‘ธปท.’ เดินหน้าแก้ปัญหา ‘หนี้สินครัวเรือน’ 4 กลุ่ม ตั้งเป้าลดสัดส่วน ‘หนี้ครัวเรือนต่อ GDP’ ต่ำกว่า 80% ภายใน 5 ปี เล็งออกหลักเกณฑ์คุมปล่อย ‘สินเชื่อใหม่’ พร้อมแก้หนี้สินเดิมที่มีปัญหา ‘เรื้อรัง’ คาดประกาศเกณฑ์ฯได้ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้
.............................
เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่ ‘แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน’ ภายใต้แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (Financial Landscape)เพื่อสะท้อนข้อมูลเชิงลึกของหนี้ครัวเรือนไทย และสื่อสารหลักการในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างเบ็ดเสร็จ โดย ธปท.ตั้งเป้าลดระดับหนี้สินครัวเรือนให้อยู่ต่ำกว่า 80% ต่อจีดีพี และทำให้ครัวเรือนมีความเป็นอยู่และสถานะทางการเงินดีขึ้น
สำหรับแนวการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของ ธปท. ดังกล่าว ธปท.กำหนดแนวทางว่า ต้องทำอย่างครบวงจรให้เหมาะกับลักษณะ และสาเหตุุของปัญหาในแต่ละช่วงของการเป็นหนี้ และต้องทำอย่างถูกหลักการ คือ แก้ให้ตรงจุด ไม่สร้างภาระเพิ่มให้ลูกหนี้ ไม่ลดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ และตั้งใจจริง ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และภาครัฐ โดยมีแนวทางการดำเนินการสำหรับลูกหนี้กลุ่มที่ต้องเร่งแก้ไข ดังนี้
1.หนี้เสียที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาว โดยการกำหนดให้เจ้าหนี้ต้องมีบริการให้คำปรึกษาแก้หนี้ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้ การสร้างตัวช่วยลูกหนี้ โดยให้มีคนกลางทำหน้าที่ให้คำแนะนำด้านการแก้หนี้และไกล่เกลี่ยหนี้ และการผลักดันให้มีกฎหมายที่ช่วยให้ลูกหนี้รายย่อยทั่วไปที่ไปต่อไม่ไหวได้เข้ากระบวนการฟื้นฟูหรือขอล้มละลายได้ด้วยตนเอง
2.หนี้ที่เป็นปัญหาเรื้อรัง คือ ยังไม่เป็นหนี้เสีย แต่ปิดจบไม่ได้ เช่น กู้หนี้ใหม่ไปจ่ายหนี้เก่า ,จ่ายขั้นต่ำหนี้บัตรกดเงินสดไปเรื่อยๆ แต่เงินต้นไม่ลดลง ,กู้เงินสหกรณ์เพิ่มตามเพดานเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นจนเกษียณ และหนี้เกษตรกรที่ชำระดอกเบี้ยเป็นหลัก โดยจะให้ลูกหนี้เห็นทางปิดจบหนี้ได้ โดยจะผลักดันให้มีแนวทางแก้ไขปัญหา เริ่มจากหนี้บัตรกดเงินสดที่เป็นหนี้เรื้อรังของลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง มีอายุมากและมีปัญหาทางการเงินรุนแรงก่อน
3.หนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นเร็ว และอาจเป็นหนี้เสียหรือเรื้อรังในอนาคต ได้แก่ หนี้ภาคเกษตรกร หนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคล โดย ธปท. จะออกเกณฑ์เพื่อให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ (responsible lending) และกำหนดให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อโดยคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายหนี้คืนและลูกหนี้ยังมีเงินเหลือพอดำรงชีพ รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหนี้สินเชื่อรายย่อยคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละราย พร้อมทั้งผลักดันให้เจ้าหนี้อื่นเห็นพฤติกรรมดีของลูกหนี้ เพื่อกระตุ้นการรีไฟแนนซ์หนี้ไปยังดอกเบี้ยที่ถูกลง
