‘กฤษฎีกา’ ตอบข้อหารือ ‘แบงก์ชาติ’ ชี้ ‘คณะกรรมการ ธปท.’ ยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ หลัง ‘ปรเมธี’ ครบวาระ-รักษาการในตำแหน่งล่วงพ้น 120 วัน พร้อมระบุ ‘ผู้ว่าฯ ธปท.’ ในฐานะรองประธานบอร์ดฯ นั่งเป็น ‘ประธานการประชุม' ได้
...................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เผยแพร่บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กรณีที่ประธานกรรมการซึ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป (เรื่องเสร็จที่ 75/2568) หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำหนังสือที่ ธปท. 62/2568 ลงวันที่ 3 ม.ค.2568 ขอหารือเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือของ ธปท. ซึ่งสอบถามกรณีนายปรเมธี วิมลศิริ ประธานบอร์ด ธปท. ซึ่งครบวาระในการดำรงตำแหน่ง และไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานฯต่อไปได้อีก ภายหลังวันที่ 9 ม.ค.2568 เพราะรักษาการในตำแหน่งมาครบ 120 วันแล้ว และยังไม่มีการแต่งตั้งประธานกรรมการ ธปท.คนใหม่นั้น จากกรณีดังกล่าว คณะกรรมการ ธปท. ซึ่งประกอบด้วยกรรมการที่เหลืออยู่ จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงว่า ภายหลังวันที่ 9 ม.ค.2568 นาย ป. (นายปรเมธี) ประธานกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. ซึ่งดำรงตำแหน่งจนครบวาระ ต้องพ้นจากตำแหน่งและไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ด้วยเหตุที่ล่วงพ้นระยะเวลา 120 วัน นับตั้งแต่วันที่ครบตามมาตรา 19 วรรคสาม ประกอบมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ และยังมิได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการฯขึ้นใหม่ กับยังคงมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด
ดังนั้น คณะกรรมการ ธปท. ย่อมประธานด้วยกรรมการทั้งหมดเท่าที่เหลืออยู่ และยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 19 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว
ส่วนข้อสอบถามที่ว่า ในกรณีที่คณะกรรมการ ธปท. ซึ่งประกอบด้วย กรรมการทั้งหมดเท่าที่เหลืออยู่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรองประธานกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. จะสามารถเป็นประธานในที่ประชุม และออกเสียงเพิ่มอีก 1 เสียงเป็นเสียงชี้ขาดในกรณีที่การวินิจฉัยของที่ประชุมมีคะแนนเสียงเท่ากัน รวมทั้งเป็นผู้ลงนามในเอกสาร เช่น รายงานประจำปีของคณะกรรมการ ธปท. ได้หรือไม่
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เห็นว่า เมื่อมาตรา 19 วรรคสี่ และมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฯ บัญญัติให้คณะกรรมการ ธปท. ประกอบด้วยกรรมการทั้งหมดเท่าที่เหลืออยู่ และยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แม้ว่าประธานกรรมการฯ จะพ้นจากตำแหน่งแล้ว กรณีจึงเห็นได้ว่า บทบัญญัติดังกล่าว มีเจตนารมณ์ที่จะให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ธปท.เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ประกอบกับการพ้นการพ้นจากตำแหน่งของประธานกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. มีผลเช่นเดียวกันกับกรณีที่ประธานกรรมการฯ ไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ กรณีจึงต้องนำมาตรา 21 วรรคสอง มาบังคับใช้แก่กรณีที่ประธานกรรมการฯ พ้นจากตำแหน่งด้วยโดยอนุโลม ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการ ธปท. ผู้ว่าการ ธปท. ในฐานะรองประธานกรรมการฯ จึงสามารถเป็นประธานการประชุมได้
และเมื่อมาตรา 21 วรรคสาม ได้บัญญัติให้ในการวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด ดังนั้น ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน ผู้ว่าการ ธปท. ในฐานะรองประธานกรรมการฯ ซึ่งเป็นประธานในการประชุม จึงสามารถออกเสียงเพิ่มขึ้นเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาดได้
ส่วนอำนาจในการลงนามในเอกสารของผู้ว่าการ ธปท. ในฐานะรองประธานกรรมการ ธปท. นั้น เห็นว่า ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงในแต่ละกรณีว่าเป็นการลงนามในเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ธปท. หรือเป็นเรื่องที่เป็นหน้าที่และอำนาจของประธานกรรมการฯ โดยเฉพาะ และบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือมติของคณะกรรมการ ธปท. ที่เกี่ยวข้องมีการกำหนดในเรื่องดังกล่าวไว้อย่างไร
โดยหากเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือมติของคณะกรรมการ ธปท. กำหนดเรื่องดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะ ผู้มีอำนาจลงนามในเรื่องดังกล่าว ก็ย่อมต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือมติของคณะกรรมการ ธปท. นั้น แต่หากเป็นกรณีที่ไม่มีการกำหนดเรื่องนี้ไว้เป็นการเฉพาะ และเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ธปท. คณะกรรมการ ธปท. ก็ย่อมมีมติให้ผู้ว่าการ ธปท. ในฐานะรองประธานกรรมการฯ ลงนามในเอกสารนั้นได้
สำหรับข้อสอบถามที่ว่า ในกรณีที่คณะกรรมการ ธปท. ซึ่งประกอบด้วยกรรมการทั้งหมดเท่าที่เหลืออยู่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ธปท. จะสามารถดำเนินการกรณีที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ธปท. ไปก่อน และเมื่อได้มีการแต่งตั้งประธานกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. แล้ว จะนำมาเสนอต่อต่อคณะกรรมการ ธปท. เพื่อให้สัตยาบันในภายหลังได้หรือไม่
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยในประเด็นที่หนึ่งแล้วว่า คณะกรรมการ ธปท. ซึ่งประกอบด้วยกรรมการทั้งหมดเท่าที่เหลืออยู่ยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ กรณีจึงไม่มีความจำเป็นต้องให้ความเห็นในประเด็นนี้อีก
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ขณะนี้ คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการฯ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ธปท. หลังจากก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ และรมว.คลัง ขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ธปท.
