ธปท.เดินหน้า 3 แนวทางแก้ปัญหา ‘หนี้สินครัวเรือน’ เตรียมชี้แจงรายละเอียดมาตรการปลายเดือน ก.ค.นี้ พร้อมระบุแม้สินเชื่อรถยนต์ ‘จัดชั้น SM’ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก แต่มีเพียง 10% เท่านั้น ที่จะกลายเป็น NPL
.............................................
เมื่อวันที่ 3 ก.ค. น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภายในงาน Media briefing เรื่อง สถานการณ์หนี้ครัวเรือนและความคืบหน้าแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ว่า หลังการปรับปรุงข้อมูลตัวเลขหนี้ครัวเรือนใหม่ พบว่า ณ ไตรมาส 1/2566 หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 90.6% ต่อ GDP ลดลงจากไตรมาส 4/2565 ที่หนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 91.4% ต่อ GDP
“สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในช่วงท้าย ทยอยปรับลดลงตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น ซึ่งตอนนี้สภาพของหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 90.6% ต่อจีดีพี และแม้ว่าหนี้ครัวเรือนดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่น่ากังวล แต่เราไม่ได้เพิ่งมากังวล เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาในระบบการเงินไทยมานานแล้ว” น.ส.สุวรรณี กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาหนี้สินครัวเรือนไทย โดยแยกตามการกำกับดูแล พบว่า ณ ไตรมาส 1/2566 หนี้ 73% เป็นหนี้ที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของ ธปท. ส่วนหนี้ฯอีก 27% ไม่ได้อยู่ภายใต้กำกับดูแลของ ธปท. และเมื่อหากแยกหนี้สินครัวเรือน ตามประเภทสินเชื่อ พบว่า หนี้ส่วนใหญ่หรือ 34% เป็นหนี้บ้าน รองลงมา 27% เป็นสินเชื่อบัตรเครดิตและส่วนบุคคล ,อีก 11% เป็นสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งส่วนหนึ่งใช้ประกอบชีพ และอื่นๆ 28% เป็นสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพ และหนี้ กยศ.
ขณะที่ ณ เดือน มี.ค.2566 มีสินเชื่อคงค้างเกิน 90 วัน นับจากวันที่ 1 ม.ค.2563 (รหัส 21) จำนวน 4.4 ล้านบัญชี และมียอดหนี้คงค้าง 3.1 แสนล้านบาท ลดลงจากในช่วงปี 2565 ที่มีสินเชื่อคงค้างเกิน 90 วัน จำนวน 4.7 ล้านบัญชี (ต.ค.2565) และมียอดหนี้คงค้าง 4.1 แสนล้านบาท (ส.ค.2565) จากการมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะการเร่งรัดการปรับโครงสร้างของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ในกลุ่มที่มีความเปราะบาง
น.ส.สุวรรณี ระบุว่า เมื่อพิจารณาคุณภาพสินเชื่อรายย่อย พบว่า ณ ไตรมาส 1/2566 NPL อยู่ที่ 3.2% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 4/2565 ที่ NPL อยู่ที่ 3.1% ส่วนสินเชื่อชั้น stage 2 (SM) ปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 7.2% จากไตรมาส 4/2565 ที่อยู่ที่ 6.9% ทั้งนี้ ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์ของลูกหนี้อย่างใกล้ชิด และมีการผลักดันให้เจ้าหนี้ยังคงช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการแก้ระยะยาว ซึ่งมาตรการจะมีไปถึงสิ้นปีนี้ และหลังจากนั้นจะเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ตามปกติ
“ตัวเลข (NPL) ที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย และเป็นกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ ซึ่งหลักๆจะเป็นกลุ่มที่ให้ความช่วยเหลือไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับสินเชื่อไปในช่วงสถานการณ์โควิด และบางส่วนเป็นกลุ่มที่เคยได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว
อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าการทยอยเพิ่มขึ้นของ NPL จะไม่เป็น cliff โดยเจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินสามารถจัดการได้ ซึ่งสอดคล้องกับ Rating agencies ทั้ง 3 แห่ง ที่คง stable outlook และมีมุมมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ปรับดีขึ้น แต่ยังต้องติดตามหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง” น.ส.สุวรรณี กล่าว
น.ส.สุวรรณี กล่าวว่า เมื่อพิจารณาในส่วนของสินเชื่อบ้าน พบว่า NPL ratio ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งในส่วนธนาคารพาณิชย์และ SFIs แต่เมื่อพิจารณาตัวเลข Stage 2 (SM ratio) พบว่า SM ratio ของ SFIs ปรับเพิ่มขึ้นเร็วและแรงกว่าธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากลูกหนี้ของ SFIs มีความเปราะบางกว่าลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ทั่วไป
ทั้งนี้ ธปท.มีข้อแนะนำสำหรับลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาผ่อนชำระหนี้ คือ 1.ผู้ที่ผ่อนครบ 3 ปีแล้ว และมีประวัติชำระหนี้ดี อาจพิจารณาเจ้าหนี้รายใหม่ที่ให้ดอกเบี้ยต่ำกว่า (refinance) โดยเปรียบเทียบค่าใช้จ่าย refinance กับดอกเบี้ยที่ประหยัดได้ 2.ผู้ที่จ่ายค่างวดไม่ไหว ให้เจรจาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อขอลดค่างวด ขยายเวลาชำระหนี้ และ 3.ในอนาคต หากมีรายได้เพิ่ม ให้โปะลดหนี้เมื่อมีเงินก้อน หรือเพิ่มค่าผ่อนเพื่อช่วยปิดหนี้ให้เร็วขึ้น โดยไม่มีค่าธรรมเนียมการโปะหนี้
สำหรับสินเชื่อรถยนต์นั้น แม้ว่า NPL ratio จะอยู่ในระดับทรงตัว แต่เมื่อพิจารณาสินเชื่อจัดชั้น stage 2 (SM) หรือหนี้ที่ค้างชำระตั้งแต่ 1-3 เดือน พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก หลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือ ในขณะที่รายได้ของลูกหนี้ยังไม่กลับมา นอกจากนี้ ยังพบว่าลูกหนี้มีการ ‘เลี้ยงค่างวด’ คือ ค้างค่างวดไม่ให้เกิน 3 เดือน เพื่อไม่ให้ถูกยึดรถ ทำให้ SM ของสินเชื่อรถยนต์อยู่ในระดับสูงกว่าสินเชื่อรายย่อยอื่นๆ ทั้งนี้ ธปท.ได้กำชับเจ้าหนี้และลูกหนี้ ให้เร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้แล้ว
“ไม่ใช่ SM หรือ stage 2 ทั้งหมด ที่จะกลายเป็น NPL โดยเราพบว่าหนี้ที่เป็น SM ส่วนใหญ่ หรือ 60% จะคงอยู่ในสถานะ SM เหมือนเดิม เพราะมีการ ‘เลี้ยงค่างวด’ และมี SM ประมาณ 20% ที่สามารถกลับมาเป็นหนี้ดีได้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ขณะที่ SM ประมาณ 10% ที่เวลาผ่านไปจะกลายเป็นหนี้เสียได้ ดังนั้น SM ทั้งหมด ไม่ได้หมายความว่าจะเป็น NPL และนำไปสู่การยึดรถทั้งหมด” น.ส.สุวรรณี กล่าว
ส่วนลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันนั้น พบว่า SM ratio เพิ่มขึ้นจากลูกหนี้กลุ่มเปราะบางของ Non-Bank และ SFIs โดย NPL สินเชื่อส่วนบุคคลของ SFIs ที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งเกิดจากลูกหนี้ที่มีปัญหาในบางกลุ่มอาชีพ อย่างไรก็ดี สำหรับลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียค้างชำระเกินกว่า 120 วัน สามารถเข้าร่วมคลินิกแก้หนี้ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้ภาระรายเดือนอยู่ในระดับที่สามารถชำระคืนได้
@เตรียมชี้แจงรายละเอียด 3 แนวทางแก้‘หนี้สินครัวเรือน’
