‘ธปท.’ ร่วมมือ ‘สมาคมธนาคารไทย-สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ-ชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล’ ผลักดันมาตรการแก้หนี้สินครัวเรือนอย่างยั่งยืน ย้ำหากลูกหนี้เข้าโครงการ ‘แก้หนี้เรื้อรัง’ ยังสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ด้าน 'วิทัย' เชื่อภายใน 5 ปี หนี้ครัวเรือนต่ำกว่า 80% ต่อจีดีพี
.............................................
เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล แถลงความร่วมมือในการผลักดันมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน หลังจากเมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา ธปท.ได้เผยแพร่มาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับมาตรฐานธุรกิจการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ตลอดวงจรหนี้ (อ่านประกอบ : 'ธปท.'เล็งบังคับเกณฑ์คุม'หนี้ต่อรายได้'ไม่เกิน 60-70% เริ่ม ม.ค.68-ลุยแก้'หนี้เรื้อรัง')
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา ธปท.ได้เผยแพร่มาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับมาตรฐานธุรกิจการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ตลอดวงจรหนี้ ตั้งแต่การก่อหนี้ กำลังเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ และเมื่อหนี้มีปัญหา ไปกระทั่งการขายหนี้หรือฟ้องร้องดำเนินคดี
โดยมาตรการที่ ธปท.จะเริ่มบังคับใช้ก่อน คือ การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (responsible lending) ซึ่งรวมถึงการดูแลหนี้เรื้อรัง (persistent debt) และอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการดูแลหนี้ครัวเรือนเพิ่มเติมควบคู่ไปด้วย ได้แก่ การทดสอบโครงการ Sandbox ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (risk-based pricing: RBP) และการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio: DSR)
“ธปท. ในฐานะผู้กำกับดูแล ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนขึ้น จึงเหมาะสมที่จะมีมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างตรงจุดและยั่งยืน โดยดูแลหนี้เสียให้สามารถแก้ไขได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ส่วนบุคคลและหนี้ในภาคเกษตร ดูแลหนี้เรื้อรังให้มีทางเลือกปิดจบหนี้ได้ เช่น หนี้ที่จ่ายขั้นต่ำไปเรื่อยๆและหนี้เกษตรกรที่ชำระดอกเบี้ยเป็นหลัก ดูแลการปล่อยหนี้ใหม่ให้มีคุณภาพ ไม่กลายเป็นปัญหาในอนาคต และดูแลหนี้นอกระบบ ให้มีโอกาสมากขึ้นที่จะเข้ามากู้ในระบบได้” นายรณดล กล่าว
นายรณดล ระบุว่า สำหรับเกณฑ์ responsible lending จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.2567 เว้นแต่ส่วนของการดูแลหนี้เรื้อรังที่จะเริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย.2567 เป็นต้นไป ส่วนเกณฑ์เรื่อง risk-based pricing
นอกจากนี้ ธปท.จะเปิดโอกาสให้ผู้บริการที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมและผ่านการประเมินตามมาตรฐาน responsible lending รวมถึงเป็นมาสมาชิกบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) มีระบบประเมินความเสี่ยงที่แยกแยะความเสี่ยงของลูกหนี้ มีแผนธุรกิจและมีกลุ่มเป้าหมายผู้กู้ที่ชัดเจน รวมทั้งมีการกระจายตัวดอกเบี้ยในแต่ละกลุ่ม เข้ามาทดสอบในโครงการ Sandbox ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2567
ส่วนหลักเกณฑ์การกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2568 โดย ธปท.จะประเมินสถานการณ์และบริบทของเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง
“ในการจัดทำมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ธปท. ได้หารือกับภาคส่วนต่างๆ เช่น ผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ ลูกหนี้ และเจ้าหนี้ เพื่อออกแบบมาตรการที่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกหลักการ และครบวงจร ซึ่งการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้สำเร็จและยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยความตั้งใจจริงของทุกหน่วยงานในการร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินการต่างๆ ให้เห็นผล เพื่อร่วมกันสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญในการปรับพฤติกรรมของทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป” นายรณดล กล่าว
