หนี้สินครัวเรือนไตรมาส 2/65 ทะยาน 14.76 ล้านล้าน คิดเป็น 88.2% ต่อจีดีพี ด้าน ‘ธปท.’ ห่วงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อาจทำเศรษฐกิจสะดุดได้ เตรียมมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ก่อให้เกิด ‘หนี้ที่ไม่ยั่งยืน’
.........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่สถิติเงินให้กู้ยืมแก่ครัวเรือนหรือ 'หนี้สินครัวเรือน' ณ สิ้นไตรมาส 2/2565 พบว่า หนี้สินครัวเรือนไทยอยู่ที่ 14.76 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 88.2% ต่อจีดีพี เทียบกับไตรมาส 1/2565 ที่หนี้สินครัวเรือนไทยอยู่ที่ 14.65 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 89.2% ต่อจีดีพี โดยหนี้สินส่วนใหญ่ หรือ 12.64 ล้านล้านบาท เป็นหนี้สินที่ครัวเรือนกู้ยืมจากสถาบันรับฝากเงิน
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายละเอียดหนี้สินครัวเรือนในช่วงไตรมาส 2/2565 พบว่า ยอดเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 6.31 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.49 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.55% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2565 ที่มีจำนวน 6.27 ล้านล้านบาท ส่วนยอดกู้ยืมเงินจากบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 1.62 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.01% เทียบกับไตรมาส 1/2565 ที่มีจำนวน 1.59 ล้านล้านบาท (ดูรายละเอียด)
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้หนี้สินครัวเรือนไทยจะลดลงมาอยู่ที่ 88-89% ต่อจีดีพี จากที่เคยพีคไปถึง 90% ต่อจีดีพี ในช่วงวิกฤติโควิด แต่ ธปท.มองว่าระดับหนี้สินครัวเรือนดังกล่าวถือว่าสูงเกินไป จึงต้องทำให้ระดับหนี้สินครัวเรือนกลับสู่ระดับที่ยั่งยืน เพื่อไม่ให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุด ในขณะที่ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) เห็นว่าหนี้ครัวเรือนควรอยู่ที่ระดับไม่เกิน 80% ต่อจีดีพี
“(หนี้ครัวเรือน) เคยพีคที่ 90% ตอนนี้ลดลงมาที่ 88-89% ซึ่งสูงไป เมื่อเทียบกับระดับที่เราคิดว่าเหมาะสมกับความยั่งยืน และถ้าจะโตไปอย่างนี้ โอกาสที่จะเกิดปัญหา มีอยู่แล้ว แต่คงไม่มีตัวเลขวิเศษอะไรที่จะบอกว่าเท่านั้นเท่านี้ ขณะที่เกณฑ์สากลปกติที่องค์กรอย่าง BIS (ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ) เขาดู คือ หนี้ครัวเรือนควรอยู่ระดับไม่ควรเกิน 80% ต่อจีดีพี ซึ่งถ้าไม่ทำให้กลับสู่ระดับที่ยั่งยืน จะทำให้การฟื้นไปได้ต่อเนื่อง มันสะดุด” นายเศรษฐพุฒิ ระบุ
นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า “แม้ว่าเราอยากให้ระดับหนี้ครัวเรือนกลับลงมา แต่คงต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป และต้องรักษาสมดุล เพราะถ้าเข้มมากเกินไป เช่นในช่วงนี้ หากทำให้คนไม่ได้สินเชื่อ ก็จะเกิดปัญหาได้”
