‘อดีตพนักงาน ธปท.’ 416 คน ร่วมลงชื่อจดหมายเปิดผนึก ยกจรรยาบรรณ ‘ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ’ ต้องไม่เกี่ยวข้องกับ ‘การเมือง' พร้อมเรียกร้อง ‘คณะกรรมการสรรหาฯ’ คัดเลือกฯด้วยความ ‘รอบคอบ-โปร่งใส-เป็นอิสระ’
........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ย. อดีตพนักงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกจดหมายเปิดผนึก เรื่อง ‘จรรยาบรรณที่พึงมีสำหรับตำแหน่งประธานและกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย’ โดยมีเนื้อหาว่า “ตามที่คณะกรรมการสรรหาฯ จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยอีก 2 ท่าน ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567
ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากคณะศิษย์หลวงตามหาบัว กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ซึ่งรวมถึงอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึง 4 ท่าน ให้คณะกรรมการสรรหาฯ ได้พิจารณาคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ มีความสุจริต เที่ยงธรรม โปร่งใส มีธรรมาภิบาล และไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเข้าดำรงตำแหน่ง เพื่อให้ ธปท. สามารถดำเนินพันธกิจของธนาคารกลางตามที่กำหนดไว้ นั้น
พวกเราในฐานะอดีตพนักงาน ธปท. ขอเรียนยืนยันว่า คณะกรรมการ ธปท. มีความสำคัญอย่างยิ่งในการวางกรอบ และกำหนดนโยบายของ ธปท. โดย ธปท. ถือเป็นหน่วยงานของรัฐในรูปแบบองค์กรที่ต้องปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง เพื่อสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การเงินที่มีเสถียรภาพต่อเนื่องในระยะยาว และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและทั่วถึง
แม้ว่าคณะกรรมการ ธปท. จะไม่มีบทบาทหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการเงิน และนโยบายรักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินโดยตรง แต่ พ.ร.บ. ธปท. ได้ระบุอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ให้พิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน คณะกรรมการระบบการชำระเงิน และแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงในตำแหน่งตั้งแต่ผู้ช่วยผู้ว่าการฯ ขึ้นไป และที่สำคัญ คือ มีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์และกำกับดูแลการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองระหว่างประเทศ
ด้วยบทบาทหน้าที่ของประธานและกรรมการ ธปท. ข้างต้น บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งต้องไม่เพียงแต่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด แต่ต้องปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณขั้นสูงสุดที่เป็นข้อบังคับ ธปท. ว่าด้วยจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. พ.ศ. 2553 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อ 4.5 ที่ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม ข้อ 4.7 พึงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม เป็นกลางทางการเมือง และไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และ ข้อ 4.11 พึงเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำรงตน รักษาชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของ ธปท.
พวกเราจึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสรรหาฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ใช้วิจารณญาณพิจารณาด้วยความรอบคอบ รอบด้าน และโปร่งใส อย่างเป็นอิสระ ในการสรรหาประธาน ธปท. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการ ธปท. เพื่อให้ได้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีประวัติและพฤติกรรมที่ปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณที่ระบุไว้ เป็นที่ประจักษ์ในสังคมและไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 80 ปีของการก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการธนาคาร ผู้บริหาร และพนักงาน ต้องใช้ความพยายาม และความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างสูง เพื่อรักษาอธิปไตยและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินของไทยไว้ โดยป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงทางการเมือง