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงนั้น ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะข้าง ซึ่งสมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก ตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย และได้บรรจุในแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี ของสมาคมธนาคารไทยมาตั้งแต่ปี 2565
รวมทั้งให้ความร่วมมือกับ ธปท. ในการผลักดันมาตรการต่างๆ มาโดยตลอด ตั้งแต่ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทั้งการเสริมสภาพคล่องแก่ลูกหนี้ผ่านมาตรการ Soft Loan และสินเชื่อฟื้นฟู การแก้หนี้เดิมผ่านมาตรการปูพรมในช่วงแรก และมาตรการเฉพาะจุดตามแนวทางการแก้หนี้ระยะยาวและโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ขณะเดียวกัน ธนาคารต่างๆได้ออกมาตรการดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบางของตัวเอง แบบตรงจุดและตรงกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน เม.ย.2566 มีลูกหนี้ที่ยังอยู่ภายใต้การช่วยเหลือของธนาคารพาณิชย์ จำนวน 2 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 1.88 ล้านล้านบาท จากยอดหนี้ที่เคยสูงสุด ณ สิ้นเดือน ก.ค.2563 จำนวน 6.12 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 4.2 ล้านล้านบาท
นายผยง กล่าวต่อว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก พร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนตามแนว responsible lending ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การโฆษณา การเสนอขายผลิตภัณฑ์ที่ให้ข้อมูลอย่างครบถ้วน เหมาะสม ตรงกับความต้องการ และสอดคล้องกับศักยภาพในการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้ ด้วยสัญญาที่เป็นธรรม และไม่กระตุ้นให้ลูกหนี้ก่อหนี้เกินตัว เป็นต้น
“ในการแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง ซึ่งได้แก่ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลประเภทหมุนเวียน (revolving personal loan) ที่จ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ให้สามารถปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี และยังมีเงินเหลือพอดำรงชีพ นั้น ธนาคารสมาชิก และบริษัทย่อยในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน พร้อมเริ่มดำเนินกับกลุ่มลูกหนี้เรื้อรังที่รายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท/เดือน นับตั้งแต่วันที่มาตรการเริ่มมีผลบังคับใช้” นายผยง กล่าว
นายผยง ระบุด้วยว่า สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก จะติดตามและศึกษาเกี่ยวกับกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (risk-based pricing) และการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการดูแลหนี้ครัวเรือนเพิ่มเติมของ ธปท.
“เราตระหนักว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน ไม่สามารถดำเนินการโดยระบบธนาคารพาณิชย์เท่านั้น แต่ต้องขับเคลื่อนร่วมมือกันทุกภาคส่วน เนื่องจากหนี้ครัวเรือนในระบบธนาคารพาณิชย์คิดเป็นสัดส่วนเพียง 36% จากหนี้ครัวเรือนทั้งหมด 90.6% ต่อจีพีดี ซึ่งยังไม่นับรวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่นอกระบบ โดยปัญหาและสาเหตุของหนี้ครัวเรือนแต่ละกลุ่มก็มีความแตกต่างกัน” นายพยง กล่าว
นอกจากนี้ สมาคมธนาคารไทยและสมาชิก ยังกำหนดให้จัดการปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ของสมาคมธนาคารไทยด้านความยั่งยืน ซึ่งมีหลักการ 5 ข้อ ได้แก่ 1.การมีความรู้ความเข้าใจในการกู้ยืม (healthy borrowing) ให้ข้อมูลเพื่อกระตุ้นพฤติกรรมลูกหนี้ให้มีวินัยทางการเงิน และใช้สินเชื่อที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ 2.การแข่งขันแบบเสรีไม่ผูกขาด (open competition) ให้ลูกหนี้ใช้บริการสินเชื่อและเปิดเผยข้อมูลโดยสมัครใจ
