‘แบงก์ชาติ’ แจงหลักเกณฑ์ ‘การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบฯ’ คุม‘เจ้าหนี้’เอาเปรียบลูกหนี้ พร้อมสางปัญหาหนี้เรื้อรัง หวังลด ‘หนี้ครัวเรือน’ ที่ยังอยู่ในระดับสูง
................................
เมื่อวันที่ 17 ม.ค. น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน Media Briefing หัวข้อ ‘แบงก์ชาติชวนคุย #แก้หนี้ยั่งยืน’ ว่า ณ สิ้นไตรมาส 3/2566 หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ระดับ 90.9% ต่อจีดีพี ลดลงจากระดับสูงสุดที่ 94.7% ต่อจีดีพี ในช่วงเกิดโควิด-19 อย่างไรก็ดี แม้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีขณะนี้จะลดลง แต่จำนวนหนี้สินครัวเรือนยังคงเพิ่มขึ้น
“เป็นเรื่องตัวตั้งกับตัวหาร เพราะจีดีพีมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ตัวหนี้จริงๆ คือ เม็ดเงินก้อนหนี้ ที่เป็นตัวตั้ง ยังไม่ได้ลด ยังคงขยายตัว แต่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงกว่าตัวจีดีพี จึงทำให้สัดส่วน (หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี) มีแนวโน้มลดลงจาก 94.7% ปัจจุบันล่าสุดไตรมาส 3/2566 สัดส่วนอยู่ที่ 90.9%” น.ส.สุวรรณี กล่าว
น.ส.สุวรรณี ระบุว่า เรื่องหนี้ครัวเรือนเป็นหนี้ของรายย่อยหรือบุคคลธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นกู้ซื้อบ้าน กู้ซื้อรถ และกู้เพื่ออุปโภคบริโภค อาทิ สินเชื่อส่วนบุคคลทั้งหลาย แต่เนื่องจากอำนาจในการต่อรองระหว่างลูกหนี้รายย่อยและเจ้าหนี้มีไม่เท่ากัน ดังนั้น ในช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ธปท.จึงได้ออกประกาศหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) โดยเริ่มทยอยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ Responsible Lending จะบังคับใช้กับเจ้าหนี้ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. คือ ธนาคารพาณิชย์ รวมถึงกลุ่มธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ ,กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล นาโนไฟแนนซ์ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ สินเชื่อบุคคลดิจิทัล ,กลุ่มบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ที่ซื้อหนี้เสียออกไปจากผู้ให้บริการชั้นแรก และสุดท้าย คือ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือกับระหว่างธปท. และกระทรวงการคลัง
“เจ้าหนี้รับผิดชอบมากขึ้น ลูกหนี้มีวินัยมากขึ้น และระบบ คือ ธปท. ต้องยื่นมือเข้ามามากขึ้น เป็นสิ่งสำคัญ เพราะต้องยอมรับว่าลูกหนี้รายย่อยกับแบงก์ อำนาจต่อรองไม่เท่ากัน ไม่เหมือนลูกหนี้ที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ที่เวลาคุยกับแบงก์ จะมีอำนาจต่อรองสูงกว่า แต่ลูกหนี้รายย่อยที่ไปกู้เงินแบงก์หรือไปกู้เงินเจ้าหนี้ อำนาจต่อรองน้อย ฉะนั้น เวลา 2 คนคุยกัน แล้วอำนาจต่อรองไม่เท่ากัน ผู้กำกับดูแลต้องมีบทบาทในการยื่นมือเข้ามากำหนดกติกาในการดูแลลูกหนี้ต่างๆ
แต่เรื่องแก้หนี้ครัวเรือน ทำแค่แบงก์ชาติเข้าไป เจ้าหนี้รับผิดชอบมากขึ้น แค่นี้ยังไม่พอ แต่อีกด้านหนึ่งต้องขอความร่วมมือจากลูกหนี้ คือ ลูกหนี้ต้องรู้สิทธิของตัวเอง เรามีคำสำคัญว่า เป็นหนี้เท่าที่จำเป็น ชำระคืนไหว และต้องเข้าใจเงื่อนไขการกู้เงินด้วย เพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง ส่วนฝั่งเจ้าหนี้ ในตัวหลักเกณฑ์ที่หนาประมาณ 50 หน้า เราพยายามใส่ตัวอย่างเข้าไป มีทั้งหลักการ และสิ่งที่ควรทำ” น.ส.สุวรรณี ระบุ