4.หนี้ที่ยังไม่อยู่ในตัวเลขหนี้ครัวเรือน แต่มีปัญหาหรืออาจเกิดปัญหาในอนาคต อาทิ หนี้ กยศ. และสินเชื่อสหกรณ์อื่น (รวม 7 แสนล้านบาท หรือ 4.3% ต่อจีดีพี) รวมทั้งหนี้นอกระบบ ซึ่งจะมีการติดตามข้อมูลให้ครอบคลุมลูกหนี้ต่างๆ มากขึ้น และผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลต่าง ๆ ในการประเมินและติดตามสินเชื่อ อาทิ ข้อมูลพฤติกรรมการจ่ายเงิน เพื่อให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้นและด้วยต้นทุนการกู้ยืมที่ตรงตามความเสี่ยงของตน
ทั้งนี้ ธปท. จะเร่งผลักดันการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนตามแนวทางที่วางไว้ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บังคับใช้ได้จริงเหมาะสมกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจการเงิน และสามารถดูแลหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้ภาคครัวเรือนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงินในระยะยาว และภาคการเงินมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง
น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธปท. กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาหนี้ทั้ง 4 กลุ่ม นั้น ธปท. จะเริ่มเข้าไปแก้ปัญหาหนี้ที่มีความเร่งด่วนก่อน ซึ่งการออกหลักเกณฑ์ต่างๆ ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่ยาก คือ จะทำอย่างไรให้หลักเกณฑ์ที่ออกไปแล้วบังคับใช้ได้จริง ขณะที่การแก้ปัญหาหนี้สินดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาประมาณ 5 ปี เนื่องจากปัญหาหนี้สินครัวเรือนของไทยเป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน
“หลังจากวันนี้แล้ว ภายในเดือนนี้หรือต้นเดือนหน้า เราจะเอาร่างหลักเกณฑ์ responsible lending (การปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ) ไปรับฟังความคิดเห็นกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และคาดว่าในช่วงกลางปีนี้จนถึงประมาณไตรมาส 3 เกณฑ์นี้ต้องออก ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การให้ข้อมูล การไม่โฆษณาที่กระตุ้นจนเกินไป การเข้าไปดูแลลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย ส่วนการไกล่เกลี่ยหนี้เดิมนั้น วันนี้เรามีอยู่แล้ว” น.ส.สุวรรณี กล่าว
@เตรียมออกหลักเกณฑ์คุมปล่อย ‘สินเชื่อใหม่’
ด้าน น.ส.อรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. อธิบายเพิ่มเติมว่า ในส่วนการแก้ปัญหาหนี้ที่เป็นปัญหาเรื้อรัง นั้น ธปท.เตรียมออกหลักเกณฑ์เพื่อช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้เปราะบางที่มีอายุมาก และมีปัญหาทางการเงินค่อนข้างรุนแรง ซึ่งหากลูกหนี้รายดังกล่าวจ่ายดอกเบี้ยมาเป็นจำนวนมากและจ่ายหนี้มาเป็นเวลานานแล้ว จะต้องหาทางทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้จบหนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งคาดว่าจะออกหลักเกณฑ์ได้ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้
ขณะที่แนวทางในการแก้ปัญหาหนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นเร็ว นั้น ธปท.จะมีการออกหลักเกณฑ์ในการดูแลการปล่อยสินเชื่อใหม่ เพื่อให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ ซึ่งจะทำให้หนี้ที่จะก่อขึ้นใหม่เป็นหนี้ที่มีคุณภาพ ภายในไตรมาส 3 ปีนี้เช่นกัน โดยหลักเกณฑ์ในการดูแลการปล่อยสินเชื่อใหม่ จะมีหลักการ ซึ่งประกอบด้วย 5 เรื่อง ได้แก่ 1.การโฆษณาต้องไม่กระตุ้นการกู้จนเป็นหนี้สินเกินตัว เช่น ของมันต้องมี หรือใส่รองเท้ารวยไปอวดเพื่อน เป็นต้น
