‘จุฬา สุขมานพ’ เลขา EEC เล็งยกเครื่องใหม่ ดัน กม.ลูก 20 ฉบับ จัดเป็นชุดทยอยเสนอบอร์ด EEC เห็นชอบ ปักธงบังคับใช้ให้ครบทุกฉบับในปี 66 นี้ พร้อมไปกับร่างแผนภาพรวมระยะต่อไป ก.ย.นี้ชัดเจน ก่อนเผยกลยุทธ์ดึงนักลงทุน เปิดทางคุยกลุ่ม Fin-Tech ปลายเดือนนี้ ดึงเงินดิจิทัลลงทุน EEC และฉายภาพโครงสร้าง EEC ใหม่บน 7 เสาหลักขับเคลื่อนองค์กร
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 23 มิถุนายน 2566 นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ที่ผ่านมา EEC ยังไม่เคยให้สิทธิประโยชน์กับผู้ลงทุนบนพื้นฐานของ EEC เท่าไหร่นัก โดยมีเฉพาะเคสของ อาลีบาบา กรุ๊ป เท่านั้นที่ EEC ให้สิทธิในการเปิดศูนย์กระจายสินค้าเมื่อปี 2561-2562 ที่ผ่านมา
@ร่างกม.ลูก 20 ฉบับ
ดังนั้น EEC กำลังจะพัฒนากฎหมายลูกภายใต้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2561 ประมาณ 20 ฉบับ เพื่อปรับบทบาทของ EEC ให้เป็น One Stop Service เช่น การขอใบอนุญาตก่อสร้างโรงงาน, การขออนุญาตประกอบกิจการพลังงาน และการขอวีซ่าสำหรับประกอบกิจการและทำงานในพื้นที่ EEC เป็นต้น แต่ทั้งหมดจะต้องลงทุนหรือดำเนินการเฉพาะในขอบเขตพื้นที่ EEC เท่านั้น ซึ่งกฎหมายทั้งหมดจะต้องเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.หรือบอร์ด EEC) อนุมัติ โดยไม่ต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแต่อย่างใด
“ตอนนี้กำลังให้ผู้ที่เกี่ยวข้องร่างกฎหมายลุกทั้ง 20 ฉบับในลักษณะเป็น ซีรี่ย์คือ อาจจะทยอยเสนอกฎหมายลูกให้บอร์ด EEC พิจารณาครั้งละ 5 ฉบับ ซึ่งเริ่มมีการพูดคุยแล้วว่า จะเสนออะไรก่อนหลัง ซึ่งการเสนอกฎหมายแต่ละประเด็น ทำให้ประหยัดต้นทุนในการดำเนินการลงไปเยอะมาก” นายจุฬากล่าวและว่า
ทั้งนี้ กฎหมายลูกทั้ง 20 ฉบับอยู่ระหว่างจัดลำดับความสำคัญอยู่ คาดว่าอีกสัก 2-3 สัปดาห์น่าจะชัดเจน เบื้องต้น กำหนดไว้กว้างๆ 3 ประเด็นหลัก โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2566 จะทยอยบังคับใช้ได้ทั้ง 20 ฉบับ
@ร่างแผนภาพรวม EEC ใหม่ ก.ย.นี้เสร็จ
นอกจากนี้ ภายในเดือน ก.ย. 2566 จะมีเสนอที่ประชุมบอร์ด EEC พิจารณาแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาเขตพัฒนพิเศษภาคตะวันออกฉบับใหม่ ช่วงปี 2566-2570 อันเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากแผนภาพรวมฉบับเดิมที่จบไปเมื่อปี 2565 ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาใหม่ และดำเนินการรับฟังความเห็นผู้้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ จะเริ่มรับฟังความเห็นแล้ว
“งานไม่เปลี่ยน เพียงแต่การเอาอะไรมาลงทุน ส่วนนี้อาจจะมีเปลี่ยน เช่น ใน EEC เดิมมีอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 ตัว ผมได้รวบรวมใหม่สรุปไว้เป็น 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ EV, สุขภาพและการแพทย์, ดิจิทัลเทคโนโลยี, BCG และบริการ เพราะบางอย่างดำเนินการไปได้ยากแล้ว เช่น อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและทำไม่ง่าย โดยผมเอาเรื่องนี้ไปใส่ในส่วนของเทคโนโลยี ไม่ได้ทิ้งนะ ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็เรียกใหม่ว่า BCG ส่วนการท่องเที่ยว โลจิสติกส์ขนส่ง จะรวมในกลุ่มบริการ” นายจุฬากล่าวอีกตอน
@จ่อคุยกลุ่ม Fin-Tech ปลายเดือนนี้
