‘คณะกรรมการคัดเลือกฯ’ นัดประชุม 4 พ.ย. เคาะชื่อ ‘ประธานบอร์ด ธปท.’ คนใหม่ รอผลตรวจสอบคุณสมบัติ ‘กิตติรัตน์’ มีลักษณะต้องห้ามหรือไม่
...................................
จากกรณีคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ยังไม่มีการลงมติคัดเลือกประธานคณะกรรมการ ธปท. คนใหม่ เนื่องจากต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนสำหรับการพิจารณาของที่ประชุมฯนั้น (อ่านประกอบ : ‘คณะกรรมการสรรหาฯ’เลื่อนลงมติเลือก‘ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ’คนใหม่-รอตรวจสอบข้อมูลเพิ่ม)
ล่าสุดแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงความคืบหน้าในการสรรหาประธานคณะกรรมการ ธปท. ว่า ได้มีการนัดหมายประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯในวันที่ 4 พ.ย.2567 เพื่อพิจารณาลงมติคัดเลือกประธานกรรมการ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. ให้แล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 28/2 กำหนดให้คณะกรรมการคัดเลือกฯต้องคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานกรรมการ หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง โดยเมื่อวันที่ 5 ส.ค.2567 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการ ธปท.
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2567 ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ขอขยายระยะเวลาตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนสำหรับการพิจารณาของที่ประชุมฯ และจะรวบรวมกลับมานำเสนอคณะกรรมการคัดเลือกฯต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยที่ว่างลงในครั้งนี้ มีผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาคัดเลือกเป็นประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ธปท. รวม 9 ราย ในจำนวนมีผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อพิจารณาคัดเลือกเป็นประธานคณะกรรมการ ธปท. 3 ราย ได้แก่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ซึ่งเสนอชื่อโดยกระทรวงการคลัง ส่วนอีก 2 ราย คือ นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และนายสุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอชื่อโดย ธปท.
แหล่งข่าวเปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา ว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯต้องตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. ทุกราย ว่า มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีที่มาตรา 18 (5) แห่ง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะพ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
เช่น กรณีนายกิตติรัตน์ ซึ่งพบข้อมูลว่านายกิตติรัตน์ เคยได้รับแต่งตั้งให้ตำแหน่งคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยเมื่อเดือน มี.ค.2566 โดยนายชลน่าน ศรีแก้ว ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และแม้ว่านายชลน่านจะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยในวันที่ 30 ส.ค.2566 แล้ว แต่คณะกรรมการสรรหาฯต้องตรวจสอบว่า นายกิตติรัตน์ยังคงดำรงตำแหน่งดังกล่าวของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ และนายกิตติรัตน์มีการดำรงตำแหน่งอื่นๆในพรรคเพื่อไทยหรือไม่
นอกจากนี้ คณะกรรมการสรรหาฯจะต้องเข้าไปตรวจสอบ กรณีที่นายกิตติรัตน์ยังอาจมีคดีความอื่นๆค้างอยู่หรือไม่ อาทิ คดีความที่อยู่ในความรับชอบของ ป.ป.ช.
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแจ้งให้อัยการสูงสุดอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ในคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายกฟ้องนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีต รมว.พาณิชย์ กรณีเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้แก่องค์การสำรองอาหารแห่งประเทศอินโดนีเซีย (BULOG) แต่เพียงผู้เดียว โดยไม่จัดให้มีการแข่งขันราคา
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้รับแจ้งเรื่องจาก ป.ป.ช. แล้ว อัยการสูงสุดจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของอัยการสูงสุด
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า จากการตรวจสอบประวัติการทำงานในพรรคการเมืองของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ปรากฏข้อมูลว่า นายกิตติรัตน์ เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ตามคำสั่งพรรคเพื่อไทยที่ 0002/2566 ลงวันที่ 2 มี.ค.2566 โดยนายชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในขณะนี้ เป็นผู้ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง ก่อนที่ในเวลาต่อมานายชลน่าน จะลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทยในวันที่ 30 ส.ค.2566
รายงานข่าวแจ้งว่า พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 17 บัญญัติว่า “ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ ธปท. ตามมาตรา 8 ให้มีคณะกรรมการ ดังต่อไปนี้
(1) คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เรียกโดยย่อว่า “คณะกรรมการ ธปท.” เพื่อควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งการบริหารงานของ ธปท.
