บอร์ดรถไฟ เคลียร์ปัญหา ไฮสปีดไทยจีน 2 สัญญา ‘4-5’ เร่งถกเอกชนลดราคาลงมาอีก คาดสรุปได้ในการประชุมครั้งหน้า คุย ‘กรมบัญชีกลาง-อัยการฯ’ เปิดช่องสร้างไปก่อน ไม่ต้องรอสถานีอยุธยา ส่วน ‘3-1’ หลังศาลพิพากษาชัด รอตอบยืนราคา วางเป้าปี 69 สร้างเสร็จ ปี 70 เปิดใช้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 26 มกราคม 2566 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.พิจารณาประเด็นที่เกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา สัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. ราคากลาง 11,801.21 ล้านบาท ที่เดิมมี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 9,913 ล้านบาท แต่ล่าสุด ทางอิตาเลี่ยนไทยไม่ยืนราคากลางแล้ว
ประกอบกับสัญญา 4-5 ติดปัญหาสถานีอยุธยา ซึ่งทางองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ท้วงติงผ่านทางกรมศิลปากรให้ทำรายงานผลกระทบต่อมรดกโลกทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment :HIA) ด้วย
@เจรจา ‘บุญชัย’ สัญญา 4-5 / เปิดช่อง ม.183 ป.แพ่ง สร้างไปก่อน
เบื้องต้น ที่ประชุมบอร์ดยังไม่ได้มีมติให้ บจ. บุญชัยพาณิชย์ (1979) (เครือ บมจ.ซีวิลเอนจิเนียริ่ง) ในฐานะผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นอันดับที่ 3 ในราคาประมาณ 10,300 ล้านบาท เพราะบอร์ดได้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปเจรจากับ บจ.บุญชัยพาณิชย์ ให้ลดราคาเสนอให้ใกล้เคียงกับที่อิตาเลี่ยนไทยเสนอให้ได้มากที่สุด คาดว่าจะได้ข้อสรุปทันการประชุมบอร์ด รฟท. ครั้งถัดไป และน่าจะลงนามในสัญญาได้ภายในเดือน มี.ค. 2566 นี้
ส่วนเรื่องแบบสถานีอยุธยา เนื่องจากแบบเดิมไม่สอดคล้องกับรายงาน EIA ต้องปรับแบบให้สอดคล้องกับรายงานดังกล่าว ซึ่งใช้เวลาอีกนาน จึงได้หารือกับกรมบัญชีกลางและสำนักงานอัยการสูงสุดเกี่ยวกับประเด็นนี้ ได้คำตอบว่า สามารถใช้ช่องทางตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 183 เพื่อก่อสร้างทางวิ่งรถไฟให้เสร็จก่อน แล้วค่อยมาก่อสร้างตัวสถานีหลัง EIA ก็ได้ ซึ่งในประเด็นนี้ก็ได้แจ้งกับ บจ.บุญชัยพาณิชย์รับทราบแล้ว หากสามารถแก้ปัญหาข้างต้นได้ทั้งหมด ก็คาดว่างานสัญญา 4-5 จะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย. 2569
@ลุ้น ITD-CREC ยืนราคา 3-1 หลังศาลพิพากษาถึงที่สุด
ขณะที่สัญญา 3-1 งานโยธาช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก–บันไดม้า ระยะทาง 30 กม. ราคากลาง 11,386 ล้านบาท หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีมติให้ กิจการร่วมค้า BPHB-TIM SEKATA JV (ประกอบด้วย บจ.นภาก่อสร้าง, บจ.บิน่า พูรี่ เอสดิเอ็น บีเอชดี, นายชาตรี เขมาวชิรา) ในฐานะผู้เสนอราคาต่ำสุด ขาดคุณสมบัติตาม TOR ทำให้ กลุ่มกิจการร่วมค้า ITD-CREC NO.10.JV (มี บจ.ไชน่า เรลเวย์ นับเบอร์เทน เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป (CREC) และบมจ.อิตาเลียนไทยฯ ร่วมทุน) มีโอกาสได้เป็นผู้ชนะโครงการ โดยเสนอราคาไว้ที่ 9,349 ล้านบาท นั้น
เบื้องต้น ที่ประชุมยังรอคำพิพากษาที่เป็นทางการก่อน อาจจะต้องเสนอมาที่บอร์ดอีกรอบในครั้งต่อไป อีกด้านหนึ่งก็ต้องทำหนังสือสอบถามไปยัง ITD-CREC NO.10.JV ว่าจะยังยืนราคาที่นำเสนออยู่หรือไม่ ซึ่งทางเอกชนยังไม่ได้ให้คำตอบ ระบุเพียงว่า ขอหารือภายในกันก่อน
อย่างไรก็ตาม คาดว่ารถไฟความเร็วสูงไทยจีน จะแล้วเสร็จในปลายปี 2569 ก่อนจะทดลองเดินรถและเปิดให้บริการในปี 2570 ต่อไป
ที่มาภาพ: https://pixabay.com