2.ให้ข้อมูลสำคัญครบถ้วน ชัดเจน ตลอดวงจรหนี้ เช่น ที่บอกว่ากู้ล้านจ่ายร้อย แต่จริงๆเป็นแค่ดอกเบี้ยไม่รวมเงินต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ต้องแจ้งให้ลูกหนี้ทราบ เพื่อให้มีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ 3.การเสนอสินเชื่อที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของลูกหนี้ 4.กำหนดเงื่อนไขสัญญาที่เป็นธรรม เช่น หากจ่ายคืนหนี้หมดแล้ว ต้องได้หลักประกันกลับคืนมาโดยเร็ว และไม่เรียกประกันหลักประกันมากเกินไป เป็นต้น
5.เมื่อลูกหนี้มีปัญหา เจ้าหนี้จะต้องช่วยเหลือลูกหนี้ โดยจะต้องเสนอเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง โดยเฉพาะกรณีที่จะมีการขายลูกหนี้ออกหรือจะฟ้องลูกหนี้
ขณะเดียวกัน ธปท.พร้อมออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อเท่าที่ลูกหนี้จ่ายคืนได้และมีเงินเหลือเพียงพอดำรงชีพ (Macroprudential Policy) เช่น Debt Service Ratio และ Loan-to-value Ratio เป็นต้น
นอกจากนี้ สำหรับคนที่มีประวัติชำระหนี้ดีกว่า ควรได้เงื่อนไขสินเชื่อที่ดีกว่า หรือ risk-based pricing (RBP) คือ เสี่ยงน้อยได้ดอกเบี้ยน้อย โดย ธปท.จะสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหนี้สินเชื่อรายย่อย มีกลไกกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละราย การผลักดันให้เจ้าหนี้อื่นเห็นพฤติกรรมดีของลูกหนี้ เพื่อกระตุ้นให้การรีไฟแนนซ์ โดยเจ้าหนี้ในระบบทุกรายควรรายงานเป็นข้อมูลเครดิต
น.ส.อรมนต์ ยังระบุว่า ส่วนการดูแลให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้น นั้น ธปท.จะทบทวนเพดานดอกเบี้ย เพื่อไม่ให้ลูกหนี้ที่เสี่ยงสูงกว่าเพดานโดนผลักออกนอกระบบ โดยจะใช้เกณฑ์ที่เพดานพลัส คือ ไม่ได้ยกเลิกเพดานดอกเบี้ยที่มีอยู่เดิม แต่ทำให้เพดานดอกเบี้ยยืดหยุ่นขึ้น คือ ให้เจ้าหนี้ที่มีความสามารถในการแยกความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละรายได้จริง สามารถปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่าเพดาน และได้ดอกเบี้ยสูงกว่าเพดานได้
“เจ้าหนี้ที่จะมาให้บริการในกลุ่มนี้ได้ 1.ต้องมีระบบในการแจกแจงความเสี่ยงของลูกหนี้ได้ 2.ต้องแจกแจงความเสี่ยงจริงในการปล่อยสินเชื่อจริง และ 3.ต้องเป็นเจ้าหนี้ที่มีความรับผิดชอบ ซึ่งสิ่งที่เรากังวลและไม่อยากเห็นเลย คือ การปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้ที่มีความเปราะบาง พอจ่ายไม่ได้ แล้วฟ้องทันที อันนี้เรามีความกังวลมาก และเราไม่สามารถให้เจ้าหนี้ลักษณะนี้ ปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มเปราะบางได้” น.ส.อรมนต์ กล่าว
@เปิด 8 ข้อเท็จจริง ‘การเป็นหนี้ของคนไทย’
นายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธปท. ระบุว่า เมื่อพิจารณาหนี้สินครัวเรือนไทยที่มีจำนวน 14.9 ล้านล้านบาท พบว่า 2 ใน 3 เป็นหนี้ที่เกี่ยวกับการบริโภค และอีก 1 ใน 3 เป็นหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งหากเปรียบเทียบกับในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง ญี่ปุ่น ที่หนี้สินครัวเรือน 2 ใน 3 เป็นหนี้เพื่ออยู่อาศัย ส่วนอีก 1 ใน 3 เป็นหนี้เพื่อการบริโภคแล้ว จะเห็นได้ว่าครัวเรือนของญี่ปุ่นมีเสถียรภาพทางการเงินมากกว่าครัวเรือนของไทย
