‘กลุ่มสนับสนุน’ ส่งลิงก์ล่าชื่อสนับสนุน ‘กิตติรัตน์’ นั่ง ‘ประธานบอร์ด ธปท.’ หวังผลักดัน 'ธปท.' ปรับปรุงการกำกับ 'แบงก์' ให้เหมาะสมขึ้น ไม่ใช่ ‘สถาบันการเงิน’ มุ่งเน้นแต่การสร้างผลกำไร
.........................................
เมื่อวันที่ 6 พ.ย. สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ขณะนี้ในกลุ่มไลน์หลักสูตรต่างๆ เช่น หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) ได้มีการส่งลิงก์ให้ลงชื่อสนับสนุนนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.คลัง เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อผลักดันให้ ธปท. ปรับปรุงการกำกับดูแลสถาบันการเงินไทยให้ดีและเหมาะสมขึ้น ไม่ใช่สถาบันการเงินมุ่งเน้นแต่การสร้างผลกำไร
“ด้วยท่านกิตติรัตน์เป็นผู้มีความรู้และความสามารถ คุณสมบัติเพรียบพร้อม มีความติดดิน เปิดกว้างทางความคิด ตลอดชีวิตการทำงาน มีผลงานการช่วยเหลือประชาชนและสังคมเป็นที่ประจักษ์ในหลายด้านทั้งด้านตลาดทุนตลาดหลักทรัพย์ การเงินการคลัง การกีฬา การเกษตร และการแก้ไขปัญหาหนี้สิน
เพื่อผลักดันให้ ธปท. ปรับปรุงการกำกับดูแลสถาบันการเงินไทยให้ดีและเหมาะสมขึ้น ไม่ใช่สถาบันการเงินมุ่งเน้นแต่การสร้างผลกำไร แต่จำเป็นต้องให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนด้วยความรับผิดชอบและเป็นธรรมมากขึ้น การที่สถาบันการเงินทั้งระบบมีกำไรรวมปีละหลายแสนล้านบาท ในอีกด้านหนึ่งชี้ว่าดอกเบี้ยเงินกู้สามารถที่ปรับลดลงได้อีกเพื่อลดภาระของประชาชน
นอกจากนี้ แนวปฏิบัติในระบบการเงินหลายเรื่องอาทิ การคำนวณดอกเบี้ย การกำหนดให้มีผู้ค้ำประกัน การซื้อประกันสินเชื่อ รวมทั้งปัญหาที่เงินที่ชำระหนี้เจ้าหนี้จะนำไปตัดจ่ายแต่ดอกเบี้ย เหลือไปหักเงินต้นน้อยหรือไม่หักเงินต้นเลย จำเป็นต้องแก้ไขเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และไม่เอาเปรียบกันมากเกินสมควร” ข้อความเชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนนายกิตติรัตน์ ให้เข้าดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการ ธปท. ระบุ
ทั้งนี้ ณ เวลา 11.00 น. ของวันที่ 6 พ.ย.2567 มีผู้ลงชื่อสนับสนุนนายกิตติรัตน์ ให้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท. แล้วจำนวน 2,163 รายชื่อ ซึ่งผู้ลงชื่อดังกล่าวมาจากทั่วทุกภาคประเทศ (อ่านเพิ่มเติม : รายชื่อสนับสนุน ดร.กิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เข้าดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (การตอบกลับ))
รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้นัดหมายคณะกรรมการฯ ในวันที่ 4 พ.ย.2567 เพื่อประชุมลงมติเลือกประธานกรรมการและกรรมการ ธปท. โดยในฝั่งกระทรวงการคลัง ได้เสนอชื่อนายกิตติรัตน์ เข้ารับการคัดเลือกเป็นประธานบอร์ด ธปท.
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเช้าวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา นางวิเรขา สันตะพันธุ์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ประธานกรรมการคัดเลือกได้หารือกับกรรมการคัดเลือก และเห็นร่วมกันว่าต้องใช้เวลาในการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านครบถ้วนเพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงให้เลื่อนกำหนดการประชุมออกไปเป็นวันที่ 11 พ.ย.2567
ขณะเดียวกัน มีกระแสข่าวว่ากระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนตัวบุคคลที่จะเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นประธานบอร์ด ธปท. จากนายกิตติรัตน์ เป็นนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในเรื่องนี้ว่า ไม่ทราบ และขอให้เป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงการคลังที่จะเป็นคนเสนอชื่อ
@เปิดอำนาจ‘คณะกรรมการแบงก์ชาติ’
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า สำหรับคณะกรรมการ ธปท. นั้น นอกจากจะมีอำนาจในการบริหารจัดการงานภาพรวมของ ธปท. แล้ว คณะกรรมการ ธปท. ยังมีอำนาจใน 4 เรื่องหลักๆ ได้แก่
1.กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนของเงินสำรองระหว่างประเทศ โดยกำหนดได้ว่าจะไปลงทุนในสินทรัพย์ใดบ้าง (พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 25 (8) คณะกรรมการ ธปท. มีอำนาจหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ใน ทุนสำรองเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราและสินทรัพย์ของ ธปท. ตามส่วนที่ 3 ของหมวด 6 การบริหารจัดการสินทรัพย์ ของ ธปท.) เช่น สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ว่าเอาเงินไปลงทุนอะไรได้บ้าง
2.แต่งตั้งคณะกรรมการด้านนโยบาย (policy board) ทั้ง 3 ด้าน ที่เป็นกลไกสำคัญในการกำหนดทิศทาง นโยบายการเงิน สถาบันการเงิน และการชำระเงินของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีอิสระจากการเมืองเพื่อดูแล เสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว
-ออกข้อบังคับในการเสนอชื่อการพิจารณาและในการคัดเลือก คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.) (พ.ร.บ.ธปท. มาตรา 25 (3) กำหนดข้อบังคับว่าด้วยการเสนอชื่อการพิจารณา และการคัดเลือก ผู้ทรงคุณวุฒิเป็น กรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน)
-แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่จะไปเป็นกรรมการใน กนง. 4 คน (จาก 7 คน) (พ.ร.บ.ธปท. มาตรา 28/6 ให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกอบด้วย ผู้ว่าการเป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าการซึ่งผู้ว่าการกำหนด จำนวนสองคน โดยให้รองผู้ว่าการคนหนึ่ง ซึ่งผู้ว่าการมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หรือด้านการเงินการธนาคารซึ่งคณะกรรมการ ธปท. แต่งตั้งจำนวนสี่คน เป็นกรรมการ)
-แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่จะไปเป็นกรรมการใน กนส. 5 คน (จาก 11 คน) (พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 28/9 ให้คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ประกอบด้วย ผู้ว่าการเป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าการซึ่งผู้ว่าการกำหนด จำนวนสองคน โดยให้รองผู้ว่าการคนหนึ่งซึ่งผู้ว่าการมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการ ธปท. แต่งตั้ง จำนวนห้าคนเป็นกรรมการ)
-แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่จะไปเป็นกรรมการใน กรช. 3 คน (จาก 7 คน) (พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 28/11 ให้คณะกรรมการระบบชำระเงิน (กรช.) ประกอบด้วย ผู้ว่าการเป็นประธานกรรมการรองผู้ว่าการซึ่งผู้ว่าการกำหนด จำนวนสองคน โดยให้รองผู้ว่าการคนหนึ่งซึ่งผู้ว่าการมอบหมายเป็นรองประธาน กรรมการ ประธานสมาคมธนาคารไทย และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่ง คณะกรรมการ ธปท. แต่งตั้ง จำนวนสามคนเป็นกรรมการ)
3.ให้คำแนะนำต่อรัฐมนตรีคลังเพื่อปลดผู้ว่าการ ในกรณีบกพร่องในหน้าที่ร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ (พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 28/19 (5) ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีหรือการเสนอของรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถโดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง)
อ่านประกอบ :
นัดใหม่ 11 พ.ย.!‘สถิตย์’เลื่อนประชุมฯ-สะพัดขอเปลี่ยนตัว‘กิตติรัตน์’ชิง‘ประธานบอร์ด ธปท.’
ค้าน‘การเมือง’แทรกแซง‘แบงก์ชาติ’พุ่งเกือบ 1 พันคน ก่อนถกตั้ง‘ปธ.บอร์ด ธปท.’ 4 พ.ย.นี้
416 อดีต‘พนักงาน ธปท.’ร่อน‘จม.เปิดผนึก’ คัดค้าน‘การเมือง’แทรกแซงตั้ง‘ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ’
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำ‘ธนาคารกลาง’ต้องอิสระ ป้องกัน‘นโยบายการเงิน’ถูกกำหนดโดย‘นโยบายการคลัง’
เช็คชื่อ 227 นักวิชาการ‘กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม’เปิดหน้าชน‘การเมือง’ครองงำ‘ธปท.’
4 อดีตผู้ว่าฯธปท.-223 นักวิชาการ แถลงการณ์คัดค้าน‘กลุ่มการเมือง’ครอบงำ‘แบงก์ชาติ’
ระวังอย่าให้ชนวนหายนะเศรษฐกิจไทยถูกจุดขึ้นในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567
คดีข้าวบูล็อค'กิตติรัตน์'ยังไม่จบ! ลุ้น'อัยการสูงสุด'ทบทวนคำสั่งไม่อุทธรณ์'อดีต อสส.'
'คกก.คัดเลือกฯ'นัด 4 พ.ย.เคาะ'ปธ.บอร์ดธปท.'-รอผลตรวจสอบคุณสมบัติ'กิตติรัตน์'
‘คณะกรรมการสรรหาฯ’เลื่อนลงมติเลือก‘ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ’คนใหม่-รอตรวจสอบข้อมูลเพิ่ม
คณะศิษยานุศิษย์ฯ‘หลวงตามหาบัว’คัดค้านส่ง‘บุคคลยึดโยงการเมือง’แทรกแซง‘แบงก์ชาติ’
จิตสำนึกของคณะกรรมการสรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
ประธานบอร์ดแบงก์ชาติกับระบบเศรษฐกิจการเงินไทย