‘กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม’ แพร่แถลงการณ์ ฉบับ 3 เรียกร้อง ‘คกก.คัดเลือก’ ตั้ง ‘ประธานบอร์ด ธปท.’ ต้องไม่เป็นผู้มีความสัมพันธ์อันแนบแน่น 'การเมือง' ย้ำต้องยึดมั่นหลักการให้ ‘แบงก์ชาติ’ เป็นสถาบันที่เป็น ‘อิสระ’ จากการครอบงำ เพื่อหาผลประโยชน์ ‘ระยะสั้น’
..................................
จากกรณีที่คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน นัดประชุมคณะกรรมการฯ ในวันที่ 11 พ.ย.2567 เพื่อพิจารณาลงมติเลือกประธานกรรมการและกรรมการ ธปท. โดยในฝั่งกระทรวงการคลัง ได้เสนอชื่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ และอดีต รมว.คลัง ให้คณะกรรมการฯคัดเลือกเป็นประธานบอร์ด ธปท. นั้น
เมื่อวันที่ 9 พ.ย. กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ได้แถลงการณ์ฉบับที่ 3 เรียกร้องให้ 7 กรรมการคัดเลือกยึดมั่นหลักการ ‘รักษาความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย’ โดยมีเนื้อหา ตามที่กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 4 ท่าน นักวิชาการ คณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์และสาขาอื่น ๆ หลายสถาบันทั้งในอดีตและปัจจุบัน ได้ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยการครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทยโดยกลุ่มการเมืองผ่านการคัดสรรประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย
ต่อมาประธานคณะกรรมการคัดเลือกได้ขอเลื่อนการพิจารณาลงมติเลือกประธานและกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยออกไปเป็นวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน ศกนี้ และได้ปรากฏกลุ่มบุคคลและบุคคลที่ใกล้ชิดกลุ่มการเมืองบางส่วนออกมาแสดงความเห็นโต้แย้ง ดังนี้
ประการที่หนึ่ง แสดงความเห็นสนับสนุน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง โดยระบุว่าเป็นคนเก่ง มีความรู้ความสามารถเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย
กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมขอเรียนว่า พวกเราไม่ได้สนใจตัวบุคคลว่านายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นคนเก่งหรือไม่ แต่เป็นห่วงกังวลในหลักการว่าผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องไม่เป็นผู้มีความสัมพันธ์อันแนบแน่นทางการเมือง ต้องไม่เคยกระทำหรือแสดงให้เห็นถึงเจตนาในการแทรกแซงกดดัน ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินนโยบายทางการเงินตามที่ฝ่ายการเมืองต้องการ
เพราะหากธนาคารกลางของไทยต้องดำเนินการตามความต้องการของฝ่ายการเมือง ย่อมทำลายความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง ที่ต้องรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคงในระยะยาว และอาจสร้างความร่ำรวยให้กับกลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งบุคคลใด
ทางกลุ่มไม่ได้เจาะจงตัวบุคคล ไม่ว่าจะเป็นนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง หรือนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ แต่เกรงว่าผู้ใดก็ตามที่มีความสัมพันธ์และคุณลักษณะดังกล่าว ย่อมเป็นที่ห่วงกังวล และยิ่งถ้าผู้นั้นเป็นคนเก่งมีความสามารถสูงก็ยิ่งสร้างความห่วงกังวลว่าอาจใช้ความเก่งความสามารถในการแทรกแซงครอบงำได้
ประการที่สอง มีข้อโต้แย้งว่าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ควรมีความเป็นอิสระจากการเมือง เนื่องจากเคยทำผิดพลาดมาก่อน เช่น ในวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 จึงเป็นการสมควรที่รัฐบาลสามารถเข้าแทรกแซงได้
กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ขอเรียนว่าการอ้างความผิดพลาดในอดีตเพื่อเข้าแทรกแซง ไม่เป็นเหตุและผลเพียงพอ เพราะการแทรกแซงโดยภาคการเมืองอาจก่อให้เกิดได้ทั้งผลดีและผลเสีย ไม่ควรมองว่าเป็นผลดีอย่างเดียว ในขณะที่ข้อมูลเชิงประจักษ์จากประสบการณ์ทั่วโลกแสดงว่า การแทรกแซงมักก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีอย่างเทียบไม่ได้
