‘ธปท.’ เตรียมประกาศแนวนโยบาย ‘การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน’ หวังกำกับการปล่อยหนี้ใหม่ที่มีคุณภาพ พร้อมจับมือ ‘คลัง’ จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ออนไลน์ฯรอบใหม่ พุ่งเป้าช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้เปราะบางที่ยังมีปัญหารายได้ เริ่ม 26 ก.ย.นี้
....................................
เมื่อวันที่ 1 ก.ย. นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ร่วมกับกระทรวงการคลัง จัดงาน ‘มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน’ เพื่อช่วยให้ประชาชนแก้ปัญหาภาระหนี้ที่มีอยู่ได้อย่างตรงจุด สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ และจะช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ปัจจุบันมีสัดส่วน 90% ของจีดีพี โดยจะเริ่มเปิดให้ลูกหนี้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย.2565
“ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน และเศรษฐกิจขยายตัวติดต่อกัน 3 ไตรมาสแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าแม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้น มีการเปิดประเทศเพิ่มขึ้น แต่การฟื้นตัวก็ยังไม่ทั่วถึง หรือมีลักษณะเป็น K-Shaped ทำให้การดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางยังมีความท้าทายอยู่ จึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือที่ครอบคลุม ตรงจุด ทันการณ์ เพื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ชะงักและสะดุด” นายรณดล กล่าว
นายรณดล ระบุว่า ในการดูแลภาระหนี้สินภาคครัวเรือนให้ครบวงจรนั้น ธปท.จะมีการออกแนวนโยบายการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน อาทิ หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (responsible lending) ซึ่งครอบคลุมการปล่อยหนี้ใหม่ที่มีคุณภาพ และการให้ข้อมูลที่ลูกหนี้ควรรู้อย่างถูกจังหวะเพื่อกระตุกพฤติกรรมให้เกิดวินัยทางการเงิน รวมถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ เพื่อขยายความช่วยเหลือให้ลูกหนี้เช่าซื้อและการให้เช่าซื้อแบบลิสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ได้รับความคุ้มครองทางการเงินมากขึ้น ธปท.อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อออกกฎหมายในการกำกับดูแลธุรกิจนี้เพิ่มเติม และจะมีการเสนอร่าง พ.ร.ฎ.กำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าและการให้เช่าซื้อแบบลิสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
นายรณดล กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท.ได้ดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางผ่านมาตรการครอบคลุม 4 ด้าน คือ แก้หนี้เดิม เติมเงินใหม่ ให้คำปรึกษา และเสริมทักษะทางการเงิน โดยในส่วนการแก้หนี้เดิมนั้น ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย.2565 มีลูกหนี้ที่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว 3.89 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวม 2.98 ล้านบาท ขณะที่การเติมเงินใหม่ผ่าน พ.ร.ก. ซอฟต์โลน และพ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟูฯ มีลูกหนี้ได้รับการเติมสภาพคล่องแล้ว 1.33 แสนราย ยอดสินเชื่อ 3.24 แสนล้านบาท
นางอรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. กล่าวถึงรายละเอียดการจัดงาน ‘มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน’ ว่า ในระยะแรก หรือ ระหว่างวันที่ 26 ก.ย.-30 พ.ย.2565 จะเป็นการจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ฯออนไลน์ โดยล่าสุดมีธนาคารพาณิชย์ , Non-bank และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ตอบรับเข้าร่วมงานมหกรรมฯแล้ว 56 แห่ง ซึ่งลูกหนี้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ของ ธปท.
