4 อดีตผู้ว่าฯธปท.-223 นักวิชาการ 'กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม’ ออกแถลงการณ์คัดค้าน ‘รัฐบาล’ ส่งบุคคลที่ใกล้ชิด ‘ฝ่ายการเมือง’ นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ หวั่น ‘นโยบายการเงิน’ ถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมือง สร้างความเสียหายรุนแรงต่อเศรษฐกิจระยะยาว
........................................
จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน จะเรียกประชุมคณะกรรมการฯ ในวันที่ 4 พ.ย.2567 เพื่อลงมติเลือกประธานกรรมการและกรรมการ ธปท. โดยในฝั่งกระทรวงการคลัง ได้เสนอชื่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้คณะกรรมการฯคัดเลือกเป็นประธานบอร์ด ธปท. นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ต.ค. กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการ 227 คน ในจำนวนนี้เป็นอดีตผู้ว่าการ ธปท. 4 คน ได้แก่ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล , ดร.ธาริษา วัฒนเกส ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล และ ดร.วิรไท สันติประภพ รวมถึงนายวิรัตน์ วัฒนศิริธรรม อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกันออกแถลงการณ์คัดค้านการครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทยโดยกลุ่มการเมือง
โดยแถลงการณ์ฉบับนี้ มีเนื้อหาว่า ในวันที่ 4 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ จะมีการประชุมเพื่อคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสองท่านในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางว่ารัฐบาลได้เสนอชื่อบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับฝ่ายการเมืองให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย
กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมและภาคส่วนต่างๆ ในสังคมมีความกังวลอย่างยิ่งถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมืองซึ่งอาจเน้นเพียงผลประโยชน์ระยะสั้น เพื่อแสดงผลงานที่รวดเร็วเพราะมีความเสี่ยงทางการเมืองที่อาจดำรงตำแหน่งได้ไม่ยืนยาวนัก ในขณะที่การเน้นผลระยะสั้นนั้นอาจก่อให้เกิดผลเสียหายรุนแรงต่อเสถียรภาพและการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว
การรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจเป็นภารกิจหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งตามหลักสากลธนาคารกลางควรมีอิสระในการดำเนินนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและเป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศ อันนำไปสู่ความมั่นคงที่ยั่งยืนในระยะยาว
บทบาทของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยครอบคลุมภารกิจสำคัญหลายด้าน
ได้แก่ การกำกับดูแลการบริหารงานภายในองค์กร การบริหารจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศ และการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการนโยบายที่สำคัญ เช่น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย อันเป็นเครื่องมือสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงิน หรือคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงินของประเทศ ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและต้องการการกำกับดูแลที่โปร่งใสและปราศจากผลประโยชน์ทางการเมือง
หากประธานกรรมการหรือคณะกรรมการใช้อำนาจที่มีตอบสนองผลประโยชน์ระยะสั้นของฝ่ายการเมือง จะส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และอาจเกิดความเสียหายที่ไม่สามารถแก้ไขหรือย้อนกลับได้
นอกจากนี้ หากการครอบงำครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ก็มีแนวโน้มว่าฝ่ายการเมืองจะใช้วิธีเดียวกันในการคัดเลือกผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงกลางถึงปลายปีหน้า โดยส่งบุคคลที่มีความสนิทชิดใกล้ทางการเมืองเข้ามาดำรงตำแหน่งเพื่อประโยชน์ทางการเมือง
กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมขอเรียกร้องให้คณะกรรมการคัดเลือกที่กำลังจะทำการพิจารณาในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม โปร่งใส และมีธรรมาภิบาล โดยไม่ยอมรับแรงกดดันจากการเมือง เพื่อรักษาสถาบันที่สำคัญอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยที่สังคมไทยในอดีตได้ร่วมกันพัฒนาและปกป้องมาอย่างดี
พร้อมกันนี้เราขอเชิญชวนภาคส่วนอื่นในสังคมร่วมแสดงจุดยืนโดยการร่วมลงนามในด้านล่างของแถลงการณ์นี้ เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทยให้หลุดพ้นจากผลประโยชน์ระยะสั้นทางการเมืองและสามารถรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจไทยในระยะยาว รวมทั้งธำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในสายตาของนานาอารยะประเทศ
สำหรับรายชื่อ 227 นักวิชาการ กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ประกอบด้วย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท. ,ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการ ธปท. ,ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท. , ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการ ธปท. ,ดร.อัจณา ไวความดี อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และอดีตรองผู้ว่าการ ธปท. ,นายวิรัตน์ วัฒนศิริธรรม อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
ดร.สมชัย จิตสุชน (ในนามส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับต้นสังกัด) ,รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ,รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ,รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตรองศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ,รศ.ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
ผศ.ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ,รศ.ดร.ดาว มงคลสมัย อดีตอาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ,รศ.วณี จีรแพทย์ อดีตคณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ ,ศ.สุขุม อัตวาวุฒิชัย อดืตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ,รศ.ดร.ธวัชชัย ยงกิตติกุล อดีตคณบดี คณะพัฒนาเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ,ผศ.ดร.วิศาล บุปผเวส อดีตคณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า
รศ.ดร.นิพิฐ วงศ์ปัญญา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,รศ.ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.เกรียงไกร เตชกานนท์ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ,รศ.ดร.กัญญา นิธังกร อดีตคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็นต้น
อ่านประกอบ :
ระวังอย่าให้ชนวนหายนะเศรษฐกิจไทยถูกจุดขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567
คดีข้าวบูล็อค'กิตติรัตน์'ยังไม่จบ! ลุ้น'อัยการสูงสุด'ทบทวนคำสั่งไม่อุทธรณ์'อดีต อสส.'
'คกก.คัดเลือกฯ'นัด 4 พ.ย.เคาะ'ปธ.บอร์ดธปท.'-รอผลตรวจสอบคุณสมบัติ'กิตติรัตน์'
‘คณะกรรมการสรรหาฯ’เลื่อนลงมติเลือก‘ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ’คนใหม่-รอตรวจสอบข้อมูลเพิ่ม
คณะศิษยานุศิษย์ฯ‘หลวงตามหาบัว’คัดค้านส่ง‘บุคคลยึดโยงการเมือง’แทรกแซง‘แบงก์ชาติ’
จิตสำนึกของคณะกรรมการสรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
ประธานบอร์ดแบงก์ชาติกับระบบเศรษฐกิจการเงินไทย
สรุป! คำพิพากษายกฟ้อง 'กิตติรัตน์' คดีเอื้อปย.สยามอินดิก้า ขายข้าวบูล็อค ทำไมรอด?