ผู้ว่ารถไฟเผย หลังบอร์ดอีอีซีอนุมัติ ซี.พี.ผ่อนจ่ายได้ 7 งวด ค่าใช้สิทธิ์แอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ 10,671 ล้านบาท ชี้ยังจ่ายไม่ได้ เพราะรอแก้สัญญาร่วมลงทุน เผยตอนนี้รถไฟฟ้าไปสนามบินยังออนบน MOU ที่เซ็นไว้เมื่อโควิดระบาด ก่อนเปิดสาระสำคัญ MOU ดังกล่าว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 26 พฤษภาคม 2566 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ความคืบหน้าภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2566 มีมติให้บจ.เอเชีย เอราวัณ (ซี.พี.) ได้เห็นชอบกระบวนการจ่ายเงินค่าใช้สิทธิ์รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ 10,671.09 ล้านบาท โดยให้ผ่อนจ่าย 7 งวด โดยงวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 10% งวดที่ 7 จะชำระส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย และอนุมัติแก้ไขสัญญาร่วมทุน โดยเฉพาะเงื่อนไขด้านเหตุสุดวิสัยและการผ่อนผันให้เหมือนกับโครงการสนามบินอู่ตะเภาและท่าเรือ จะได้ไม่ต้องเอามาเข้าที่ประชุมอีก และได้คิดดอกเบี้ยกับกลุ่มซี.พี.เพิ่มด้วย โดยจะต้องจ่ายเพิ่ม 1,046 ล้านบาท เป็น 11,717.09 ล้านบาทนั้น
ล่าสุด ตอนนี้ยังไม่ได้เริ่มจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวแต่อย่างใด โดย ซี.พี.ยังจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆที่ดำเนินไปตามบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบ COVID เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2564 ซึ่งปัจจุบันแบกรับภาระขาดทุนจากแอร์พอร์ตเลลิ้งค์เดือนละประมาณ 70 ล้านบาท ส่วนการจ่ายเงินตามมติบอร์ดอีอีซี ต้องรอการแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินก่อน
@เปิด MOU ยืดจ่ายค่าใช้สิทธิ์แอร์พอร์ตลิ้งค์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ MOU ที่ผู้ว่ารฟท.กล่าวถึง มีการจัดทำเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2564 มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘บันทึกข้อตกลงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19’
ผู้ลงนาม MOU ประกอบด้วย นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่ารฟท., นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่ากลุ่มบริหารรถไฟฟ้า รฟท. (พยาน), นายสฤษดิ์ จิณสิทธิ์และนายชาติวุฒิ ตันจันทรพงศ์ ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม บจ.เอเชีย เอราวัณ , นายฐานิสร์ ฟอลเล็ต รองผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและริหารสัญญา (พยาน) และนายธาริศร์ อิสสระยั่งยืน ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พยาน)เอกสาร MOU มีจำนวน 5 หน้า ไม่รวมส่วนเอกสารแนบท้ายสัญญา
@โควิดรุม ทำจ่ายค่าแอร์พอร์ตลิ้งค์ไม่ไหว
สาเหตุของการจัดทำ MOU ฉบับนี้มีระบุว่า เอกชนคู่สัญญา (บจ.เอเชีย เอราวัณ) มีหนังสือที่ EHSR1-ARX-EHSR3AL-SRT-LETR-000009 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2564 แจ้ง รฟท.ว่า เอกชนคู่สัญญาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เอกชนคู่สัญญาจึงไม่สามารถชำระค่าใช้สิทธิ์แอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ ให้ รฟท. ครบถ้วนทั้งจำนวน (10,671 ล้านบาท) ในคราวเดียวภายในวันที่ครบระยะเวลา 2 ปีนับจากวันที่สัญญาร่วมลงทุนมีผลบังคับใช้ (วันที่ครบ 2 ปีคือ วันที่ 24 ต.ค. 2564)