3.ความโปร่งใสและเท่าเทียมระหว่างผู้ให้สินเชื่อ (level playing) ทุกกลุ่มเจ้าหนี้ทั้งธนาคาร Non-bank และสหกรณ์อยู่บนกฎกติกาที่เท่าเทียมกัน 4.ความยุติธรรม (fairness) อัตราดอกเบี้ยต้องสะท้อนความเสี่ยงที่เป็นจริง ลดภาระลูกหนี้ดีที่ต้องแบกภาระลูกหนี้ที่ไม่ดี
และ 5.ความครอบคลุมและเข้าถึง (inclusion) สามารถนำข้อมูลทางเลือกมาส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ทุกฝ่ายมองเห็นประโยชน์ร่วมกันทั้งลูกหนี้ เจ้าหนี้ ผู้กำกับและรัฐ ไม่ทำให้ใครต้องตกไปอยู่นอกระบบจากมาตรการที่นำมาใช้ และทุกภาคส่วนร่วมแชร์ความเสี่ยงอย่างเป็นธรรมในการแก้ปัญหาหนี้
“เพื่อให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมีประสิทธิภาพ จะต้องได้รับความร่วมมือจากเจ้าหนี้ทุกกลุ่ม และการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบตามความจำเป็นและตามกำลังของลูกหนี้ที่จะสามารถแบกภาระหนี้นั้นได้อย่างโปร่งใส โดยลูกหนี้ต้องให้ความร่วมมือด้วยการรักษาวินัยทางการเงิน ก่อหนี้เฉพาะที่จำเป็นอย่างมีวัตถุประสงค์ มีการวางแผนที่ดี เข้าใจผลที่ตามมาของการเป็นหนี้ และมีความตั้งใจที่จะจ่ายคืนหนี้ หากทั้งสองฝ่ายร่วมกันเชื่อว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น” นายผยงระบุ
นายวิทัย รัตนากร ประธานสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า สมาคมสถาบันการเงินของรัฐและสถาบันการเงินสมาชิก พร้อมให้ความร่วมมือในการผลักดันมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เนื่องจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 นั้น ด้านหนึ่งก็สร้างปัญหาและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริงๆ จึงต้องรีบแก้ไข ในขณะที่มาตรการที่ ธปท.ออกมา ถือเป็นมาตรการที่จะมาช่วยดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างเบ็ดเสร็จ
“มาตรการครั้งนี้จะทำให้การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างมีคุณภาพ เนื่องจากมาตรการต่างๆที่ออกมาจะมีความชัดเจน ทั้งในการปล่อยสินเชื่อและการให้ความรู้แก่ผู้กู้ หรือการกำหนดแนวทาง risk-based pricing ที่จะทำให้อัตราดอกเบี้ยสอดคล้องกับความเสี่ยงและมีความเป็นธรรมมากขึ้น ประกอบกับเมื่อจีดีพีหรือรายได้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้น ก็จะช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ในระยะยาว
ส่วนเป้าหมายที่ ธปท.วางไว้ว่า จะทำให้หนี้ครัวเรือนต่ำกว่า 80% ต่อจีดีพีภายใน 5 ปี นั้น ผมเชื่อมั่นว่าด้วยมาตรการแบบนี้ และสิ่งที่จะออกมาเพิ่มเติมของแบงก์รัฐและแบงก์พาณิชย์ที่จะเข้ามาในอนาคต จะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างแน่นอน โดยมาตรการที่ ธปท. ออกมาในครั้งนี้ ทางแบงก์รัฐยินดีที่จะร่วมมืออย่างจริงจัง ในขณะที่การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น ถือว่าเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการในปีนี้และปีถัดๆไป” นายวิทัย กล่าว
นายวิทัย กล่าวด้วยว่า ในฐานะเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เชื่อว่ามาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะมาตรการแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง โดยการลดอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไปลงมาเหลือเพียงไม่เกิน 15% ต่อปีนั้น จะช่วยแก้ปัญหาให้กับประชาชนที่เดือดร้อนได้เป็นจำนวนมาก
“สมมติว่าปล่อยดอกเบี้ย 25% มา 5 ปี ได้ทุนมาหมดแล้ว ถ้าจะช่วยเขาให้ลดหนี้ลงได้เร็ว คือ ต้องลดดอกเบี้ย คือ จ่ายเงินเท่ากัน ผ่อนเท่ากัน ดอกเบี้ยถูกลงก็ตัดต้นลงได้มากขึ้น และลดต้นได้เร็วขึ้น เพราะผลของดอกเบี้ยรุนแรงจริงๆ การลดดอกเบี้ยในกลุ่มที่จ่ายดอกเบี้ย 25% เหลือ 15% ช่วยชีวิตเขาได้จริงๆ และทำให้เขากลับมาเป็นคนที่มีสุขภาพทางการเงินแข็งแรง และท้ายที่สุดรวมๆกันแล้วจะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน” นายวิทัย กล่าว
