‘แบงก์ชาติ’ เผยไตรมาส 3/65 หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 14.9 ล้านล้าน เพิ่มขึ้น 3.94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ 'สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพี' ลดลงเหลือ 86.8%
.....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่สถิติเงินให้กู้ยืมแก่ครัวเรือนหรือหนี้สินครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาส 3/2565 พบว่า หนี้สินครัวเรือนไทยมีจำนวน 14.90 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 86.8% ต่อจีดีพี เทียบกับไตรมาส 2/2565 ที่หนี้สินครัวเรือนไทยมีจำนวน 14.76 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 88.1% ต่อจีดีพี หรือมีจำนวนหนี้เพิ่มขึ้น 1.38 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็น 0.93% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
ขณะเดียวกัน หากเทียบหนี้สินครัวเรือนไทยในช่วงไตรมาส 3/2565 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน คือ ไตรมาส 3/2564 ที่หนี้สินครัวเรือนไทยมีจำนวน 14.34 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 89.6% ต่อจีดีพี พบว่าหนี้สินครัวเรือนในช่วงไตรมาส 3/2565 เพิ่มขึ้น 3.94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายละเอียดหนี้สินครัวเรือนในช่วงไตรมาส 3/2565 พบว่า ยอดเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ มีจำนวน 6.36 ล้านล้านบาท เทียบกับไตรมาส 2/2565 ที่มีจำนวน 6.31 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.93 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.78% ส่วนยอดเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน มีจำนวน 4.18 ล้านล้านบาท เทียบกับไตรมาส 2/2565 ที่มีจำนวน 4.14 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.1 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.99%
ขณะที่ยอดเงินกู้ยืมจากสหกรณ์ออมทรัพย์ มีจำนวน 2.20 ล้านล้านบาท เทียบกับไตรมาส 2/2565 ที่มีจำนวน 2.19 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.64 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.75% และยอดกู้ยืมเงินจากบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล มีจำนวน 1.65 ล้านล้านบาท เทียบกับไตรมาส 2/2565 ที่มีจำนวน 1.62 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.77 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.75% (อ่านรายละเอียดในตาราง)
ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯธปท. ระบุว่า ในระยะยาว สิ่งที่ ธปท.ต้องทำเพื่อดูแลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง คือ ต้องทำให้หนี้ครัวเรือนอยู่ได้อย่างยั่งยืน เพราะวันนี้หนี้ครัวเรือนสูงกว่าที่เราอยากจะเห็น โดยล่าสุดหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 88-89% ต่อจีดีพี ซึ่งหากหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงอย่างนี้ จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีโอกาสสะดุด ขณะที่หลายประเทศมองว่าระดับหนี้ครัวเรือนน่าจะอยู่ที่ไม่เกิน 80% ต่อจีดีพี
“ถ้าเราปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรม โอกาสที่หนี้ครัวเรือนจะลงมาต่ำกว่า 80% คงมีไม่มาก จึงมีความจำเป็นต้องมีมาตรการ และออกนโยบาย เพื่อทำให้แนวโน้มหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีกลับลงมาสู่ระดับที่เราคิดว่าเหมาะสมกับความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งอันแรกเลยต้องแก้หนี้ครบวงจร คือ ต้องทั้งก่อนการก่อหนี้ ระหว่างที่คนเป็นหนี้ และเมื่อคนเริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้ ต้องดูให้ครบวงจร
ขณะที่การแก้ปัญหาหนี้ ต้องทำให้ถูกหลักการ คือ ต้องไม่แก้ปัญหาในลักษณะปูพรม และไม่ควรเป็นมาตรการที่จะสร้างภาระเพิ่มให้กับลูกหนี้ เช่น การพักหนี้ ซึ่งอาจเหมาะสมในช่วงโควิดระยะสั้นๆ แต่ตอนนี้ไม่เหมาะสม เพราะการพักหนี้ไม่ได้ทำให้ภาระหนี้หายไป ดอกยังวิ่งอยู่ รวมทั้งอย่าไปทำอะไรที่จะลดโอกาสให้ลูกหนี้ในการเข้าถึงสินเชื่อของลูกหนี้ในอนาคต เช่น การทำอะไรที่ไปกระทบกับข้อมูลต่างๆ เช่น ลบประวัติเครดิตบูโรของลูกหนี้” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ย้ำว่า สิ่งที่ ธปท.กำลังผลักดันอยู่ คือ การพยายามแก้ปัญหาหนี้เดิมและทำให้ครบวงจรมากขึ้น และในระยะข้างหน้าจะให้ความสำคัญตั้งแต่ก่อนก่อหนี้ เช่น การให้ความรู้ทางการเงิน นอกจากนี้ ธปท.ยังให้ความสำคัญกับการปล่อยหนี้ใหม่ คือ การให้สถาบันการเงินให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ ไม่สร้างภาระหนี้มากเกินไปให้กับลูกหนี้ แต่ทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลา อีกทั้งต้องหาจุดสมดุลระหว่างการให้คนเข้าหาสินเชื่อได้ และการไม่สร้างหนี้สูงจนเกินไป
“ถ้าอยากจะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ก็มีความจำเป็นต้องเข้ามาดูเรื่องการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ดีขึ้น แต่ทั้งหมดนี้ คงไม่เกิดขึ้นเร็ว ต้องใช้เวลา และจะแก้ในฝั่งหนี้อย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องดูในฝั่งรายได้ด้วย เพราะถ้ารายได้ไม่มา จะแก้หนี้ให้ตาย ก็ไม่จบไม่สิ้น” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
อ่านประกอบ :
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’
กลับสู่ความยั่งยืน!‘ธปท.’เล็งออกมาตรการคุม‘หนี้ครัวเรือน’-ไตรมาส 2 หนี้ทะยาน 14.7 ล้านล.
‘ธปท.’เล็งประกาศแนวนโยบายแก้ปัญหา‘หนี้ครัวเรือน’ หวังกำกับปล่อยสินเชื่อใหม่ที่มีคุณภาพ