"...1.พิจารณาและทบทวนโยบาย 'เปิดเสรีการบิน' เพื่อทำให้บริษัท การบินไทย มีความสามารถในการแข่งขันให้แก่สายการบินที่มีอยู่ในประเทศในปัจจุบัน 2.ประสานงานกับสำนักงานการบินพลเรือนในการให้บริษัท การบินไทย มีส่วนร่วมในการกำหนด Time Slot เที่ยวบิน เพื่อสร้างจุดแข็งในการบริการให้บริษัท การบินไทย โดยกำหนด Time Slot ที่ตรงความต้องการของผู้โดยสารมากขึ้น เพิ่มศักยภาพของการเป็น Network Airline และความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์..."
ในขณะที่การเดินหน้าฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ภายใต้คำสั่งศาลล้มละลายยังคงเป็น ‘มหากาพย์’ ที่ต้องติดตามกันยาวๆ
แต่ทว่าหนึ่งในกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความ ‘สำเร็จ’ ในการฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย นั่นก็คือการได้รับสนับสนุนจาก ‘รัฐบาล’
ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่มี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้รายงานความคืบหน้าของการดำเนินการตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย ภายใต้คำสั่งศาล พร้อมทั้งมีข้อเสนอขอรับการช่วยเหลือและสนับสนุนจากรัฐบาล ดังนี้
@หนี้สิน 3.25 แสนล้าน-มีรายจ่ายที่ลดไม่ได้เดือนละ 5-6 พันล้านบาท
ณ วันที่ 31 มี.ค.63 บริษัท การบินไทย มีหนี้สินทั้งหมด 352,484 ล้านบาท เทียบกับ ณ สิ้นปี 62 ที่บริษัทฯ มีหนี้สิน 244,899 ล้านบาท และมีสินทรัพย์รวม 256,665 ล้านบาท
สำหรับหนี้สิน 352,484 ล้านบาทดังกล่าว แบ่งเป็น เจ้าหนี้การค้า 13,642 ล้านบาท , ค่าใช้จ่ายค้างรับ 15,010 ล้านบาท ,เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน 12,511 ล้านบาท ,เงินกู้ยืมจากกิจการที่เกี่ยวข้อง 26,589 ล้านบาท
หนี้สินตามสัญญาเช่าดำเนินงาน 97,449 ล้านบาท ,หนี้สินภายใต้สัญญาเช่าทางการเงิน 47,797 ล้านบาท หุ้นกู้ 74,180 ล้านบาท ,รายรับล่วงหน้า 18,093 ล้านบาท ,ประมาณการหนี้สินไม่หมุนเวียนอื่น 32,049 ล้านบาท และอื่นๆ 15,236 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงมีภาระค่าใช้จ่ายที่ ‘ไม่สามารถลดได้’ ประมาณเดือนละ 5,000-6,000 ล้านบาท และจากการประมาณการคาดว่า หากบริษัทฯไม่ได้รับความช่วยเหลือสภาพคล่อง เงินสดของบริษัทฯ จะไม่เพียงพอในเดือนมิ.ย.63 ซึ่งบริษัทฯอยู่ระหว่างเจรจากับเจ้าหนี้ หากเจรจาสำเร็จจะทำให้บริษัทฯสามารถดำรงสภาพคล่องได้มากกว่าประมาณการ
นอกจากนี้ จากการที่บริษัทฯพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้บริษัทฯต้องส่งคืนทรัพย์สินของรัฐให้กับกรมธนารักษ์ ซึ่งบางกรณีบริษัทฯจะเจรจากับหน่วยงานรัฐ เพื่อเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการใช้ประโยชน์ หรืออาจต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างรวบรวมสัญญาทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบและจำเป็นต้องทบทวน ซึ่งจะแล้วเสร็จในสัปดาห์แรกของเดือนมิ.ย.63
@ยันสิทธิการบิน-เส้นทางบินไม่ได้รับผลกระทบ
บริษัท การบินไทย รายงานต่อว่า สำหรับสิทธิการบิน และเส้นทางการบิน ที่บริษัทฯเคยได้รับอยู่นั้น จะไม่ได้รับผลกระทบจากการพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากตามพ.ร.บ.เดินอากาศ พ.ศ.2497 กำหนดให้รัฐบาลเป็นผู้เจรจาเพื่อขอสิทธิการบินกับประเทศต่างๆ
เมื่อได้รับสิทธิการบินมาแล้วจะมอบให้ ‘คณะกรรมการการบินพลเรือน’ ดำเนินการจัดสรรเส้นทางการบินให้ผู้ประกอบการสายการบินอย่างเป็นธรรม โดยไม่ได้คำนึงถึงสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจของบริษัทฯ แต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี อาจต้องมีการ ‘ทบทวน’ องค์ประกอบของคณะกรรมการ หรือคณะทำงานตามกฎหมายบางฉบับที่มีผู้แทนของบริษัท การบินไทย ในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจเป็นองค์ประกอบ เช่น คณะกรรมการผู้แทนรัฐบาลในการเจรจาทำความตกลงการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ ตามความเหมาะสมต่อไป
