และไล่คนออก..."
หลังจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข้อมูลไปแล้วว่า ณ วันปิดสมุดทะเบียน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ณ วันที่ 18 มี.ค.2563 มีสหกรณ์ออมทรัพย์ 74 แห่ง ลงทุนใน 'หุ้นกู้' และ 'หุ้นสามัญ' ของบริษัท การบินไทย แบ่งเป็นสหกรณ์ฯที่ลงทุนหุ้นกู้ 73 แห่ง และสหกรณ์ที่ลงทุนในหุ้นสามัญ 4 แห่ง
โดยเฉพาะหุ้นกู้ของบริษัท การบินไทย ที่สหกรณ์ฯ 73 แห่ง ถืออยู่นั้น พบว่ามีมูลค่าราคาทุนรวม 36,181.24 ล้านบาท (อ่านประกอบ : เปิดชัดๆ! 73 สหกรณ์ถือหุ้นกู้บินไทย 3.7 หมื่นล. ก่อน 'บิ๊กตู่' ชี้ชะตา 'อุ้ม-ปล่อยล้มละลาย')
อย่างไรก็ตาม ต่อมาเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2563 กรมส่งเสริมสหกรณ์ แถลงว่า จำนวนสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัท การบินไทย เพิ่มขึ้นเป็น 81 แห่ง จากสหกรณ์ฯที่ลงทุนในบริษัท การบินไทยทั้งสิ้น 82 แห่ง โดยมีมูลค่าหุ้นกู้รวม 42,229.14 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.62% ของมูลค่าสินทรัพย์รวมของทั้ง 82 สหกรณ์ฯที่มีจำนวน 1.17 ล้านล้านบาท
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา พบข้อมูลว่า ณ วันที่ 21 พ.ค.2563 จำนวนสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ลงทุนหุ้นกู้และหุ้นสามัญของบริษัท การบินไทย เพิ่มมาอยู่ที่ 85 แห่ง ในจำนวนนี้มีสหกรณ์ฯ 84 แห่ง ลงทุนในหุ้นกู้บริษัท การบินไทย คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 43,353.07 ล้านบาท และมีมูลค่ายุติธรรมอยู่ที่ 45,160.27 ล้านบาท
แบ่งเป็นหุ้นกู้ระยะสั้น (ครบกำหนดไถ่ถอนภายใน 12 เดือนนับจากวันสิ้นปีบัญชีของสหกรณ์แต่ละแห่ง) จำนวน 2,163.06 ล้านบาท และเป็นหุ้นกู้ระยะยาว จำนวน 41,190.002 ล้านบาท (อ่านตารางประกอบ)
คำถามที่ตามมา คือ หลังจากบริษัท การบินไทย ยื่นคำร้องต่อศาลล้มลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการฯ และศาลอนุมัติคำร้อง พร้อมตั้ง ‘ผู้ทำแผน’ แล้ว จะส่งผลต่อหุ้นกู้มูลค่า 43,353.07 ล้านบาท ที่สหกรณ์ฯถืออยู่หรือไม่ และอย่างไร
“ในช่วงการทำแผนฟื้นฟูฯบริษัท การบินไทย ผู้ทำแผนจะเข้าเจรจากับเจ้าหนี้ รวมถึงสหกรณ์ฯที่ลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทฯ เพื่อขอแฮร์คัทหนี้ (ลดหนี้) หรือขอแปลงหนี้เป็นทุน หากสหกรณ์ฯยอมให้แฮร์คัทหนี้ ก็จะทำให้ทุนของสหกรณ์หาย สภาพคล่องหาย และกำไรในปีนั้นจะลดลงหรือพลิกเป็นขาดทุนได้” แหล่งข่าวในวงการสหกรณ์กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา
ในขณะที่ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลสหกรณ์ฯเอง ได้ทำการประเมินความเป็นไปได้ที่สหกรณ์ฯ ซึ่งลงทุนในหุ้นกู้บริษัท การบินไทย จะได้รับผลกระทบจากการที่บริษัทฯ เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูฯ เป็น 4 แนวทาง คือ 1.เงินต้นเท่าเดิมและงวดชำระหนี้เท่าเดิม 2.เงินต้นเท่าเดิม แต่ขยายงวดชำระหนี้ออกไป 3.การแฮร์คัทหนี้ และ4.การแปลงหนี้เป็นหุ้นทุน
“ถ้าเป็น 2 แนวทางแรกจะกระทบสหกรณ์ฯน้อยมาก แต่ถ้ามีการแฮร์คัทหนี้ หนี้ที่แอร์คัทไปจะถูกตัดเป็นหนี้สูญ ทำให้เงินของสหกรณ์หายไป ส่วนการแปลงหนี้เป็นทุน กรณีอย่างนี้เงินสหกรณ์ไม่หาย แต่ว่าสภาพคล่องจะหายไป เพราะเงินส่วนนี้จะถูกแปลงเป็นทุน ทำให้เงินหมุนเวียนลดลง” พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว
เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะเข้ามาค้ำประกันหุ้นกู้ที่สหกรณ์ฯลงทุน พิเชษฐ์ บอกว่า “ผมคงไม่ไปเสียเวลากับทางที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าสหกรณ์ฯจะเสนอให้รัฐบาลเข้ามาดูแลก็ทำได้ แต่ความเป็นไปได้น่าจะมีน้อย” (อ่านประกอบ : นัดประชุม 82 สหกรณ์! ถกท่าทีเจรจาผู้ทำแผนฟื้น ‘การบินไทย’ รับมือแฮร์คัทหนี้ 4.2 หมื่นล้าน)
ส่วนมุมมองของนักวิชาการอย่าง ศ.ดร.สหธน รัตนไพจิตร อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายพาณิชย์และธุรกิจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายล้มละลาย ให้ความเห็นว่า การยื่นฟื้นฟูกิจการฯบริษัท การบินไทย ภายใต้กระบวนการศาลล้มละลาย จะทำให้เจ้าหนี้ของบริษัท การบินไทย ได้หนี้คืนไม่มากนัก
“เจ้าหนี้คงได้คืนหนี้ แต่คงไม่มาก เพราะในแผนฟื้นฟูฯจะมีการแฮร์คัท ลดหนี้ด้วย และผมเชื่อว่าสหกรณ์จะถูกลดหนี้ลงอย่างมาก แม้ว่าจะไม่กระทบต่อการดำรงอยู่ของสหกรณ์ แต่จะทำให้ผู้ออมในสหกรณ์ฯขาดความเชื่อมั่น และอาจจะนำไปสู่การถอนหุ้น ทำให้บางแห่งล้มได้” ศ.ดร.สหธนกล่าว
(ศ.ดร.สหธน รัตนไพจิตร)
แม้ว่า ศ.ดร.สหธน จะไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลตัดสินใจให้บริษัท การบินไทย ยื่นฟื้นฟูกิจการฯตามกฎหมายล้มละลาย และเห็นว่ารัฐบาลควรใช้วิธีการปรับโครงสร้างหนี้นอกศาลจะดีกว่า เพราะอย่างน้อยลูกหนี้ก็ยังมีสิทธิจัดการสิ่งต่างๆด้วยตัวเองได้มากกว่า มีความยืดหยุ่นมากกว่า แต่เมื่อเป็นแนวทางที่รัฐบาลเลือกแล้ว ก็คงทำอะไรไม่ได้
อย่างไรก็ดี ศ.ดร.สหธน ชี้ประเด็นว่า สิ่งที่ควรจับตามองหลังจากบริษัท การบินไทย เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูฯแล้ว คือ ใครจะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหม่ หลังจากบริษัท การบินไทย มีการลดทุนและเพิ่มทุน
“เจ้าของใหม่ที่เข้ามาจะได้สิทธิทั้งหลายทั้งปวงที่อยู่ในการบินไทย เช่น แบรนด์ สิทธิการบินที่มากกว่าสายการบินทั่วไป...ซึ่งผมไม่รู้ว่าใครจะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหม่ อาจเป็นคนที่ทำธุรกิจสายการบินอยู่แล้ว หรือเศรษฐีที่ไหนก็ได้ แต่เขาจะซื้อการบินไทยไปในราคาถูกมากๆผ่านการเพิ่มทุน โดยมีศาลฯเป็นหลังพิงในการลดหนี้และไล่คนออก” ศ.ดร.สหธนกล่าว
อีกไม่กี่วันนี้ บริษัท การบินไทย น่าจะยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายเพื่อขอฟื้นฟูกิจการฯ และมีการตั้ง ‘ผู้ทำแผน’ ส่วนหน้าตาของแผนฟื้นฟูฯจะออกมาเป็นอย่างไร ‘ใครได้-ใครเสีย’ ยังคงต้องติดตามกันต่อไป
อ่านประกอบ :
‘ศักดิ์สยาม’ชง 15 อรหันต์จัดทำแผนฟื้นฟู’การบินไทย’ให้นายกฯเคาะสัปดาห์หน้า
เปิดขั้นตอนฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ สุดท้ายปลายทาง ‘ผู้ถือหุ้นเดิม-เจ้าหนี้’ เจ็บทั่วหน้า
ครม.ส่ง'การบินไทย' ฟื้นฟูกิจการต่อศาล 'บิ๊กตู่' หวังเห็นภาพสายการบินแห่งชาติกลับมา
แห่ถอนเงิน 74 สหกรณ์! สมาชิกฯหวั่น 'การบินไทย'ล้ม หนี้สูญ สมาคมฯร้องรัฐอุ้มหุ้นกู้
อนาคต‘การบินไทย’ ยื่นศาลล้มละลายขอฟื้นฟูกิจการ ใครได้-ใครเสีย?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/