น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนภายใต้ประกาศหลักเกณฑ์ เรื่อง Responsible Lending ดังกล่าว แบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ 1.การช่วยลูกหนี้ต่อเนื่องด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จากเดิมที่เป็นการขอความร่วมมือ แต่ครั้งนี้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหนี้ และเป็นสิทธิที่ลูกหนี้จะต้องได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหนี้ 2.การช่วยลูกหนี้เรื้อรังกลุ่มเปราะบางให้สามารถปิดจบหนี้ได้ และ 3.การคุ้มครองสิทธิลูกหนี้ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น มีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
@ปรับโครงสร้างหนี้อย่างน้อย 2 ครั้ง ก่อนฟ้อง-ขายหนี้
1.ช่วยลูกหนี้ต่อเนื่องด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
-ตั้งแต่ 1 ม.ค.2567 ลูกหนี้รายย่อยและ SMEs (ที่ไม่เคยผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้มาก่อน) เมื่อเริ่มมีปัญหาการชำระหนี้ จะได้รับการเสนอแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้และเหลือเงินเพียงพอในการดำรงชีพ โดยผู้ให้บริการต้องเสนอแนวทางการช่วยเหลือ (product program) สำหรับลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาชำระหนี้แต่ยังไม่เป็นหนี้เสีย (NPL) อย่างน้อย 1 ครั้ง และสำหรับลูกหนี้ NPL อีกอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยจะไม่ถูกโอนขายหนี้ก่อน 60 วัน นับจากวันที่ผู้ให้บริการเสนอเงื่อนไขปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้
“ถ้าลูกหนี้ รู้ว่ามีปัญหาการชำระหนี้ จ่ายไม่ได้ เรากำหนดในหลักเกณฑ์ฯว่า เจ้าหนี้ต้องเข้ามาดูแล และเสนอทางเลือกในการปรับโครงสร้างหนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง ก่อนที่จะเป็น NPL และถ้าแก้ไปแล้ว ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ตามสัญญา แต่ปรากฎว่าผ่านไประยะหนึ่งลูกหนี้มีปัญหาอีก คือ เป็น NPL แล้ว ก่อนที่จะขายหรือจะฟ้อง เจ้าหนี้ต้องให้ความช่วยเหลือลูกหนี้โดยการปรับโครงสร้างหนี้อีกอย่างน้อย 1 ครั้ง” น.ส.สุวรรณี กล่าว
น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า ส่วนกรณีที่เจ้าหนี้ได้ทำการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ในช่วงเกิดโควิด-19 นั้น ถือว่าเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ก่อนเป็น NPL ไปแล้ว และหากลูกหนี้กลายเป็น NPL ลูกหนี้จะได้รับสิทธิในการปรับโครงสร้างหนี้อีกอย่างน้อย 1 ครั้ง ก่อนที่เจ้าหนี้จะมีการขายหนี้หรือฟ้องดำเนินคดี
-ลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล อายุไม่เกิน 60 ปี ที่เป็นหนี้ค้างชำระเกิน 120 วัน และเป็นหนี้กับเจ้าหนี้ที่ร่วมโครงการฯ สามารถเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ได้ โดยได้รับการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ให้ผ่อนเฉพาะเงินต้นนานสูงสุด 10 ปี อัตราดอกเบี้ยเพียง 3-5% ต่อปี โดยหากปิดหนี้เร็วดอกเบี้ยจะถูกลง คือ หากปิดจบหนี้ใน 4 ปี ดอกเบี้ย 3% ปิดจบหนี้ใน 7 ปีดอกเบี้ย 4% และปิดจบหนี้ใน 10 ปี ดอกเบี้ย 5% และยกดอกเบี้ยค้างเดิมให้ เมื่อชำระครบตามสัญญา
นอกจากนี้ ธปท. ยังมีช่องทางเสริมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ได้แก่ ทางด่วนแก้หนี้ สำหรับประชาชนขอความช่วยเหลือด้านการผ่อนชำระหนี้ และหมอหนี้เพื่อประชาชน ที่ให้คำปรึกษาการแก้ปัญหาหนี้อย่างครบวงจรแก่ลูกหนี้รายย่อยและ SMEs