@ขอภาครัฐช่วยเหลือเชิงนโยบาย-การดำเนินงาน 9 ข้อ
บริษัท การบินไทย ได้สรุปประเด็นขอรับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากภาครัฐทั้งในเชิงนโยบาย และเพื่อประโยชน์ในการทำงานรวม 9 ข้อ ประกอบด้วย
การสนับสนุนของภาครัฐในประเด็นเชิงนโยบาย 5 ข้อ ได้แก่
1.พิจารณาและทบทวนโยบาย 'เปิดเสรีการบิน' เพื่อทำให้บริษัท การบินไทย มีความสามารถในการแข่งขันให้แก่สายการบินที่มีอยู่ในประเทศในปัจจุบัน
2.ประสานงานกับสำนักงานการบินพลเรือนในการให้บริษัท การบินไทย มีส่วนร่วมในการกำหนด Time Slot เที่ยวบิน เพื่อสร้างจุดแข็งในการบริการให้บริษัท การบินไทย โดยกำหนด Time Slot ที่ตรงความต้องการของผู้โดยสารมากขึ้น เพิ่มศักยภาพของการเป็น Network Airline และความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัท การบินไทย และสายการบินในประเทศอื่น ได้รับประโยชน์จากจำนวนผู้โดยสารที่จะเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางอื่นมากยิ่งขึ้น
3.พิจารณาให้สายการบิน Low Cost ลงจอดได้ที่สนามบินดอนเมืองเท่านั้น เพื่อให้เกิดการแข่งขันสำหรับสายการบิน Full Service และสายการบิน Low Cost อย่างชัดเจนและเป็นธรรมมากขึ้น
4.พิจารณาสนับสนุนโครงการ Star Alliance Biometric Hub ในสนามบินสุวรรณภูมิ และการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อสร้างความมั่นใจให้กันโครงการ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับผู้โดยสารที่เดินทางมาประเทศไทยที่สะดวกรวดเร็วขึ้น และเป็นการลดความหนาแน่นในอาคารผู้โดยสาร
5.สนับสนุนบริษัท การบินไทย ในการยื่นขอ Recognition ของเเผนพื้นฟูกิจการในศาลต่างประเทศ เพื่อลดความเสียงในการถูกเจ้าหนี้ยึดเครื่องบิน เมื่อเครื่องบินของการบินไทยมีความจำเป็นที่จะต้องลงจอดในต่างประเทศ
(เครื่องบินของบริษัท การบินไทย จอดบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ ในช่วงหยุดบินในช่วงเดือนเม.ย.63 ขอบคุณภาพ : เพจ AOT official)
การสนับสนุนของภาครัฐในประเด็นการดำเนินงาน 4 ข้อ ได้แก่
1.ให้การสนับสนุนบริษัท การบินไทย ในการยื่นขอเงินกู้สภาพล่องในระยะสั้นโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันจากสถาบันการเงิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระยะสั้น (หากจำเป็น) และช่วยบริษัท การบินไทย ให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
2.ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐที่เป็นคู่ค้าบริษัท การบินไทย ในช่วงฟื้นฟูกิจการเพื่อผ่อนผันค่าใช้จ่าย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในการดำเนินงานของบริษัทฯ เช่น ค่าใช้จ่ายในการลงจอดของเครื่องบิน ค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อช่วยลดภาระทางการเงินของบริษัทฯในระยะสั้น โดยที่ยังไม่สามารถรับบริการต่างๆ จากคู่ค้าเพื่อดำเนินกิจการได้
3.พิจารณาสนับสนุนการจัดสรรพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสาร เพื่อให้บริษัท การบินไทย มีหลุมจอดประชิดอาคารผู้โดยสารแบบประจำเฉพาะ (Dedicated Concourse) กรณีศึกษาเช่นสายการบิน Cathay Pacific ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ทั้งนี้ เพื่อบริการห้องรับรองและอำนวยความสะดวกอื่นๆ ให้แก่ ลูกค้าของบริษัทฯได้มากยิ่งขึ้น เพิ่มจุดเด่น สร้างความประทับใจในด้านของการบริการ และช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงาน
4.ให้การสนับสนุนในการดำเนินการแก้ไขสัญญาต่างๆที่มีกับหน่วยงานรัฐและ/หรือรัฐวิสาหกิจเพื่อให้สอดคล้องกับการที่บริษัท การบินไทย ได้พ้นสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจประมาณ 79 สัญญา โดยแบ่งเป็นสัญญาเกี่ยวกับสวัสดิการของพนักงานกับธนาคารของรัฐ จำนวน 5 สัญญา