ดังนั้นเอกชนคู่สัญญาจึงขอให้รฟท. พิจารณาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระยะเวลาการชำระและหลักเกณฑ์การชำระค่าติดแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ซึ่งในเวลาต่อมาที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ. หรือบอร์ดอีอีซี) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2561 ได้มีมติรับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโรคโควิด-19 ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในที่สุด โดยมอบหมายให้รฟท. และอีอีซี ร่วมกันดำเนินงานโดยเร็วเพื่อให้บริการแอร์พอร์ตเรลลิงค์สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก
โดย MOU ฉบับนี้ มีข้อตกลงร่วมกัน ที่เป็นสาระสำคัญ ประกอบด้วย
1.บันทึกข้อตกลงฉบับนี้มีผลใช้บังคับในวันที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้ลงนามและจะมีผลใช้บังคับจนกว่าเหตุการณ์ใดเหตุการณ์ดังต่อไปนี้เกิดขึ้น กรณีที่ 1 ครบระยะเวลา 3 เดือนนับจากวันที่ 24 ตุลาคม 2564 หรือระยะเวลาอื่นที่ขยายเพิ่มเติมตามที่คู่สัญญาทั้งสองจะกำหนด กรณีที่ 2 เมื่อคู่สัญญาได้ลงนามสัญญาแก้ไขสัญญาณร่วมลงทุนเพื่อแก้ปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในส่วนการชำระค่าใช้สิทธิ์แอร์พอร์ตเรลลิ้งค์
2. ในระหว่างที่การแก้ไขสัญญายังไม่แล้วเสร็จ และเอกชนคู่สัญญายังไม่ได้ชำระค่าใช้สิทธิ์ Airport rail Link ให้ครบถ้วน รฟท. จะยังไม่มอบสิทธิ์การดำเนินการโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของแอร์พอร์ตเรียลลิงค์ให้แก่เอกชนคู่สัญญา และ รฟท. ยังคงมีสิทธิ์ได้รับรายได้ค่าโดยสารและรายได้จากการดำเนินกิจการทางพาณิชยในแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์
3.ในช่วงเวลาที่คู่สัญญาดำเนินการแก้ไขสัญญาณร่วมลงทุน จนกว่า บันทึกข้อตกลงจะสิ้นสุดผลการใช้บังคับ เอกชนคู่สัญญาจะต้องรับภาระในการสนับสนุน รฟท. และบจ.รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. (รฟฟท.) ในการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ ตามที่ทั้งสองหน่วยงานมอบหมายให้ดำเนินการ
ข้อตกลงในข้อ 3 ประกอบด้วย
- เอกชนคู่สัญญาจะสนับสนุนบุคลากรทั้งหมดรับความเสี่ยงทั้งหมดที่อาจจะเกิดจากการดำเนินงานที่ได้รับมอบหมายและการดำเนินการอื่นใดเพื่อให้งานดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานชี้วัดหรือ KPI ซึ่ง รฟท.รฟฟท. และที่ปรึกษาของทั้งสองหน่วยงานจะมีสิทธิ์กำกับดูแลให้เอกชนคู่สัญญาดำเนินการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการให้เป็นไปตามมาตรฐาน KPI
- เอกชนคู่สัญญารับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินงานที่เอกชนคู่สัญญาได้รับมอบหมายตามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ โดยจะต้องนำรายได้ค่าโดยสารจากการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการไปชำระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานที่เอกชนคู่สัญญาได้รับมอบหมาย หากมีกำไรจะต้องส่งคืนให้ รฟท.ทั้งหมด
4.เพื่อเป็นหลักประกันในวันที่ทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้เอกชนคู่สัญญาได้ชำระเงินจำนวน 1,067,109,000 บาท หรือ 10% ของค่าใช้สิทธิ์แอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ หากมีการลงนามในสัญญาที่ได้รับการแก้ไขแล้วให้ถือว่าเงินหลักประกันดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้สิทธิ์แอร์พอร์ตเรลลิงค์ และหากเอกชนคู่สัญญาไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ รฟท. สามารถหักหลักประกันดังกล่าวเพื่อนำมาชำระสำหรับกรณีที่เอกชนคู่สัญญาไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้