"...ถ้าคณะกรรมการสรรหาแต่งตั้งคนที่ไม่เหมาะสม ไม่มีความน่าเชื่อถือ และต้องการเอาการเมืองเข้ามาครอบงำแบงก์ชาติ เป็นประธานบอร์ดแล้ว จะสร้างความสับสน และความปั่นป่วนให้กับระบบเศรษฐกิจการเงินไทยได้มาก กระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ และความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว..."
ในวันอังคารที่ 8 ตุลาคม ที่จะถึงนี้ จะมีการตัดสินของคณะกรรมการชุดเล็กๆ ชุดหนึ่ง ที่จะมีผลใหญ่มากต่อความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเงินไทย
ถ้าตัดสินใจผิด หรือคำนึงถึงผลประโยชน์ทางการเมือง หวังอิงอำนาจ มากกว่ายึดถือหลักการที่ถูกต้องแล้ว อาจจะเป็นจุดพลิกผันที่จะนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจไทยครั้งต่อไปได้
คณะกรรมการชุดนี้ คือคณะกรรมการสรรหาประธานและกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติ ชุดใหม่
คณะกรรมการสรรหาชุดนี้ ประกอบด้วย นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ (อดีตปลัดกระทรวงการคลัง) นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร (อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์) นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี (อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม) นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ (อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ) นายอัชพร จารุจินดา (อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา) นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา (อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต.) และนายสุทธิพล ทวีชัยการ (อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยหรือ คปภ.)
แปลกใจว่ารอบนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไม่ได้แต่งตั้งอดีตผู้ว่าแบงก์ชาติคนใดคนหนึ่งเข้ามาเป็นกรรมการสรรหาด้วย ต่างจากหลายครั้งที่ผ่านมา
ที่น่ากังวลมาก คือมีข่าวว่ากระทรวงการคลังเสนอชื่อ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้คณะกรรมการสรรหาแต่งตั้งเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ ส่วนคนอื่นที่ถูกเสนอชื่อมีใครอีกบ้าง ก็ไม่มีใครรู้ ปิดกันได้เงียบมาก จนประชาชนไม่สามารถเปรียบเทียบคุณสมบัติ และความเหมาะสมได้เลย
แม้ว่านายกิตติรัตน์ จะมีคุณสมบัติตามที่เขียนไว้ในกฎหมาย แต่ก็หวังว่าคณะกรรมการสรรหา จะไม่ได้พิจารณาเพียงแค่ข้อความตามกฎหมายเท่านั้น แต่จะต้องดูลึกลงไปถึงพฤติกรรมทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทัศนคติ และวิธีคิด ว่าเหมาะสมและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ และจะสร้างประโยชน์ หรือสร้างผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศอย่างไร
ตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติมีความสำคัญมาก ถ้าแต่งตั้งคนที่ไม่เหมาะสม จะสร้างความปั่นป่วน ความเสียหาย ให้กับแบงก์ชาติ และกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศในอนาคตได้
ลองทบทวนดูพฤติกรรมของนายกิตติรัตน์ในอดีต
สมัยเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้ผลักดันนโยบายรับจำนำข้าวแบบสุดตัว เริ่มต้นบอกว่าจะเสียหายเพียงแค่แสนกว่าล้านบาทเท่านั้น แต่ความเสียหายจริงสูงกว่า 600,000 ล้านบาท
มีการทุจริตกันมากมาย ความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมข้าวไทยและพันธุ์ข้าวไทยถูกบั่นทอนลงมาก ยังแก้ไขไม่ได้จนถึงปัจจุบัน หนี้รัฐบาลที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวยังค้างอยู่อีกหลายแสนล้านบาท เป็นปัญหาให้ทั้ง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)และรัฐบาลต้องชำระหนี้ไปอีกนับสิบปี
มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า สมัยเป็น รมว.คลัง ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ต้องการเข้ามาครอบงำและแทรกแซงแบงก์ชาติโดยต่อเนื่อง ให้สัมภาษณ์ว่าคิดจะปลดผู้ว่าแบงก์ชาติสมัยนั้น(นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล)ทุกวัน (กรุงเทพธุรกิจ,19 เมษายน 2013)
พยายามที่จะเสนอทุนสำรองระหว่างประเทศบางส่วนออกมาใช้ดูแลค่าเงินและออกพระราชกำหนดโอนหนี้ของกระทรวงการคลังไปให้แบงก์ชาติดูแล (ครม.ไฟเขียวออก พ.ร.ก. โอนหนี้ 1.14 ล.ให้ ธปท.)