น.ส.สุวรรณี ระบุว่า ธปท. จะเร่งออกแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยแนวทางดังกล่าวจะครอบคลุมตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่การก่อหนี้ใหม่ที่มีคุณภาพ การดูแลหนี้เดิมโดยเฉพาะ NPL และหนี้เรื้อรัง รวมถึงช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อในระบบ โดยแนวทางที่ ธปท. จะดำเนินการ ประกอบด้วย
(1) เกณฑ์ Responsible Lending (RL) ที่กำหนดให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ หนี้มีปัญหา ไปจนถึงการขายหนี้ โดยลูกหนี้ต้องได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสม ทันเวลา มีคุณภาพ และเพียงพอ รวมทั้งมีแนวทางการดูแลลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง ให้เห็นทางปิดจบหนี้ได้
(2) กลไก Risk-based pricing (RBP) เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ และช่วยให้ลูกหนี้จ่ายอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงและได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม โดยหลักการสำคัญคือลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำควรได้รับดอกเบี้ยที่ต่ำลง และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบสำหรับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง
(3) มาตรการ Macroprudential policy (MAPP) ให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่อสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และลูกหนี้มีเงินเหลือพอดำรงชีพ ไม่นำไปสูงการก่อหนี้สินเกินตัว เช่น การคุมหนี้ไม่ให้อยู่ในระดับสูงเกินไปเมื่อเทียบกับรายได้ในแต่ละเดือน (DSR)
สำหรับแผนการนำมาใช้ในส่วนของ Responsible Lending (RL) และการแก้หนี้เรื้อรังจะบังคับใช้ก่อนเป็นลำดับแรก ตามมาด้วยมาตรการ Risk-based pricing (RBP) สำหรับในเรื่อง Macroprudential policy (MAPP) การนำมาใช้จะต้องพิจารณาให้เหมาะกับบริบทของเศรษฐกิจ โดย ธปท. จะชี้แจงรายละเอียดในปลายเดือน ก.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนอื่น เพื่อขยายผลไปยังอีก 30% ของหนี้ครัวเรือนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ด้วย เช่น การปลูกฝังให้ลูกหนี้มีความรู้และวินัยทางการเงิน การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบของเจ้าหนี้ทั้งระบบ การพัฒนาฐานข้อมูลที่ใช้ประเมินและติดตามหนี้ และการแก้จน ซึ่งถึงการสร้างรายได้ เป็นต้น
“การแก้หนี้ จะแก้แต่หนี้ไม่ได้ รายได้ต้องมา ดังนั้น การแก้จนและการสร้างรายได้เป็นสิ่งที่มาประกอบกับการแก้หนี้” น.ส.สุวรรณี กล่าวและว่า “ธปท. ติดตามสถานการณ์หนี้ครัวเรือนใกล้ชิดและผลักดันการดำเนินการตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาวกับเจ้าหนี้อย่างต่อเนื่องทุกเดือน เพื่อให้เจ้าหนี้ยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ให้กลับมาฟื้นตัวได้”
อ่านประกอบ :
หนี้ทะลุ 90.6%ต่อGDP! ธปท.ปรับข้อมูล‘หนี้ครัวเรือน’ใหม่คลุม 4 กลุ่ม ยอดเพิ่ม 7.7 แสนล.
'ธปท.' เล็งออกเกณฑ์คุม 'สินเชื่อใหม่' ไตรมาส 3-ตั้งเป้ากดหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ต่ำ 80%
‘ธปท.’เผยหนี้สินครัวเรือนไทยไตรมาส 3/65 แตะ 14.9 ล้านล.-สัดส่วนต่อจีดีพีลดเหลือ 86.8%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’
กลับสู่ความยั่งยืน!‘ธปท.’เล็งออกมาตรการคุม‘หนี้ครัวเรือน’-ไตรมาส 2 หนี้ทะยาน 14.7 ล้านล.
‘ธปท.’เล็งประกาศแนวนโยบายแก้ปัญหา‘หนี้ครัวเรือน’ หวังกำกับปล่อยสินเชื่อใหม่ที่มีคุณภาพ