อ่านประกอบ :
ฉบับเต็ม! บันทึกกฤษฎีกา ชี้ ‘กิตติรัตน์’ ขาดคุณสมบัติ หลุด 'ประธานบอร์ด ธปท.'
เบื้องหลัง'กฤษฎีกา'เสียงข้างมาก ชี้'กิตติรัตน์'ขาดคุณสมบัติ'ประธานบอร์ดธปท.'
สะพัด ‘กิตติรัตน์’ ขาดคุณสมบัติ ‘ประธาน ธปท.’ - พิชัย เตรียมเสนอชื่อสรรหาใหม่
‘บอร์ดคัดเลือกฯ’เคาะเสนอชื่อ‘เลขาธิการ ก.ล.ต.’นั่ง‘กรรมการ ธปท.’แทน‘พงษ์ภาณุ’
ตั้ง ‘ประธานบอร์ด ธปท.’ ส่อลากยาว ‘กิตติรัตน์’ เจอตอ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
กระบวนการยังไม่เสร็จ เปิดเผยข้อมูลไม่ได้! 'สถิตย์' ตอบปมเลือกปธ.บอร์ดธปท.
คณะกก.คัดเลือก ฯ อุบชื่อ ประธานบอร์ด ธปท.-ไม่ให้สัมภาษณ์-แจกข่าวกระดาษแผ่นเดียว
กองทัพธรรม-ศิษย์หลวงตาบัว ยื่นหนังสือ ค้าน ‘กิตติรัตน์’ นั่ง ‘ประธานบอร์ดธปท.'
‘กลุ่มเศรษฐศาสตร์ฯ’แถลงการณ์ ฉ.3 จี้‘คกก.คัดเลือก’อย่าตั้งคนใกล้ชิดการเมืองนั่ง‘ปธ.ธปท.’
'สวตท.-วตท.'ประกาศจุดยืน'เป็นกลาง'-ไม่ก้าวล่วงหนุน'กิตติรัตน์'นั่ง'ประธานบอร์ด ธปท.'
ล่าชื่อสนับสนุน‘กิตติรัตน์’นั่งเก้าอี้‘ประธานบอร์ด ธปท.’ หวังผลักดันปรับปรุงการกำกับ‘แบงก์’
นัดใหม่ 11 พ.ย.!‘สถิตย์’เลื่อนประชุมฯ-สะพัดขอเปลี่ยนตัว‘กิตติรัตน์’ชิง‘ประธานบอร์ด ธปท.’
ค้าน‘การเมือง’แทรกแซง‘แบงก์ชาติ’พุ่งเกือบ 1 พันคน ก่อนถกตั้ง‘ปธ.บอร์ด ธปท.’ 4 พ.ย.นี้
416 อดีต‘พนักงาน ธปท.’ร่อน‘จม.เปิดผนึก’ คัดค้าน‘การเมือง’แทรกแซงตั้ง‘ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ’
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำ‘ธนาคารกลาง’ต้องอิสระ ป้องกัน‘นโยบายการเงิน’ถูกกำหนดโดย‘นโยบายการคลัง’
เช็คชื่อ 227 นักวิชาการ‘กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม’เปิดหน้าชน‘การเมือง’ครองงำ‘ธปท.’
4 อดีตผู้ว่าฯธปท.-223 นักวิชาการ แถลงการณ์คัดค้าน‘กลุ่มการเมือง’ครอบงำ‘แบงก์ชาติ’
ระวังอย่าให้ชนวนหายนะเศรษฐกิจไทยถูกจุดขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567
คดีข้าวบูล็อค'กิตติรัตน์'ยังไม่จบ! ลุ้น'อัยการสูงสุด'ทบทวนคำสั่งไม่อุทธรณ์'อดีต อสส.'
'คกก.คัดเลือกฯ'นัด 4 พ.ย.เคาะ'ปธ.บอร์ดธปท.'-รอผลตรวจสอบคุณสมบัติ'กิตติรัตน์'
‘คณะกรรมการสรรหาฯ’เลื่อนลงมติเลือก‘ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ’คนใหม่-รอตรวจสอบข้อมูลเพิ่ม
คณะศิษยานุศิษย์ฯ‘หลวงตามหาบัว’คัดค้านส่ง‘บุคคลยึดโยงการเมือง’แทรกแซง‘แบงก์ชาติ’
จิตสำนึกของคณะกรรมการสรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
ประธานบอร์ดแบงก์ชาติกับระบบเศรษฐกิจการเงินไทย