สัญญาให้สิทธิประกอบกิจการกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จำนวน 47 สัญญา สัญญาเช่าที่ดินและสถานที่กับกรมท่าอากาศยาน จำนวน 17 สัญญา และสัญญาอื่นๆ จำนวน 10 สัญญา ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัท การบินไทย สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ตามปกติ
@แก้ปัญหาเฉพาะ 5 ประเด็นหลังบริษัทฯพ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ
นอกจากนี้ บริษัท การบินไทย ได้รายงานผลกระทบการดำเนินงานและสวัสดิการพนักงานหลังจากบริษัทฯ พ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจใน 5 ประเด็น และดำเนินการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ได้แก่
1.กรณีที่โรงพยาบาลบางแห่งงดรับใบส่งตัวจากบริษัทฯ ทำให้พนักงานต้องสำรองจ่ายไปก่อนนั้น มีเพียงโรงพยาบาลเอกชน 4 แห่งเท่านั้นที่งดรับใบส่งตัวของบริษัทฯ แต่โรงพยาบาลอื่นๆอีกกว่า 40 แห่ง พนักงานบริษัทฯสามารถเข้ารับการรักษาได้ตามปกติ
2.กรณีสถานบริการน้ำมันไม่จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในบริเวณลานจอดเครื่องบินให้กับการบินไทย ทางบริษัทฯได้เพิ่มเงินสดสำรองจ่ายสำหรับการเติมน้ำมันแล้ว และปัจจุบันยังคงสามารรถใช้บัตรเติมน้ำมัน (Fleet card) ของธนาคารกรุงไทยและธนาคารกสิกรไทยได้ตามปกติ
3.กรณีผู้ผลิตวัตถุดิบระงับการส่งสินค้าให้ฝ่ายครัวการบิน ล่าสุดผู้บริหารบริษัทฯได้ปรับลดค่าใช้จ่ายต่างๆเพื่อรักษาสภาพคล่อง และใช้เงินสดเท่าที่จำเป็นแล้ว โดยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับครัวการบินจะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
4.กรณีธนาคารพันธมิตรระงับการจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงให้นักบินและลูกเรือการบินไทย โดยไม่แจ้งรายละเอียดนั้น บริษัทได้ดำเนินการโอนจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงนักบินและลูกเรือให้กับพนักงานโดยตรงแทนการจ่ายเงินผ่านธนาคาร
5.กรณีที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยคัดค้านการลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังจนทำให้บริษัท การบินไทย พ้นสภาพคความเป็นรัฐวิสาหกิจนั้น ล่าสุดกลุ่มพนักงานอยู่ระหว่างรวมตัวเพื่อขอจดทะเบียนตั้งสหภาพแรงงานบริษัท การบินไทย ภายใต้พ.ร.บ.แนงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ซึ่งอาจมีสหภาพฯมากกว่า 1 แห่งก็ได้
จากนี้ไปคงต้องติดตามกันไปต่อไปว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเข้าไปช่วยเหลือและสนับสนุนบริษัท การบินไทย ตามข้อเสนอทั้ง 9 ข้อหรือไม่ โดยเฉพาะข้อเสนอที่ขอให้รัฐทบทวนโยบาย 'เปิดเสรีการบิน' การให้สายการบิน Low Cost ลงจอดได้ที่สนามบินดอนเมืองเท่านั้น และให้บริษัท การบินไทย มีส่วนร่วมในการกำหนด Time Slot เที่ยวบิน เป็นต้น
เพราะความช่วยเหลือเหล่านี้จะทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เป็นการ 'เอื้อประโยชน์' ให้แก่บริษัทเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ โดยเฉพาะในวันนี้ 'การบินไทย' ได้พ้นสภาพการเป็น ‘รัฐวิสาหกิจ’ ไปแล้ว
อ่านประกอบ :
เริ่มแล้วตัดสวัสดิการพนง.! ยกแรกปฏิบัติการฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย’ จับตา ‘คลื่นใต้น้ำ’
เปิดเงินเดือน-ฟังเสียงสะท้อน ‘คนการบินไทย’ : ชีวิตไม่ได้ ‘สวยหรู’ อย่างที่ใครคิด!
5 ประเด็นแผนฟื้นฟู ‘การบินไทย’! ให้เจ้าหนี้โหวต ก.พ.64-ตั้ง 'ชาญศิลป์' เป็นผู้ทำแผน
การบินไทยยื่นขอรับรองการฟื้นฟูกิจการที่ศาล'สวิส-เยอรมัน-ญี่ปุ่น'ป้องกันถูกยึดทรัพย์
บิ๊กการบินไทยดีลลับซื้อเครื่องยนต์! โชว์ละเอียดสำนวน ป.ป.ช.สอบคดีสินบนโรลส์รอยซ์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/