นายเศรษฐพุฒิ ยังกล่าวว่า ในช่วงวิกฤติโควิด ธปท.ได้ออกมามาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว โดยเฉพาะมาตรการ 3 ก.ย. เพื่อยืดเวลาและพยุงสถานการณ์ให้รายได้ของคนสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งทำให้การ take off ของเศรษฐกิจไปได้ รวมทั้งทำให้เรามีสบายใจขึ้นว่า หนี้จะไม่ทำให้เราสะดุด และหาก ธปท.ไม่มีมาตรการในลักษณะนี้ออกมา โอกาสที่เศรษฐกิจจะสะดุดก็เป็นไปได้สูงขึ้น
ด้าน นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า หนี้สินครัวเรือนของไทยยังอยู่ในระดับสูง โดยล่าสุดหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ระดับ 88% ต่อจีดีพี และแม้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีพีดีจะลดลง เพราะ Nominal GDP เพิ่มขึ้น แต่จะพบว่าการกระจายตัวของหนี้ครัวเรือนไม่สม่ำเสมอ โดยคนที่มีภาระหนี้ครัวเรือนสูง คือ คนที่มีรายได้น้อย และที่ผ่านมากลุ่มคนที่มีรายได้น้อยดังกล่าวรายได้หายไป เพราะถูกเลิกจ้าง
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น สิ่งที่ต้องแก้ก่อน คือ ต้องทำให้หนี้ในปัจจุบันลดลง โดยเฉพาะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จากสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ซึ่งมีพอสมควรและเป็นปัญหาที่เปราะบาง และในช่วงไตรมาส 1 ปีหน้า ธปท.จะออกมาตรการที่จะทำให้สถาบันการเงินไม่กระตุกพฤติกรรม หรือออกผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดหนี้ที่ไม่ยั่งยืน
“สิ่งแรก เราจะทำให้สถาบันการเงินไม่กระตุกพฤติกรรม หรือไปออกผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดหนี้ที่ไม่ยั่งยืน โดยแคมเปญจะออกมาในช่วงไตรมาส 1 ปีหน้า ส่วนการกำหนดหลักเกณฑ์ในมิติที่ว่ารายได้สุทธิต้องเป็นเท่าไหร่ คงยังไม่ได้ออกตอนนี้” นายรณดล กล่าวและย้ำว่า “อย่างที่ผู้ว่าฯธปท.พูด ในระบบทั่วๆหนี้ครัวเรือนที่ไม่เกิน 80% จะตอบโจทย์ความยั่งยืน และเป็นตัวเลขที่เราอยากเอนไปทางนั้นก่อน”
อ่านประกอบ :
รัฐย้ำคุม‘ดอกเบี้ย’สินเชื่อเช่าซื้อ‘มอเตอร์ไซค์’-‘คลัง-ธปท.’เปิดงานไกล่เกลี้ยหนี้ออนไลน์
‘ธปท.’เล็งประกาศแนวนโยบายแก้ปัญหา‘หนี้ครัวเรือน’ หวังกำกับปล่อยสินเชื่อใหม่ที่มีคุณภาพ
‘ธปท.’เปิดรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.ฎ.กำกับดูแลธุรกิจ‘เช่าซื้อ-ลีสซิ่ง’รถยนต์-มอเตอร์ไซค์
แกะปมเช่าซื้อ'มอเตอร์ไซค์' คิดดอกเบี้ย 50-70% ต่อปี 'สคบ.'ขยับคุมสัญญา-ชง SFI ปล่อยกู้
ชำแหละปัญหา ‘หนี้เช่าซื้อ’ กรณี ‘ลุงทองเสาว์’ ถึงเวลารัฐออกกฎคุ้มครองลูกหนี้
‘สศช.’เผย ‘ผู้ว่างงาน’ ไตรมาส 2/65 ลดเหลือ 5.5 แสนคน-หนี้ครัวเรือน 89.2% ต่อจีดีพี
'กนง.-กนส.'จับตาความเสี่ยง‘หนี้ครัวเรือน-ตลาดบอนด์ผันผวน'-เกาะติดผลกระทบ'โอไมครอน'
เครดิตบูโรชี้จุดเสี่ยงหนี้ครัวเรือน-NPLไตรมาส3 พุ่ง7.7%ห่วงกระทบเศรษฐกิจระยะยาว