‘เศรษฐพุฒิ’ ย้ำ ‘ธนาคารกลาง’ ต้องเป็นอิสระ หากขาดไปก็จะเหมือนกับ ‘นโยบายการเงิน’ ถูกกำหนดโดย ‘นโยบายการคลัง’ ยกเคสบางประเทศออก 'บอนด์' แล้วบังคับธนาคารกลางซื้อ จนเกิดปัญหา ‘เงินเฟ้อ’ พุ่งหลายร้อยเปอร์เซนต์
............................................
เมื่อวันที่ 1 พ.ย. รายการ Morning Wealth ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระหว่างเข้าร่วมงาน Annual Meeting IMF เมื่อเร็วๆนี้ เกี่ยวกับความเป็นกลางและความเป็นอิสระของธนาคารกลาง โดยนายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า ธนาคารกลางในประเทศที่มีกรอบ จะขีดเส้นแบ่งระหว่างการทำนโยบายการเงินกับนโยบายการคลัง คือ ไม่ให้ธนาคารกลางเข้าสนับสนุนเงิน (finance) ให้รัฐบาลโดยตรง
เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีเรื่องตรงนี้เกิดขึ้น โอกาสที่จะเกิดปัญหาก็จะเพิ่มขึ้น และนำไปสู่ประเด็นที่ว่าเหตุใดเรื่องความเป็นอิสระของธนาคารกลางจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่เรื่องความเป็นอิสระที่สักแต่ว่าอิสระ แต่เป็นเรื่องที่มีเหตุมีผล และความเป็นอิสระนั้น ก็เป็นความอิสระตามกรอบกฎหมาย โดยเฉพาะการแยกบทบาทหรือมีเส้นแบ่งงานทางด้านนโยบายการคลังกับด้านนโยบายทางการเงิน
“เอาง่ายๆ เช่น ปริมาณพันธบัตรที่เราพิมพ์และเวียนอยู่ในระบบ สมมติว่ามีอยู่ 100 บาท เวียนอยู่ในระบบ สมมติว่าผมเป็นรัฐบาล ผมขาดดุลการคลัง 10 บาท ผมก็ต้องกู้เงิน 10 บาท โดยออกพันธบัตร 10 บาท แล้วได้เงินมา 10 บาท ทำให้ตอนนี้เสมือนว่าปริมาณเงินในระบบลดลงจาก 100 บาท เหลือ 90 บาท แต่ผมไม่ได้กู้มาเพื่อสักแต่จะเก็บไว้ ผมเป็นรัฐบาลก็จะต้องเอาไปใช้จ่าย เงิน 10 บาท ก็จะออกไปในระบบ เงินในระบบก็อยู่ที่ 100 บาทเท่าเดิม อันนี้ คือ เคสแรก
เคสที่สอง ประเทศที่เจอปัญหา คือ ฐานะการคลังย่ำแย่ ใช้จ่ายมากกว่าภาษีที่เก็บได้ ผมจะกู้ แต่คนกู้รู้ว่าฐานะผมย่ำแย่ ขายบอนด์ไม่มีใครซื้อ ประชาชนไม่ซื้อ เพราะไม่เชื่อมั่น ขายให้ประชาชน ประชาชนไม่ซื้อ ผมไปบังคับให้แบงก์ชาติซื้อ ถ้าทำอย่างนั้น ผมก็ออกบอนด์ให้แบงก์ชาติ แบงก์ชาติก็ถูกบังคับให้ซื้อ แล้วแบงก์ชาติเอาบอนด์ไป พูดง่ายๆเหมือนพิมพ์เงินให้ผม 10 บาท เพื่อให้ผมเอาใช้ แล้วตอนนี้ผมเอาเงิน 10 บาท มาใช้จ่าย
จากเดิมที่เงินในระบบมี 100 บาท ตอนนี้ผมใช้จ่ายเข้าไป 10 บาท เงินในระบบก็กลายเป็น 110 บาท แล้วมันก็ไปอย่างนี้ แล้วกลายเป็นเงินเฟ้อไปเรื่อยๆ และตอนนี้คนก็เริ่มไม่เชื่อมั่นในค่าของเงิน มันก็จะไป นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมการแบ่งเส้นระหว่างนโยบายการเงินกับนโยบายการคลัง มันจึงสำคัญมาก และเรื่องความเป็นอิสระของแบงก์ชาติ มันเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าขาดตรงนี้ ก็จะเหมือนกับนโยบายการเงินถูกกำหนดโดยนโยบายการคลัง
เพราะเหมือนกับว่า คุณต้องเอาเงินมา เพื่อชดเชยนโยบายการคลัง คือ ผม (รัฐบาล) จะใช้จ่ายเท่าไหร่ ทางธนาคารกลางต้องไฟแนนซ์ชดเชย ถ้าเป็นอย่างนี้ เสถียรภาพก็ไป แล้วประเทศที่เงินเฟ้อวิ่งไปเป็นร้อยๆเปอร์เซ็นต์ ปกติจะมาจากตรงนี้ ดังนั้น ความเป็นอิสระของธนาคารกลางไม่ใช่สักแต่ว่าอิสระ แต่เป็นความอิสระเพื่อปกป้องไม่ให้ปัญหาพวกนี้เกิดขึ้น” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
อ่านประกอบ :
เช็คชื่อ 227 นักวิชาการ‘กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม’เปิดหน้าชน‘การเมือง’ครองงำ‘ธปท.’
4 อดีตผู้ว่าฯธปท.-223 นักวิชาการ แถลงการณ์คัดค้าน‘กลุ่มการเมือง’ครอบงำ‘แบงก์ชาติ’
ระวังอย่าให้ชนวนหายนะเศรษฐกิจไทยถูกจุดขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567
คดีข้าวบูล็อค'กิตติรัตน์'ยังไม่จบ! ลุ้น'อัยการสูงสุด'ทบทวนคำสั่งไม่อุทธรณ์'อดีต อสส.'
'คกก.คัดเลือกฯ'นัด 4 พ.ย.เคาะ'ปธ.บอร์ดธปท.'-รอผลตรวจสอบคุณสมบัติ'กิตติรัตน์'
‘คณะกรรมการสรรหาฯ’เลื่อนลงมติเลือก‘ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ’คนใหม่-รอตรวจสอบข้อมูลเพิ่ม
คณะศิษยานุศิษย์ฯ‘หลวงตามหาบัว’คัดค้านส่ง‘บุคคลยึดโยงการเมือง’แทรกแซง‘แบงก์ชาติ’
จิตสำนึกของคณะกรรมการสรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
ประธานบอร์ดแบงก์ชาติกับระบบเศรษฐกิจการเงินไทย
สรุป! คำพิพากษายกฟ้อง 'กิตติรัตน์' คดีเอื้อปย.สยามอินดิก้า ขายข้าวบูล็อค ทำไมรอด?