‘ธปท.’ปรับปรุงข้อมูลสถิติ ‘หนี้สินครัวเรือน’ ใหม่ ให้ครอบคลุมหนี้ 4 กลุ่ม ‘หนี้ กยศ.-หนี้ประกอบธุรกิจ-หนี้การเคหะแห่งชาติ-หนี้พิโกไฟแนนซ์’ ดันยอดหนี้ครัวเรือนไตรมาส 1/66 พุ่งแตะเกือบ 16 ล้านล้าน คิดเป็น 90.6% ต่อจีดีพี
..................................
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ทำการปรับปรุงสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน (หนี้สินครัวเรือน) ใหม่ ให้มีความครอบคลุมมากขึ้น เพื่อทำให้ข้อมูลดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือ มีคุณภาพ มีความถี่ของการจัดเก็บข้อมูลที่สม่ำเสมอ และไม่ล่าช้าเกินไป ทั้งนี้ การเผยแพร่ข้อมูลสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนใหม่ จะเริ่มตั้งแต่ข้อมูลในไตรมาส 1/2566 เป็นต้นไป
สำหรับการปรับปรุงข้อมูลสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนใหม่ จะมีการเพิ่มเติมข้อมูลให้ครอบคลุมกลุ่มหนี้ใน 4 กลุ่ม ยอดหนี้รวม 7.7 แสนล้านบาท ได้แก่ 1.กลุ่มหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งมียอดหนี้ 4.83 แสนล้านบาท 2.กลุ่มหนี้สหกรณ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพย์ เช่น สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน และสหกรณ์ที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ อาทิ สหกรณ์การเกษตร เป็นต้น ซึ่งมียอดหนี้ 2.65 แสนล้านบาท จากเดิมที่เก็บสถิติเฉพาะหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์เท่านั้น
3.กลุ่มหนี้ที่เกี่ยวกับการเคหะแห่งชาติ ซึ่งมียอดหนี้ 1.1 หมื่นล้านบาท และ 4.กลุ่มหนี้พิโกไฟแนนซ์ ซึ่งมียอดหนี้ 6,000 ล้านบาท
“ชุดข้อมูลที่เราได้มาใหม่นั้น เราได้รับมาย้อนหลังไปถึงปี 2555 ดังนั้น การปรับปรุงข้อมูล (สถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนชุดใหม่) จะอัพเดตย้อนหลังไปจนถึงปี 2555 และเราจะเริ่มเผยแพร่ตัวเลขตั้งแต่ไตรมาส 1/2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ข้อมูลชุดนี้จะมีความครอบคลุมมากกว่าประเทศส่วนใหญ่ ทั้งในมิติผู้ให้กู้และเครื่องมือทางการเงินต่างๆ เพราะในหลายประเทศนั้น ข้อมูลหนี้ครัวเรือนของเขา จะไม่รวมหนี้ถึงเพื่อการประกอบอาชีพและหนี้เพื่อการศึกษา” นายสักกะภพ กล่าว
นายสักกะภพ ระบุด้วยว่า การปรับปรุงสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนใหม่หรือข้อมูล 'หนี้สินครัวเรือน' ในครั้งนี้ จะทำให้หนี้สินครัวเรือนของไทย ณ ไตรมาส 1/2566 มีจำนวน 15.96 ล้านล้านบาท หรือเกือบ 16 ล้านล้านบาท และคิดเป็น 90.6% ต่อจีดีพี เทียบกับข้อมูลหนี้สินครัวเรือนก่อนปรับปรุง ซึ่ง ณ ไตรมาส 1/2566 หนี้สินครัวเรือนมีจำนวน 15.2 ล้านบาท หรือคิดเป็น 86.3% ต่อจีดีพี หรือเพิ่มจากข้อมูลก่อนปรับปรุงคิดเป็น 4.3% ต่อจีดีพี
นายสักกะภพ กล่าวว่า ภายหลังการปรับปรุงข้อมูลแล้ว โครงการหนี้ครัวเรือนจำแนกตามวัตถุประสงค์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากข้อมูลก่อนปรับปรุงแต่อย่างใด โดยหลังปรับปรุงข้อมูล หนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์จะมีสัดส่วนคิดเป็น 34% ของหนี้ทั้งหมด ,หนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีสัดส่วน 27% ,หนี้เพื่อการประกอบการอาชีพมีสัดส่วน 18% ,หนี้ซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์มีสัดส่วน 11% ,หนี้เพื่อการศึกษามีสัดส่วน 4% และหนี้อื่นๆมีสัดส่วน 6%
“ปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน เรามีกังวลในภาพรวมอยู่แล้ว แต่การปรับในครั้งนี้ อย่างที่เรียนไปมันไม่ใช่หนี้ใหม่ โดยหนี้ส่วนใหญ่ยังคงเป็นหนี้เพื่อการประกอบธุรกิจ และหนี้เพื่อการศึกษา ซึ่งเราไม่ได้กังวลกับหนี้ในส่วนนี้มากนัก และขอย้ำว่าสิ่งที่เราทำในวันนี้ เป็นการทำให้ข้อมูลครบถ้วน และครอบคลุม ซึ่งหน่วยงานต่างๆสามารถใช้ข้อมูลชุดนี้ไปใช้ในการทำนโยบายเพื่อดูแลหนี้ครัวเรือนได้ต่อไป” นายสักกะภพ กล่าว
(สถิติข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนจำแนกตามวัตถุประสงค์ 1 (ปรับปรุงข้อมูลแล้ว) ที่มา : ธปท.)
(สถิติข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนจำแนกตามวัตถุประสงค์ 1 (ก่อนปรับปรุงข้อมูล) ที่มา : ธปท.)
อ่านประกอบ :
'ธปท.' เล็งออกเกณฑ์คุม 'สินเชื่อใหม่' ไตรมาส 3-ตั้งเป้ากดหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ต่ำ 80%
‘ธปท.’เผยหนี้สินครัวเรือนไทยไตรมาส 3/65 แตะ 14.9 ล้านล.-สัดส่วนต่อจีดีพีลดเหลือ 86.8%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’
กลับสู่ความยั่งยืน!‘ธปท.’เล็งออกมาตรการคุม‘หนี้ครัวเรือน’-ไตรมาส 2 หนี้ทะยาน 14.7 ล้านล.
‘ธปท.’เล็งประกาศแนวนโยบายแก้ปัญหา‘หนี้ครัวเรือน’ หวังกำกับปล่อยสินเชื่อใหม่ที่มีคุณภาพ