รวมทั้ง ยังตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติที่ต่อมาประธานบอร์ดแบงก์ชาติเกิดความขัดแย้งกับผู้ว่าแบงก์ชาติ สร้างความสับสนให้กับตลาดเงิน ตลาดทุน จนปั่นป่วนไปหมด ทำลายความน่าเชื่อถือของแบงก์ชาติทั้งในประเทศและต่างประเทศ
หลายคนคงจำกันได้ถึงวลี "โกหกสีขาว (white lie)" ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการโกหกของรัฐมนตรีหลายครั้ง แค่นายกิตติรัตน์อ้างว่า โกหกสีขาว ทำได้ ไม่ผิด ไม่ใช่การโกหกถ้ามีเจตนาดี (“กิตติรัตน์” แจงกระทู้สดสภา ย้ำโกหกสีขาวไม่ใช่การโกหก) ลองทบทวนพฤติกรรมตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุด
นายกิตติรัตน์ เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน สนับสนุนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตแบบสุดตัว
แม้ว่านายกิตติรัตน์อาจพ้นผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง หรือตำแหน่งทางการเมืองมาแล้วเกินกว่าหนึ่งปี ไม่ขัดกับคุณสมบัติตามที่กฎหมายเขียนไว้
แต่ก็รับรู้กันทั่วไป ว่านายกิตติรัตน์ยังคงทำงานใกล้ชิดกับผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลชุดปัจจุบันมากถึงมากที่สุด ออกมาตอบโต้คนที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยตลอดเวลา ถ้าคณะกรรมการสรรหาทำตัวไม่รู้ (ไม่เห็น) ก็จะประหลาดมาก ผิดวิสัยวิญญูชน
นายเศรษฐา สมัยเป็นนายกรัฐมนตรีเคยให้สัมภาษณ์ไว้เองเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ว่าไม่ได้ส่งนายกิตติรัตน์ ไปเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เพราะเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ไม่เหมาะสม แต่ก็น่าแปลกใจ ถ้ากระทรวงการคลังยังส่งชื่อนายกิตติรัตน์มาให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณา
ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายเศรษฐา มาจนถึงรัฐบาล น.ส.แพทองธาร นายกิตติรัตน์ให้สัมภาษณ์โจมตีแบงก์ชาติ และผู้ว่าแบงก์ชาติมาโดยต่อเนื่อง และประกาศผ่านสื่อหลายครั้งด้วยว่า อยากเปลี่ยนตัวผู้ว่าแบงค์ชาติคนปัจจุบัน (แม้ว่าตอนนั้นตัวเองเป็นเพียงประธานที่ปรึกษาของนายกฯ)
ถ้าคณะกรรมการสรรหาแต่งตั้งคนที่ไม่เหมาะสม ไม่มีความน่าเชื่อถือ และต้องการเอาการเมืองเข้ามาครอบงำแบงก์ชาติ เป็นประธานบอร์ดแล้ว จะสร้างความสับสน และความปั่นป่วนให้กับระบบเศรษฐกิจการเงินไทยได้มาก กระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ และความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว
การเมืองเข้าไปแทรกแซง ครอบงำการทำงานของแบงก์ชาติได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่การประเมินผลผู้ว่า การแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายชุดต่างๆ การกำกับดูแลสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ตลอดจนการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศ (ที่มีสูงถึง 270,000 ล้านเหรียญ ซึ่งนักการเมืองบางส่วนชอบคิดว่าเป็นของรัฐบาลและอยากนำไปหาประโยชน์)
ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลลับอีกมาก ที่คนบางกลุ่มอาจจะหาประโยชน์ได้
ถ้าแบงก์ชาติถูกการเมืองแทรกแซงครอบงำ ก็จะอ่อนแอลงเหมือนกับหน่วยงานอื่นที่เคยเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ซึ่งวันนี้ถูกแทรกแซง ครอบงำจนอ่อนแอลงหมดแล้ว คนเก่ง คนดี ก็จะอยู่ยาก ยิ่งองค์กรอ่อนแอลงก็ยิ่งเข้าทางนักการเมืองที่มุ่งหาแต่ประโยชน์ระยะสั้นๆ
มีตัวอย่างจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินหลายประเทศ ที่เกิดจากการเมืองเข้ามาแทรกแซง ครอบงำการทำงาน และบั่นทอนความเข้มแข็งของธนาคารกลาง จนธนาคารกลางไม่สามารถทำนโยบายเศรษฐกิจที่ถูกต้องได้ และไม่สามารถคานอำนาจรัฐบาลที่มุ่งทำแต่นโยบายประชานิยม หวังแต่ผลทางการเมืองระยะสั้นและผลประโยชน์ของกลุ่มพวกพ้อง จนขาดวินัยการเงินการคลัง
หวังว่าคณะกรรมการสรรหาประธานและกรรมการบอร์ดแบงก์ชาติชุดนี้ จะคำนึงถึงหลักการที่ถูกต้อง มากกว่าเกรงใจอำนาจทางการเมือง เพราะถ้ายอมแต่งตั้งคนที่ไม่เหมาะสมเข้ามาเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติแล้ว ระบบเศรษฐกิจการเงินไทยอาจจะพังได้ไว
วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย