ธปท.เผยหนี้สินครัวเรือนไตรมาส 3/66 แตะ 16.19 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 90.9% ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 0.69% พบ ‘สินเชื่อบ้าน-สินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล’ ยังคงเพิ่มขึ้น ขณะที่ ‘สินเชื่อรถ’ หดตัว 0.99% จากไตรมาสก่อน
.....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่ข้อมูลสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน หรือหนี้สินครัวเรือน ณ ไตรมาส 3/2566 ปรากฏว่าหนี้สินครัวเรือนมีจำนวน 16,199,538 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 90.9% ต่อจีดีพี โดยจำนวนหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น 111,563 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.69% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2566 ที่หนี้สินครัวเรือนมีจำนวน 16,087,975 ล้านบาท หรือคิดเป็น 90.8% ต่อจีดีพี
นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบหนี้สินครัวเรือน ณ ไตรมาส 3/2566 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือไตรมาส 3/2565 ที่หนี้สินครัวเรือนมีจำนวน 15,675,944 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 91.5% ต่อจีดีพี) พบว่า จำนวนหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น 523,594 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.34%
ข้อมูลระบุด้วยว่า จากรายงานสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน ณ ไตรมาส 3/2566 พบว่าหนี้สินครัวเรือนส่วนใหญ่ หรือ 13.05 ล้านล้านบาท เป็นหนี้สินที่ครัวเรือนกู้ยืมจากสถาบันรับเงินฝาก ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ จำนวน 6.36 ล้านล้านบาท ,สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน จำนวน 4.34 ล้านล้านบาท ,สหกรณ์ออมทรัพย์ จำนวน 2.28 ล้านล้านบาท และสถาบันรับฝากเงินอื่นๆ จำนวน 5.84 หมื่นล้านบาท
ส่วนหนี้สินครัวเรือนที่กู้ยืมจากสถาบันการเงินอื่น มีจำนวน 2.45 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย บริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล จำนวน 1.92 ล้านบาท , บริษัทประกันภัยและประกันชีวิต จำนวน 1.78 แสนล้านบาท ,บริษัทหลักทรัพย์ จำนวน 1.06 แสนล้านบาท , ธุรกิจบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน จำนวน 9.67 หมื่นล้านบาท ,โรงรับจำนำ จำนวน 8.34 หมื่นล้านบาท และสถาบันการเงินอื่นๆ จำนวน 5.40 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนจำแนกตามวัตถุประสงค์ พบว่าเงินกู้ยืมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ มีจำนวน 5,474,059 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63,527 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.17% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (2/2566) ที่เงินกู้ยืมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ มีจำนวน 5,410,532 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 243,163 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.65% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาส 3/2565) ที่เงินกู้ยืมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ มีจำนวน 5,230,896 ล้านบาท
สำหรับเงินกู้ซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มีจำนวน 1,809,685 ล้านบาท ลดลง 18,195 ล้านบาท หรือลดลง 0.99% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ไตรมาส 2/2566) ที่เงินกู้ซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มีจำนวน 1,827,880 ล้านบาท แต่เพิ่มขึ้น 3,677 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาส 3/2565) ที่เงินกู้ซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มีจำนวน 1,806,008 ล้านบาท
ด้านเงินกู้ยืมเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น มีจำนวน 4,416,149 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58,376 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.34% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ไตรมาส 2/2566) ที่เงินกู้ยืมเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น มีจำนวน 4,357,773 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 226,216 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาส 3/2565) ที่เงินกู้ยืมเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น มีจำนวน 4,189,933 ล้านบาท