(2) คณะกรรมการนโยบายการเงิน เพื่อกำหนดและติดตามการดำเนินการตามนโยบายการเงินของประเทศ
(3) คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน เพื่อกำหนดและติดตามการดำเนินการตามนโยบายเกี่ยวกับการกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน
(4) คณะกรรมการระบบการชำระเงิน เพื่อกำหนดและติดตามการดำเนินการตามนโยบายเกี่ยวกับระบบการชำระเงินที่ ธปท. กำกับดูแล และระบบการหักบัญชีระหว่างสถาบันการเงิน
กรรมการในคณะกรรมการตำมวรรคหนึ่ง ให้ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามที่บัญญัติในหมวดนี้ในส่วนที่ว่าด้วยคณะกรรมการแต่ละคณะ ทั้งนี้ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องเป็นผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์สำหรับการดำรงตำแหน่งคณะกรรมการนั้นๆ”
มาตรา 18 บัญญัติว่า “กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการตามมาตรา 17 ต้องมีสัญชาติไทย และไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(1) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(2) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(3) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(4) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
(5) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
(6) เป็นกรรมการหรือดำรงตำแหน่งใดในสถาบันการเงิน เว้นแต่เป็นการดำรงตำแหน่ง เนื่องจากมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ
(7) เป็นกรรมการหรือผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือมีส่วนได้เสียอย่างมีนัยสำคัญในนิติบุคคลซึ่งมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของ ธปท.”
มาตรา 28 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้รัฐมนตรีดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 28/1 ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ประธานกรรมการหรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง
มาตรา 28/1 บัญญัติว่า “ในกรณีที่จะต้องมีการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกคณะหนึ่ง ประกอบด้วยกรรมการจำนวนเจ็ดคน เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งตั้งเป็นกรรมการดังกล่าวในคณะกรรมการ ธปท. และให้ผู้ว่าการแต่งตั้งพนักงานคนหนึ่งเป็นเลขานุการ…”
มาตรา 28/2 บัญญัติว่า “ให้คณะกรรมการคัดเลือกกำหนดระเบียบว่าด้วยการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือก การเสนอชื่อ การพิจารณา และการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานกรรมการ หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง โดยระเบียบดังกล่าวอย่างน้อยต้องกำหนดให้มีการระบุข้อมูลเกี่ยวกับความรู้และประสบการณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิอันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ และลักษณะการมีส่วนได้ส่วนเสียของผู้ทรงคุณวุฒิที่อาจขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ธปท. อย่างเพียงพอ เพื่อที่คณะกรรมการคัดเลือกจะดำเนินการพิจารณาคัดเลือกได้
ระเบียบตามวรรคหนึ่งให้มีผลใช้บังคับต่อไปแม้คณะกรรมการคัดเลือกที่กำหนดระเบียบดังกล่าวจะพ้นจากตำแหน่งแล้ว
การแก้ไขเพิ่มเติม การยกเลิก หรือการกำหนดระเบียบขึ้นใหม่จะกระทำได้ก็แต่โดยกรรมการคัดเลือกมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด ให้คณะกรรมการคัดเลือกเปิดเผยระเบียบที่กำหนดขึ้นตามมาตรานี้ในลักษณะที่ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้”
อ่านประกอบ :
‘คณะกรรมการสรรหาฯ’เลื่อนลงมติเลือก‘ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ’คนใหม่-รอตรวจสอบข้อมูลเพิ่ม
คณะศิษยานุศิษย์ฯ‘หลวงตามหาบัว’คัดค้านส่ง‘บุคคลยึดโยงการเมือง’แทรกแซง‘แบงก์ชาติ’
จิตสำนึกของคณะกรรมการสรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
ประธานบอร์ดแบงก์ชาติกับระบบเศรษฐกิจการเงินไทย
สรุป! คำพิพากษายกฟ้อง 'กิตติรัตน์' คดีเอื้อปย.สยามอินดิก้า ขายข้าวบูล็อค ทำไมรอด?