หลักการความเป็นอิสระของธนาคารกลางที่ยึดถือกันทั่วโลก จะนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง ซึ่งหมายถึงความน่าเชื่อถือของการดำเนินนโยบายการเงินด้วย หากธนาคารกลางไม่เป็นอิสระและถูกสั่งการได้โดยฝ่ายการเมือง การดำเนินนโยบายการเงินก็จะไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ เพราะฝ่ายการเมืองมีปัจจัยแปรผัน กดดัน หรือจูงใจจำนวนมาก คาดเดาได้ยาก ความไม่แน่นอนจะเป็นผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจเพราะก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงนโยบายที่กระทบภาคธุรกิจอย่างมาก
และที่สำคัญที่สุด หากความน่าเชื่อถือของนโยบายการเงินหมดไป ความสามารถที่จะรักษาเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายก็จะหมดไปเช่นกัน ส่งผลให้เงินเฟ้ออาจทะยานสูงขึ้นและควบคุมยากเพราะนโยบายการเงินขาดความน่าเชื่อถือเสียแล้ว ซึ่งเป็นผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
ถ้าจะกล่าวโดยหลักการแล้ว ธนาคารกลางทั่วโลกรวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงสถาบันทุกแห่งสามารถทำผิดพลาดได้ในบางครั้ง กระบวนการดำเนินนโยบายจะต้องเน้นให้ธนาคารกลางมีความรับผิดชอบต่อสาธารณะ ผ่านการดำเนินนโยบายการเงินที่โปร่งใสอธิบายได้ พร้อมรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน และแก้ไขเมื่อพบข้อผิดพลาด ในเรื่องของความโปร่งใสธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับปรุงระเบียบและแนวปฏิบัติภายหลังวิกฤติปี 2540 อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเป็นธนาคารกลางที่ได้รับการประเมินในระดับที่ดีในระดับสากล
กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมและภาคส่วนต่างๆ ขอเรียกร้องอีกครั้งให้คณะกรรมการคัดเลือกทั้ง 7 ท่าน ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกประธานและกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยพิจารณาอย่างถ่องแท้ต่อคุณสมบัติที่เป็นหลักสากลของผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกลางทั่วโลก ต้องคำนึงถึงประโยชน์และเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ปราศจากความเกรงใจและความสัมพันธ์ทางการเมือง ยึดมั่นหลักการที่สังคมไทยในอดีตได้พยายามสร้างให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นสถาบันที่เป็นอิสระจากการครอบงำเพื่อหาผลประโยชน์ในระยะสั้นทางการเมือง
ทั้งนี้ ณ วันที่ 9 พ.ย.2567 มีผู้ร่วมลงนามสนับสนุนข้อเรียกร้องแสดงความห่วงใยธนาคารแห่งประเทศไทยกับกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม 830 คน รวมผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 4 ท่าน ได้แก่ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล , ดร.ธาริษา วัฒนเกส ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล และ ดร.วิรไท สันติประภพ และนายวิรัตน์ วัฒนศิริธรรม อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
อ่านประกอบ :
'สวตท.-วตท.'ประกาศจุดยืน'เป็นกลาง'-ไม่ก้าวล่วงหนุน'กิตติรัตน์'นั่ง'ประธานบอร์ด ธปท.'
ล่าชื่อสนับสนุน‘กิตติรัตน์’นั่งเก้าอี้‘ประธานบอร์ด ธปท.’ หวังผลักดันปรับปรุงการกำกับ‘แบงก์’
นัดใหม่ 11 พ.ย.!‘สถิตย์’เลื่อนประชุมฯ-สะพัดขอเปลี่ยนตัว‘กิตติรัตน์’ชิง‘ประธานบอร์ด ธปท.’
ค้าน‘การเมือง’แทรกแซง‘แบงก์ชาติ’พุ่งเกือบ 1 พันคน ก่อนถกตั้ง‘ปธ.บอร์ด ธปท.’ 4 พ.ย.นี้
416 อดีต‘พนักงาน ธปท.’ร่อน‘จม.เปิดผนึก’ คัดค้าน‘การเมือง’แทรกแซงตั้ง‘ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ’
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำ‘ธนาคารกลาง’ต้องอิสระ ป้องกัน‘นโยบายการเงิน’ถูกกำหนดโดย‘นโยบายการคลัง’
เช็คชื่อ 227 นักวิชาการ‘กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม’เปิดหน้าชน‘การเมือง’ครองงำ‘ธปท.’
4 อดีตผู้ว่าฯธปท.-223 นักวิชาการ แถลงการณ์คัดค้าน‘กลุ่มการเมือง’ครอบงำ‘แบงก์ชาติ’
ระวังอย่าให้ชนวนหายนะเศรษฐกิจไทยถูกจุดขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567
คดีข้าวบูล็อค'กิตติรัตน์'ยังไม่จบ! ลุ้น'อัยการสูงสุด'ทบทวนคำสั่งไม่อุทธรณ์'อดีต อสส.'
'คกก.คัดเลือกฯ'นัด 4 พ.ย.เคาะ'ปธ.บอร์ดธปท.'-รอผลตรวจสอบคุณสมบัติ'กิตติรัตน์'
‘คณะกรรมการสรรหาฯ’เลื่อนลงมติเลือก‘ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ’คนใหม่-รอตรวจสอบข้อมูลเพิ่ม
คณะศิษยานุศิษย์ฯ‘หลวงตามหาบัว’คัดค้านส่ง‘บุคคลยึดโยงการเมือง’แทรกแซง‘แบงก์ชาติ’
จิตสำนึกของคณะกรรมการสรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
ประธานบอร์ดแบงก์ชาติกับระบบเศรษฐกิจการเงินไทย