ขณะที่เงินกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพ มีจำนวน 2,888,425 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,335 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.25% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ไตรมาส 2/2566) ที่เงินกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพ จำนวน 2,881,090 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 6,115 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาส 3/2565) ที่เงินกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพ จำนวน 2,882,310 ล้านบาท
@ธปท.นำส่งประกาศปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 28 ธ.ค. ธปท.ได้มีหนังสือที่ ฝคร. (1) 243/2566 เรื่อง นำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ไปยังสถาบันการเงินต่างๆ โดยมีเนื้อหาว่า หนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานานและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามลำดับ แม้ว่าปัจจุบันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะเริ่มทยอยปรับลดลงตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและสินเชื่อที่ขยายตัวชะลอลงหลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือในช่วงโควิด 19 แต่สัดส่วนดังกล่าวยังอยู่ในระดับสูง
การยกระดับการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่อให้มีความรับผิดชอบและเป็นธรรมยิ่งขึ้น และในขณะเดียวกันส่งเสริมให้ลูกหนี้มีวินัยและมีทักษะการบริหารจัดการด้านการเงินเพิ่มขึ้น จึงเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน
ธปท. จึงได้ออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เพื่อยกระดับการปฏิบัติตามหนังสือเวียน เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม ให้มีความครอบคลุมและชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างบทบาทของผู้ให้บริการในการรับผิดชอบลูกค้าตลอดวงจรหนี้อย่างเหมาะสม
ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ก่อนหรือกำลังจะเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ เมื่อลูกหนี้มีปัญหาชำระหนี้ จนถึงการดำเนินการตามกฎหมายและโอนขายหนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ ตลอดจนส่งเสริมการให้ข้อมูลเงื่อนไขและคำเตือนที่ลูกค้าควรรู้ เพื่อกระตุกพฤติกรรม (nudge) และสนับสนุนให้ลูกค้ามีวินัยทางการเงินที่ดีขึ้น สามารถบริหารจัดการหนี้ให้เป็นประโยชน์กับตนเอง (responsible borrowing)
โดยมีรายละเอียดตามที่ปรากฎในประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สกช. 7/2566 เรื่อง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ลงวันที่ 21 ธ.ค.2566 ซึ่งได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาฉบับประกาศและงานทั่วไป เล่ม 140 ตอนพิเศษ 326 ง ลงวันที่ 27 ธ.ค.2566 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เป็นหลักเกณฑ์เพิ่มเติมจากประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) ประกอบด้วยหลักเกณฑ์การบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่อ ตลอดวงจรการเป็นหนี้ ครอบคลุม 8 ด้าน ดังนี้ (1) การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ (2) การโฆษณา (3) กระบวนการขาย
(4) การพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ (affordability) (5) การส่งเสริมวินัยและการบริหารจัดการทางการเงินในช่วงเป็นหนี้ (6) การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) (7) การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ ทั้งการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ที่ยังไม่ด้อยคุณภาพ (non-NPL) ซึ่งเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในลักษณะเชิงป้องกัน (pre-emptive DR) และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา (TDR)
(8) การดำเนินตามกฎหมายและการโอนขายหนี้ไปยังเจ้าหนี้รายอื่น (สรุปภาพรวมหลักเกณฑ์การบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) และหลักเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้อง
อ่านประกอบ :
เป้า 5 ปีหนี้ต่ำ 80%ต่อGDP! ธปท.จับมือ‘สมาคมแบงก์-ชมรมสินเชื่อฯ’แก้หนี้ครัวเรือนยั่งยืน
'ธปท.'เล็งบังคับเกณฑ์คุม'หนี้ต่อรายได้'ไม่เกิน 60-70% เริ่ม ม.ค.68-ลุยแก้'หนี้เรื้อรัง'
‘ธปท.’เดินหน้า 3 แนวทางแก้‘หนี้ครัวเรือน’-ชี้สินเชื่อรถ‘จัดชั้น SM’แค่ 10% ที่เป็น NPL
หนี้ทะลุ 90.6%ต่อGDP! ธปท.ปรับข้อมูล‘หนี้ครัวเรือน’ใหม่คลุม 4 กลุ่ม ยอดเพิ่ม 7.7 แสนล.
'ธปท.' เล็งออกเกณฑ์คุม 'สินเชื่อใหม่' ไตรมาส 3-ตั้งเป้ากดหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ต่ำ 80%
‘ธปท.’เผยหนี้สินครัวเรือนไทยไตรมาส 3/65 แตะ 14.9 ล้านล.-สัดส่วนต่อจีดีพีลดเหลือ 86.8%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’
กลับสู่ความยั่งยืน!‘ธปท.’เล็งออกมาตรการคุม‘หนี้ครัวเรือน’-ไตรมาส 2 หนี้ทะยาน 14.7 ล้านล.
‘ธปท.’เล็งประกาศแนวนโยบายแก้ปัญหา‘หนี้ครัวเรือน’ หวังกำกับปล่อยสินเชื่อใหม่ที่มีคุณภาพ