สำหรับการไกล่เกลี่ยหนี้ออนไลน์ในครั้งนี้ จะครอบคลุมสินเชื่อ 7 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ,สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ,สินเชื่อที่โอนไปยังบรรษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) ,สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ,สินเชื่อเช่าซื้อจักรยานยนต์ ,สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อทุกประเภทของ SFIs โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยจะมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
ส่วนในระยะที่ 2 หรือระหว่างเดือน พ.ย.2565-ม.ค.2566 จะมีการจัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ฯสัญจร ในพื้นที่กรุงเทพและ 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งภายในงานจะมีการไกล่เกลี่ยหนี้เดิมของ SFIs การเสริมทักษะทางการเงิน และการเติมเงินใหม่หากมีความจำเป็น
ด้าน น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า จากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในประเทศไทย พบว่าสภาพปัญหาของการเป็นหนี้เกิดขึ้นในทุกช่วงวงจร (debt journey) เริ่มจากในช่วงเริ่มต้นพบปัญหาว่า ลูกหนี้มีการก่อหนี้เกินตัว เช่น ใช้จ่ายเกินตัว หรือถูกเจ้าหนี้กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินความเหมาะสม แต่ก็พบข้อมูลว่า 1 ใน 4 ของครัวเรือน ก่อหนี้เกินตัวเพราะความจำเป็น เนื่องจากมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย
และเมื่อลูกหนี้ก่อหนี้ไปแล้ว ก็พบว่าปัญหาว่าลูกหนี้ปิดหนี้หรือชำระหนี้ไม่ได้ ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ เช่น ก่อหนี้เกินรายได้ และการขาดกลไกหรือข้อมูลสนับสนุนการผ่อนชำระที่ดีและเร็ว เห็นได้จากการที่ลูกหนี้บัตรเครดิตใช้สิทธิจ่ายเฉพาะขั้นต่ำ โดยไม่รู้ว่ามีภาระดอกเบี้ยเกิดขึ้นเท่าไหร่ สุดท้ายเมื่อเป็นหนี้ที่มีปัญหาแล้วกลับไม่มีการแก้ปัญหา ซึ่งปัญหานี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดกลไกในการให้คำปรึกษา ขณะที่ ธปท.ได้จัดให้มีโครงการหมอหนี้เพื่อให้คำปรึกษากับลูกหนี้
น.ส.สุวรรณี ยังระบุว่า แม้ว่าหนี้ครัวเรือนของไทยจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงวิกฤติโควิด-19 โดยหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 10% ต่อจีดีพี หรือเพิ่มจาก 80% ต่อจีดีพี เป็น 90% ต่อจีดีพี ในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา แต่จะพบว่าหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น 10% ต่อจีดีพีนั้น 2 ใน 3 มาจากจีดีพีของประเทศไทยที่หดตัวไปกว่า 7% และไม่ใช่ทั้งหมดที่เป็นหนี้ที่น่าเป็นห่วง ขณะที่ครัวเรือน 1 ใน 3 ที่มีหนี้เพิ่มขึ้นจริงๆนั้น เป็นผลมาจากการพักชำระหนี้เก่า และการเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อ
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า กระทรวงการคลัง ได้ทำงานควบคู่กับ ธปท. ในการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน ขณะที่รัฐบาลเองได้กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน และมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนรายย่อย โดยกำหนดเป้าหมายในการแก้ปัญหาหนี้ 6 กลุ่ม ได้แก่ ลูกหนี้ กยศ. ,ลูกหนี้สถาบันการเงิน ,ลูกหนี้เช่าซื้อ ,ลูกหนี้ข้าราชการ ,ลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้ผลักดันให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจพัฒนาองค์ความรู้ทางการเงิน ความรู้ในการประกอบอาชีพ และความรู้ด้านดิจิทัล เพื่อนำไปสื่อสารให้แก่ประชาชนรายย่อยทั่วประเทศ รวมถึงมีแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ.2565-2570 โดยมีเป้าหมายในการปลูกฝังความรู้ทางการเงินตั้งแต่เด็กและต้องศึกษาเรียนรู้เรื่องนี้ไปตลอดช่วงอายุของชีวิต
อ่านประกอบ :
‘สศช.’เผย ‘ผู้ว่างงาน’ ไตรมาส 2/65 ลดเหลือ 5.5 แสนคน-หนี้ครัวเรือน 89.2% ต่อจีดีพี
'กนง.-กนส.'จับตาความเสี่ยง‘หนี้ครัวเรือน-ตลาดบอนด์ผันผวน'-เกาะติดผลกระทบ'โอไมครอน'
เครดิตบูโรชี้จุดเสี่ยงหนี้ครัวเรือน-NPLไตรมาส3 พุ่ง7.7%ห่วงกระทบเศรษฐกิจระยะยาว