ผู้ว่าการเล้ง ศรีสมวงศ์ ผู้ว่าการคนแรกที่ทำงานเต็มเวลาที่ ธปท. ได้กล่าวในการเข้าร่วมประชุมกรรมการธนาคารเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2490 ว่า “ในฐานะที่ ธปท. เป็นนายธนาคารกลาง ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและจะดำเนินการอย่างอิสระ ตลอดจนทำหน้าที่ในการเหนี่ยวรั้งรัฐบาลในกิจการที่ธนาคารเห็นว่าจะเกิดความเสียหายแก่ประเทศเป็นส่วนรวม……”
สำหรับอดีตพนักงาน ธปท. ที่ลงนามจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว มีจำนวน 416 คน ในจำนวนนี้เป็นอดีตผู้บริหาร ธปท. ระดับรองผู้ว่าการ 4 คน ได้แก่ นางทองอุไร ลิ้มปิติ ,นายรณดล นุ่มนนท์ , นางฤชุกร สิริโยธิน และ น.ส.วชิรา อารมย์ดี และอดีตผู้บริหาร ธปท. ระดับผู้ช่วยผู้ว่าการ มีจำนวน 12 คน ได้แก่ นายกฤช ฟลอเล็ต ,นางจันทวรรณ สุจริตกุล ,นางนพมาศ มโนลีหกุล ,นางนวอร เดชสุวรรณ ,นางผุสดี หมู่พยัคฆ์ ,นายเพิ่มสุข สุทธินุ่น ,นายศิริชัย สาครรัตนกุล ,น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ,นางสุภาวดี ปุณศรี ,นางเสาวณี สุวรรณชีพ ,นางอมรา ศรีพยัคฆ์ และนางอรุณศรี ติวะกุล
รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้เรียกประชุมคณะกรรมการฯ ในวันที่ 4 พ.ย.2567 เพื่อลงมติเลือกประธานกรรมการและกรรมการ ธปท. โดยในฝั่งกระทรวงการคลัง มีการเสนอชื่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้คณะกรรมการฯคัดเลือกเป็นดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท.
ก่อนหน้านี้ กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการ 227 คน ในจำนวนนี้เป็นอดีตผู้ว่าการ ธปท. 4 คน ได้แก่ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล , ดร.ธาริษา วัฒนเกส ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล และ ดร.วิรไท สันติประภพ ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์คัดค้านการครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทยโดยกลุ่มการเมือง เมื่อรวมกับอดีตพนักงาน ธปท. 416 คน ที่ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกฯ ทำให้ล่าสุดมีผู้ที่คัดค้านการที่ฝ่ายการเมืองจะเข้าแทรกแซงหรือครอบงำ ธปท. ผ่านการแต่งตั้งประธานบอร์ด ธปท. รวมทั้งสิ้น 643 คน
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า ในวันเดียวกัน (1 พ.ย.) กองทัพธรรม ได้ประกาศเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันลงชื่อสนับสนุนนักวิชาการ และกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ที่ออกแถลงการณ์ห่วงใยกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย ถูกแทรกแซงจากกลุ่มการเมือง เพื่อผลประโยชน์ระยะสั้น ทำลายเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของประเทศในระยะยาว (อ่านเพิ่มเติม : การลงชื่อร่วมคัดค้านรัฐบาลครอบงำแบงก์ชาติ)
อ่านประกอบ :
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำ‘ธนาคารกลาง’ต้องอิสระ ป้องกัน‘นโยบายการเงิน’ถูกกำหนดโดย‘นโยบายการคลัง’
เช็คชื่อ 227 นักวิชาการ‘กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม’เปิดหน้าชน‘การเมือง’ครองงำ‘ธปท.’
4 อดีตผู้ว่าฯธปท.-223 นักวิชาการ แถลงการณ์คัดค้าน‘กลุ่มการเมือง’ครอบงำ‘แบงก์ชาติ’
ระวังอย่าให้ชนวนหายนะเศรษฐกิจไทยถูกจุดขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567
คดีข้าวบูล็อค'กิตติรัตน์'ยังไม่จบ! ลุ้น'อัยการสูงสุด'ทบทวนคำสั่งไม่อุทธรณ์'อดีต อสส.'
'คกก.คัดเลือกฯ'นัด 4 พ.ย.เคาะ'ปธ.บอร์ดธปท.'-รอผลตรวจสอบคุณสมบัติ'กิตติรัตน์'
‘คณะกรรมการสรรหาฯ’เลื่อนลงมติเลือก‘ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ’คนใหม่-รอตรวจสอบข้อมูลเพิ่ม
คณะศิษยานุศิษย์ฯ‘หลวงตามหาบัว’คัดค้านส่ง‘บุคคลยึดโยงการเมือง’แทรกแซง‘แบงก์ชาติ’
จิตสำนึกของคณะกรรมการสรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
ประธานบอร์ดแบงก์ชาติกับระบบเศรษฐกิจการเงินไทย