@เจ้าหนี้ต้องมีข้อเสนอแก้ปัญหา‘หนี้เรื้อรัง’ให้ลูกหนี้
2.ช่วยลูกหนี้เรื้อรังกลุ่มเปราะบางให้สามารถปิดจบหนี้ได้
-ตั้งแต่ 1 เม.ย.2567 ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ประเภทวงเงินหมุนเวียน (ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลและบัตรเครดิต) ที่ไม่เป็น NPL และชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จะได้รับความช่วยเหลือให้ปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้นและลดภาระดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้น โดยจะได้รับการแจ้งเพื่อกระตุกพฤติกรรมและร่วมแก้ปัญหาหนี้กับเจ้าหนี้โดยเร็ว
“เจ้าหนี้ต้องแจ้งเตือนลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรังยังไม่มาก ผ่าน SMS ,โมบายแอปฯ ,line official และจดหมาย เป็นต้น เพื่อบอกลูกหนี้ว่า คุณเป็นหนี้เรื้อรังแล้ว ที่ผ่านมาคุณจ่ายดอกไปมากกว่าต้น แล้วเงินต้นคุณไม่ลด เช่น กู้เงินมา 1 หมื่น แต่จ่ายดอกไปแล้ว 2 หมื่น เพื่อดึงให้ลูกหนี้อยากจ่ายหนี้มากขึ้น ซึ่งเราเข้าใจว่า ลูกหนี้บางคนมีความสามารถจ่ายหนี้ได้แค่ขั้นต่ำ ก็ยังจ่ายขั้นต่ำต่อไปได้ แต่บางคนสามารถจ่ายเพิ่มได้ไหว แต่เขาไม่รู้จริงๆ” น.ส.สุวรรณี กล่าว
-ตั้งแต่ 1 เม.ย.2567 ลูกหนี้ที่ชำระดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวมใน 5 ปีที่ผ่านมา และมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 20,000 บาท สำหรับลูกหนี้สถาบันการเงินและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน หรือน้อยกว่า 10,000 บาท สำหรับนอนแบงก์ สามารถเข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง (opt-in) ด้วยการเปลี่ยนประเภทสินเชื่อเป็นสินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวด (installment loan) ให้ปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่เกิน 15% ต่อปี
“ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรังจริงจังแล้ว คือ มีการจ่ายดอกไปมากกว่าต้นในช่วงเกิน 5 ปีไปแล้ว ลูกหนี้จะได้รับแจ้งจากเจ้าหนี้เหมือนกัน แต่จะได้รับข้อเสนอเจ้าหนี้ว่า ตอนนี้ท่านเป็นหนี้เรื้อรังแบบจริงจังแล้ว ท่านจะเข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรังหรือไม่ โดยมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง (opt-in) เป็นมาตรการที่เราบังคับเจ้าหนี้ แต่สำหรับลูกหนี้ เราถือเป็นทางเลือก ลูกหนี้จะเป็นคนตัดสินใจว่าจะเข้ามาหรือไม่
ถ้าเข้ามาแล้ว สามารถแปลงบัญชีสินเชื่อที่เป็นวงเงินหมุนเวียน เป็นสินเชื่อที่ผ่อนชำระเป็นงวดๆ คือ installment loan) และสามารถปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (EIR) ไม่เกิน 15% ต่อปี แต่เมื่อลูกหนี้เข้ามาแล้วสินเชื่อหมุนเวียนเดิมจะต้องปิด แล้วโอนมาไว้ที่สินเชื่อ installment แต่ถ้าลูกหนี้มี 3-4 บัญชี แต่อยากคงสินเชื่อบางอันเอาไว้ เพื่อเป็นเงินหมุนเวียน ก็ทยอยแก้ทีละบัญชีได้ โดยเกณฑ์นี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2567” น.ส.สุวรรณี กล่าว
@ห้ามคิดดอกเบี้ยทบต้น-เก็บค่าฟีปรับโครงสร้างหนี้
3.คุ้มครองสิทธิลูกหนี้ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น
-ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 ลูกหนี้ได้รับการดูแลให้การคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเป็นธรรมมากขึ้น ตลอดจนได้รับข้อมูลสำคัญถูกต้อง ครบถ้วน และเปรียบเทียบได้ รวมทั้งส่งเสริมวินัยทางการเงิน
-ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 ห้ามไม่ให้เจ้าหนี้คิดค่าปรับชำระหนี้ก่อนกำหนด (prepayment fee) สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลทุกประเภท เพื่อลดข้อจำกัดในการชำระหนี้ก่อนกำหนด ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันในตลาด ในการเสนอดอกเบี้ยในอัตราที่ถูกลง เพื่อทำให้ลูกหนี้มีโอกาสได้ดอกเบี้ยต่ำ ยกเว้นกรณี refinance สินเชื่อบ้านในช่วงเวลา 3 ปีแรกเท่านั้น และหลังจาก 3 ปีแล้ว จะต้องไม่มีค่าธรรมเนียม prepayment fee
-ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 ห้ามเจ้าหนี้คิดค่าธรรมเนียมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ยกเว้นค่าประเมินราคาหลักประกัน ซึ่งจำเป็นต้องนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ประกอบการพิจารณากำหนดเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
-ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2567 ห้ามเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยบนดอกเบี้ย (ดอกเบี้ยทบต้น) สำหรับสินเชื่อที่ให้แก่ลูกค้ารายย่อย รวมกรณีบัญชีเดินสะพัดของสินเชื่อวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (overdraft)
นอกจากนี้ เจ้าหนี้ต้องทำให้ลูกหนี้ได้รับข้อมูลสำคัญถูกต้องครบถ้วน และเปรียบเทียบได้ รวมทั้งส่งเสริมวินัยทางการเงิน ผ่านการให้ข้อมูลของผู้ให้บริการเพื่อกระตุกพฤติกรรมตลอดวงจรหนี้
เช่น การมีคำเตือน “กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว” และอัตราดอกเบี้ยต่อปีต่ำสุด-สูงสุดในสื่อโฆษณา การแจ้งเตือนเมื่อจะมีภาระค่างวดหรืออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น (เริ่ม 1 ก.ค. 2567) การแจ้งข้อดี-ข้อเสียของแต่ละทางเลือกในการแก้หนี้ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดทำคลิปส่งเสริมความรู้ทางการเงินเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทัน และรู้วิธีแก้ไขปัญหาเมื่อต้องประสบภัยทางการเงิน
“ไปกู้ที่หนึ่งบอกจ่ายดอก X บาท พอไปกู้อีกที่หนึ่งบอกจ่ายดอก 1% แล้ว X บาท กับ 1% อันไหนจ่ายดอกน้อยจ่ายดอกมาก ไม่รู้ว่ากู้ใครได้ประโยชน์มากกว่า อันนี้ไม่ได้ ส่วนสินเชื่อบ้าน ซึ่งในช่วงต้นดอกเบี้ยเป็นแบบ teaser rate ดอกเบี้ยถูก แต่ปีที่ 3 จะข้ามไปปีที่ 4 ดอกเบี้ยขยับ เงินค่างวดขยาย แบบนี้ ต้องแจ้งเตือนลูกหนี้ และในการปรับโครงสร้างหนี้ จะต้องมีทางเลือกให้ลูกหนี้ พร้อมทั้งบอกข้อดี-ข้อเสีย รวมทั้งต้องให้ความรู้กับลูกหนี้ด้วย” น.ส.สุวรรณี ระบุ
@ปูพรมตรวจแบงก์ปฏิบัติตามเกณฑ์ Responsible Lending
อย่างไรก็ดี เพื่อให้การแก้หนี้ครัวเรือนมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ลูกหนี้จำเป็นต้องปรับตัว และสร้างวินัยทางการเงินเพิ่มขึ้น (responsible borrowing) เช่น รู้สิทธิและเงื่อนไขสำคัญของสินเชื่อก่อนกู้ เป็นหนี้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว ชำระหนี้ตรงเวลา และเมื่อมีปัญหาชำระหนี้ให้รีบติดต่อเจ้าหนี้เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ โดย ธปท. จะกำกับดูแลผู้ให้บริการอย่างทันการณ์และใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าลูกหนี้ได้รับการช่วยเหลือที่ตรงจุด เหมาะสม และได้รับบริการที่เป็นธรรม