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.มีลูกค้า 4.3 ล้านราย หรือคิดเป็น 10 ล้านสัญญา ในจำนวนนี้เป็นลูกค้าที่เป็นเกษตรกรรายบุคคลจำนวน 3 ล้านราย หรือคิดเป็น 6 ล้านสัญญา ในขณะที่ลูกค้ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางและมีลักษณะพิเศษ คือ นอกจากจะเป็นหนี้เรื้อรังแล้ว ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุด้วย โดย ธ.ก.ส.มีลูกค้าเกษตรกรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 1.2 ล้านคน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ธ.ก.ส.ให้ดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรที่เป็นหนี้เรื้อรังและสูงอายุ โดยได้จัดทำ “โครงการสินเชื่อแทนคุณ” เพื่อจูงใจให้ทายาทมารับภาระหนี้ต่อ และเป็นการรักษาทรัพย์สินให้คงอยู่กับครอบครัว รวมทั้งมีมาตรการลดภาระหนี้และดอกเบี้ยในรูปแบบต่างๆ เพื่อช่วยให้เกษตรกรกลุ่มนี้สามารถปิดจบหนี้ได้ โดยโครงการนี้มีวงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท และมีเป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการ 42,000 ราย
นายอธิป ศิลป์พจีการ รองประธานชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้ประกอบการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. รวม 34 สถาบัน กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาชิกของชมรมฯให้ความสำคัญในการดูแลลูกค้ามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการลดยอดผ่อนชำระต่อเดือนให้กับลูกค้า การปรับโครงสร้างหนี้กรณีลูกหนี้ประสบปัญหาชำระหนี้ และการนำเสนอมาตรการทางเลือกของ ธปท. ให้ลูกค้าเลือก เช่น คลินิกแก้หนี้ มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ และทางด่วนแก้หนี้
โดยชมรมสินเชื่อส่วนบุคคลและบริษัทสมาชิก พร้อมสนับสนุนและดำเนินการตามแนวทางมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนของ ธปท. โดยเฉพาะการสนับสนุนทางเลือกในการลดภาระการจ่ายสินเชื่อส่วนบุคคล โดยการเสนอเชื่อทางเลือกที่สามารถปิดจบได้ภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจะเริ่มดำเนินการกับกลุ่มลูกค้าของผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) ที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการแถลงข่าวครั้งนี้ ธปท. สมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล ยืนยันว่า ลูกหนี้ที่เข้าโครงการแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง ซึ่งจะต้องมีการบันทึกข้อมูลในฐานข้อมูลเครดิตบูโรนั้น จะไม่ทำลูกหนี้ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในอนาคตได้ เพราะลูกหนี้กลุ่มนี้ถือว่าเป็นลูกหนี้ที่ชำระหนี้ตามปกติ เพียงแต่มีการจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น และจะต้องปิดหนี้ให้หมดใน 5 ปี
ส่วนการพิจารณาให้สินเชื่อนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการแต่ละรายจะไปพิจารณา และการที่ลูกหนี้กลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในฐานข้อมูลเครดิตบูโร จะถือว่าลูกหนี้กลุ่มนี้เต็มใจที่เข้ามาสู่การจบหนี้ และสร้างวินัยทางการเงิน
อ่านประกอบ :
'ธปท.'เล็งบังคับเกณฑ์คุม'หนี้ต่อรายได้'ไม่เกิน 60-70% เริ่ม ม.ค.68-ลุยแก้'หนี้เรื้อรัง'
‘ธปท.’เดินหน้า 3 แนวทางแก้‘หนี้ครัวเรือน’-ชี้สินเชื่อรถ‘จัดชั้น SM’แค่ 10% ที่เป็น NPL
หนี้ทะลุ 90.6%ต่อGDP! ธปท.ปรับข้อมูล‘หนี้ครัวเรือน’ใหม่คลุม 4 กลุ่ม ยอดเพิ่ม 7.7 แสนล.
'ธปท.' เล็งออกเกณฑ์คุม 'สินเชื่อใหม่' ไตรมาส 3-ตั้งเป้ากดหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ต่ำ 80%
‘ธปท.’เผยหนี้สินครัวเรือนไทยไตรมาส 3/65 แตะ 14.9 ล้านล.-สัดส่วนต่อจีดีพีลดเหลือ 86.8%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำปี 66 ศก.ไทยโตเกิน 3% แม้โลกเสี่ยง-ดูแลปล่อยสินเชื่อใหม่ลด‘หนี้ครัวเรือน’
กลับสู่ความยั่งยืน!‘ธปท.’เล็งออกมาตรการคุม‘หนี้ครัวเรือน’-ไตรมาส 2 หนี้ทะยาน 14.7 ล้านล.
‘ธปท.’เล็งประกาศแนวนโยบายแก้ปัญหา‘หนี้ครัวเรือน’ หวังกำกับปล่อยสินเชื่อใหม่ที่มีคุณภาพ