ส่วนกลยุทธ์ในการดึงนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ล่าสุด ได้ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ทำโครงการพัฒนาแหล่งระดมทุน EEC (EEC Fundraising Venue) เพื่อเป็นการสร้างระบบนิเวศสำหรับการลงทุนใน EEC ซึ่งจะทำให้บริการการเงินในตลาดเงินและตลาดทุนของไทยโดยรวมมีความหลากหลาย โดยนักลงทุนจะสามารถทำธุรกรรมทางการเงิน ระดมทุน และเข้าถึงบริการการเงินด้วยความคล่องตัวและในต้นทุนที่เหมาะสม โดยมุ่งเป้าหมายที่ กลุ่มบริษัทข้ามชาติ กลุ่มผู้ประกอบการไทยขนาดใหญ่ กลุ่ม SME และกลุ่มผู้ประกอบการ Start-Up ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้เข้ามาลงทุนหรือขยายการลงทุนในเขตพื้นที่ EEC
ทั้งนี้ ในการระดมเงินทุน โดยตั้งเป้าหมายจะระดมทุนไว้ 2 แบบ คือ การระดมเงินทุนต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้เริ่มต้นเฉพาะกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (US Dollar) ก่อน และ 2. การระดมเงินทุนผ่านระบบสกุลเงินดิจิทัล โดยเป็นการทำรอไว้สำหรับอนาคต และเหมาะกับผู้ที่ทำธุรกิจแบบ Start-up ซึ่งช่วงปลายเดือน มิ.ย. 2566 จะหารือกับบรรดาผู้ประกอบการ Fin-Tech ทั้งในและต่างประเทศ ส่วนในอนาคต EEC จะตั้งกองทุนรวมอะไรหรือไม่นั้น คงไม่ทำ
@ฉายโครงสร้างบริหาร EEC ในปัจจุบัน
ในช่วงท้าย นายจุฬาฉายภาพถึงโครงสร้างการบริหาร EEC ในปัจจุบันว่า สายงานในการบริหารองค์กรประกอบด้วย 7 สายงานหลัก คือ
1. สายงานนโยบายและแผน สำหรับคิดแผนงานต่างๆ
2. สายงานเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อแบ่งโซนว่าอะไรอยู่ที่ไหน และทำอะไรบ้าง เช่น ระยองทำอะไร, ฉะเชิงเทราทำอะไร, ชลบุรีทำอะไร เป็นต้น
3. สายงานสร้างระบบนิเวศน์การลงทุน ซึ่งเป็นสายงานใหม่ เน้นการทำงานด้านการตลาด ดูแลสิทธิประโยชน์ ยุทธศาสตร์การลงทุนเชื่อมโยงกับสายงานเขตเศรษฐกิจพิเศษ การเงิน รวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มต่างๆ
4. สายงานพื้นที่และชุมชน สำหรับทำงานร่วมกับประชาชนในพื้นที่ EEC ซึ่งที่ผ่านมาทำกันแบบสะเปะสะปะ ไม่ค่อยใส่ใจชาวบ้านในพื้นที่เท่าที่ควร โดยสายงานนี้จะดูเรื่องการศึกษาและการเตรียมกำลังคน สำหรับรองรับอุตสาหกรรมทั้งใหม่และเก่าของคนในพื้นที่ด้วย
5. สายงานโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ประปา ไฟฟ้า อากาศ และขยะ เป็นต้น
6. สายงานเพิ่มประสิทธิภาพ หรือสายงานจัดการหลังบ้านของ EEC
และ 7. สายงานสำนักขึ้นตรงกับเลขาธิการ EEC ดูแลเกี่ยวกับกฎหมาย กฎระเบียบ และกองทุนของ EEC
อ่านประกอบ
- สกพอ.ลุยศึกษาระบบฟีดเดอร์ 'ชลบุรี-ระยอง' ต.ค. 66 สรุปผล
- เปิด MOU ซี.พี.ยืดจ่ายแอร์พอร์ตลิ้งค์หมื่นล้าน
- ไฮสปีด 3 สนามบิน ขยับส่งมอบ NTP เป็นในปี 66 สร้าง ‘บางซื่อ-ดอนเมือง’ ยังจบไม่ลง
- ซี.พี.ขอเลื่อนถก 3 ฝ่าย ผ่าทางตันทับซ้อน ‘บางซื่อ - ดอนเมือง’
- เลขาฯอีอีซี พร้อมส่ง NTP ไฮสปีด 3 สนามบิน มิ.ย.66 ลุ้นซี.พี.ได้ BOI ทันกำหนด
- ‘รถไฟ-อีอีซี’ ขีดเส้น 31 มี.ค.66 เคลียร์เงื่อนไข ‘สร้างไป-จ่ายไป’ ไฮสปีดแสนล้าน
- ปักธง มิ.ย. 66 สร้าง ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ ‘ซี.พี.’ ดึงเกมรอข้อเสนอ ‘บีโอไอ’
- ยื้อ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ จ่อขอลดสเปกโครงสร้างร่วม ‘รถไฟไทย-จีน’ 9.2 พันล้าน
- ย้อนปัญหา‘ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน’ 2.24 แสนล. วัดฝีมือคณะทำงาน 'ปลัดคลัง' สางปมเงื่อน?
- สแกนความคืบหน้า'ไฮสปีด 3 สนามบิน'สางปัญหาล่าช้า ขีดเส้น ต.ค.65 เริ่มก่อสร้าง
- เปิดพื้นที่ ‘ลำรางมักกะสัน’ ชนวนยื้อส่งมอบ ‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ รบ.บิ๊กตู่ วาดไว้สะดุด
- บอร์ดรถไฟ เคลียร์ปัญหา ‘ไฮสปีดไทยจีน’ 2 สัญญา ปักเป้าปี 69 ก่อสร้างเสร็จ