"...หากธนาคารแห่งประเทศไทยถูกแทรกแซงจนขาดความเป็นอิสระ ความเสี่ยงของการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจากนานาประเทศก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีก ผลเสียต่อธุรกิจและเศรษฐกิจ ย่อมตามมาอย่างแน่นอน..."
ในขณะนี้มีแต่จิตสำนึกของคณะกรรมการสรรหาประธานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เท่านั้นที่จะยับยั้งหายนะทางเศรษฐกิจ
ที่ผ่านมารัฐบาลได้แสดงความไม่พอใจอย่างชัดเจนต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งในเรื่องไม่ลดดอกเบี้ย และการคัดค้านนโยบายการแจกเงินหนึ่งหมื่นบาท เป็นต้น
ล่าสุดก็มีการคาดหมายว่ารัฐบาลจะส่งคนของตนเข้าไปเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งวัตถุประสงค์ก็เพื่อจะได้สามารถใช้ ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นเครื่องมือในการสนองนโยบายของรัฐบาล ซึ่งหากภาพนี้เกิดขึ้น หายนะของเศรษฐกิจไทยก็จะตามมาอย่างแน่นอน เหมือนที่เราเห็นในต่างประเทศที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงในธนาคารกลาง
การกระทำดังกล่าวทำให้ความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อระบบเศรษฐกิจสั่นคลอน เพราะธนาคารกลางที่ถูกแทรกแซงจะไม่สามารถมีบทบาทในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว เศรษฐกิจจึงเสี่ยงที่จะเสียหายจากนโยบายที่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเพียงอย่างเดียว
ในกรณีของประเทศไทยนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทซึ่งจะเป็นภาระทางการคลังอย่างมหาศาล ก็ได้สร้างความเสี่ยงที่ประเทศจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่แล้ว
หาก ธนาคารแห่งประเทศไทยถูกแทรกแซงจนขาดความเป็นอิสระ ความเสี่ยงของการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจากนานาประเทศก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีก ผลเสียต่อธุรกิจและเศรษฐกิจ ย่อมตามมาอย่างแน่นอน
วงการเศรษฐกิจของไทยได้ชี้ให้เห็นถึงผลเสียหายอันใหญ่หลวงของการแทรกแซงธนาคารแห่งประเทศไทย แต่รัฐบาลก็ไม่ต้องการรับฟังคำเตือนเหล่านี้
ในขณะนี้ จึงมีเพียงแต่จิตสำนึกของคณะกรรมการสรรหาประธานธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการยับยั้งไม่ให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจนี้
อันที่จริง กฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้คำนึงถึงความเสี่ยงของการที่กรรมการสรรหาจะถูกแทรกแซงจากทางการเมืองหากกรรมการยังอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ กฏหมายจึงได้ กำหนดให้กรรมการสรรหาเป็นอดีตข้าราชการระดับสูงของหน่วยงานสำคัญทางเศรษฐกิจที่เกษียณอายุแล้วทั้งสิ้น เพื่อจะได้ปลอดภัยจากการถูกแทรกแซง
ที่ผ่านมาคณะกรรมการสรรหาตำแหน่งสำคัญๆของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ปฎิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นอิสระไม่ยอมรับการแทรกแซง ผู้ที่ได้รับการสรรหาจึงเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่เข้าใจบทบาทของธนาคารกลาง และสามารถปฎิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสม เป็นที่ยอมรับของสังคม
ดิฉันจึงได้แต่คาดหวังว่าคณะกรรมการสรรหาในครั้งนี้จะสามารถทำหน้าที่ที่สำคัญนี้ด้วยหลักการเดียวกัน คงไม่มีท่านใดอยากจะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าท่านเป็นคนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบในการทำให้เศรษฐกิจไทยพลิกผันไปสู่ก้าวแรกของความหายนะ
ธาริษา วัฒนเกส
อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย