สกพอ.ลุยศึกษาระบบฟีดเดอร์ครอบคลุม 2 จังหวัดอีอีซี 'เมืองชล-ระยอง' มีชลบุรีเป็นศูนย์กลาง กางไทม์ไลน์ศึกษาเสร็จเดือน ต.ค.นี้ ก่อนเปิดผลการศึกษาเดิม สนข. คาดใช้เงินลงทุนกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 27 พฤษภาคม 2566 นายวรวุฒิ มาลา ที่ปรึกษาพิเศษโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ได้จัดประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน (ครั้งที่ 1 : ปฐมนิเทศโครงการ) โครงการจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นของระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมโยงกับการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินกับการพัฒนาเมืองใหม่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ณ ตึกเบย์ ทาวเวอร์ ห้องบอลรูม 1-2 โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ พัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า สกพอ. ได้ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นของระบบขนส่งสาธารณะที่เชื่อมโยงการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินกับการพัฒนาเมืองใหม่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อเชื่อมโยงระบบคมนาคมหลักของพื้นที่ EEC ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) สนามบินอู่ตะเภา และโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวเส้นทางและรูปแบบระบบขนส่งที่มีความเหมาะสมและตอบสนองความต้องการในการเดินทางของประชาชนอย่างแท้จริง
วรวุฒิ มาลา ที่ปรึกษาพิเศษโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน
@ระบบฟีดเดอร์ครอบคลุม 1.4 หมื่นไร่ ชลบุรีเป็นศูนย์กลาง
ด้วยเหตุนี้ สกพอ. จึงได้ดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประชุม ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ ทั้งในประเด็นรูปแบบของระบบขนส่งมวลชนรอง แนวเส้นทางโครงการ ให้มีความสอดคล้องตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากที่สุดสำหรับพื้นที่ศึกษาโครงการ ตั้งอยู่ในบริเวณตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี มีพื้นที่ประมาณ 14,619 ไร่ ถือเป็นจุดศูนย์กลางของการศึกษาโครงการ โดยจะศึกษาแนวเส้นทางที่เชื่อมโยงไปยังสถานีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา โดยพื้นที่การศึกษาครอบคลุม 2 จังหวัด คือจังหวัดชลบุรี รวม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีราชา อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ และจังหวัดระยอง 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านฉาง และอำเภอนิคมพัฒนา โดยโครงการฯ มีขอบเขตการดำเนินงาน แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
งานส่วนที่ 1 งานวิเคราะห์และศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นของระบบขนส่งสาธารณะขนาดรองที่เชื่อมโยงการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินกับการพัฒนาเมืองใหม่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก งานส่วนที่ 2 งานการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน งานส่วนที่ 3 การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination : IEE) โดยมีระยะเวลาในการศึกษาโครงการ 360 วัน
ซึ่งในอนาคตเมื่อเกิดการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนรองเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางไปยังโครงการต่างๆ ในพื้นที่ EEC จะสร้างความสะดวกสบายในการเดินทางให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เกิดการพัฒนาที่ดินตามแนวเส้นทางของระบบขนส่งมวลชนและบริเวณโดยรอบสถานีที่เป็นชุมชนใหญ่ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจจากความต้องการการบริโภคสินค้าและบริการของประชาชนและเกิดการกระจายความหนาแน่นออกจากศูนย์กลางทางเศรษฐกิจอีกด้วย
@เล็งสรุปผลการศึกษา ต.ค.66
ภายหลังการประชุมครั้งนี้ สกพอ.จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการพิจารณารูปแบบการพัฒนาโครงการที่เหมาะสมกับพื้นที่และความต้องการของประชาชน ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งจะดำเนินการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับฟังความคิดเห็นและประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง โดยคาดว่าจะสรุปผลการศึกษาได้ในเดือน ต.ค. 2566 นี้
@ย้อนผลการศึกษาฟีดเดอร์อีอีซีของ สนข.เมื่อปี 64
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2564 คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เห็นชอบผลการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะกลุ่มจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Public Transit Master Plan : EPMP) แล้ว
ซึ่ง สนข. ได้ส่งต่อส่งผลการศึกษาดังกล่าวให้ สกพอ. เรียบร้อยแล้ว และทาง สกพอ.ก็ได้เสนอผลการศึกษาดังกล่าวให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเห็นชอบเรียบร้อยแล้วในปีเดียวกัน
ตามผลการศึกษาของ สนข. แบ่งรูปแบบระบบขนส่งในพื้นที่ 3 จังหวัดเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
1. ระบบขนส่งสายหลัก ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จใช้บริการในปี 2570, โครงการถไฟทางคู่ 2 สายทาง คือ สายชุมทางฉะเชิงเทรา - บ้านพลูตาหลวง - บ้านฉาง ให้บริการ 6 เที่ยว/วัน และสายพานทอง - ชลบุรี - ชุมทางศรีราชา - พัทยา ให้บริการ 10 เที่ยว/วัน และ รถตู้โดยสารหมวด 2 (กรุงเทพฯ- 3 จังหวัด) มีจำนวน 29 สาย ให้บริการ 2,600 เที่ยว/วัน คิดเป็นจำนวนคนใช้บริการวันละ 27,600 คน/วัน และหมวด 3 (จังหวัดอื่นๆนอกจากกรุงเทพฯ - 3 จังหวัด) มีจำนวน 16 สาย ให้บริการ 1,900 เที่ยว/วัน คิดเป็นจำนวนคนให้บริการวันละ 25,700 คน/วัน
และรูปแบบที่ 2 ระบบขนส่งสายรอง ซึ่งสนข.ศึกษาแล้ว มีข้อเสนอให้เพิ่มเส้นทางการขนส่งภายใน 3 จังหวัดรวม 18 สายทาง ระยะทางรวม 547 กม. วงเงินรวม 14,410 ล้านบาท โดยรูปแบบโครงการ ในส่วนของงานโยธาจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมกับกรมทางหลวง (ทล.) ในการช่วยดูเรื่องการจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดิน ขณะที่การเดินรถมอบให้ สกพอ.และอปท.ร่วมดำเนินการหาตัวเอกชนมาเดินรถ ซึ่งกำหนดให้รูปแบบการลงทุนเป็นแบบ เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP)
แบ่งเป็นจ.ฉะเชิงเทรา 5 สายทาง ระยะทางรวม 80 กม., จ.ชลบุรี 7 สายทาง ระยะทางรวม 178 กม. และจ.ระยอง 6 สาย ระยะทางรวม 297 กม. โดยรูปแบบของการขนส่งที่วางไว้จะเป็นรถเมล์ไฟฟ้าทั้งหมด (EV Bus)