ขณะเดียวกัน จากการศึกษาข้อเท็จจริงต่างๆที่เกิดขึ้น พบข้อเท็จจริงการเป็นหนี้ของคนไทยใน 8 ประเด็น ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมา ได้แก่ 1.เป็นหนี้เร็ว หรือเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งจากข้อมูลสถิติพบว่ากลุ่มคนวัยเริ่มทำงานหรือกลุ่มคนที่มีอายุ 25-29 ปี มี 58% ที่เป็นหนี้ และมากกว่า 25% เป็นหนี้เสีย (NPL) โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้บัตรเครดิต และหนี้ยานยนต์
2.เป็นหนี้เกินตัว โดย 30% ของลูกหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคล มีหนี้เกิน 4 บัญชี/คน และวงเงินรวมของหนี้มากกว่าเงินเดือน 10-25 เท่า เทียบกับในต่างประเทศกำหนดไว้ไม่เกิน 5-12 เท่า ทำให้รายได้เกินครึ่งต้องเอาไปจ่ายคืนหนี้ ต้องใช้จ่ายอย่างกระเหม็ดกระแหม่ หากไม่พอต้องไปกู้หนี้นอกระบบ
3.เป็นหนี้ เพราะไม่รู้ โดย 4 ใน 5 ของปัญหา เกิดในขั้นตอนการขายผลิตสินเชื่อของสถาบันการเงิน คือ ลูกหนี้ได้ข้อมูลไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้อง เช่น มีการโฆษณาว่า ลูกหนี้จ่ายหนี้งวดแรกๆต่ำ แต่ไม่ได้บอกว่า นานไปแล้วต้องจ่ายเท่าไหร่ รวมทั้งไม่ได้บอกว่าจ่ายแต่ดอกเบี้ย และตัดต้นน้อย เป็นต้น
4.เป็นหนี้เพราะเหตุจำเป็น โดยกว่า 62% ของครัวเรือนมีเงินออมเผื่อฉุกเฉินไม่เพียงพอ และหากเกิดเหตุที่ทำให้รายได้ลดลง 20% จะมีครัวเรือนเกินครึ่งที่มีเงินไม่พอจ่ายหนี้ 5.เป็นหนี้นาน โดยมากกว่า 1 ใน 4 ของลูกหนี้อายุเกิน 60 ปี ยังมีภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระ และมีหนี้เฉลี่ยสูงกว่า 4.5 แสนบาท/คน ขณะที่ลูกหนี้เกือบ 40% มักจ่ายเฉพาะขั้นต่ำ
6.เป็นหนี้เสีย โดยก่อนเกิดโควิด-19 มีลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย 5.5 ล้านบัญชี แต่หลังโควิดมีลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นอีก 4.5 ล้านบัญชี ส่งผลให้ปัจจุบันมีลูกหนี้กว่า 10 ล้านบัญชี ที่เป็นหนี้เสีย โดยเป็นหนี้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจประมาณ 70% เป็นหนี้กับนอนแบงก์ 20% และเป็นหนี้กับธนาคารพาณิชย์ 10%
7.เป็นหนี้ไม่จบไม่สิ้น โดยบัญชีที่เป็นหนี้เสีย 1.7 ล้านบัญชี พบว่าเกือบ 20% ถูกยื่นฟ้อง และ 1 ใน 3 ของบัญชีที่ถูกยื่นฟ้อง ปิดจบหนี้ไม่ได้ คือ ถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาดไปแล้ว ก็ยังเหลือหนี้ที่ชำระไม่หมด และ 8.เป็นหนี้นอกระบบ โดย 42% ของกว่า 4,600 ครัวเรือนที่สุ่มตัวอย่างจากทั่วทุกภูมิภาค มีหนี้นอกระบบเฉลี่ยคนละ 54,300 บาท ซึ่งเป็นหนี้กับนายทุนทั้งนอกพื้นที่และในพื้นที่ ต้องเสียดอกเบี้ย 10-20% ต่อเดือน
นายจิตเกษม กล่าวต่อว่า หากไม่ช่วยกัน หนี้ครัวเรือนของไทยจะยืนอยู่ที่ 86% ของจีดีพี ซึ่งเป้าหมายที่ ธปท. อยากเห็นในการดำเนินการตาม ‘แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน’ ลูกหนี้ 4 กลุ่ม คือ หนี้ครัวเรือนในภาพรวมลดต่ำกว่า 80% ต่อจีดีพี เพราะหากหนี้ฯสูงเกินกว่า 80% ต่อจีดีพี จะส่งผลต่อเสถียรภาพและการเจริญเติบโตของประเทศ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาหนี้เสียที่มีในปัจจุบัน ต้องทำให้ลูกหนี้ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม : เอกสารแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’เผยหนี้สินครัวเรือนไทยไตรมาส 3/65 แตะ 14.9 ล้านล.-สัดส่วนต่อจีดีพีลดเหลือ 86.8%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’
กลับสู่ความยั่งยืน!‘ธปท.’เล็งออกมาตรการคุม‘หนี้ครัวเรือน’-ไตรมาส 2 หนี้ทะยาน 14.7 ล้านล.
‘ธปท.’เล็งประกาศแนวนโยบายแก้ปัญหา‘หนี้ครัวเรือน’ หวังกำกับปล่อยสินเชื่อใหม่ที่มีคุณภาพ