ทั้งนี้ ธปท. จะตรวจสอบผู้ให้บริการอย่างต่อเนื่อง (ongoing supervision) เช่น ผลักดันและติดตามให้ผู้ให้บริการช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงโควิด-19 หรือตรวจสอบเรื่องการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสินเชื่อรายย่อยของผู้ให้บริการบางแห่งที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ที่สำคัญในปีนี้ ธปท.จะตรวจสอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ Responsible Lending อย่างใกล้ชิด เช่น การโฆษณาให้ข้อมูลคำเตือนพร้อมอัตราดอกเบี้ยที่ถูกต้อง
การให้สินเชื่อที่ลูกหนี้จ่ายไหว เพื่อกำกับดูแลให้เจ้าหนี้รับผิดชอบต่อลูกค้าตลอดวงจรหนี้อย่างเหมาะสม และส่งเสริมให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงิน สามารถบริหารจัดการหนี้ให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง
“ในปี 2567 เรามีแผนปูพรมตรวจการปฏิบัติตามเกณฑ์ Responsible Lending โดยจะดูในเรื่องการโฆษณา ซึ่งเราดูอยู่แล้ว และดูว่าที่บอกว่าให้ลูกหนี้จ่ายไหวนั้น มีการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ และดูภาระหนี้อย่างอื่นของลูกหนี้หรือไม่ ที่สำคัญจะดูว่ามีการแก้หนี้อย่างมีคุณภาพ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ และการแก้หนี้เรื้อรัง ตามที่กำหนดไว้หรือไม่ รวมทั้งมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่ ธปท.ห้ามเรียกเก็บหรือเปล่า
ทั้งนี้ การตรวจปูพรมดังกล่าว นอกเหนือจากการตรวจทุกที่ ด้วยหัวข้อเดียวกันว่า เพื่อเอามาเปรียบเทียบเทียบว่าเขาปฏิบัติตามเกณฑ์หรือไม่ ยังทำให้เราเห็นมาตรฐานของทุกแบงก์ เจ้าหนี้ คนที่ทำได้สูงกว่ามาตรฐาน เราสามารถเอาตัวนั้นมาใช้เพื่อยกระดับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจได้ด้วย” น.ส.สุวรรณี กล่าวและว่า "หากเจ้าหนี้ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์จะมีบทลงโทษ เช่น การปรับ แต่จะมีการแจ้งเตือนก่อน"
นอกจากนี้ ธปท.จะใช้เครื่องมือใหม่ๆ และข้อมูลที่หลากหลาย เพื่อวิเคราะห์ ติดตามและประเมินการปฏิบัติตามเกณฑ์ รวมถึงปัญหา/เรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการทางการเงิน ตลอดจนยกระดับการตรวจสอบผู้ให้บริการเชิงรุกให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น ใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูล (text analytics) บนสื่อโซเชียลมีเดีย ชี้เบาะแส ติดตามปัญหาจากการใช้บริการทางการเงินที่มีการกล่าวถึงในสังคมออนไลน์ วิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพการให้บริการของสถาบันการเงิน และเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนมายัง ธปท. ผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์
อ่านประกอบ :
หนี้บ้านเพิ่ม-สินเชื่อรถหด! ธปท.เผยหนี้ครัวเรือนไตรมาส 3/66 แตะ 16.19 ล้านล.-90.9%ต่อGDP
เป้า 5 ปีหนี้ต่ำ 80%ต่อGDP! ธปท.จับมือ‘สมาคมแบงก์-ชมรมสินเชื่อฯ’แก้หนี้ครัวเรือนยั่งยืน
'ธปท.'เล็งบังคับเกณฑ์คุม'หนี้ต่อรายได้'ไม่เกิน 60-70% เริ่ม ม.ค.68-ลุยแก้'หนี้เรื้อรัง'
‘ธปท.’เดินหน้า 3 แนวทางแก้‘หนี้ครัวเรือน’-ชี้สินเชื่อรถ‘จัดชั้น SM’แค่ 10% ที่เป็น NPL
หนี้ทะลุ 90.6%ต่อGDP! ธปท.ปรับข้อมูล‘หนี้ครัวเรือน’ใหม่คลุม 4 กลุ่ม ยอดเพิ่ม 7.7 แสนล.
'ธปท.' เล็งออกเกณฑ์คุม 'สินเชื่อใหม่' ไตรมาส 3-ตั้งเป้ากดหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ต่ำ 80%
‘ธปท.’เผยหนี้สินครัวเรือนไทยไตรมาส 3/65 แตะ 14.9 ล้านล.-สัดส่วนต่อจีดีพีลดเหลือ 86.8%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’
กลับสู่ความยั่งยืน!‘ธปท.’เล็งออกมาตรการคุม‘หนี้ครัวเรือน’-ไตรมาส 2 หนี้ทะยาน 14.7 ล้านล.
‘ธปท.’เล็งประกาศแนวนโยบายแก้ปัญหา‘หนี้ครัวเรือน’ หวังกำกับปล่อยสินเชื่อใหม่ที่มีคุณภาพ